• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ใช้ยาพ่นผิดวิธี

ใช้ยาพ่นผิดวิธี
ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๕๐
                   
ช่วงบ่ายวันหนึ่ง ที่ห้องฉุกเฉิน ชายชราคนหนึ่งกำลังนอนพ่นยาขยายหลอดลมอยู่ด้วยอาการค่อนข้างสบายและสงบ
แพทย์ประจำบ้าน :  "ผู้ป่วยเป็นชายไทยคู่ (คู่หมาย ความว่าภรรยายังมีชีวิตอยู่) อายุ ๖๗ ปี มีอาการหอบเหนื่อยมากมา ๑ วัน ผู้ป่วยเป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังมาหลายปี จากการสูบบุหรี่ตั้งแต่หนุ่มๆ และเพิ่งหยุดสูบได้เมื่อ ๓-๔ ปีก่อน หลังจากหอบเหนื่อยบ่อยๆ ครับ
                     
วันนี้ตรวจพบเสียงหวีด (wheeze) ในปอดทั้ง ๒ ข้าง (ซึ่งแสดงว่าหลอดลมตีบ) จึงได้พ่นยาขยายหลอดลมให้ไปเพียง ๑ ครั้ง อาการก็ดีขึ้นครับ
"

อาจารย์ :  "แล้วอะไรเป็นชนวนที่ทำให้อาการของผู้ป่วยกำเริบ"
แพทย์ประจำบ้าน : "เข้าใจว่าไข้หวัดครับ เพราะผู้ป่วย ถูกฝนเมื่อ ๒-๓ วันก่อน แล้วมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวคล้ายจะเป็นหวัดครับ"

อาจารย์ : "ผู้ป่วยมีไข้ น้ำมูกไหล เจ็บคอ และมีเสมหะหรือ"
แพทย์ประจำบ้าน : "ตรวจร่างกายไม่มีไข้ ไม่คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล ไม่ไอ และไม่มีเสมหะครับ"

อาจารย์ : "แล้วทำไมหมอถึงคิดว่าชนวนที่ทำให้อาการของผู้ป่วยกำเริบครั้งนี้เกิดจากไข้หวัดล่ะ"
แพทย์ประจำบ้าน : "ก็ผมถามคนไข้ว่า เป็นไข้หวัดหรือเปล่า แล้วคนไข้ตอบว่าน่าจะเป็น เพราะถูกฝนและครั่นเนื้อครั่นตัวครับ"
อาจารย์ : "การใช้คำถามนำ หรือคำถามที่ทำให้ต้อง ตอบ ว่าใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือไม่ถูก เป็นคำถามที่มักจะทำให้ได้รับคำตอบที่ทำให้เข้าใจผิด การถามประวัติการเจ็บป่วยจึงควรใช้คำถามแบบปลายเปิด ให้ผู้ป่วยสรรหาคำตอบเอง หรือให้ผู้ป่วยเล่าประวัติ การเจ็บป่วยเอง โดยไม่มีการชี้นำแต่อย่างใด"
      
แล้วอาจารย์ก็หันไปคุยกับผู้ป่วย
อาจารย์ : "สวัสดีครับ ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ ดีขึ้น เลวลง หรือคงเดิมครับ"
ผู้ป่วย : "ดีขึ้นแล้วครับ"

อาจารย์ : "คุณคิดว่าอะไรทำให้อาการของคุณกำเริบขึ้นครับ"
ผู้ป่วย : "คงจะเป็นไข้หวัดกระมังครับ เพราะคุณหมอเค้าถามผมเรื่องหวัด และ ๒-๓ วันก่อน ผมอยู่นอกบ้าน แล้วถูกฝนนิดหน่อย ก็เลยมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวบ้าง"

อาจารย์ : "แล้วคุณมีอาการอื่นอีกไหมครับ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ มีเสมหะ หรืออื่นๆ"
ผู้ป่วย : "ไม่มีครับ"

อาจารย์ : "แล้วอยู่ดีๆ ทำไมคุณจึงเกิดอาการหอบ ขึ้นมาในวันนี้ล่ะครับ คุณไม่สูบบุหรี่ ถูกควันไฟ ควันรถ หรือไปทำอะไรเป็นพิเศษ จึงเกิดอาการหอบรุนแรงอีก"
ผู้ป่วย : "เอ...อาจจะเป็นเพราะผมไปผ่าฟืนได้ไหมครับ"

อาจารย์ : "คุณใช้อะไรผ่าฟืน และหลังผ่าฟืนแล้วมีอาการอะไรไหมครับ"
ผู้ป่วย : "ผมใช้ขวานผ่าฟืน หลังผ่าฟืนเสร็จ ก็สบายดี ต่อมาได้เอาฟืนไปก่อไฟให้ภรรยาต้มขนมขาย หลังถูกควันไฟพักหนึ่ง เกิดอาการหอบขึ้น ผมพยายามใช้ยาพ่นแก้หอบ พ่นไปหลายครั้ง ไม่ดีขึ้น จึงมาโรงพยาบาล"

อาจารย์ : "แล้วตอนนี้ดีขึ้นหรือยังครับ"

"ผู้ป่วย : "เมื่อมาถึงโรงพยาบาลใหม่ๆ  ยังหอบมากเลย ครับ พูดได้เป็นคำๆ พูดยาวๆ แบบนี้ไม่ได้ครับ ตอนนี้ ดีขึ้นมาก หลังพ่นยาครั้งเดียว รู้สึกดีขึ้นมาก ทำไมผมพ่นยาที่บ้านแล้วไม่ได้ผลล่ะครับ ยาไม่เหมือนกันหรือครับ"
      
อาจารย์ : "คุณเอายาพ่นมาด้วยหรือเปล่า"
 ผู้ป่วยหยิบยาพ่นที่ใช้อยู่เป็นประจำออกมาให้   หมอดู

อาจารย์ : "ยาที่คุณใช้อยู่ก็เป็นตัวเดียวกับที่หมอพ่นให้คุณในห้องฉุกเฉินนี่ แต่ที่นี่เราใช้ลมหรือ ออกซิเจนพ่นยาให้เป็นละอองให้คุณหายใจเข้าได้ตลอดเวลา คุณจึงได้ยาเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ส่วนยาพ่นที่คุณพ่นให้ตัวคุณเอง เวลาคุณกดมันครั้งหนึ่ง ยาก็จะพ่นออกมาครั้งหนึ่ง และขณะที่ ยาพ่นออกมาเป็นละอองนั้น ถ้าคุณกะจังหวะได้ดี และสูดเอาละอองยาทั้งหมดหรือส่วนใหญ่เข้าไปในปอดของคุณได้ มันก็จะได้ผลเหมือนกัน
      
แต่ถ้าคุณกะจังหวะไม่ถูก ละอองยาที่พ่นออก มาก็จะไม่ได้รับการสูดเข้าไปในปอด อาจจะติดอยู่ในปาก ลำคอของคุณเป็นส่วนใหญ่ หรือทั้งหมด มันจึงไม่ได้ผล
 ไหนคุณลองพ่นยาให้ตัวคุณเอง ให้หมอดูหน่อย"
 
ผู้ป่วยก็นำยาของตนเองมาพ่นให้ตนเอง แต่ปรากฏ ว่าผู้ป่วยกดเครื่องพ่นยาหลังจากที่สูดหายใจเข้าไปแล้ว ทำให้ละอองยาฟุ้งออกมาจากปากในช่วงที่ผู้ป่วยหายใจ ออก

อาจารย์ : "คุณพ่นยา แล้วยามันไม่เข้าปอด แถมยังฟุ้งกระจายออกมาจากปากคุณ มันจึงไม่ได้ผล เดี๋ยวคุณหมอเขาจะสอนวิธีพ่นยาให้คุณใหม่ ให้คุณพ่นยาเป็นก่อน ครั้งต่อไปคุณจะได้หยุดการหอบของคุณได้เวลาอาการหอบกำเริบ"
               
นอกจากนั้น คุณจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงสาเหตุ ที่ทำให้อาการหอบของคุณกำเริบ เช่นในครั้งนี้ หมอคิดว่าควันไฟที่คุณช่วยก่อฟืนไฟให้ภรรยาน่าจะเป็นสาเหตุมากกว่าไข้หวัด ถ้าคุณจำเป็นต้องก่อไฟอีก ให้หาผ้าชุบน้ำปิดปากปิดจมูก กันไม่ให้ควันไฟเข้าไปในปอดและหลอดลมของคุณได้
                
การหาและแนะนำผู้ป่วยให้หลีกเลี่ยงชนวนที่ทำให้ อาการกำเริบ จึงสำคัญกว่าการใช้ยา ซึ่งรักษาปลายเหตุ และการสั่งยาโดยไม่สอนผู้ป่วยให้ใช้ยาได้ถูกต้อง เป็นปัญหาที่พบอยู่เสมอๆ 

 

 


 

ข้อมูลสื่อ

338-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 338
มิถุนายน 2550
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์