• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ

การดัดแปลงอาคารสถานที่และการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในโรงพยาบาล เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาและเพื่อการเรียนรู้ที่มีคุณค่า

คนพิการต้องการพึ่งตนเอง
คนพิการมิได้ต้องการให้ผู้อื่นช่วยเหลือตลอดเวลา คนพิการต้องการอิสระ ต้องการที่จะประกอบกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง ต้องการใช้ศักยภาพของร่างกายและจิตใจที่เหลืออยู่อย่างเต็มที่ ต้องการความภาคภูมิใจในการพึ่งตนเอง

ทางลาดพร้อมราวจับ
คนพิการที่นั่งรถเข็น ถ้าแขนแข็งแรง สามารถใช้แขนบังคับล้อเคลื่อนรถไปไหนมาไหนได้เองบนทางเรียบ 
ถ้าเป็นทางลาดชัน ความกว้างไม่น้อยกว่า ๙๐ เซนติเมตร ความลาดเอียงไม่เกิน ๑ : ๑๒ 
ทางลาดด้านที่ไม่มีผนังกั้น ให้ทำขอบสูงจากพื้นผิวไม่ต่ำกว่า ๑๐ เซนติเมตร
ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ควรทำราวจับสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า ๘๐ เซนติเมตร ราวจับด้านที่ติดผนัง ควรห่างจากผนังไม่น้อยกว่า ๔.๕ เซนติเมตร
 

ประตูเข้าออก
ถ้ามีธรณีประตู ควรให้ขอบทั้ง ๒ ด้านมีความลาดเอียง เพื่อเข็นรถเข็นเข้าออกสะดวก
ประตูควรมีความกว้างไม่น้อยกว่า ๘๕ เซนติเมตร ควรเป็นบานเลื่อนปิดเปิดง่าย ถ้าเป็นชนิดผลักเข้าออก ให้เปิดได้กว้าง
มือจับปิดเปิดควรเป็นชนิดก้าน คนที่มือไม่แข็งแรง จะได้ใช้ง่ายกว่าชนิดบิดหมุน
ควรติดตั้งในแนวนอนและอยู่สูงจากพื้น ๙๐ เซนติเมตร

                        

 

ห้องน้ำ ห้องส้วม
ไม่ควรมีธรณีประตู พื้นห้องน้ำใช้วัสดุที่ไม่ลื่น
ประตูกว้างอย่างน้อย ๘๐ เซนติเมตร ประตูควรเป็นบานเลื่อน ถ้าเป็นบานพับ ให้เปิดออกด้านนอก มีราวจับสูง ๘๐ เซนติเมตร
ที่อาบน้ำพื้นที่เส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๑.๕๐ เมตรเพื่อให้รถเข็นหมุนตัวกลับได้
ควรทำที่นั่งสำหรับอาบน้ำ ชนิดพับเก็บติดผนัง ความสูงจากพื้น ๔๕ เซนติเมตร
มีราวจับในแนวนอน ระดับความสูงไม่ต่ำกว่า ๗๐ เซนติเมตร และแนวดิ่งความยาวไม่ต่ำกว่า ๗๐ เซนติเมตร

                           

 

ห้องส้วมพื้นที่ภายในกว้างยาวไม่น้อยกว่า ๑.๗ × ๑.๗ เมตร
โถส้วมชนิดนั่งราบ สูง ๔๕ เซนติเมตร มีพนักพิงหลังและที่ปล่อยน้ำเป็นชนิดคันโยก

 

อ่างล้างมือ ใต้อ่างให้มีที่สำหรับรถเข็นสอดเข้า และมีราวจับ ๒ ข้าง
ก๊อกน้ำหรือที่ใส่สบู่เหลว ใช้ชนิดก้านโยกหรือก้านกด

สร้างโอกาสให้คนพิการ
โรงพยาบาลหลายแห่งให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้คนพิการเข้าถึงบริการต่างๆ ได้สะดวก ยังเป็นการลดภาระงานของเจ้าหน้าที่
คนพิการและประชาชน ได้เห็นรูปแบบการจัดสัดส่วนสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งสามารถนำไปใช้ที่บ้านและที่ทำงานได้
ที่สำคัญเป็นการส่งเสริมศักยภาพในการพึ่งตนเองของคนพิการ และสร้างโอกาสให้คนพิการสามารถเข้าสังคมได้อย่างเท่าเทียม


 

ข้อมูลสื่อ

384-046
นิตยสารหมอชาวบ้าน 384
มกราคม 2554
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์