• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คุณไพศาล วิชชากรธัญศิริ เพราะขี่จักรยาน...จึงมีวันนี้

“กลางดึกคืนหนึ่ง รู้สึกหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก เหมือนหัวใจจะหยุดเต้น รีบคว้ายามากิน ยาไปกระตุ้นหัวใจให้เกิดการทำงานใหม่ ทำให้รอดตายมาได้”

คุณไพศาล วิชชากรธัญศิริ อายุ ๗๐ ปี เล่าถึงประสบการณ์เฉียดตาย ขณะที่มีอายุ ๕๐ กว่าๆ ด้วยความที่เป็นโรคหัวใจโต และหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้สุขภาพร่างกายอ่อนแอ ต้องพกยาไว้ใกล้ตัวตลอด จนกระทั่งมีเพื่อนแนะนำให้ออกกำลังกายด้วยการขี่จักรยาน สุขภาพจึงเริ่มดีขึ้น…

เริ่มแรกขี่จักรยาน  

เพราะภาระหน้าที่การงานที่ต้องดูแล ทำให้ไม่มีเวลาดูแลตัวเอง โรคที่เป็นอยู่ก็เพียงแค่ไปหาหมอตามนัด แต่ไม่มีเวลาใส่ใจเท่าที่ควร เมื่อมีเหตุการณ์เฉียดตายจึงเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการออกกำลังกาย

เริ่มรู้สึกว่าตัวเองต้องมีสุขภาพแข็งแรง ช่วงอายุประมาณ ๕๐ ปี เพราะป่วยเป็นโรคหัวใจโต และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ช่วงนั้นต้องทำงานอาการจึงแย่ลง มีอาการขัดๆ แน่นๆ ที่หน้าอกอยู่เรื่อย บางครั้งเวลาเครียดอาการก็จะแย่ลง ต้องรีบไปโรงพยาบาล

กลางดึกคืนหนึ่ง รู้สึกหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก เหมือนหัวใจจะหยุดเต้น รีบคว้ายามากิน ทำให้รอดตายมาได้ 

เริ่ม “เดิน” ออกกำลังกาย แต่ด้วยอายุที่มากทำให้เดินช้าเหงื่อก็เลยไม่ออก จึงเดินเร็ว พอเดินมากๆ จะปวดหลังและหัวเข่า หลังจากนั้นเพื่อนๆ ได้แนะนำให้ลองขี่จักรยาน เพราะมีเพื่อนบางคนป่วยเป็นหลายโรค พอเพื่อนแนะนำเลยซื้อจักรยานมาขี่และชวนภรรยากับลูกชายมาด้วย ซึ่งส่วนมากจะไปขี่จักรยานกันที่สนามจันทร์ ขี่จักรยานต่อเนื่องมา ๑๒ ปี สุขภาพร่างกายก็แข็งแรงขึ้น 

ระหว่างนั้นมีขาดช่วงไป ๒ ปีกว่า เพราะมีช่วงหนึ่งที่สนามจันทร์คืนวัง จึงเกิดความขี้เกียจไปประมาณ ๒ ปี ผลลัพธ์ของความขี้เกียจทำให้หัวใจโตขึ้น ความหนาเพิ่มขึ้น ๙ มิลลิเมตร หรือเกือบ ๑ เซนติเมตร แต่โรคหลอดเลือดตีบกลับดีขึ้น...

ออกกำลังกายไม่สามารถซื้อด้วยเงินได้

ตลอดระยะเวลาที่ขี่จักรยานมากว่า ๑๒ ปี คุณไพศาลสุขภาพแข็งแรงขึ้นมาก แม้จะไม่หายขาดจากโรคที่เป็น แต่ก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข ไม่เหนื่อยง่าย สามารถทำงาน และเดินขึ้นลงบันไดโดยไม่เหนื่อย ซึ่งในแต่ละวันคุณไพศาลจะขี่จักรยานช่วงเช้าและกลับมาทำงานตามปกติ

ช่วงเช้าของทุกวัน จะขี่จักรยานวันละ ๑ ชั่วโมง ขี่ได้ประมาณ ๒ ปี อาการแน่นหน้าอกก็หายไป แต่ก่อนบางครั้งต้องทุบหน้าอกเพื่อบรรเทาอาการ ปัจจุบันไม่มีอาการแล้ว

อีกทั้งโรคหลอดเลือดตีบก็หายดีแล้ว แต่โรคหัวใจโตไม่หาย ตอนนี้หนาเกือบ ๑ เซนติเมตร ผลพวงจากการออกกำลังกายเกือบทุกเช้าก็ทำให้สุขภาพดีขึ้นมาก ซึ่งถ้ามีเวลาว่างไม่ติดธุระ ก็จะไปกับประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพจังหวัดนครปฐม (คุณธวัชชัย เอกธุระประคัลภ์) และกลุ่มประมาณ ๑๐ คัน ขี่ไปตามชนบทได้อากาศดี ทำให้หัวใจไม่แข็งตัว ถ้าหัวใจหนาแล้วอยู่เฉยๆ ไม่ออกกำลังกาย หัวใจจะเต้นช้าและแข็งตัว

ดังนั้น จึงต้องออกกำลังกายเพื่อให้รู้สึกเหนื่อย และไปกระตุ้นให้หัวใจทำงาน จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่แข็งตัว และหากเป็นวันอาทิตย์ก็จะขี่จักรยานไปกลับประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร หรืออาจมากกว่านั้น ผมเคยทำสถิติสูงสุด ๒๑๖ กิโล ภายใน ๑ วันพอดี ถ้าหากตอนนั้นไม่ได้ขี่จักรยาน ไม่เกิน ๖๐ คงกลายเป็นผง เป็นเถ้าถ่านไปแล้ว

ตอนนี้สุขภาพจึงดีขึ้นมาก ฤดูหนาวหรือฝน จะป่วยเป็นไข้หวัด ๒-๓ วันก็หาย ไม่ป่วยนานเหมือนเมื่อก่อนที่พอป่วยครั้งหนึ่งเกือบเดือน...

ชวนคนรอบข้างมาขี่จักรยานเพื่อสุขภาพ

คุณไพศาลจะไปขี่จักรยานกับภรรยาเป็นประจำ ส่วนลูกชายก็ขี่เป็นครั้งคราว และวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนจะหยุดให้ลูกน้องชวนกันไปขี่จักรยาน

จังหวัดนครปฐมมีกลุ่มขี่จักรยานหลายกลุ่ม หากเป็นวัยรุ่นจะใช้ความเร็วสูง แต่กลุ่มสูงอายุส่วนมากอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ก็จะขี่จักรยานเพื่อสุขภาพ ไม่ได้ขี่เพื่อแข่งขัน และกลุ่มที่ไปด้วยกันก็มีความสามัคคีกัน เพราะว่าไม่ต้องแข่งขันกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน

อีกทั้งกลุ่มวัยทำงานจะขี่จักรยานในช่วงเช้า ประมาณตี ๕.๐๐-๕.๓๐น. แยกขี่เป็นกลุ่มๆ ซึ่งจะมีหลายกลุ่ม บางกลุ่มว่างตอนเย็น บางกลุ่มว่างตอนเช้า หากมีกิจกรรมก็จะมารวมตัวกันโดยให้ความร่วมมือทุกกลุ่ม เป็นพลังและเสน่ห์ของการขี่จักรยาน

การขี่จักรยานเป็นสิ่งที่ผมภาคภูมิใจ พบใครก็ชอบเล่าให้ฟัง และมีหลายๆ คนสนใจหันมาขี่จักรยานเพิ่มมากขึ้น มีความสุขและมีสุขภาพก็ดีขึ้นทุกคน เพราะการขี่จักรยานจะได้ทั้งบรรยากาศ เพื่อนใหม่ๆ และสุขภาพที่ดีตามมา หากไปซื้อเครื่องออกกำลังกายมาไว้ที่บ้าน จะน่าเบื่อ การขี่จักรยานไปเรื่อยๆ ได้คุยกันบ้างอะไรบ้าง เหนื่อยก็พัก เช้าๆ มีกาแฟ บางทีก็มีน้ำเต้าหู้ โจ๊ก แวะระหว่างทาง กินอะไรเสร็จก็ขี่จักรยานกลับบ้านอย่างสบายใจ

การขี่จักรยาน ไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ (ขี่ได้ทุกวัย) ไม่มีข้อห้ามสำหรับเพศ (ขี่ได้ทุกเพศ) สำคัญอยู่ที่ความตั้งใจออกกำลังกายเพื่อการได้มาซึ่งสุขภาพดี
 

ข้อมูลสื่อ

385-066
นิตยสารหมอชาวบ้าน 385
มกราคม 2554
เปลี่ยนชีวิต
นิชานันท์ นาไชย