• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ต่อสู้มะเร็งร้าย ใส่ใจคุณภาพชีวิต

คนไข้โรคมะเร็งที่ได้รับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาลแห่งนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข แม้ว่าคนไข้บางคนจะอยู่ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต

โรงพยาบาลรักษาโรคมะเร็ง
        โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็งขนาด ๔๐๐ เตียง แต่ปัจจุบันสามารถรับคนไข้ได้ ๘๘ เตียง ให้บริการรักษาคนไข้มะเร็งด้วยรังสีรักษา ยาเคมีบำบัด  ให้บริการตรวจรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ดูแลรักษาคนไข้มะเร็งระยะสุดท้าย และตรวจสุขภาพเพื่อค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรก
        การบริการด้านรังสีรักษา มีเครื่องมืออุปกรณ์ทันสมัยและมีสมรรถนะสูง มีระบบความปลอดภัยที่ดีมาก เช่น ระบบการทำงานของเครื่องฉายรังสีจะหยุดการทำงาน เมื่อประตูห้องฉายแสงหรือห้องใส่แร่ถูกเปิดหรือปิดไม่สนิท
        การบริการด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ นอกจากจะมีเครื่องมืออุปกรณ์เทียบเท่าสถาบันระดับนานาชาติแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการจัดเตรียมสถานที่ และมาตรการการจัดเก็บขยะหรือสิ่งปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี
        คนไข้ที่รักษาด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน สิ่งคัดหลั่งต่างๆ จากร่างกายของคนไข้ จะมีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนออกมาด้วย จะต้องให้คนไข้อยู่ในห้องแยกพิเศษ ๓-๔ วัน เพื่อให้สารกัมมันตรังสีในร่างกายคนไข้สลายหมดไป และเพื่อให้คนไข้คลายเครียดและมีสุขภาพจิตดี จึงจัดสวนเฉพาะให้กลุ่มคนไข้สามารถออกมาพักผ่อนสังสรรค์ร่วมกันได้

การดูแลคนไข้มะเร็งระยะสุดท้าย
        มีการจัดตั้งและพัฒนารูปแบบการดูแลคนไข้มะเร็งระยะสุดท้ายเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยจัดตั้งเป็นหออภิบาลคุณภาพชีวิตขึ้น เพื่อให้คนไข้ที่อยู่ในระยะสุดท้ายของโรค  ได้รับการเตรียมความพร้อม โดยญาติและครอบครัวมีส่วนร่วม เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเสียชีวิตอย่างสงบและสมศักดิ์ศรี
        โครงสร้างกายภาพและการจัดสัดส่วนหออภิบาล จัดให้มีลักษณะคล้ายบ้าน มีมุมพักผ่อนในบรรยากาศต่างๆ เช่น มุมอัมพวา มีบรรยากาศแบบไทยๆ มุมอ่านหนังสือ มุมนั่งเล่นในสวน ห้องพักเป็นห้องเดี่ยวมีจำนวน ๑๒ ห้อง คนไข้ทุกสิทธิการรักษาได้ห้องแบบเดียวกัน อนุญาตให้ญาติอยู่เฝ้าและเข้าร่วมกิจกรรมเตรียมความพร้อมสำหรับคนไข้เมื่อกลับไปบ้าน ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๒ สัปดาห์ นอกจากนี้ได้เปิดรับอาสาสมัคร เพื่อช่วยเหลือดูแลและสอนทำกิจกรรมต่างๆ
        หออภิบาลคุณภาพชีวิต จัดห้องสำหรับคนไข้และญาติทำกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
        ห้องช่อผกา สำหรับสอนและสาธิต ความรู้และทักษะเบื้องต้นในการดูแลคนไข้ เช่น การทำความสะอาดร่างกาย การดูแลป้องกันแผลกดทับ การดูแลสายสวนปัสสาวะ การดูแลและให้อาหารทางสายอาหาร เป็นต้น
        ห้องปาริชาติ ใช้เพื่อศิลปะบำบัด มีกิจกรรมวาดภาพ เพื่อให้คลายเครียดและสร้างจินตนาการ
        ห้องรสสุคนธ์ จัดอุปกรณ์การประกอบอาหาร จัดโต๊ะกินอาหารร่วมกันสำหรับคนไข้และญาติ
        ห้องพุทธรักษา สำหรับประกอบกิจทางศาสนา ทั้งศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม นิมนต์พระมาเทศน์และรับบาตรอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
        ห้องลีลาวดี สำหรับนวดแผนไทย
        ห้องดาวกระจาย เป็นศูนย์รวมเครื่องมือและอุปกรณ์ สำหรับให้คนไข้ยืมกลับไปใช้ที่บ้าน เช่น ถังออกซิเจน ที่นอนลม อุปกรณ์พ่นยา อุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน เมื่อคนไข้เลิกใช้หรือเสียชีวิต ญาติจะนำมาคืน และมักนำอุปกรณ์อื่นของคนไข้มาบริจาคเพิ่มเติม ทำให้มีอุปกรณ์เพิ่มขึ้น

โอกาสที่เปิดให้

        สำหรับคนไข้มะเร็งทั่วไป นอกจากการให้บริการตามแนวทางปฏิบัติมาตรฐานที่ดีแล้ว ยังจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาและการเรียนรู้ ได้แก่
        ห้องมิตรภาพ เพื่อจัดกิจกรรมหรือจัดนันทนาการร่วมกันสำหรับคนไข้ ญาติ  เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ได้แก่ หัตถกรรมการประดิษฐ์ต่างๆ การเย็บเต้านมเทียมสำหรับคนไข้มะเร็งเต้านม การร้องเพลงคาราโอเกะ
        ศูนย์เรียนรู้โรคมะเร็ง เพื่อให้คนไข้ ญาติ และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าไปใช้ได้ตลอดเวลา จัดแสดงด้วยโปสเตอร์ เอกสาร วีดิทัศน์ หุ่นสาธิต ซึ่งสามารถใช้ทดลองฝึกปฏิบัติได้ เช่น การตรวจค้นหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก การคลำและสังเกตตับที่มีอาการผิดปกติ
        ศาลาธรรมานุภาพ สำหรับจัดกิจกรรมทางศาสนา การนั่งสมาธิ ฟังเทปบรรยายธรรม
        สวนสมุนไพรสิริวัณณวลี ปลูกพืชสมุนไพร และผักต่างๆ และจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สมุนไพร
        ศาลาพักริมน้ำและเรือแคนู สำหรับคนไข้ ญาติ เจ้าหน้าที่ เพื่อพักผ่อนและออกกำลังกาย
        บ้านเลขที่ ๕ ผาสุก เป็นเรือนพักสำหรับคนไข้ที่ต้องมารับการฉายรังสีอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้รับไว้ในโรงพยาบาล แต่คนไข้มีความไม่สะดวกในการเดินทางไปกลับ จัดให้กลุ่มคนไข้ดูแลกันเอง รับผิดชอบอาหารการกินเอง ให้เลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจากกลุ่มคนไข้

กระเป๋าคุณออย
        คุณออยเป็นพยาบาล ชอบสะสมกระเป๋า วันหนึ่งพบว่าคุณป้าคนหนึ่งเป็นมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย ถือกระเป๋าใบเก่าหูกระเป๋าขาดเหลือเพียงข้างเดียว เมื่อสอบถามได้ทราบว่า ทั้งบ้านของคุณป้ามีกระเป๋าใบนี้เพียงใบเดียว คุณออยจึงกลับไปเอากระเป๋าที่บ้านมาให้คุณป้า ๑ ใบ
        นอกจากเจ็บป่วยหนักแล้วคุณป้ายังสายตาเลือนรางมองไม่ค่อยเห็น สามีคุณป้าหนีหายไป ทิ้งให้คุณป้าอยู่คนเดียว
        คุณป้ามาหาหมอตามนัด คุณออยสังเกตพบว่า คุณป้าถือกระเป๋าใบเก่าขาดๆ มาอีก เมื่อสอบถามจึงทราบว่า กระเป๋าใบใหม่เก็บไว้ที่บ้าน
        วันหนึ่งคุณป้ามาพร้อมกับคุณลุงซึ่งเป็นสามี และถือกระเป๋าที่คุณออยให้มาด้วย ที่กระเป๋าเขียนว่า “กระเป๋าคุณออย”
        สามีคุณป้ากลับมาดูแลคุณป้าอีกครั้ง เพราะเรื่องราวจากกระเป๋าใบนี้ คุณลุงเล่าว่า คุณออยเป็นคนอื่นยังมีใจรักเอื้ออาทรคุณป้า ส่วนคุณลุงเป็นสามีกลับไม่เหลียวแล คุณลุงจึงกลับใจ
        คุณป้าบอกว่า ถึงโรคมะเร็งไม่หายก็ไม่เป็นไร เพียงแต่อยากให้ตามองเห็น คุณป้าอยากเห็นคุณออย
        วันนั้นคุณป้าอาการหนัก คุณหมอจึงรับไว้ในโรงพยาบาล และเป็นการอยู่โรงพยาบาลครั้งสุดท้ายของคุณป้า เพราะคุณป้าได้จากไปอย่างสงบ

บ้านหลังนี้มีความรัก
        โรงพยาบาลแห่งนี้เสมือนบ้านอีกหลังหนึ่งสำหรับคนไข้โรคมะเร็ง บ้านที่เตรียมความพร้อมเพื่อต่อสู้มะเร็งร้าย ด้วยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ด้วยเวชภัณฑ์ประสิทธิผลสูง ด้วยกระบวนการเหนือมาตรฐานความปลอดภัย
        บางคนหายจากโรคร้าย บางคนโรคสงบ บางคนมีชีวิตอยู่ต่อไปแม้โรคไม่หาย บางคนเป็นบ้านหลังสุดท้ายที่ฝากชีวิต
        แต่สิ่งที่ทุกคนได้รับจากบ้านหลังนี้ คือความรัก ความเอื้ออาทร และการอภิบาลเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข
 

ข้อมูลสื่อ

382-055
นิตยสารหมอชาวบ้าน 382
กุมภาพันธ์ 2554
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์