• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไวรัสเดงกี่

ไวรัสเดงกี่


ต้นปี พ.ศ.๒๕๔๘ นี้ มีข่าวเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกที่คุกคามเด็กจำนวนมาก ซึ่งมียุงเป็นพาหะนำไวรัสเดงกี่ (Dengue  virus) หรือไข้เดงกี่

มารู้จักที่มาที่ไปของไวรัสเดงกี่กันดีกว่า

โรคนี้มีบันทึกครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๓๒๒-๒๓๒๓ โดยระบาดในเขตร้อนของสามทวีป คือ เอเชีย แอฟริกาและอเมริกาเหนือ แต่ตอนนั้นไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร

พ.ศ.๒๓๓๒ เกิดการระบาดในเมืองฟิลา-เดลเฟีย ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีไข้สูงและบ่นว่ารู้สึกปวดเหมือนกระดูกจะแตก เบนจามิน รัช (Benjamin Rush) จึงเรียกโรคนี้ว่า Breakbone Fever 

๓๐ ปีต่อมามีการระบาดใน West Indies ผู้ป่วยบางคนไข้สูงจนชัก ชาว Swahili ได้บรรยายไว้ว่า "ki denga pepo" แปลว่า"โรคชักเกร็งจากอำนาจปีศาจ" เบนจามิน รัช จึงเปลี่ยนชื่อโรคนี้เป็นไข้เดงกี่ (Dengue Fever : DF)

ช่วงแรกหนทางควบคุมการระบาดของไข้เดงกี่ยังมืดมนอยู่ จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๔๘ เกิดการระบาดในออสเตรเลีย T. L. Bancroft พิสูจน์ได้ว่ายุงลายพันธุ์ Aedes aegypti เป็นพาหะของโรคนี้ จึงเริ่มมีแนวทางในการควบคุม

พ.ศ.๒๔๘๖ Albert Bruce Sabin (๒๔๔๙-๒๕๓๖) แพทย์ชาวอเมริกัน และ Walter Schlesinger แยกเชื้อก่อโรคได้จากการระบาดในเมืองโฮโนลูลู ขณะเดียวกัน Susumu Hotta และ Ren Kimura ก็แยกเชื้อได้เช่นกันที่เมืองนางาซากิ แต่เนื่องจากเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ข้อมูลจึงไม่ชัดเจนว่าใครเป็นคนค้นพบก่อนกัน เชื้อที่ค้นพบนี้คือไวรัสเดงกี่ชนิดที่ ๑ (DEN 1)  อีก ๑ ปีต่อมาก็พบเชื้อ DEN 2 ที่ New Guinea

ต่อมา พ.ศ.๒๔๙๙ เกิดไข้เลือดออกระบาด ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เรียกว่า Philippines Hemorrhagic Fever (PHF) ซึ่ง W. McD. Hammon พบว่าเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ ๒ ชนิด เขาตั้งชื่อว่า DEN 3 และ DEN 4

อีก ๒ ปีต่อมาก็พบไข้เลือดออกในประเทศไทย เรียกว่า Thai Hemorrhagic Fever (THF)  ซึ่ง Hammon ก็พบว่าเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่เช่นกันแต่เขาเข้าใจว่าเป็น DEN 5 และ DEN 6  แต่สุดท้ายพบว่าไวรัสนี้มีแค่ ๔ สายพันธุ์เท่านั้น 

ปี พ.ศ.๒๕๐๗ Scott B. Halstead เสนอให้ใช้คำว่าไข้เลือดออกเดงกี่ (Dengue Hemorrhagic Fever : DHF) แทนและใช้มาจนถึงปัจจุบัน (แต่คนไทยนิยมเรียกสั้นๆ ว่าโรคไข้เลือดออก)

ไวรัสเดงกี่พบอยู่ทั่วโลกก่อให้เกิด DF แต่ทำไมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็น DHF ซึ่งรุนแรงกว่า?
 
จากการศึกษาของ Halstead พบว่าผู้ป่วย DHF มักจะเคยติดเชื้อนี้มาก่อน  พ.ศ.๒๕๑๖ เขาจึงเสนอว่าแถบนี้มีเชื้อชุกชุมทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย  ต่อมาเมื่อมีการติดเชื้อซ้ำจะเกิดความรุนแรงขึ้นผ่านทางกลไกภูมิคุ้มกันของร่างกาย  เรียกสมมุติฐานนี้ว่า Immune Enhancement Hypothesis

ผู้ป่วย DHF มีโอกาสช็อกและเสียชีวิตได้  ตอนแรกเข้าใจว่าเกิดจากภาวะเลือดออก แต่จากการศึกษาของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประสงค์ ตู้จินดา คณะแพทยศาสตร์ศิริราช พยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ข้อสรุปว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากสารน้ำรั่วออกนอกหลอดเลือดไม่ใช่จากภาวะเลือดออกอย่างที่เข้าใจกัน  นำไปสู่หลักการรักษาว่าให้สารน้ำทดแทนเท่าที่รั่วออกไปก็พอ  โดยผู้ที่วางแนวทางการรักษาโรคนี้อย่างเป็นขั้นตอนคือแพทย์หญิงสุจิตรา นิมมานนิตย์ โรงพยาบาลเด็ก  เป็นผลให้อัตราการตายจากโรคนี้ลดลง  องค์การอนามัยโลกจึงถือให้ใช้แนวทางนี้เป็นมาตรฐานในการรักษาทั่วโลก (ทำให้บุคคลทั้งสองได้รับรางวัล Prince Mahidol Award สาขาการแพทย์ประจำปี พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งเป็นปีแรกและปีเดียวที่คนไทยได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้)

แม้การรักษาจะเดินมาถูกทางแล้วแต่ก็ยังมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคนี้อยู่  ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นแนวทางที่ดีกว่า พ.ศ.๒๕๒๓ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงเริ่มพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสเดงกี่ทั้ง ๔ สายพันธุ์ หลังประสบความสำเร็จในการทดลอง phase I

พ.ศ.๒๕๓๗ มหาวิทยาลัยมหิดลก็ร่วมมือกับบริษัท Aventis Pasteur ของฝรั่งเศสทดลอง phase II และผ่านไปได้ด้วยดี  ปัจจุบันกำลังทดลอง phase III อยู่ แต่ที่ก้าวหน้ากว่าเราคือสถาบัน WRAIR (The Walter Reed Army Institute of Research) สังกัดกองทัพบกสหรัฐอเมริกาได้ทดลองผ่าน phase III ไปแล้วและได้ทำสัญญากับบริษัท Glaxo SmithKline ของเบลเยียมเพื่อผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรมโดยกำหนดแผนที่จะทดลอง phase IV ในเด็กไทย

๒๐๐ กว่าปีแล้วที่มนุษย์รู้จักกับไวรัสนี้  แต่เพิ่งค้นพบโครงสร้างของมันเมื่อไม่นานมานี้เองโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ซึ่งตีพิมพ์ผลงานในวารสาร Cell ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๕ เชื่อว่าคงเป็นการเปิดประตูไปสู่การพัฒนายาต้านไวรัสที่จะนำมาใช้รักษาโรคนี้ได้ในอนาคต  แต่ที่ผมหวังมากกว่าคืออยากเห็นวัคซีนของไทยประสบความสำเร็จในเร็ววัน

ข้อมูลสื่อ

313-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 313
พฤษภาคม 2548
นพ.ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์