• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แน่นอกนอนไม่หลับ

มาเป็นหมอกันเถิด
นพ.สันต์ หัตถีรัตน์

แน่นอก นอนไม่หลับ...เพราะห่วงหลาน

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๔๙
                
เช้าวันหนึ่ง ในการตรวจเยี่ยมผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉิน แพทย์ประจำบ้านได้พา    ไปดูผู้ป่วยรายหนึ่งที่กำลังนอนกระสับกระส่าย หายใจเร็วเป็นพักๆ หน้านิ่วคิ้วขมวด และนอนหงายราบอยู่บนเตียงเข็น

แพทย์ประจำบ้าน : "ผู้ป่วยรายนี้เป็นหญิงไทยม่าย อายุ ๖๐ ปี เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วมานานหลายปี รักษาที่นี่มาตลอด เช้าวันนี้มีอาการแน่นอก หายใจไม่สะดวก จึงให้ลูกพามาโรงพยาบาล"
อาจารย์ : "แล้วหมอตรวจพบอะไรบ้าง"
แพทย์ประจำบ้าน : "ตรวจพบชีพจรปกติ ความดันเลือด ปกติ ไม่มีไข้ หายใจแรงเป็นพักๆ หัวใจมีเสียงฟู่ของ    ลิ้นหัวใจรั่วเหมือนเดิม ผู้ป่วยไม่ซีด ไม่เขียว ไม่บวม และไม่มีอาการแสดง (ไม่มีลักษณะที่ตรวจพบได้) ของภาวะหัวใจล้ม เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการแน่นอก จึงได้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ด้วย แต่คลื่นไฟฟ้าหัวใจก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม จึงได้ตรวจเลือดหาสารเคมีจากหัวใจ (cardiac enzymes) ไปครับ"

อาจารย์ : "แล้วหมอคิดว่าผู้ป่วยเป็นโรคหรือภาวะการเจ็บป่วยอะไร"
แพทย์ประจำบ้าน : "น่าจะเป็นภาวะเจ็บหัวใจจากการขาดเลือด (ischemic cardiac pain หรือ angina) ครับ"
อาจารย์ : "ทำไมหมอจึงคิดว่าผู้ป่วยเจ็บหัวใจล่ะ"
แพทย์ประจำบ้าน : "ก็ผู้ป่วยมีโรคหัวใจ แล้วแน่นอก และตรวจไม่พบความผิดปกติอื่น จึงคิดถึงอาการเจ็บหัวใจครับ"

อาจารย์ : "โรคหัวใจชนิดไหนที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เจ็บหัวใจ"
แพทย์ประจำบ้าน : "โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคหัวใจบาดเจ็บ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่กลางอกปริ (aortic dissection) โรคหลอดเลือดปอดอุดตันเฉียบพลัน เป็นต้นครับ"

อาจารย์ : "แล้วผู้ป่วยมีโรคหัวใจเหล่านี้หรือ"
แพทย์ประจำบ้าน : "ไม่มีครับ"

อาจารย์ : "แล้วทำไมหมอถึงคิดว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บหัวใจจากการขาดเลือด เพราะอาการเจ็บหัวใจจากการขาดเลือดมักเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเท่านั้น โรคหัวใจส่วนใหญ่ที่หมอกล่าวถึงก็ไม่ได้ทำให้เกิดอาการเจ็บหัวใจจากการขาดเลือด อาการเจ็บหัวใจจากการขาดเลือดมีลักษณะเฉพาะของมันพอสมควร หมอลองบอกลักษณะอาการที่ทำให้คิดว่าเป็นอาการเจ็บหัวใจจากการขาดเลือดมาให้น้องๆ (นักศึกษาแพทย์) ได้เรียนรู้บ้าง"
แพทย์ประจำบ้าน : "อาการเจ็บหัวใจจากการขาดเลือด จะเป็นอาการเจ็บแน่นมากกว่าอาการเจ็บเสียวหรือเจ็บแปล๊บๆ ที่บริเวณกลางอก บริเวณหัวใจ คอ ไหล่ คาง แขน ซึ่งจะเจ็บทันที และเจ็บมากที่สุดในเวลา ๑ นาที และคงอยู่เช่นนั้นอย่างน้อย ๕ นาที แล้วจึงหายไป มักเกิดอาการขณะออกกำลังหรือเครียด หรือหลังจากนั้นไม่นาน และจะหายเมื่อนั่งพักหรืออมยาใต้ลิ้นครับ"

อาจารย์ : "แล้วผู้ป่วยรายนี้มีอาการอย่างที่หมอเล่าหรือเปล่า"
แพทย์ประจำบ้าน : "มีอาการเจ็บแน่นอกครับ"

อาจารย์ : "แล้วอาการเจ็บแน่นอกนั้นเป็นขณะออกกำลังหรือเปล่า และหายเพราะอะไร"
แพทย์ประจำบ้าน : "ผู้ป่วยเจ็บแน่นอกหลังตื่นนอนตอนเช้า ไม่สัมพันธ์กับการออกกำลัง และแน่นอกมา ๒ ชั่วโมงแล้วครับ"

อาจารย์ : "อาการเจ็บหัวใจมักไม่เกินครึ่งชั่วโมง เวลาเจ็บ ผู้ป่วยจะนิ่ง ไม่กระสับกระส่ายดิ้นรน และไม่ชอบนอนราบแบบนี้ ผู้ป่วยรายนี้จึงไม่มีลักษณะ เฉพาะของอาการเจ็บหัวใจ"
แล้วอาจารย์ก็หันไปคุยกับผู้ป่วย      
อาจารย์ : "สวัสดีครับ ตอนนี้คุณรู้สึกดีขึ้น เลวลง หรือคงเดิมครับ"
ผู้ป่วย : "อาการเหมือนเดิมค่ะ ยังแน่นในอก หายใจไม่สะดวก ยังไม่ดีขึ้นเลยค่ะ"

อาจารย์ : "คุณช่วยเล่าอาการของคุณตั้งแต่เริ่มเป็นให้หมอฟังใหม่ ได้ไหมครับ"
ผู้ป่วย : "เมื่อเช้าตอนตื่นนอน รู้สึกแน่นๆ ในอก และหายใจไม่สะดวก ก็ลุกขึ้น เข้าห้องน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำแต่งตัว และลงมาทานข้าวชั้นล่าง แล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น จึงให้ลูกพามาโรงพยาบาลค่ะ"

อาจารย์ : "เมื่อคืนคุณเข้านอนกี่โมงครับ"
ผู้ป่วย : "ประมาณ ๔ ทุ่มค่ะ แต่หลับๆ ตื่นๆ จนถึงตี ๕ จึงลุกขึ้นเพราะแน่นอกค่ะ"

อาจารย์ : "ที่หลับๆ ตื่นๆ เพราะแน่นอกตั้งแต่       ๔ ทุ่ม หรือเพราะอาการไม่สบายอย่างอื่นครับ"
ผู้ป่วย : "เพิ่งแน่นอกตอนตี ๕ ค่ะ ที่หลับๆ ตื่นๆ คง      เป็นเพราะห่วงหลานที่เค้าทำงานดึก และกลับบ้านดึก กลัวจะเป็นอันตราย เพราะหมู่นี้มีข่าวเรื่องการข่มขืนเกิดขึ้นบ่อยเหลือเกิน"

อาจารย์ : "ถ้าอย่างนั้น คุณคงต้องให้คุณพ่อคุณแม่ ของหลานเค้าไปรับหลานกลับบ้าน หรือให้หลานกลับบ้านพร้อมกับเพื่อนที่อยู่บ้านใกล้ๆ กัน หรือหาวิธีการอื่นๆ ที่จะทำให้คุณหายกังวลในเรื่องนี้มิฉะนั้น คุณก็จะแน่นอกบ่อยๆ และหายใจไม่สะดวกบ่อยๆ จากการนอนไม่หลับหรือหลับๆ ตื่นๆ จากความกังวลเรื่องหลานนี้อาการแน่นอกและหายใจไม่สะดวกของคุณไม่ได้เกิดจากโรคลิ้นหัวใจรั่วที่คุณเป็นอยู่ แต่เกิดจากจิตใจที่ห่วงหลานนั่นเอง
               
อย่างไรก็ตาม หมอจะให้ยาคลายกังวลไปเผื่อไว้ ถ้าคุณห่วงกังวลมากจนหลับไม่สนิท ให้กินยาคลายกังวลช่วย จะทำให้คุณหลับได้สบายขึ้น และจะทำให้อาการแน่นอกและหายใจไม่สะดวกไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ ครับ
"

ปัจจุบัน แพทย์และประชาชนทั่วไปกลัวเรื่องโรคหัวใจขาดเลือดที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายกันมากเกินกว่าเหตุ จึงมักเข้าใจว่าอาการเจ็บอกหรือแน่นอก เป็นอาการเจ็บหัวใจจากการขาดเลือด ทำให้ต้องเสียเวลามานอนโรงพยาบาล และเสียค่าตรวจต่างๆ เป็นจำนวนมาก เพราะลืมซักประวัติให้ดี ยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ใช้แล็บเป็นหลักในการวินิจฉัยโรค ปรากฏว่าผู้ป่วย (๗,๗๑๓ รายที่ไปห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลมหาวิท-ยาลัย ๗ แห่งด้วยอาการเจ็บอก และแพทย์คิดว่าเป็นอาการเจ็บหัวใจจากการขาดเลือด เมื่อได้ตรวจและติดตามผู้ป่วยครบ ๓๐ วันแล้ว ปรากฏว่ามีเพียงร้อยละ ๘.๑ เท่านั้นที่มีอาการเจ็บหัวใจจากการขาดเลือดจริง (Annals of Emergency Medicine  ก.พ. 2550) 


 

ข้อมูลสื่อ

337-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 337
พฤษภาคม 2550
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์