• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การรักษาพยาบาลเป็นกิจกรรมหรือคุณค่า

การรักษาพยาบาลคนไข้ เป็นงานหนัก นอกจากความยุ่งยากซับซ้อนจากโรคหรือการบาดเจ็บแล้ว ผู้รักษาพยาบาลยังต้องยุ่งยากกับความต้องการและความคาดหวังของคนไข้และกลุ่มญาติ  ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระและความเครียด

อย่างไรก็ดี การที่หมอ พยาบาล และผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ ยังมีความสุขจากการทำงาน แม้จะเผชิญกับปัญหามากมาย เพราะคนเหล่านี้มิได้คิดว่า การทำงานเป็นเพียงกิจกรรม  แต่การทำงานเป็นคุณค่าของวิชาชีพที่ให้แก่คนเจ็บไข้และเพื่อนมนุษย์
 

คุณค่ากำเนิดชีวิต
การคลอดเป็นเรื่องปกติของหญิงวัยเจริญพันธุ์ เป็นธรรมชาติของการสืบสายพันธุ์มนุษย์ เป็นงานที่พบได้ทุกโรงพยาบาล กิจกรรมการคลอดมักใช้ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ของหมอ พยาบาล รวมทั้งนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล ที่ฝึกการทำคลอด ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับและดูแลของอาจารย์แพทย์และอาจารย์พยาบาล
วิธีการทำคลอดมีหลายวิธีขึ้นกับสภาวะทางการแพทย์ของแม่และเด็กในครรภ์ เช่น แม่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการคลอดปกติ ขนาดและน้ำหนักของเด็กในครรภ์สามารถคลอดทางช่องคลอดได้หรือไม่ ส่วนท่าของเด็กที่จะคลอดเป็นศีรษะ ก้น หรือลำตัว รกเกาะในตำแหน่งปกติหรือผิดปกติ

นอกจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์แล้ว บางครั้งยังขึ้นกับความต้องการของแม่และญาติ ซึ่งเป็นเงื่อนไขทางสังคม เช่น ต้องการให้คลอดในวันสำคัญ ต้องการให้คลอดเวลาที่เป็นฤกษ์ดี 

ปัจจุบันมีวิธีการทำคลอดหลากหลาย เช่น การคลอดปกติ การคลอดแบบไม่เจ็บ การคลอดโดยสามีมีส่วนร่วมในการทำคลอด การคลอดโดยใช้เครื่องดูดสุญญากาศ การคลอดในน้ำและการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง  

การคลอดเป็นคุณค่าของผู้ประกอบวิชาชีพในการทำให้ลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัย เป็นสำนึกที่ดีของคนทำงานในห้องคลอด การคลอดจึงมิใช่เป็นเพียงกิจกรรมที่ช่วยให้ทารกออกจากมดลูกของแม่ แต่เป็นคุณค่าการให้กำเนิดชีวิต เพื่อเด็กที่คลอดออกมามีความสมบูรณ์ ไม่เกิดภาวะพร่องออกซิเจนในขณะที่คลอด ไม่ได้รับบาดเจ็บจากการคลอด เด็กคนนี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีมันสมองที่ดี สามารถทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม  ส่วนแม่ผู้ให้กำเนิดจะไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการชัก ตกเลือดมากหลังคลอด หรือแผลฝีเย็บอักเสบ เป็นหนอง

 

คุณค่าหัตถการ
การทำหัตถการต่อคนไข้ เช่น การเจาะเลือด การให้น้ำเกลือ การฉีดยา การใส่ท่อช่วยหายใจ การใส่สายให้อาหาร การใส่สายสวนปัสสาวะ การสวนถ่ายอุจจาระ การทำแผล และการผ่าตัด มิใช่เป็นกิจกรรมที่อาศัยเพียงความรู้และทักษะเท่านั้น แต่เป็นคุณค่าของผู้ประกอบวิชาชีพที่รู้สึกถึงการมีชีวิต ได้รับความทุกข์จากความเจ็บปวด ความวิตกกังวล และความหวาดกลัวของคนไข้ คุณค่าของหมอและพยาบาลจะทำหัตถการอย่างไรให้คนไข้ปลอดภัย ไม่เกิดความทุกข์หรือทุกข์น้อยที่สุด

แม้ความรู้และทักษะในการทำหัตถการบางอย่างจะฝึกสอนไม่ยาก ใช้เวลาเพียงไม่นานก็สามารถฝึกให้ใครก็ทำได้ แต่สังคมอนุญาตให้เฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพเท่านั้นที่มีสิทธิในการทำหัตถการ เนื่องจากความเชื่อมั่นถึงคุณค่าที่จะให้ต่อคนไข้ ซึ่งเป็นจริยธรรมวิชาชีพที่ต้องปลูกฝังจากการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบระยะยาว และอยู่ในจิตวิญญาณของผู้ประกอบวิชาชีพ

* การเจาะเลือดมีคุณค่าต่อการวินิจฉัยโรค

* การฉีดยามีคุณค่าต่อการหายหรือไม่หายจากโรค มีความสำคัญตั้งแต่การฉีดยาให้ถูกคน ถูกชนิด ถูกขนาด ถูกวิธี และถูกเวลา

* การใส่ท่อช่วยหายใจมีคุณค่าต่อการช่วยชีวิต

* การใส่สายให้อาหารมีคุณค่าต่อการเยียวยาคนไข้ที่กินอาหารทางปากไม่ได้ เพื่อให้มีธาตุอาหารเพียงพอต่อการดำรงชีวิต

* การใส่สายสวนปัสสาวะมีคุณค่าต่อการทราบภาวะระบบการไหลเวียน ระบบการทำงานของหัวใจ และระบบการทำงานของไต

* การสวนถ่ายปัสสาวะมีคุณค่าต่อคนไข้ที่ถ่ายเองไม่ได้ ต้องระมัดระวังไม่ให้คนไข้ได้รับบาดเจ็บหรืออักเสบติดเชื้อ

* การผ่าตัดมีคุณค่าต่อพยาธิสภาพที่มีเชื้อโรคหรือเซลล์ผิดปกติ เพื่อให้คนไข้มีชีวิตอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์ มิใช่ร่างกายที่ทรุดโทรม

คุณค่าในสิทธิที่ได้รับในการทำหัตถการต่อตัวคน คุณค่าในการช่วยให้คนพ้นจากโรคและฟื้นสภาพกลับสู่ความมีชีวิตชีวา เป็นพลังในการทำหัตถการต่างๆ ด้วยความภาคภูมิใจ มิใช่การทำกิจกรรมซ้ำซากที่น่าเบื่อหน่าย

 

คุณค่าการดูแลอย่างเป็นองค์รวม
การตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษาโดยความรู้และเทคโนโลยี  เป็นกิจกรรมสำคัญในกระบวนการรักษาพยาบาลให้ไข้หรือโรคหาย เมื่อผสมผสานด้วยการให้ความสำคัญต่อตัวคนไข้อย่างเป็นองค์รวม กล่าวคือ คนไข้แต่ละคนไม่ได้มีเพียงไข้หรือโรค แต่เขามีจิตใจ ความรู้สึก  ความคาดหวัง ความเชื่อศรัทธา มีความเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นครู เป็นลูกศิษย์ เป็นคนที่ต้องทำงาน เป็นเจ้านาย เป็นลูกน้อง เป็นคนหนึ่งในสังคม
กิจกรรมการดูแลต่อเนื่องเมื่อคนไข้ออกจากโรงพยาบาลไปอยู่บ้าน มิใช่เพียงกิจกรรมการนัดมาตรวจติดตาม การสร้างเครือข่ายติดตามเยี่ยมบ้าน แต่เป็นคุณค่าการเสริมพลังให้คนไข้และญาติสามารถกลับไปอยู่บ้านกับครอบครัว โดยช่วยตัวเองได้อย่างดีที่สุด เป็นภาระต่อคนอื่นน้อยที่สุด และเข้าร่วมกิจกรรมในสังคมได้เท่าเดิมหรือใกล้เคียงกับเมื่อก่อนเจ็บไข้

 

คุณค่าสุดท้ายของชีวิต
การดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย จากโรคที่รักษาไม่หาย หรือภาวะที่โรคกำเริบจนเกินการรักษาให้หายได้ หลายโรงพยาบาลให้ความสำคัญและจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การให้คนไข้และญาติมีสิทธิในการขอให้เว้นการทำหัตถการที่อาจยืดอายุคนไข้ได้อีกระยะเวลาหนึ่ง แต่คนไข้ต้องทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้น คนไข้อาจหายใจได้โดยใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ อาจมีความรู้สึกเจ็บปวดแต่ไม่สามารถบอกได้ บางแห่งจัดสถานที่ให้คนไข้อยู่ท่ามกลางญาติมิตรที่รักเขา ดูแลจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต บางแห่งอนุญาตให้ญาติจัดกิจกรรมทางศาสนาด้วยความเชื่อและศรัทธา เพื่อส่งวิญญาณคนไข้ไปสู่สุคติ

การทำกิจกรรมที่ให้โอกาสสุดท้ายของชีวิต ให้คนไข้และญาติได้รับสิ่งที่ต้องการ         ด้วยความรู้สึกเอื้ออาทรของมนุษย์ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ ด้วยศักยภาพของผู้ประกอบวิชาชีพที่จะให้คนไข้จากไปอย่างสงบ ได้รับความทุกข์ทรมานน้อยที่สุด ส่งผลให้เกิดความปีติสุขในบรรยากาศที่โศกเศร้าทั้งผู้ดูแลรักษาและคนที่กำลังจะจากไป 

ผู้ประกอบวิชาชีพรักษาพยาบาล มีโอกาสสร้างคุณค่าจากกิจกรรมการทำงานทุกวัน เป็นคุณค่าที่ส่งผลกระทบสูงต่อชีวิตและจิตใจของเพื่อนมนุษย์

การทำงานโดยตระหนักรู้ในคุณค่าของงาน มิใช่เพียงกิจกรรมที่ต้องทำให้เสร็จตามหน้าที่ เป็นพลังในการทำงานอย่างมุ่งมั่น ทำงานอย่างมีความสุข ด้วย ๑ สมอง ๒ มือ และ ๔ ห้องหัวใจ

 

ข้อมูลสื่อ

378-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 378
ตุลาคม 2553
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์