• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาเม็ดคุมกำเนิด (Contraceptive pill)

ยาเม็ดคุมกำเนิด (Contraceptive pill)


เมื่อไม่นานมานี้ผู้นำสิงคโปร์ต้องออกมากระตุ้นให้ประชาชนผลิตทายาทเพิ่มขึ้น เพราะประเทศมีอัตราการเพิ่มของประชากรที่ต่ำมากเนื่องจากการคุมกำเนิดดีเกินไป
ที่ผ่านมาประชากรโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ทรัพยากรของโลกค่อยๆลดลง คนจึงพยายามหาวิธีคุมกำเนิด แต่ตอนแรกทำได้แค่วิธีธรรมชาติเท่านั้น จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๔๐ Beard พบว่าเวลาที่รังไข่มี Corpus luteum จะไม่มีการตกไข่จึงคิดว่าน่าจะมีสารจาก Corpus luteum ที่ยับยั้งไม่ให้มีการตกไข่ 

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๖ ฮาร์ตแมน (Hartman) เสนอว่าสารจากน้ำคร่ำวัวนำมาใช้คุมกำเนิดได้ แต่ตอนนั้นไม่ทราบว่าเป็นสารอะไร ในเวลาต่อมาเรียกว่า เอสโตรเจน (estrogen)

ปี พ.ศ.๒๔๗๗ สามารถสกัดโพรเจสทิน (progestin) ได้สำเร็จ และ พ.ศ. ๒๔๗๘ ก็สามารถสกัดเอสโตรเจนได้สำเร็จ นายแพทย์อีกอน ดิกซ์ฟาลูซี (Egon Dicz-falusy) ชาวสวีเดนได้ค้นพบฮอร์โมนต่างๆ อีกหลายตัว การศึกษาของเขาทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับระบบฮอร์โมนของการเจริญพันธุ์ในสตรีและเกิดแนวคิดที่จะใช้มันในการคุมกำเนิด 

พ.ศ.๒๔๘๐ เมกพีซ (Makepeace A.W.) และคณะพบว่าโพรเจสทินสามารถยับยั้งการตกไข่ได้ในสัตว์ทดลอง 

พ.ศ.๒๔๘๓ สเตอร์จิส (Sturgis) และอัลไบรท์ (Albright) รายงานว่า เอสโตรเจนก็ระงับการตกไข่ได้เช่นกัน

ยาเม็ดคุมกำเนิดรวม
จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดในปี พ.ศ.๒๔๙๗ เมื่อนายแพทย์คาร์ล เจอราสซี (Carl Djerassi) ชาวอเมริกันสามารถสังเคราะห์โพรเจสทินที่ใช้กินทางปากได้เป็นคนแรกทำให้ง่ายต่อการวิจัยในมนุษย์ พ.ศ.๒๔๙๙ เกรกกอรี พิงกัส (Gregory Pin-kus) และ เจ.ร็อก (J. Rock) ได้ทดลองยาเม็ดโพรเจสทินในมนุษย์เป็นครั้งแรกที่เปอร์โตริโก พวกเขาสรุปผลการวิจัยในปี พ.ศ.๒๕๐๑ พบว่าป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงมากและประจำเดือนมาตามปกติ  โพรเจสทินที่สังเคราะห์ในตอนนั้นยังไม่บริสุทธิ์ มักจะมีเอสโตรเจนเจือปนอยู่จึงเรียกยานี้ว่ายาเม็ดคุมกำเนิดรวม (Combined pill) มีการใช้ยานี้อย่างกว้างขวาง กระทั่ง พ.ศ. ๒๕๐๔ จอร์แดน (Jordan W.H.) รายงานไปที่วารสาร Lancet ว่า พบผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดปอดโดยใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดรวมอยู่ซึ่งมีรายงานสนับสนุนตามมา องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกาจึงทำการศึกษาตั้งแต่นั้นจนถึง พ.ศ.๒๕๐๖ ได้ข้อสรุปว่า เอสโตรเจนในยาเม็ดคุมกำเนิดรวมเพิ่มอุบัติการณ์ของการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำแต่ไม่มีความแตกต่างทางสถิติเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป อย่างไรก็ตามการคิดค้นยาคุมกำเนิดต่อจากนั้นก็พยายามหลีกเลี่ยงการใช้เอสโตรเจน

ยาเม็ดคุมกำเนิดเดี่ยว
ปี พ.ศ.๒๕๐๘ รูเดิล (Rudel H. W.) และ มาร์ติเนซ (Martinez Manautou) พบว่าการใช้โพรเจสทินอย่างเดียวในขนาดน้อยๆ ก็สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้เรียกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดเดี่ยว (Minipill) ซึ่งตอนแรกมีท่าทีว่าจะมาทดแทนยาเม็ดคุมกำเนิดรวมแต่พบว่าประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดด้อยกว่าและทำให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอยได้ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากนัก จึงให้ในกรณีที่ผู้ใช้ทนผลข้างเคียงของเอสโตรเจนไม่ได้และใช้ในผู้ที่ให้นมบุตร

ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๙ มอร์ริส (Morris) และคณะได้รายงานการให้ยาในหญิงที่ถูกข่มขืนภายใน ๗๒ ชั่วโมงเป็นเวลา ๔-๖ วันพบว่าป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ตอนแรกเรียกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์ (postcoital pill) ทำให้คนนำไปใช้ในทางที่ผิดจึงเปลี่ยนชื่อเป็นยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน (emergency pill) จากผลงานที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ทำให้ ดร.อีกอน ดิกซ์ฟาลูซี (Dr. Egon Diczfalusy) และ คาร์ล เจอราสซี (Carl Djerassi) ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๘

รางวัล "สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล" ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งเป็นพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย จากที่ท่าน ทรงดำรัสไว้ว่า

"Real success exists not in learning, but in its application for the benefit of mankind." หมายถึงความสำเร็จที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การเรียนรู้แต่อยู่ที่นำความรู้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษย์

รางวัลนี้จึงมอบให้แก่ผู้ที่มีผลงานอันก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อคนเป็นจำนวนมาก แบ่งออกเป็นสองสาขาคือสาขาการแพทย์และสาขาสาธารณสุข 

ข้อมูลสื่อ

315-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 315
กรกฎาคม 2548
นพ.ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์