โรคกระเพาะอาหารเป็นโรคติดต่อ
เมื่อหลายสิบปีก่อนถ้าบอกว่า "โรคกระเพาะอาหารเป็นโรคติดต่อ" คงถูกหัวเราะเยาะเป็นแน่ แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว คิดว่าแพทย์ทุกคนคงทราบ แต่ประชาชนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ทราบ
ต้นศตวรรษที่ ๒๐ เชื่อกันว่าโรคกระเพาะอาหารเกิดจากความเครียดและพฤติกรรมการกินอาหาร ต่อมาพบว่าตัวการสำคัญ คือ กรดในกระเพาะอาหาร การให้ยาลดกรดและเคลือบกระเพาะจึงกลายเป็นมาตรฐานในการรักษา แต่ถึงอย่างไรก็ยังเชื่อกันว่าโรคนี้เป็นโรคส่วนบุคคลไม่ใช่โรคติดต่อ จนเมื่อ ๒๐ ปีก่อน Marshall ก็ท้าทายแนวคิดนี้ด้วยตัวเขาเอง (จริงๆ)
เชื้อแบคทีเรียเกี่ยวข้องกับโรคกระเพาะอาหาร
พ.ศ. ๒๕๒๕ อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหารชาวออสเตรเลีย Barry James Marshall และพยาธิแพทย์ J. Robin Warren ขณะตรวจชิ้นเนื้อของกระเพาะอาหารพบว่าเยื่อบุมีการอักเสบและมีเชื้อแบคทีเรียรูปเกลียวแทรกอยู่ จึงตั้งสมมุติฐานว่า เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งต่อมาพิสูจน์ได้ว่าเป็นเชื้อเฮลิโคแบกเทอร์ไฟโลรี่ (Helocobacter pylori หรือ H.pylori) แต่การที่จะสรุปว่าเชื้อโรคหนึ่งเป็นสาเหตุของโรคหนึ่งๆ ต้องอาศัย Koch's postulate ซึ่งเขียนไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ Koch บอกว่าอันดับแรกต้องมีเชื้อโรคที่สามารถเพาะเชื้อได้ซึ่งสัตว์ทดลองที่ติดเชื้อต้องเกิดโรคและหายจากโรคเมื่อกำจัดเชื้อไป Marshall ทราบเรื่องนี้ดี เขาจึงเพาะเชื้อและพยายามทดลองในสัตว์แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เชื่อว่า โรคนี้คงก่อโรคเฉพาะในคน เขาจึงดื่มน้ำที่มีเชื้อ H. pylori เข้าไป ห้าวันต่อมาเขาเกิดอาการของโรคกระเพาะอาหาร และในวันที่ ๑๔ เขาได้รับการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (Gastroscopy) พบว่าเยื่อบุอักเสบและมีเชื้อจำนวนมาก ต่อมาเขาก็กินยาปฏิชีวนะและทำการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารอีกครั้ง พบว่าเยื่อบุกระเพาะอาหารปกติ เขาและเพื่อนร่วมงานจึงสรุปว่าเชื้อโรคนี้สัมพันธ์กับโรคกระเพาะอาหารและส่งผลงานไปที่วารสาร The Lancet ของอังกฤษ แต่เหมือน Jenner บทความของเขาได้รับการปฏิเสธ เขาจึงทดลองเพิ่มเติมและผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์ ใน Medical Journal of Australia เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘ (บทความนี้ติด ๑ ใน ๑๐ ของบทความที่มีผู้เข้ามาอ่านมากที่สุดในเว็บไซต์ของวารสารนี้)
อีกเกือบ ๑๐ ปีต่อมา พ.ศ. ๒๕๓๗ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) จึงได้ประชุมกันและรับรองว่า H.pylori สัมพันธ์กับโรคกระเพาะอาหารและหากผู้ป่วยติดเชื้อนี้ต้องให้ยาปฏิชีวนะ จากผลงานดังกล่าว Marshall และ Warren ได้รับรางวัลต่างๆ มากมายรวมทั้งในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เขาก็มารับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาสาธารณสุขที่กรุงเทพฯ ผู้เขียนมีโอกาสเข้าฟังการบรรยายของ Marshall ด้วย ถึงได้ทราบว่าเขาออกเสียง Helicobacter pylori ว่า เฮลิโคแบกเทอร์ ไพลอรี่ สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารส่วนน้อยเท่านั้นที่มีเชื้อโรคนี้ ประกอบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารยังมีน้อย ทางสมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทยจึงแนะนำให้ทำการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารเฉพาะผู้ป่วยที่จำเป็นเท่านั้น
การปฏิบัติตัวที่เหมาะสม (เช่น ผ่อนคลาย กินอาหารให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เลิกบุหรี่ เลิกดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงยาแก้ปวดที่กัดกระเพาะอาหาร เป็นต้น) ยังคงเป็นการรักษาเบื้องต้นที่สำคัญ
- อ่าน 9,782 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้