• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตัวอย่างผู้ป่วยที่ต้องรักษา "คน" ให้ได้ก่อน "ไข้"

ตัวอย่างผู้ป่วยที่ต้องรักษา "คน" ให้ได้ก่อน "ไข้"
 

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๒๙
ในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๘ ข่าวไข้เลือดออกระบาดในประเทศไทยได้รับความสนใจสูงสุดเมื่อมีการแถลงข่าวการป่วยของ ด.ช.ภูมิภัทร ผลสมบูรณ์โชค หรือ "น้องภูมิ" ซึ่งป่วยหนักด้วยโรคไข้เลือดออกจากเชื้อเดงกี่ (Dengue hemorrhagic fever) และถูกส่งต่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
การแถลงข่าวนั้นได้บรรยายถึงความรุนแรงของโรคที่น้องภูมิเป็นอยู่ จนมีเลือดออกในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ต้องใช้เลือดเป็นจำนวนมากทดแทนและชดเชยให้ และมีการใช้ยาห้ามเลือดที่มีราคาแพงลิบ (หลอดละ ๑.๒ มิลลิกรัม ราคาเกือบ ๒๕,๐๐๐ บาท) เป็นจำนวนมาก แล้วยังมีการ "ฟอกตับ" "ฟอกไต" ใส่ท่อช่วยหายใจ และการรักษาที่วิจิตรพิสดารต่างๆ จนค่ารักษาพยาบาลตกประมาณ ๒ ล้านบาทในไม่กี่วัน

ในการแถลงข่าวนั้น จึงมีการขอบริจาคเลือด (จนมีผู้มาบริจาคเลือดที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมากจนต้องออกประกาศทางวิทยุและโทรทัศน์ขอระงับการบริจาคเลือดในวันต่อมา) และมีการขอบริจาคทรัพย์เพื่อช่วยค่ารักษาพยาบาลน้องภูมิ (ซึ่งได้รับการบริจาคมาประมาณ ๒ ล้านบาท ภายใน ๒-๓ วัน)
การแถลงข่าวน้องภูมิในครั้งนั้นจึงให้ประโยชน์หลายประการ เช่น

๑. ทำให้คนไทย โดยเฉพาะรัฐบาลไทยหันมาให้ความสนใจและใส่ใจที่จะป้องกันและกำจัดไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น แต่ก็อาจจะเป็นแบบ "ไฟไหม้ฟาง" เท่านั้น เพราะเป็นเช่นนี้มาตลอด

๒. แสดงความมีน้ำใจของคนไทยที่จะบริจาคเลือดและทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ ดังที่เคยแสดงให้ทั่วโลกประจักษ์มาแล้วในกรณีภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิและคงจะเป็นเช่นนี้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การแถลงข่าวเช่นนี้ก็มีด้านที่อาจจะเป็นโทษ เช่น

๑. ทำให้แพทย์ขาดดุลยพินิจ และวิจารณญาณที่ดีที่จะตัดสินใจว่า สิ่งใดเหมาะสมและสิ่งใดไม่เหมาะสมในการดูแลรักษาผู้ป่วยในสภาพต่างๆ กัน เพราะอาจคิดไปว่า ถ้าทำอะไรให้ "เวอร์ๆ" (over หรือ เกินพอดี) ไว้ก่อน จะได้มีผู้คนสนใจได้ออกโทรทัศน์หลายวัน แล้วยังได้ทดลองใช้ยาราคาแพงๆ และวิธีรักษาที่วิจิตรพิสดารต่างๆ โดยตนเองและโรงพยาบาลไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะใช้สื่อโน้มน้าวให้ผู้คนบริจาคเงินให้ และใช้สื่อผลักดันให้องค์กรอื่น (ในที่นี้คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.) เป็นผู้จ่ายแทน ทั้งที่การใช้ยาและวิธีรักษาดังกล่าวไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการชดเชยทั้งหมดได้

๒. ทำให้สังคมเข้าใจผิดคิดว่า โรคไข้เลือดออก (และโรคอื่นๆ) ควรจะได้รับการรักษาแบบวิจิตรพิสดารเช่นนี้ ทั้งที่การรักษาแบบวิจิตรพิสดารต่างๆ ซึ่งมักจะมีราคาแพงมหาศาลด้วยนั้น มักจะเป็นการรักษาที่ให้ผลได้ไม่แน่นอน หรืออาจเรียกว่า เป็นการทดลอง นั่นคือ ใช้ผู้ป่วยเป็นหนูตะเภาทดลองยาหรือวิธีการรักษานั้นๆ แม้ว่าในทางการแพทย์ การทดลองรักษายังเป็นสิ่งจำเป็นเพราะโรคจำนวนมาก ยังไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผลดี แต่ผู้ป่วยและญาติรวมทั้งสังคมทั่วไปต้องตระหนักว่า นั่นเป็นการทดลองไม่ใช่การรักษาที่เป็นมาตรฐานหรือเป็นที่ยอมรับทั่วไปในวงการแพทย์แล้วการแถลงข่าวที่ไม่ได้ชี้แจงให้ชัดเจนว่า นี่เป็นการทดลองรักษา ไม่ใช่การรักษาอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ย่อมทำให้ผู้คนเข้าใจผิดคิดว่า การรักษาที่ดีจะต้องเป็นเช่นนั้น

อันที่จริงการรักษาที่มีราคาแพงมหาศาลและไม่ใช่การรักษามาตรฐานนั้น มักจะยังความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้ป่วย และทำให้ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมานมากขึ้นและนานขึ้น (อาจไม่มีวันสิ้นสุด) ดังเช่นกรณี "บิ๊กดีทูบี" หรือ นางเทอร์รี ไชอ์โว เป็นต้น

ในกรณีของนางเทอร์รี ไชอ์โว เธอต้องทนทุกข์ทรมานอยู่นานถึง ๑๕ ปี กว่าศาลจะยอมสั่งให้ดึงท่อให้อาหารและน้ำออกจากกระเพาะอาหารของเธอได้ และให้เธอได้จากไปตามธรรมชาติอย่างสงบเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๘ นอกจากนั้น การทดลองหรือการทดลองรักษาใดๆ ผู้ทำการทดลองจะต้องแจ้งให้ผู้ถูกทดลองทราบ ถึงพิษภัยต่างๆ ของการทดลองนั้นอย่างสมบูรณ์ และผู้ถูกทดลองยินยอมที่จะถูกทดลองด้วยความเต็มใจ และมีลายลักษณ์อักษรแสดงความยินยอมเช่นนั้น อนึ่ง ในการทดลองโดยทั่วไป ผู้กระทำการทดลองจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมทั้งค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ ค่าที่พัก เป็นต้น ให้แก่ผู้ถูกทดลองด้วย

๓. เกิดแบบอย่างที่อาจทำให้คนหลายคนเห็นเป็นช่องทาง "หากิน" ได้ง่ายๆ โดยการใช้ "เด็กป่วย" โฆษณาขอรับบริจาคทรัพย์สิน หรือโฆษณา "หากิน" อย่างอื่น รวมทั้งการโฆษณาความรู้ความสามารถของตน เพราะเด็กโดยเฉพาะเด็กป่วยจะเรียกร้องความสงสารและความช่วยเหลือได้ง่าย เช่นเดียวกับกรณีที่ผู้ใหญ่ใช้เด็ก (รวมทั้งเด็กป่วย) เป็นเครื่องมือขอทานตามถนนหนทางทั่วไป

๔. เกิดค่านิยมใหม่ที่จะใช้ "ความลับ" (ข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย) ของผู้ป่วยเป็นเครื่องมือในการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อให้ประโยชน์แก่สถาบันหรือผู้อื่น ข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย โดยเฉพาะของเด็กอาจทำให้ผู้ป่วยถูกล้อเลียน หรือเป็น "ปมด้อย" ที่จะต้องติดตรึงไปตลอดชีวิตได้

ในการรักษาผู้ป่วยจึงต้องคำนึงถึงประโยชน์และโทษที่จะเกิดกับผู้ป่วยในหลายๆ ด้าน ไม่ใช่คำนึงแต่ประโยชน์ในการได้เงินมารักษา "โรค" เท่านั้น แล้วทำให้ "คน" (คนป่วย) ต้องได้รับความทุกข์ทรมานโดยไม่จำเป็นหรือไม่มีวันสิ้นสุด

ข้อมูลสื่อ

315-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 315
กรกฎาคม 2548
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์