• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การดูแลคนไข้ด้วยหัวใจวิถีพุทธ

พุทธศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่เคารพนับถือ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย มีความสำคัญต่อวัฒนธรรม ความเชื่อ ความหวัง และเป็นที่พึ่งทางใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับความทุกข์ เผชิญภาวะวิกฤติ หรือเจ็บไข้ได้ป่วย

หลายโรงพยาบาลผสมผสานวิถีพุทธศาสนาเข้ากับการดูแลรักษาพยาบาล เพื่อเยียวยาคนเจ็บไข้ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม 
 

ห้องพระ
การจัดตั้งพระพุทธรูป ห้องพระ ให้คนไข้และญาติกราบไหว้ สร้างขวัญและกำลังใจ ทำให้คนไข้ส่วนหนึ่งคลายความวิตกกังวลจากการเข้ารับการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้ที่อยู่ในระยะอันตราย คนไข้หนักในไอซียู คนไข้ที่ต้องทำการผ่าตัด

โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งสังเกตว่า คนไข้คนหนึ่งขอกลับไปบ้านทุกหัวค่ำเพื่อไปไหว้พระที่บ้าน แล้วจึงกลับมาที่โรงพยาบาล คนไข้บอกว่าต้องไหว้พระพุทธรูปก่อนนอน ถ้ากราบหมอนโดยไม่มีพระพุทธรูปจะนอนหลับไม่สนิท เมื่อผู้อำนวยการโรงพยาบาลทราบ จึงจัดห้องพระในเรือนพักคนไข้ คนไข้ที่โรงพยาบาลนี้จึงมีพระสำหรับกราบไหว้ก่อนนอน

ห้องพระที่เป็นสัดส่วนและสงบ เหมาะสำหรับคนไข้ที่ต้องการสวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังเทศน์จากเทป

การเปิดเทปเสียงธรรมะ บางโรงพยาบาลจัดหาชุดหูฟังโดยคนไข้แต่ละคนเลือกฟังเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการเปิดเทปเสียงดังทั้งห้อง ซึ่งอาจรบกวนคนที่ไม่ต้องการฟัง หรือต้องการความเงียบสงบ

หนังสือธรรมะที่โรงพยาบาลจัดวางตามมุมหนังสือต่างๆ พบว่าคนไข้และญาติบางคนสามารถใช้จรรโลงจิตใจได้ จิตวิญญาณความศรัทธา เป็นมิติที่ใช้เหตุผลของคนหนึ่งอธิบายแทนอีกคนหนึ่งไม่ได้

 

ทำบุญ ตักบาตร
ชาวพุทธนิยมทำบุญตักบาตรทุกเช้า บางคนตักบาตรในวาระสำคัญต่างๆ ชาวพุทธเชื่อว่าการตักบาตรเป็นการทำให้รู้จักคุณค่าของการให้ ทำให้จิตใจแจ่มใส บางคนเชื่อว่าการทำบุญ ผลบุญจะส่งผลให้พ้นเคราะห์ ประสบแต่ความสุขความเจริญ

ยามเจ็บไข้ คนไข้ส่วนหนึ่งต้องการทำบุญตักบาตร หลายโรงพยาบาลนิมนต์พระภิกษุมารับบาตรถึงเตียงคนไข้ คนไข้บางคนไม่มีปัจจัย บางแห่งแพทย์และพยาบาลจัดหาปัจจัยให้คนไข้ได้ทำบุญ แม้คนไข้หนักที่ยังพอรู้สติ บางครั้งก็ปรารถนาจะทำบุญเช่นกัน
บางส่วนของคำบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่

"คนไข้บางคนนอนซมทั้งวัน แต่พอพระเดินเข้ามาที่เตียง กลับลุกขึ้นตักบาตรด้วยตัวเองได้"

"เคยเห็นคนไข้ระยะสุดท้าย ญาติประคองมือ ตักข้าวใส่บาตรพระ คนไข้ยิ้มอย่างมีความสุข"

"การที่มีพระมาบิณฑบาตร ทำให้คนไข้มีความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านของตนเอง เหมือนไม่เจ็บไข้ร้ายแรง"

 "บางคนเกิดมาไม่เคยตักบาตรเลย พอได้ตักบาตรในโรงพยาบาล เมื่อหายป่วยกลับไปอยู่บ้าน ลุกขึ้นมาตักบาตรทุกเช้า บอกว่าตักบาตรแล้วใจสบาย"

พระภิกษุวัดหนึ่งรับปัจจัยที่เป็นเงินจากเจ้าหน้าที่ คนไข้และญาติ รวบรวมเป็นกองทุนไปสงเคราะห์คนยากจนในชุมชน จัดโครงการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน ตั้งกองทุนส่งเสริมอาชีพ เป็นโครงการบุญต่อบุญที่น่าปลื้มปีติ

 

พระภิกษุร่วมดูแลคนไข้
หลายโรงพยาบาลนิมนต์พระภิกษุร่วมดูแลคนไข้ พระให้พร ผูกข้อมือและตั้งชื่อเด็กเกิดใหม่ ให้คำปรึกษาสำหรับคนไข้ที่เครียด วิตกกังวล หวาดกลัว หรือมีความทุกข์ บางโรงพยาบาลจัดสถานที่เป็นสัดส่วน เพื่อให้คนไข้และญาติขอคำปรึกษาจากพระได้อย่างเป็นส่วนตัว

โรงพยาบาลแห่งหนึ่งนิมนต์พระภิกษุมาทำสมาธิ เพื่อลดความเจ็บปวดสำหรับคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็ง ปรากฏว่าได้ผลดี จึงขยายผลสำหรับคนไข้ที่เจ็บปวดจากแผลผ่าตัดและจากโรคอื่นๆ พบว่าได้ผลดีเช่นเดียวกัน ปัจจุบันคณะเจ้าหน้าที่ซึ่งมีพยาบาลเป็นแกนนำ สามารถจัดการทำสมาธิลดความเจ็บปวดที่เรือนพักคนไข้ ที่เตียงคนไข้ได้ เมื่อคนไข้ต้องการ

พระภิกษุวัดหนึ่งรวบรวมทีมอาสาสมัครจัดกิจกรรมดูแลคนไข้โรคจิต คนไข้ที่มีพฤติกรรมผิดปกติ โดยมีเป้าหมายให้คนไข้เหล่านี้อยู่กับครอบครัวให้ได้ และส่งเสริมชุมชนให้การสนับสนุนทั้งคนไข้และครอบครัว พบว่าเป็นการฟื้นฟูสุขภาพจิตที่ผสมผสานกับวิถีชีวิต คนไข้หลายคนอาการดีขึ้นสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง เป็นภาระต่อครอบครัวน้อยลง หลายคนสามารถประกอบอาชีพได้

พระภิกษุที่อยู่ในชุมชนมีความใกล้ชิดกับชาวบ้าน เป็นผู้ที่ชาวบ้านให้ความเคารพ การให้คำปรึกษาโดยพระภิกษุ เสริมสร้างพลังจิตใจคนไข้และญาติ บางครั้งช่วยให้เข้าใจความจริงของชีวิตและละความทุกข์ได้จากความปล่อยวาง

หลายแห่งมีการจัดเครือข่ายประสานความร่วมมือระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องการดูแลสุขภาพ การเสริมสร้างพฤติกรรมที่ดี ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและมีความสุข

การถวายองค์ความรู้ทางการแพทย์เบื้องต้นให้แก่พระภิกษุสงฆ์ เช่น การดูแลสุขภาพ การให้การบำบัดรักษาโรคง่ายๆ การใช้ยาที่ปลอดภัย เป็นการเสริมพลังที่สำคัญเพราะพระภิกษุสงฆ์จะช่วยดูแลสุขอนามัยของชาวบ้านในชุมชน

 

ส่งวิญญาณคนไข้ระยะสุดท้าย
คนไข้ระยะสุดท้ายเป็นความทุกข์ทั้งตัวคนไข้และญาติ การจัดกิจกรรมทางศาสนาตามความเชื่อของคนไข้และญาติในโรงพยาบาลที่เรียบง่าย และไม่รบกวนคนอื่น เช่น การฟังธรรม สวดมนต์ รวมทั้งพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อเคารพคนตาย เป็นสิ่งที่มีคุณค่า ทำให้คนไข้จากไปด้วยความสงบ ญาติคลายความทุกข์โศก

หลายโรงพยาบาลที่ปฏิบัติกิจกรรมเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ พบว่ามีผลต่อจิตใจของเจ้าหน้าที่ ทำให้การดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายแสดงออกถึงความเมตตา กรุณา ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์และเกิดอุเบกขา ทำให้ไม่เกิดความเครียด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานและความสุขในชีวิต พยาบาลสาวคนหนึ่งเล่าประสบการณ์

 "แต่เดิมไม่เข้าใจเรื่องการดูแลคนไข้ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ เมื่อโรงพยาบาลมีแนวทางปฏิบัติในการดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย ก็ปฏิบัติไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ ถือเป็นการทำตามหน้าที่ วันหนึ่งพบว่าคนไข้ที่ตายในตึก หลังตายแล้วศพมีน้ำตาไหล ทำให้มาทบทวนการดูแลของเรา ก็เกิดความรู้สึกเสียใจที่เราไม่ได้ดูแลเขาเหมือนเพื่อนมนุษย์ ตั้งแต่นั้นจึงเรียนรู้ว่าการดูแลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ไม่เพียงปฏิบัติตามรูปแบบที่กำหนดไว้ แต่ต้องเกิดจากใจที่มองเห็นเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง แม้ว่าเขาจะตายในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา"

การผสมผสานวิถีชีวิต วิถีพุทธศาสนา ในการดูแลรักษาพยาบาล การเสริมพลังพระภิกษุสงฆ์เพื่อช่วยเยียวยาคนเจ็บไข้และญาติ ทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในโรงพยาบาลหลายแห่ง แนวทางนี้หากได้รับการส่งเสริมขยายผลให้เกิดขึ้นในแต่ละท้องที่อย่างเหมาะสม และได้รับการปฏิบัติด้วยความเข้าใจและจริงใจ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมไทย

 

ข้อมูลสื่อ

376-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 376
สิงหาคม 2553
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์