• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฮ็อบบี้ (๒)

นกพิราบที่ผู้เขียนได้มาจากเพื่อนชื่อวิชัย มี ๒ ตัว ตัวหนึ่งสีเทาดำ เป็นตัวผู้ อีกตัวสีน้ำตาลอ่อน เป็นตัวเมีย ทั้ง ๒ ตัวมีลักษณะดีของนกพิราบสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นแววตา ที่เรียกอายไซน์ (eye sign) ก็ตรงตามตำราที่เราเสาะแสวงหามาดูกัน หรือส่วนสัดต่างๆ ก็ดูทะมัดทะแมง
นกทั้ง ๒ ตัวขยันขันแข็งในการผสมพันธุ์อย่างยิ่ง เพียงชั่วเวลาไม่ช้าไม่นานที่ผู้เขียนนำมาเลี้ยง เจ้านกตัวเมียเริ่มวางไข่ ต่อมาฟักเป็นตัว พอได้ลูกนกเป็นจังหวะพอดีที่เราจะเริ่มการฝึกบินกลับรัง เป็นธรรมชาติของนกพิราบที่จะรีบบินกลับรังถ้ามันมีลูกอ่อนอยู่

ผู้เขียนเริ่มเอานกตัวแม่ไปปล่อยในวันแรก บรรทุกมันไปในกล่องกระดาษ เจาะรูหายใจ ซ้อนท้ายรถจักรยานไป ผู้เขียนขี่จักรยานโดยมีเด็กรับใช้ที่บ้านซึ่งอุ้มกล่องใส่นกไว้นั่งซ้อนท้าย พอไปถึงห้วยกะปิซึ่งเป็นตำบลเล็กๆ ห่างจากบ้านผู้เขียนราว ๓ กิโลเมตร ผู้เขียนก็หยุดรถ แล้วเปิดกล่องปล่อยนก เจ้าตาลบินออกไปทันที มันวนอยู่ ๒-๓ รอบ แล้วบินหายไปทางทิศเหนือซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตั้งของบ้าน ทำเอาผู้เขียนใจชื้นขึ้นมาหน่อย รีบขี่รถจักรยานกลับบ้าน
พอถึงบ้านคำแรกที่ผู้เขียนถามคือ นกมาถึงหรือยัง คำตอบคือ ไม่เห็นวี่แวว
ผู้เขียนใจแป้วเลย วิ่งไปหลังบ้านซึ่งเป็นที่ตั้งของกรงนก แหงนขึ้นมองดูบนฟ้า บนหลังคาบ้านเจ้าตาลเกาะอยู่โดดเด่น

ผู้เขียนไม่เข้าใจว่า ทำไมมันไม่รีบเข้ารังมาหาลูก หรือจะเป็นเพราะมันไว้ใจว่า เจ้าเทาผัวของมันเลี้ยงลูกอิ่มหมีพีมันไปแล้ว (ชื่อนกผู้เขียนตั้งตามลักษณะเด่นประจำตัว สีน้ำตาลเรียก "เจ้าตาล" เจ้าเทาก็เรียกตามสีขนมันเหมือนกัน)

อย่างไรก็ดี มันได้พิสูจน์ให้ผู้เขียนเห็นแล้วว่า มันสามารถหาทางกลับบ้านได้ในเวลาอันสมควร อย่างน้อยก็ไม่ช้ากว่ารถจักรยาน

จากวันนั้น ผู้เขียนฝึกนกทั้ง ๒ ตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพิ่มระยะให้มันจนถึงราว ๑๐ กิโลเมตร เหตุที่ไม่เพิ่มระยะมากไปกว่านั้น เพราะเป็นระยะที่ผู้เขียนสามารถขี่รถจักรยานไปถึงได้ไม่เกินกำลัง อย่าลืมว่า ผู้เขียนต้องซ้อนเด็กไปด้วย และใช้รถจักรยานจ่ายตลาดธรรมดา เกียร์เพียงเกียร์เดียว สภาพบุโรทั่งตามอายุการใช้งาน

ในที่สุด มันก็สามารถบินกลับมาถึงรังได้ก่อนรถจักรยานของผู้เขียน พอถึงตอนนี้ก็ได้เวลาเปิดเทอมแล้ว ผู้เขียนจำต้องหยุดการฝึก และไม่สามารถหอบหิ้วเอาเจ้าตาล เจ้าเทา และลูกๆ ของมันไปโรงเรียนประจำด้วยได้ เพราะตัวมันใหญ่เกินกว่าจะไปซุกไว้ในโต๊ะห้องสตั๊ดดี้ได้อย่างปลากัด ผู้เขียนจึงต้องทิ้งมันไว้ที่บ้านด้วยความจำใจ แต่เขียนจดหมายมาถามสารทุกข์สุกดิบของมันกับแม่อยู่เรื่อย เวลาพ่อไปเยี่ยมผู้เขียนที่โรงเรียนก็เช่นกัน

พอปิดเทอมต้น ผู้เขียนกลับไปบ้าน สิ่งแรกที่ไปดูคือ กรงนกหลังบ้าน ใจหายวาบที่เห็นกรงนกว่างเปล่า ถามไถ่ได้ความว่า พ่อทนขี้นกพิราบบนหลังคาไม่ได้ ช่วงปิดเทอมพ่อก็บ่น แต่ท่านก็ยอมทนเพราะความรักลูก ประกอบกับตอนนั้นเป็นช่วงหน้าแล้ง ไม่มีฝนตก ขี้นกบนหลังคาก็ยังไม่เป็นปัญหา เพราะปกติเรารองน้ำฝนมาดื่มกินกัน สมัยก่อนเราไม่มีน้ำประปาใช้ อาศัยน้ำฝนในการกินดื่มเป็นหลัก น้ำบ่อที่มีก็กร่อย ใช้ได้เฉพาะซักล้างและอาบ

ผู้เขียนโกรธก็โกรธ ที่พ่อเอานกไปปล่อยวัดโดยไม่บอกผู้เขียนก่อน แต่อีกใจหนึ่งก็เห็นใจพ่อที่ทำอย่างนั้น เพราะถ้าผู้เขียนเป็นพ่อก็อาจทำเช่นเดียวกัน การมีขี้นกอยู่ในน้ำกินคงไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์ อีกอย่างการที่ผู้เขียนปล่อยให้พ่อรับภาระในการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงของตัวเอง ก็เหมือนเราไม่รับผิดชอบ นี่เป็นเหตุผลที่ผู้เขียนมาคิดใคร่ครวญดูเมื่อโตแล้ว แต่ตอนนั้น บอกได้เลยว่าเคืองจริงๆ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เรื่องมันแล้วไปแล้ว แล้วเราก็ค่อยๆ ลืมเรื่องนี้ไป พร้อมๆ กับลืมความเห่อเรื่องการเลี้ยงนกพิราบ แต่จนถึงทุกวันนี้ เมื่อผู้เขียนเห็นนกพิราบบิน จะชอบดูมันเป็นพิเศษ ลักษณะการบินที่แข็งแรง เป็นอิสระเสรี สร้างความประทับใจ บางครั้งเมื่อเห็นมันบินเดี่ยวๆ มุ่งตรงไปทิศทางใดทางหนึ่ง ยังอดนึกไม่ได้ อาจเป็นนกพิราบสื่อสารของใครสักคนที่กำลังอยู่ในการแข่งขัน

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้จากการเลี้ยงนกพิราบ คือการทำงานเป็นระบบ มีหลักวิชา ผู้เขียนมีสมุดที่จดความรู้ต่างๆเกี่ยวกับการเลี้ยงนกพิราบสื่อสารที่ยังเก็บไว้ถึงทุกวันนี้ ภายในเล่มมีเรื่องการเลือกลูกนก การดูอายไซน์ อาหาร ยา การฝึก ฯลฯ อีกเล่มหนึ่งจดรายละเอียดของนกแต่ละตัว ตั้งแต่เกิดหรือได้มา การเจริญเติบโต ความก้าวหน้าในการฝึกบิน ฯลฯ

เมื่อผู้เขียนมาออกกำลังโดยการวิ่ง ขี่จักรยาน พายเรือคายัก ปีนเขา ดำน้ำ ฯลฯ ก็ได้อาศัยหลักการเดียวกัน ทำให้สามารถเขียนหนังสือ "คู่มือวิ่งเพื่อสุขภาพ" และ "คู่มือจักรยานเพื่อสุขภาพ" ขึ้นมาได้ เป็นตัวอย่างว่า งานเล่นๆ คือ งานอดิเรก สามารถทำให้เป็นเรื่องจริงจังได้เหมือนกัน ขอให้เรา "อิน" กับมัน ใส่ใจใฝ่หาความรู้เพิ่มเติม และทุ่มเทเวลา แรงกาย แรงใจให้
งานอดิเรกในวัยเด็กของผู้เขียนยังมีอีกหลายอย่าง เช่น การเลี้ยงไก่ป่าที่ต้องแสวงหาไก่ป่าแท้ๆ มาเป็นพ่อแม่พันธุ์ โดยการขี่จักรยานไปขอซื้อจากชาวบ้านที่อยู่เชิงเขาวันละตัว ตัวผู้ตัว ตัวเมียตัว รายนี้สุดท้ายถูกพ่อนำไปถวายวัดในช่วงเปิดเทอมอีกตามเคย

การยิงนกซึ่งผู้เขียนไม่อยากเล่ามากนัก เพราะเป็นเรื่องบาปกรรม แต่เราทำไปด้วยความคะนองสมัยเด็ก บางทียิงมาแล้วมันไม่ตาย แค่ปีกหัก ต้องเอามาประคบประหงมกัน ความสนุกอยู่ที่การยิง ว่าจะได้ไม่ได้ แต่พอมันตายแล้ว ดูน่าเวทนา

มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง จำได้ไม่ลืม ผู้เขียนกับพี่ชายเอาปืนลมของพ่อไปยิงนกเช่นเคย มุดเข้าไปในลำห้วยแห้ง มีต้นไม้ครึ้ม นกเล็กๆ ตัวหนึ่งตกเป็นเป้า เจ้ากรรมกระสุนปืนถากเอาปากล่างของมันหักไป แต่มันก็ตกลงมาด้วยแรงปะทะของลูกกระสุน เราจับมันมาดู ยังลืมตาแป๋ว ไร้เดียงสา แต่ที่โคนปากของมันที่หักไปมีเลือดแดงๆ ไหลซึมออกมา ผู้เขียนสงสารมันจับใจ นึกว่าไม่น่าไปยิงมันเลย ตัวก็เล็กกะจิ๋วเดียว ปากยาวโค้ง หลังสีดำ หน้าอกเหลือง สวยงามมาก มันอยู่ในวงศ์นกกินปลี เป็นนกเล็กตัวสุดท้ายที่ผู้เขียนได้ยิง

เดี๋ยวนี้ อย่าว่าแต่จะออกไปทำร้ายนกเลย บริเวณบ้านผู้เขียนเองยังห้ามเด็ดขาดไม่ให้ใครทำร้ายนก แม้แต่การทำร้ายทางอ้อม เช่น การใช้สารพิษฆ่าแมลงก็ไม่ทำ ผู้เขียนตั้งที่อาบน้ำนกไว้อันหนึ่ง ให้สูงเกินกว่าหมาแมวมากวน นกต่างๆ พากันมาใช้บริการสปาอันนี้กันล้นหลาม ขนาดว่าต้องต่อคิวกันในวันอากาศร้อน

งานอดิเรกเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมให้เด็กมี ที่จริงงานอดิเรกก็คล้ายคลึงกับการเล่น มันคือการเรียนรู้อย่างหนึ่ง และก็เช่นเดียวกับการเล่น เราไม่ควรผิดหวังที่เห็นเด็กเปลี่ยนงานอดิเรกเขาไปเรื่อยๆ เหมือนการเบื่อของเล่น เพราะนั่นคือธรรมชาติของมัน เมื่อเขาเรียนรู้จนเพียงพอแล้ว เขาจะหันไปหาอย่างอื่น เด็กที่เล่นของเล่นอย่างเดียวไม่เบื่อ น่าวิตกอย่างไร เด็กที่สนใจงานอดิเรกอย่างเดียว ไม่มีพัฒนาการก้าวหน้าไปเลย น่าวิตกอย่างนั้น โดยมากงานอดิเรกอย่างหนึ่งจะนำไปสู่อีกอย่างที่อาจคล้ายคลึงกัน หรือต่างกันก็ได้ แต่เด็กจะนำทักษะที่ได้เรียนรู้จากงานก่อนๆ มาใช้ในงานใหม่ๆ ของเขา และสุดท้ายเขาอาจเจองานอดิเรกที่เป็นเสมือน "รักแท้" ที่เขาอาจนำไปต่อยอดมาใช้เลี้ยงชีพ และทำให้มันดีที่สุดไปเลยก็ได้

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

373-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 373
พฤษภาคม 2553
อื่น ๆ
นพ.กฤษฎา บานชื่น