โรงพยาบาลชุมชนขนาด ๓๐ เตียง แห่งหนึ่งในภาคเหนือ เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการใช้สารเคมีทำลายเชื้อโรคที่มีผลกระทบต่อระบบน้ำเสีย เกิดกลิ่นเหม็นรบกวนผู้ป่วยและชาวบ้านใกล้เคียง ชุมชนโดยรอบใช้สารเคมีทำการเกษตร และพื้นที่ว่างเปล่าของโรงพยาบาลปลูกพืชไม่ได้ผล เพราะดินไม่มีคุณภาพ
น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อแก้ไขปัญหา
นอกจากปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว โรงพยาบาลยังประสบปัญหาด้านการเงิน มีหนี้สินค้างชำระค่ายาและเวชภัณฑ์ เจ้าหน้าที่ขาดขวัญและกำลังใจ
ผู้อำนวยการและทีมนำ กำหนดนโยบายที่จะนำองค์กรตามรอยพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง
เริ่มต้นด้วยการส่งบุคลากรเข้าร่วมอบรมกับวิทยาลัยเกษตร เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘ กลับมารวมกลุ่มบุคลากรที่ชอบและรักต้นไม้ ตั้งเป็นชมรมเกษตรอินทรีย์ เริ่มต้นใช้สารจุลินทรีย์ EM (ย่อมาจาก Effective Microorganisms หมายถึง กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อการเตรียมดินปลูก) การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน ผลการดำเนินงานในระยะแรก ต้นไม้ไม่งอกงาม แต่ยังมีคนที่มุ่งมั่นและทำงานต่อไปด้วยความเพียร
พ.ศ.๒๕๕๑ บุคลากรร่วมกันตั้งเป้าหมาย ดังนี้
๑. ลดการใช้สารเคมีในสิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาล
๒. แก้ไขระบบน้ำเสียที่ส่งกลิ่นเหม็น
๓. ปรับปรุงคุณภาพดินโดยรอบของโรงพยาบาล
๔. ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ว่างเปล่าของโรงพยาบาล
๕. พัฒนาโรงพยาบาลเป็นต้นแบบในการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ส่งเสริมการปลูกผักกินเอง
๖. ลดการใช้สารเคมีในบ้านเรือนและการเกษตร
พัฒนาความรู้เกี่ยวกับชีววิถี
โรงพยาบาลติดต่อกับโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Biological Way of Life for Sustainable Development) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่ออบรมให้ความรู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ (EM)
บุคลากรร่วมกันนำองค์ความรู้สู่การปฏิบัติ มีการผลิตน้ำยาอเนกประสงค์จากผลไม้รสเปรี้ยว โดยใช้ผลไม้ตามฤดูกาล คือ ส้มเขียวหวาน เปลือกสับปะรด มะกรูด การผลิตโบกาฉิ (ปุ๋ยจุลินทรีย์แห้ง)
ได้นำผลผลิตจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำยาอเนกประสงค์ จุลินทรีย์ขยาย สบู่เหลว สโตจู้ไล่แมลง โบกาฉิ
การนำผลิตภัณฑ์ไปใช้ในกิจกรรมของโรงพยาบาล
มีการใช้ผลิตภัณฑ์ในงานต่างๆ มากมาย ได้แก่ การใช้จุลินทรีย์ขยายพ่นลงไปในระบบบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาล การใช้สโตจู้พ่นไล่แมลงที่มากินผลไม้ที่ปลูกไว้ การใช้น้ำยาอเนกประสงค์ในงานขัดล้าง แช่เครื่องมือ ล้างภาชนะต่างๆ
การใช้น้ำยาอเนกประสงค์ทดแทนวัสดุทำความสะอาดและน้ำยาฆ่าเชื้อ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล ๒๘,๒๔๖.๒๕ บาท/ปี ลดลงร้อยละ ๙๐.๒๑
กิจกรรมต้นแบบในโรงพยาบาล
การปลูกผักปลอดสารพิษใช้ในโรงครัว หมุนเวียนตามฤดูกาล มากกว่า ๑๕ ชนิด สำหรับบริการบุคลากรและคนไข้
การจัดทำสวนสมุนไพร ขึ้นทะเบียนและอนุรักษ์พันธ์พืชเป็นแหล่งเรียนรู้ จำนวน ๑๒๕ รายการ
การรณรงค์เพิ่มพื้นที่สีเขียวในโรงพยาบาล โดยการปลูกต้นไม้ทั่วโรงพยาบาล พ.ศ.๒๕๕๓ พบว่า มีต้นไม้ขนาดกลางและใหญ่ ๕๐ ชนิด รวม ๘๙๕ ต้น คิดเป็นพื้นที่สีเขียวในโรงพยาบาล ๔,๙๙๐ ตารางเมตร สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ๙๐ กิโลกรัม/ชั่วโมง หรือ ๓.๙ ตัน/ปี และผลิตออกซิเจนได้ ๖๐ กิโลกรัม/ชั่วโมง หรือ ๒.๖ ตัน/ปี
การคัดแยกและรีไซเคิลขยะ สามารถจำหน่ายขยะรีไซเคิลได้รวม ๒ ตัน/ปี
กิจกรรม Carpool โดยโรงพยาบาลจัดรถรับส่งบุคลากรและบุตรหลาน ส่งผลให้ประหยัดค่าน้ำมัน ได้เฉลี่ย ๑,๕๐๐ บาท/คน/เดือน รวมเป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท/เดือน นักเรียนประหยัดค่ารถโดยสารรวม ๒,๐๐๐ บาท/เดือน สามารถลดปริมาณการใช้น้ำมัน ๑๐,๐๐๐ ลิตร/ปี และลดการปล่อยสารพิษสู่บรรยากาศ ๑๘๑ กิโลกรัม/ปี
การเลี้ยงสัตว์แบบชีวภาพ เช่น ไก่ เป็ด ห่าน ปลา กบ หมู วัว โดยการเลี้ยงแบบธรรมชาติ เลี่ยงการใช้สารเคมี ใช้จุลินทรีย์ขยาย EM คลุกผสมกับแกลบหรืออาหารอื่นๆ ให้สัตว์
การปลูกหญ้าแฝกจำนวน ๕,๐๐๐ ต้น เพื่อเพิ่มคุณภาพดิน
การแก้ปัญหาระบบบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาล โดยใช้ระบบธรรมชาติบำบัด
การทำก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ และใช้ทดแทนก๊าซหุงต้มในโรงอาหารของโรงพยาบาล
บุคลากรคือภาพสะท้อนความสำเร็จ
จากผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า ๓ ปี เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในบุคลากร กล่าวคือ เห็นประโยชน์แห่งการพึ่งตนเอง การดำเนินงานต่างๆ อยู่บนพื้นฐานของความพอดี คิดอย่างสร้างสรรค์และทำงานร่วมกันเป็นทีม นำเอากิจกรรมต้นแบบมาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน
จากผลการสำรวจปี ๒๕๕๓ พบว่า จำนวนครัวเรือนที่ใช้ผลิตภัณฑ์ชีววิถีมีร้อยละ ๙๒ ประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ๖๖๕ บาท/เดือน
ครัวเรือนร้อยละ ๓๕ มีการคัดแยกขยะขายทำให้มีรายได้รวม ๔,๔๔๐ บาท/เดือน
การสร้างเครือข่ายในชุมชน สังคม และการเป็นแหล่งเรียนรู้
การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการนำความรู้ด้านชีววิถีไปเผยแพร่แก่ประชาชน โดยจัดกิจกรรมต่างๆ และใช้เป็นสถานที่ศึกษาดูงาน
เกิดเครือข่ายในชุมชนมากมาย เกิดเครือข่ายในโรงเรียน ในวัด และในโรงพยาบาล
ชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โรงพยาบาลได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประกวดผลงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ ๒
ได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์ถ่ายทอดการเรียนรู้หลักของปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง ของคณะกรรมการประสานงานพิเศษ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)
ได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้สถานบริการสาธารณสุขลดโลกร้อน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
รางวัลชนะเลิศระดับประเทศในการประกวดโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เหนือเกียรติยศและรางวัลต่างๆ สิ่งที่ผู้นำและบุคลากรของโรงพยาบาลนี้ถือเป็นมงคลชีวิต คือการได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้แก้วิกฤติของโรงพยาบาล จนเกิดวิถีชีวิตที่เป็นสุข
- อ่าน 3,538 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้