• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อยู่ดี กินดี มีสุขภาพดี มีความสุข

การทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลกับชุมชน  โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลให้ประชาชนอยู่ดี กินดี  สุขภาพดี มีความสุข

สุขภาพดีเริ่มที่บ้าน

การรักษาคนไข้ที่โรงพยาบาลเป็นปลายทางของการดูแลสุขภาพ หากไม่มีการส่งเสริมสุขภาพที่ดี ไม่มีการป้องกันการเจ็บไข้หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่างๆ คนไข้ต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาล จนหมอและพยาบาลมีงานล้นมือ โรงพยาบาลมีสภาพแออัด จำนวนเตียงไม่พอกับคนไข้

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในชนบทภาคอีสาน ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเริ่มต้นจากที่บ้าน ในครอบครัวและในชุมชน

คุณหมอได้นำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์กับภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างองค์ความรู้ในชุมชน ศึกษาเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน รวมกลุ่มสร้างเครือข่าย ขยายผลจนเกิดชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ 

เมื่อประชาชนมีวิถีชีวิตที่พอเพียง มีพอกินพอใช้ ไม่มีหนี้สิน ไม่หลงอบายมุข ไม่ติดการพนัน ไม่ติดเหล้าเมายา อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อาหารการกินปลอดสารพิษ ส่งผลให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ

ผู้เขียนขอถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ จากปราชญ์ชาวบ้าน และวิถีชีวิตชาวบ้านที่เปลี่ยนไป เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างพลังสังคมในการมุ่งมั่นพัฒนาสู่สิ่งที่ดีกว่า

หมู่บ้านมหัศจรรย์

ปราชญ์ชาวบ้านท่านนี้เป็นผู้ใหญ่บ้าน นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ โดยปรับเปลี่ยนวิธีคิด เริ่มจากตนเองก่อนแล้วจึงเผยแพร่สู่ลูกบ้าน
อีสานแล้งน้ำ ท่านจึงทดลองปลูกข้าวแบบนาหยอด ทำให้ไม่ต้องใช้น้ำมาก ปรากฏว่าได้ผลผลิตดี จึงส่งเสริมให้ชาวบ้านทำนาหยอด และพัฒนาจนได้ชื่อว่า หมู่บ้านมหัศจรรย์ ใน ๓ เรื่อง ได้แก่
๑. ทุกคนในหมู่บ้านปลอดหนี้สิน ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ
๒. ทุกครัวเรือนมีแหล่งอาหารของตนเอง ปลูกผักปลอดสารพิษ เลี้ยงปลา เป็ด ไก่  
๓. เป็นหมู่บ้านที่ปลูกต้นไม้มากที่สุด มีการชื่นชมเป็นรางวัล ใครปลูกต้นไม้ร้อยต้น  ยกย่องเป็นนายร้อย ใครปลูกพันต้น เป็นนายพัน
หมู่บ้านนี้ไม่พบเด็กขาดสารอาหาร ไม่มีเด็กเอ๋อ ไม่มีเด็กคลอดน้ำหนักน้อย ส่วนชาวบ้านที่เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน สามารถดูแลตนเองได้ดี

ฝรั่งหัวใจไทย

หนุ่มใหญ่ชาวอังกฤษ  จบปริญญาตรีเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยลอนดอน  มาใช้ชีวิตอยู่ในชนบทไทยกับภรรยาไทยในอีสาน มีลูกด้วยกัน ๓ คน หนุ่มฝรั่งพูดอีสานได้ชัดถ้อยชัดคำ แต่ไม่สอนให้ลูกพูดภาษาอังกฤษ

ฝรั่งหัวใจไทยคนนี้และครอบครัวทำนาเกษตรผสมผสาน มีวิถีชีวิตเรียบง่ายและมีความสุข ชื่นชมความมีน้ำใจของชาวอีสาน ภูมิใจกับความเป็นไทย

เสมือนหนึ่งมีชีวิตใหม่

หญิงคนหนึ่งสามีป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ ตัวเธอเป็นเบาหวาน เข้าออกโรงพยาบาลทุกเดือน เธอเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก สามีเป็นพนักงานการไฟฟ้า พ.ศ.๒๕๔๓ สามีเกษียณ ครอบครัวมีที่ดิน ๑๕ ไร่ จึงตัดสินใจกลับมาทำไร่ เป็นจุดตั้งต้นชีวิตใหม่

เริ่มด้วยการทำไร่เกษตรผสมผสาน บนผืนดินลูกรังและแห้งแล้ง ปลูกต้นไม้ยืนต้นเสริม ไม่มีสิ่งใดเหนือความมานะอดทน ต้นไม้ที่ลงแรงดูแลอย่างเอาใจใส่ ทำให้ผืนดินปรับสภาพอุดมสมบูรณ์

สองสามีภรรยาเปลี่ยนชีวิตเป็นเกษตรกร ทำงานกลางไร่ ถึงแดดจะร้อน ฝนจะตก แต่เป็นบรรยากาศธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์ หาอาหารจากพืชผักอินทรีย์ปลอดสารพิษที่ปลูกเอง จากสภาพคนไข้กลับกลายเป็นคนมีสุขภาพดี เสมือนหนึ่งมีชีวิตใหม่

วิทยากรประจำศูนย์การเรียนรู้

หญิงชาวบ้านอีกคน สามีติดการพนันเป็นหนี้เป็นสิน จนต้องขายทรัพย์สิน ขายบ้านที่อยู่อาศัย สามีถูกจับติดคุก เธอเคยคิดผูกคอตาย แต่โชคชะตาบันดาล จึงรอดมาได้

จุดเปลี่ยนชีวิต เกิดจากพยาบาลห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านรับทราบเรื่องราวความทุกข์ยาก แนะนำเธอเข้าอบรมศึกษาดูงานเกษตรพอเพียงจากปราชญ์ชาวบ้าน
เธอพลิกผืนดินทำเกษตรผสมผสานจากความรู้ที่ได้รับ เริ่มต้นจากเป็นหนี้ ๘ หมื่นบาท หลายปีผ่านไปเธอใช้หนี้หมดและมีเงินออมเป็นเลข ๖ หลัก

แม้เธอไม่เคยเรียนหนังสือ แต่ได้รับเชิญเป็นวิทยากรประจำศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน เธอมีความสุขที่ได้เผยแพร่ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ชีวิตแก่ผู้เข้ารับการอบรมทุกๆ คน

ปัจจัยความสำเร็จ

สุขภาพเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ การรักษาพยาบาลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิถีสุขภาพ
การปลูกฝังปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งสำคัญ ทุกวันนี้ชีวิตที่เป็นทุกข์ ล้วนเกิดจากความต้องการ เกิดจากความคิด ความรู้สึกที่มีไม่พอ
ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมของชุมชน ที่เชื่อมประสานเป็นหนึ่งเดียวคือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนให้พัฒนาสู่สุขสภาวะ

อยู่ดี กินดี มีสุขภาพดี มีความสุข
 

ข้อมูลสื่อ

389-047
นิตยสารหมอชาวบ้าน 389
กันยายน 2554
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์