• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคผิวหนังกับการแพทย์ทางเลือก ตอนที่ ๕ งานวิจัยสมุนไพรไทยกับโรคผิวหนัง

การแพทย์ทางเลือกกับโรคผิวหนัง (ตอนจบ)
งานวิจัยสมุนไพรไทยและข้อแทรกซ้อนจากการใช้สมุนไพร

งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรไทยรักษาโรคผิวหนัง
มีงานวิจัยการใช้สมุนไพรหลายชนิดที่พิสูจน์ว่าได้ผลดีในการรักษาและป้องกันโรคผิวหนัง ได้แก่

  • สารสกัดจากพญายอ (เสลดพังพอน) รักษาเริมและงูสวัด
  • สารสกัดกระเทียม รักษาโรคกลากและเกลื้อน
  • สารสกัดจากน้อยหน่า รักษาเหา
  • สารสกัดจากผักบุ้งทะเล รักษาพิษจากแมงกะพรุน
  • สารสกัดจากว่านหางจระเข้ รักษาแผลไฟไหม้
  • สารสกัดจากตะไคร้หอม ป้องกันยุง

อย่างไรก็ตาม บางครั้งสมุนไพรไทยที่เชื่อว่ารักษาโรคผิวหนังบางอย่างได้ แต่เมื่อพิสูจน์ตามหลักเกณฑ์ทางการวิจัยกลับไม่ได้ผล เช่น
พญ.เบ็ญจ์สชีว์ ปัทมดิลก และคณะ ศึกษาสาร Allium cepa (หอมใหญ่) พบว่าไม่มีประโยชน์ที่ชัดเจนในการรักษาและป้องกันการกลับเป็นซ้ำของแผลเป็นนูนแข็ง

นพ.สมยศ จารุวิจิตรรัตนา และคณะศึกษาการใช้แป๊ะตำปึง (Gynura procumbens, ภาพที่ ๑) ที่มีสรรพคุณที่ระบุในตำรายาไทยเป็นยาใช้ภายนอก บรรเทาอาการอักเสบ ปวดบวม ผื่นคัน แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย ว่ามีสรรพคุณบรรเทาอาการอักเสบเนื่องจากเริมและงูสวัดหรือไม่ ผลวิจัยสรุปว่า ยาเจลแป๊ะตำปึงไม่ได้ทำให้โรคเริมที่ปากชนิดเป็นซ้ำหายเร็วขึ้น                                                                                     
 

ภาพที่ ๑ แป๊ะตำปึง (Gynura procumbens)

ข้อแทรกซ้อนจากการใช้สมุนไพร                                                                                           

หลายท่านเข้าใจผิดว่าสมุนไพรมาจากธรรมชาติจึงไม่น่ามีอันตราย แพทย์เองบางครั้งก็ไม่ได้สอบถามว่าผู้ป่วยใช้ยาสมุนไพรหรือไม่ และผู้ป่วยก็อาจไม่บอกแพทย์ว่าใช้สมุนไพรรักษาคู่กัน  เพราะเกรงว่าแพทย์จะไม่เห็นด้วย ที่จริงแล้วสมุนไพรสามารถก่อภาวะแทรกซ้อนได้  ในทางผิวหนังพบว่าสมุนไพรก่อผลแทรกซ้อนได้หลายอย่างที่พบบ่อยที่สุดคือ ผื่นผิวหนังแพ้สัมผัสจากกระเทียม ชาคาโมไมล์ (chamomile tea) และแคปไซคัม (capsicum, สารสกัดจากพริก) พบว่าสมุนไพรก่อผลแทรกซ้อนทางผิวหนังที่รุนแรงได้ เช่น ทำให้ผิวเห่อแดงทั้งตัว หรือทำให้เกิดตุ่มน้ำและแตกเป็นแผลตามผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ เช่น ในปาก และตา จนถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ เรียกว่ากลุ่มอาการสตีเว่นส์-จอห์นสัน  (Stevens-Johnson syndrome)  

สมุนไพรอาจเป็นอันตรายต่ออวัยวะทั่วร่างกาย เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง มีรายงานการปนเปื้อนของสมุนไพรด้วยโพโดฟิลลิน (podophyllin) ทำให้เกิดความผิดปกติของประสาทส่วนปลาย ระบบทางเดินอาหารอักเสบ และอวัยวะหลายระบบล้มเหลว ระบบการไหลเวียนโลหิต

มีรายงานการตายจากการใช้สมุนไพรจีนเพื่อปลุกกำหนัด ซึ่งให้ใช้ทาแต่ผู้บริโภคอ่านฉลากยาภาษาจีนไม่ออกจึงใช้กิน และเสียชีวิตจากการได้รับสารพิษคล้ายดิจ๊อกซิน (digoxin) ที่มาจากหนังคางคกซึ่งเป็นส่วนผสมของสมุนไพรตัวนี้  

นอกจากนั้น มีรายงานการเสียชีวิตจากการกินสารเอฟีดร้า (ephedra) ที่มีสมุนไพรจีน (เช่น มาเฮือง : ma huang) ประกอบด้วยอัลคาลอยด์ (alkaloid) ทำให้ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและตาย

สมุนไพรยังมีพิษต่อตับ ทำให้เกิดอาการตับโต ตับแข็ง และเซลล์เนื้อตับตาย เช่น ใบขี้เหล็กมีบาราคอล (barakol) ซึ่งเป็นพิษต่อตับ

ผลเสียต่อไต เช่น รากชะเอมทำให้ไตสูญเสียโพแทสเซียมปริมาณมาก

พิษต่อตา มะเกลือที่เคยใช้เป็นสมุนไพรถ่ายพยาธิมีสารอันตรายทำให้ตาบอดได้

ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังไม่กำหนดให้มะเกลือเป็นสมุนไพรสำหรับถ่ายพยาธิในงานสาธารณสุขสาธารณสุขมูลฐานอีกต่อไป และแนะนำว่าหากมีปัญหาเรื่องพยาธิควรใช้ยาถ่ายพยาธิที่มีการรับรองจากทางการแพทย์จะปลอดภัยที่สุด

ผลต่อเลือด เช่น พบว่า แปะก๊วย (Ginkgo biloba) ทำให้เลือดหยุดไหลได้ช้าจนอาจก่ออาการเลือดออกในสมอง

นอกจากนั้น ยังพบว่าเอ็กไคนาเชีย (Echinacea) และชาคาโมไมล์ ก่อให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงจนถึงขั้นช็อก และเสียชีวิตได้

สมุนไพรบางตัวมีการเจือปนหรือมีการปะปนของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท สารหนูในระดับความเข้มข้นสูง

สมุนไพรบางอย่างมีการลักลอบผสมสารที่ไม่ได้ระบุไว้ลงไป ตัวอย่างสารที่นิยมลักลอบผสมในสมุนไพร เช่น กาเฟอีน ยาแก้ปวด-ลดไข้ ยาขับปัสสาวะ ยาแก้แพ้ ฮอร์โมนเพศชาย และสารสตีรอยด์

องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริการายงานว่า ในช่วงรอบ ๕ ปี (พ.ศ.๒๕๓๖-๒๕๔๑) มีรายงานผลแทรกซ้อนจากการใช้สมุนไพร ๒,๖๒๑ ราย เสียชีวิต ๑๘๔ ราย ซึ่งคาดว่าตัวเลขนี้น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง

สรุป  
ปัจจุบันมีแนวโน้มการนำการแพทย์ทางเลือกและสมุนไพรมาใช้รักษามากขึ้น ในประเทศไทย โรงพยาบาลต้นแบบที่ดำเนินงานด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรคือโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรขึ้นใช้เพื่อทดแทนยาจากต่างประเทศตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๙ จนถึงปัจจุบัน ยาจากสมุนไพรที่พัฒนาขึ้น เช่น ครีมพญายอ (รักษาเริม งูสวัด) ยาฆ่าเชื้อใส่แผลการ์ซิดีนจากสารสกัดเปลือกมังคุด ยาแก้ไอมะขามป้อม และครีมพริกบรรเทาอาการปวดในโรคข้อเข่าเสื่อม

อย่างไรก็ตาม การใช้สมุนไพรและการแพทย์ทางเลือกสำหรับรักษาโรคผิวหนัง บางวิธียังขาดข้อสรุปที่ชัดเจนตามหลักวิทยาศาสตร์ หรืออยู่ระหว่างการศึกษา นอกจากนั้นการใช้สมุนไพรยังมีข้อห้ามใช้ และอาจก่อผลแทรกซ้อนที่รุนแรงได้เช่นกัน
 

ข้อมูลสื่อ

389-052
นิตยสารหมอชาวบ้าน 389
กันยายน 2554
ผิวสวย หน้าใส
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร