• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความจริงที่งดงาม

ประสบการณ์จากการเยี่ยมโรงพยาบาล ได้มีโอกาสพูดคุยกับแพทย์ พยาบาล  และเจ้าหน้าที่ มีเรื่องจริงที่งดงามเกิดขึ้นจากการทำงาน จากการทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพในการรักษาเยียวยาคนไข้ และจากการทำหน้าที่ของมนุษย์ต่อเพื่อนมนุษย์
ขอนำมาเผยแพร่ เพื่อชื่นชมยินดี และเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำความดี

 

ประติหานกับแม่อัมพาต
คนไข้จิตเวชเกิดอาการคลุ้มคลั่ง คว้าปืนลูกซองออกมายิงกราด กระสุนลูกซองหลายลูกฝังเข้าไปในใบหน้าและลำคอโดยบังเอิญของหญิงวัย ๓๖ ปี

คนไข้ได้รับการส่งโรงพยาบาลโดยด่วน แม้แพทย์จะรักษาพยาบาลเต็มที่ คนไข้ต้องพิการเป็นอัมพาตซีกซ้าย แขน ขาข้างซ้ายชาและอ่อนแรง ไม่สามารถใช้การได้เช่นคนปกติ  นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ต้องคาสายสวนปัสสาวะไว้ตลอดเวลา
หญิงคนนี้อายุ ๓๖ ปี และกำลังตั้งครรภ์ ๔ เดือน เมื่อคนไข้ สามี และแพทย์ปรึกษากันแล้ว ถึงจะมีความเสี่ยงจากการตั้งครรภ์ทั้งแม่และลูก แต่สุดท้ายคนไข้ตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อไป
โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านรับหน้าที่ดูแลคนไข้ และจัดทีมไปเยี่ยมบ้าน ให้คำแนะนำ การดูแลครรภ์ การดูแลสายสวนปัสสาวะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ การออกกำลังเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและป้องกันการยึดติดของข้อ การพลิกตัวเพื่อป้องกันแผลกดทับ รวมทั้งการประเมินและดูแลสุขภาพจิต

เมื่ออายุครรภ์ ๓๖ สัปดาห์ คนไข้ได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์พบว่าเด็กอยู่ในท่าก้น คุณหมอโรงพยาบาลชุมชนจึงเขียนใบส่งตัวให้ไปคลอดที่โรงพยาบาลจังหวัด แต่อีกไม่กี่วันต่อมาคนไข้เจ็บครรภ์และมาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านในสภาพก้นออกผ่านช่องคลอดแล้ว แพทย์ต้องทำคลอดทันทีที่ห้องฉุกเฉิน คลอดเด็กชายน้ำหนัก ๒,๓๐๐ กรัม  ต้องอยู่โรงพยาบาลหลายวัน เนื่องจากมีภาวะไข้แทรกซ้อน พ่อกับแม่ตั้งชื่อลูกว่า "ประติหาน"  คุณหมอและภรรยาซึ่งกำลังมีลูกน้อยพอดี จึงแบ่งปันเสื้อผ้าและผ้าอ้อม ใส่กระเป๋าเอาไปให้ประติหาน

เมื่อทีมออกไปเยี่ยมบ้าน สภาพเด็กน้อยนอนบนอกผู้เป็นแม่ ซึ่งใช้แขนขวาข้างเดียวประคองลูกน้อยให้ดูดนม แววตาผู้เป็นแม่เป็นประกาย ใบหน้าอิ่มเอิบ ทำให้ทีมงานเป็นสุข
แม้คนไข้จะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างแม่คนอื่น แต่เธอสามารถเลี้ยงลูกได้โดยความร่วมมือและร่วมใจของทุกคนในครอบครัว ความรักลูกของคนไข้มีมากกว่าคนที่ร่างกายสมบูรณ์ดีอีกหลายคน ความพิการไม่ใช่อุปสรรคต่อความรัก

หลายเดือนต่อมา คนไข้มาโรงพยาบาลด้วยปัญหาติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ แขนและขาข้างซ้ายยังอ่อนแรงเช่นเดิม แต่ดูมีชีวิตชีวากว่าเดิม "ประติหานแข็งแรงดี โตขึ้นมาก" เธอบอก
คุณหมอเล่าว่า "ผมแอบหวังลึกๆ ว่า ประติหานจะนำความสุขมาให้ครอบครัวนี้ไปตลอด ประติหานและครอบครัวได้ให้อะไรหลายๆ อย่างกับผม ผมได้เรียนรู้ถึงความใจสู้ไม่ยอมแพ้โชคชะตา และผมก็ได้รู้ว่าการทำงานนำมาซึ่งความสุขได้อย่างไร"

น้องเบิร์ดในท้องแม่ที่ไม่รู้สึกตัว
คนไข้หญิงคนหนึ่งซ้อนรถจักรยานยนต์ที่สามีเป็นผู้ขับขี่ ถูกรถยนต์ชนได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ไม่รู้สึกตัว ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ห้องไอซียูโรงพยาบาลจังหวัดแห่งหนึ่งใกล้กรุงเทพฯ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา และได้รับการเจาะคอเพื่อใส่ท่อหายใจ
อีก ๓ สัปดาห์ต่อมา คนไข้ได้รับการย้ายออกไปอยู่ตึกศัลยกรรมหญิง คนไข้พอรู้สึกตัว แต่ยังคงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่

คนไข้รายนี้อายุ ๒๔ ปี ขณะเกิดอุบัติเหตุตั้งครรภ์ประมาณ ๒ เดือน เมื่ออยู่โรงพยาบาลได้ ๒-๓ สัปดาห์ สามีก็หายไป ไม่กลับมาเยี่ยมอีกเลย พ่อและแม่ของคนไข้อยู่ต่างจังหวัดทางภาคเหนือ สับเปลี่ยนกันมาเฝ้าครั้งละ ๒-๓ วัน บางช่วงคนไข้ต้องอยู่โรงพยาบาลคนเดียว ไม่มีญาติมาเฝ้า

เวลา ๑ เดือนที่ตึกศัลยกรรมหญิง อาการของคนไข้ยังคงเดิม มีเพียงความรู้สึกที่ตอบสนองต่อความเจ็บปวด ยกมือขึ้นมาปัดได้บ้าง

ส่วนเรื่องเด็กในท้อง เมื่อปรึกษากับพ่อของคนไข้ พ่อยินยอมให้ทำแท้ง แต่หมอที่ดูแลหญิงคนนี้ไม่ทำแท้งให้ "ถ้าตอนหลังแม่เขาดีขึ้นมา จะทำอย่างไร ถ้าไปทำแท้งลูกเขา"
เดือนต่อมาอาการของคนไข้เริ่มดีขึ้น สามารถหายใจได้เองโดยเพียงแต่ให้ออกซิเจน  คนไข้เริ่มนั่งได้ เมื่อหมอทัก "ยิ้มหน่อยเร็ว จะหายแล้วนะ" แววตาเธอเหมือนจะรับรู้ แต่ยังไม่แสดงสีหน้าหรือท่าทางใดๆ ที่จะบ่งบอกว่าเข้าใจคำพูด

เวลาผ่านไปเกือบ ๕ เดือน ตอนสายวันหนึ่ง คนไข้มีท่าทางและอาการแสดงที่แปลกๆ กระสับกระส่ายไม่นอนนิ่งเหมือนทุกๆ วัน เมื่อพยาบาลเข้าไปตรวจดูอาการอย่างใกล้ชิด พบว่าหน้าท้องคนไข้แข็งขึ้น เกร็งเป็นช่วงๆ คนไข้มีอาการเจ็บท้องคลอด

พยาบาลจากห้องคลอด ๒ คน มาช่วยทำคลอดที่เตียงคนไข้ คลอดเด็กเพศชาย  น้ำหนัก ๑,๖๐๐ กรัม คนไข้ปลอดภัยไม่มีภาวะแทรกซ้อน เด็กชายน้ำหนักน้อย เพราะคลอดก่อนกำหนด จึงได้รับการดูแลรักษาในตู้อบ

หลังจากคลอดลูก ๑ สัปดาห์ พยาบาลอุ้มลูกมาให้คนไข้ เมื่อเห็นหน้าลูก คนไข้แสดงอาการดีใจ ดวงตาพองโต เพ่งมองไปที่เด็กน้อย ป่ายมือทั้ง ๒ ข้างไปมา ทุกคนที่อยู่ในที่นั้นต่างรู้สึกยินดี และตั้งชื่อให้เด็กน้อยว่า "น้องเบิร์ด"
อีก ๑ เดือนต่อมา คนไข้หายใจได้ดี และไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เริ่มฝึกยืน เด็กน้อยแข็งแรงขึ้น นำออกจากตู้อบได้ พ่อของคนไข้จึงขอให้ทางโรงพยาบาลส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดที่บ้าน

เมื่อคนไข้กลับไปได้ ๓ สัปดาห์ พยาบาลได้โทรศัพท์ไปเยี่ยม ญาติบอกว่าคนไข้ดีขึ้นมาก ลูกก็แข็งแรงดี หมอที่ดูแลเธอบอกว่าจะเอาท่อที่คอออกให้สัปดาห์หน้า
เดือนต่อมาญาติคนไข้โทร.มาบอกว่า คิดถึงเจ้าหน้าที่ทุกคน เมื่อถามถึงคนไข้ ญาติตอบว่า "ตอนนี้เธอกำลังเต้นแอโรบิกอยู่"

พยาบาลที่รับโทรศัพท์บังเกิดความสุขปีติ เธอรีบบอกเพื่อนๆ ทุกคนมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน สำหรับน้องเบิร์ดและแม่ ทั้ง ๒ เป็นมากกว่าคนไข้ แต่เป็นชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่แม้ประสบชะตากรรม ยังเป็นชีวิตที่มีความหมายและความหวัง กว่าครึ่งปีที่ทะนุถนอมกันมา คือโอกาสในการทำหน้าที่ที่งดงามและมีคุณค่า

 

 

ข้อมูลสื่อ

377-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 377
กันยายน 2553
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์