• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วัคซีน (Vaccine)

วัคซีน (Vaccine)


รู้ไหมว่า"วัคซีน" มีที่มาที่ไปอย่างไร? เกี่ยวข้องกับไข้ทรพิษ (smallpox) ฝีดาษอย่างไร?
 

ไข้ทรพิษ (ฝีดาษ)
ไข้ทรพิษเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงโรคหนึ่ง ผู้ติดเชื้อจะมีตุ่มพุพองตามร่างกายและมีอัตราการตายสูง ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ มีบันทึกถึงเรื่องไข้ทรพิษครั้งแรกในประเทศจีน เมื่อลูกชายของนายกรัฐมนตรี หวังตัน (Wang Tan) เสียชีวิตจากโรคไข้ทรพิษ เขาจึงประกาศหาคนที่รู้วิธีป้องกันโรค มีนักบวชท่านหนึ่งจากมณฑลเสฉวน นำเชื้อจากคนที่เป็นโรคใส่ในโพรงจมูกคนปกติพบว่าสามารถป้องกันโรคได้ วิธีนี้เรียกว่า การปลูกฝี (inoculation) ซึ่งพัฒนาต่อๆ มาจนเปลี่ยนไปทำที่ผิวหนัง สิ่งนี้ไปสู่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกีผ่านทางคาราวานสินค้าเมื่อ พ.ศ.๒๒๑๓

การปลูกฝี
ศตวรรษต่อมาในปี พ.ศ.๒๒๕๘ Lady Mary Wortley Montagu ผู้หญิงที่ได้ชื่อว่า สวยที่สุดในอังกฤษ ขณะนั้นป่วยเป็นไข้ทรพิษเป็นผลให้เธอเสียโฉม เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๒๖๑ สามีของเธอย้ายไปประจำที่สถานทูตในกรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี เธอได้รู้จักการปลูกฝี และมอบหมายให้นายแพทย์ Charles Maitland ศัลยแพทย์ชาวสกอต ทำการปลูกฝีลูกชายวัย ๕ ขวบของเธอ พอถึงเดือนเมษายน พ.ศ.๒๒๖๔ เธอกลับมาที่กรุงลอนดอน และให้นายแพทย์ Maitland ทำเช่นเดียวกันกับลูกสาววัย ๔ ขวบท่ามกลางแพทย์ทั้งหลาย พระราชินีแห่งเวลส์ทราบข่าวจึงพระราชทานอนุญาตให้นายแพทย์ Maitland ทำการทดลองกับนักโทษจำนวน ๖ คนในเดือนสิงหาคมปีนั้นเองซึ่งได้ผลดี ในเดือนเมษายนปีต่อมาเขาก็ได้ทำการปลูกฝีให้กับพระธิดาทั้งสองของพระราชินีแห่งเวลส์ วิธีการปลูกฝีจึงเป็นที่ยอมรับแต่นั้นมา จนมีการก่อตั้งโรงพยาบาลเพื่อทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ ต่อมา พ.ศ.๒๓๑๑ Robert Sutton เสนอวิธีใหม่ในการปลูกฝี โดยเขาใช้มีดผ่าตัดเจาะตุ่มในผู้ป่วย แล้วนำไปจิ้มต้นแขนคนปกติ

ฝีดาษวัว
ในปี พ.ศ.๒๓๑๗ เกิดการระบาดของไข้ทรพิษที่ชนบทใน Yetminster เกษตรกรชาวอังกฤษ Benjamin Jesty ซึ่งเคยเป็นโรคนี้ตอนเด็ก เขาสังเกตว่ามีคนงานรีดนมสองคนสัมผัสโรคแต่ไม่ป่วย สอบถามจึงทราบว่าทั้งสองเคยเป็นฝีดาษวัว (cowpox) มาก่อน โชคดีที่มีโรคฝีดาษวัวระบาดที่ฟาร์มใกล้เคียง Jesty จึงใช้เข็มขีดที่แขนของภรรยาและลูกชายอีกสองคนแล้วใส่หนองจากวัวที่ติดเชื้อลงไป ทั้งสามผ่านการระบาดไปได้โดยไม่ติดเชื้อ นายแพทย์ Edward Jenner แพทย์ชนบทในเมืองเบิร์กเลย์ ได้นำวิธีการของ Robert Sutton ไปทดลอง แต่เขาพบว่าผู้ทดลองบางคนมีภูมิคุ้มกันแล้ว  สอบถามจึงทราบว่าทุกคนเคยเป็นฝีดาษวัวมาก่อน เหตุการณ์สำคัญเริ่มต้นเมื่อเขาพบ Sarah Nelmes ซึ่งเป็นฝีดาษวัว และมีแผลที่นิ้วมือ Jenner รู้จักกับ James Phipps เด็กชายวัย ๘ ขวบซึ่งยังไม่เคยเป็นทั้งฝีดาษวัวและไข้ทรพิษ เขาจึงไปขออนุญาตจากผู้ปกครองและได้รับความยินยอมเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๓๙ เขาทดลองโดยข่วนที่แขนของเด็กแล้วนำหนองจาก Sarah หยดลงที่รอยข่วน อีก ๒ เดือนต่อมาในวันที่ ๑ กรกฎาคม เขาก็ทำการปลูกฝีเด็กด้วยหนองจากผู้ป่วยไข้ทรพิษ ปรากฏว่าเด็กไม่มีอาการของโรคเลย นายแพทย์ Edward jenner ประสบความสำเร็จ ในการทดลองกับอีก ๑๓ คน  Sir Walter Farguhar แนะนำให้เขาเก็บเป็นความลับเพราะมันจะทำเงินให้มหาศาล แต่เขาก็ส่งรายงานไปที่ราชวิทยาลัยแพทย์เพื่อตีพิมพ์ในวารสาร Philosophical Transactions แต่ถูกปฏิเสธ (ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จัก Benjamin Jesty กระทั่ง พ.ศ.๒๓๔๐ เขาย้ายครอบครัวมาอยู่ที่ Purbeck ผู้คนจึงทราบว่ามีการพบสิ่งนี้ก่อน Jenner ถึง ๒๐ ปี) นายแพทย์ Edward jenner ทำการทดลองเพิ่มเติมและใช้ทุนส่วนตัวพิมพ์หนังสือเองเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๓๖๑ มีแต่คนยกย่องว่าเขาเป็นคนค้นพบเรื่องนี้แต่ Jenner ก็ไม่เคยยอมรับมัน ตลอดเวลาเขาทุ่มเทให้กับการป้องกันโรคนี้จนกระทั่งเสียชีวิตในปี พ.ศ.๒๓๓๖

วัคซีนพิษสุนัขบ้า
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๔ หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis  Pasteur) นักเคมีชาวฝรั่งเศสค้นพบหลักการคล้ายกัน และนำไปใช้ผลิตวัคซีนพิษสุนัขบ้าในปี พ.ศ. ๒๔๒๘ และตั้งชื่อกระบวนการนี้ว่า vaccination ซึ่งมาจากภาษา ละติน vacca (วัว) และ vaccinia (cowpox) เพื่อเป็นเกียรติแก่การค้นพบของ Jenner

องค์การอนามัยโลกทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยจนประสบความสำเร็จในการกวาดล้างไข้ทรพิษได้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ แม้โรคนี้จะหายไปจากโลกของเราแล้ว แต่ยังมีเชื้อโรคนี้เก็บไว้ที่สถาบันใหญ่ๆ ในบางประเทศเพื่อใช้ในการวิจัยทางไวรัสวิทยา เมื่อลองคิดในด้านลบว่าถ้าผู้ก่อการร้ายสามารถขโมยเชื้อไข้ทรพิษออกไปทำอาวุธชีวภาพได้ คงเกิดการระบาดครั้งใหญ่แน่นอนเพราะทุกวันนี้คนส่วนมากไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคไข้ทรพิษเลย ปัจจุบันมีการโต้แย้งกันอยู่ว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะยังเก็บเชื้อโรคไข้ทรพิษไว้

ข้อมูลสื่อ

316-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 316
สิงหาคม 2548
นพ.ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์