“เมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อน ขณะที่ผมเป็นนักศึกษาแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้าร่วมกิจกรรมชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท (สจม.) ออกค่ายตอนปิดเทอมทุกปี ทุกครั้งก็มาที่ภาคอีสาน ถือเป็นโชคดีที่ได้เห็นความเป็นจริงของสังคมไทย สภาพชีวิตคนในชนบท สมัยนั้นคนยากจนมาก ด้อยโอกาสทางการศึกษาและการเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐ
เคยมีโอกาสไปเรียนรู้การทำงานที่โรงพยาบาลอำเภอประทาย มีพี่หมอกวี ไชยศิริ เป็นผู้อำนวยการ และโรงพยาบาลอำเภอราษีไศล พี่หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งเพิ่งจบแพทย์มาทำงานที่นี่ ได้เห็นถึงจิตใจที่เสียสละ แนวคิดที่มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือชาวชนบทให้มีชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้น เป็นแบบอย่างให้ผมอยากทำงานในชนบท อยากมีส่วนร่วมทำสิ่งที่ดีงาม ทดแทนคุณแผ่นดินเกิด”
ปีนี้ นายแพทย์วิบูลย์ศักดิ์ วุฒิธนโชติ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น กองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร พ.ศ.๒๕๕๔ กับการทำงานบนเส้นทางความงามที่หลากหลายที่จังหวัดขอนแก่นมากว่า ๒๖ ปีแล้ว
เส้นทางสู่ชนบท
ผมได้เลือกเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลขอนแก่น เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลสีชมพูปี ๒๕๒๗ อยู่ ๑ ปี ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลเขาสวนกวาง (ขนาด ๑๐ เตียง) ปี ๒๕๒๘ ยังไม่ได้เปิดทำการ ต้องบุกเบิกทุกอย่างทั้งงานบริหารและบริการ การรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลและงานชุมชน เจ้าหน้าที่ก็มีน้อยเพียง ๑๒ คน หลายครั้งต้องขับรถส่งผู้ป่วยเอง เป็นเจ้าหน้าที่เอกซเรย์ และตรวจแล็บเอง บางกรณีก็บริจาคเลือดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินที่ตกเลือดด้วย คือรักษาด้วยบริจาคเลือดไปด้วย อยู่เวรตลอด ๒๔ ชั่วโมงทุกวันถ้าไม่ได้ไปประชุมที่ไหน
ผมพยายามรักษาผู้ป่วยถ้าอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ผ่าตัดไส้ติ่ง ผ่าตัดไส้เลื่อน โชคดีที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไม่มีเสียชีวิต ออกหน่วยรณรงค์ในเวลากลางคืนให้ชาวบ้านเลิกกินปลาดิบป้องกันโรคพยาธิใบไม้ในตับ จัดตั้งกองทุนบัตรสุขภาพ ให้สุขศึกษาส่งเสริมสุขภาพ เหนื่อยกายแต่ก็ดีใจที่ได้ทำความดีช่วยเหลือผู้อื่น เป็นความดีงามที่แพทย์ชนบทของเรามีอยู่ในจิตใจ... ผ่านไป ๓ ปี ได้แพทย์เพิ่ม ๑ คน มาช่วยแบ่งเบาภาระ
ตัวผมเป็นคนชอบเรียนรู้ ได้รับอนุมัติบัตรเวชศาสตร์ป้องกันจากแพทยสภา ประกาศนียบัตรโรคเขตร้อนและสุขวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล นำความรู้มาใช้ในการทำงาน เข้าปีที่ ๖ จึงลาศึกษาต่อสาขากุมารเวชศาสตร์ แต่ก็ยังยึดความตั้งใจเดิมที่จะทำงานในชนบท จบแล้วก็ได้มาปฏิบัติงานที่ต้นสังกัดโรงพยาบาลชุมแพ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด ๖๐ เตียง มีแพทย์ ๖ คน ทุกคนต้องช่วยกันตรวจรักษาผู้ป่วยนอกและฉุกเฉินทุกประเภทเกือบ ๕๐๐ คนต่อวัน
ผมเป็นหมอเด็กคนเดียวจึงต้องดูแลผู้ป่วยเด็กทั้งหมด... ผู้ป่วยนอกเด็กเฉลี่ย ๕๐-๑๒๐ คนต่อวัน ผู้ป่วยในเด็กเฉลี่ย ๒๐-๔๐ คน/วัน ตรวจรักษาไม่แล้วเสร็จในช่วงเช้า ผู้ป่วยก็ยากจน รถประจำทางมีเช้าเที่ยวเดียวยังต้องเดินทางต่อไปบ้านอีก ไม่ทันก็ต้องเหมา เสียค่าจ้างแพงๆ ผมรู้สึกสงสาร จึงปรับแผนการทำงานใหม่ ตรวจผู้ป่วยในตั้งแต่เวลาตี ๔-๕ ของทุกวัน พบข้อดีคือเด็กหลับตรวจได้ง่าย มีโอกาสพูดคุยอาการกับญาติที่เฝ้าจริงๆ ตอนเช้าก็ตรวจผู้ป่วยนอกเด็กได้ทั้งหมดและทันเวลาเที่ยง ผู้ป่วยกลับบ้านทันรถประจำทางเข้าหมู่บ้าน
การไปทำงานแต่เช้าตรู่นั้น กว่าจะปรับตัวได้ก็นานพอดูเหมือนกัน เพราะเจอปัญหาเรื่องสุขภาพ แต่ก็ดีทำให้มีเวลาเหลือมาดูแลสุขภาพตนเอง ได้ออกกำลังกายมากขึ้น และได้เปลี่ยนมากินมังสวิรัติ ทุกวันนี้สิ่งที่ทำอยู่เป็นปกติของชีวิตไปแล้ว
ผ่านไปประมาณ ๑๐ ปี มีหมอเด็กเพิ่มอีก ๑ คน ทำให้งานรักษาพยาบาลเบาลง เป็นโอกาสที่จะได้สร้างและพัฒนางานให้มีคุณภาพ รวมถึงการศึกษาวิจัย ได้เริ่มการดูแลเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีและเด็กโรคทาลัสซีเมียแบบองค์รวม (holistic care) เป็นแห่งแรกในจังหวัดขอนแก่น และเป็นที่ศึกษาดูงานของจังหวัด เด็กๆ มีสุขภาพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เจ็บป่วยน้อยลง ร่าเริงและมีความสุข เป็นความสุขใจของเราผู้ดูแลและทีมงานสหวิชาชีพ ที่เติมเต็มความดีงาม สร้างคุณค่าของงานบริการในโรงพยาบาลอำเภอ ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ (Humanized care)
ปัญหาสุขภาพเด็กที่ชุมแพเป็นอย่างไร
สมัยก่อนเด็กในชนบทส่วนใหญ่มีปัญหาเกี่ยวกับการขาดสารอาหาร การเจริญเติบโต การด้อยการศึกษา เมื่อสภาพสังคมและความเป็นอยู่ดีขึ้นปัญหาก็ลดลง ส่วนโรคติดต่อที่รุนแรง ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข พอมีการกำหนดเป็นนโยบายระดับชาติ ในการให้วัคซีนป้องกันโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ หัด ไข้สมองอักเสบ ทำให้พบผู้ป่วยเด็กโรคเหล่านี้น้อยลงมาก ปัจจุบันยังมีปัญหาโรคติดเชื้อ เช่น ไข้เลือดออก โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร โรคเอดส์ และโรคที่ไม่ติดเชื้อ โดยเฉพาะโรคทาลัสซีเมีย
การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมเป็นอย่างไร
การดูแลรักษาที่ผ่านมา เป็นการรักษาเฉพาะหน้า เช่น เด็กมีปัญหาทาลัสซีเมีย เลือดจาง ก็จะให้เลือดเป็นครั้งคราวไป หรือผู้ป่วยเด็กโรคเอดส์ให้ความรู้ ให้การรักษาเป็นรายๆตามอาการที่พบ แต่การดูแลแบบองค์รวมจะดูแลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ
โครงการที่ดูแลอยู่ เช่น เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี มีการแยกส่วน ไม่รวมกับผู้ป่วยทั่วไป มีทีมสหสาขาวิชาชีพช่วยกันดูแล ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร กายภาพบำบัด โภชนากรและเครือข่ายสุขภาพ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน การพึ่งพาตนเองแบบเพื่อนช่วยเพื่อน ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการเรียน ถูกรังเกียจจากเพื่อนและครู จะมีทีมงานลงไปประสานกับครู พูดคุยให้ความรู้ ช่วยกันแก้ไขปัญหาจนเด็กสามารถเข้าเรียนได้ ถ้ามีปัญหาด้านเศรษฐกิจจะประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรท้องถิ่น องค์กรการกุศลต่างๆ เข้าช่วยเหลือ ทำให้ผู้ป่วยสุขภาพดีขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงมิติทางสังคม
สำหรับผู้ป่วยเด็กทาลัสซีเมียก็เช่นกัน ผู้ป่วยจะมีอาการซีด อ่อนเพลีย บางรายซีดมากต้องให้เลือดทุกเดือนหรือ ๒-๓ เดือนต่อครั้ง เด็กเหล่านี้มีปัญหาเรื่องการเจริญเติบโต เรื่องการเรียน เพราะเลือดน้อย เหนื่อยง่าย เวลาออกกำลังกายก็จะเหนื่อยง่ายกว่าเพื่อนๆ การดูแลจะเน้นการดูแลอย่างต่อเนื่องโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ที่สำคัญคือความร่วมมือจากญาติในการพาผู้ป่วยมาเข้าเลือดสม่ำเสมอทุกเดือน ทีมงานต้องเตรียมความพร้อมในด้านรักษาพยาบาล อำนวยความสะดวกให้เข้าถึงบริการได้ง่ายและรวดเร็ว การขอรับบริจาคเลือด การประสานเตรียมเลือดที่เข้าได้กับผู้ป่วยไว้ล่วงหน้า การนัดมารับบริการโดยไม่ต้องขาดเรียน การให้ความรู้แก่ญาติและการเสริมสร้างสุขภาพ เป็นต้น พบว่าผู้ป่วยเด็กที่มาสม่ำเสมอตามนัด มีสุขภาพแข็งแรงขึ้นดีขึ้น
มีตัวอย่างผู้ป่วยรายหนึ่ง แม่บอกว่าสมัยก่อนป่วยบ่อย ไปเรียนหนังสือครูต้องโทรศัพท์ตามแม่อยู่เรื่อยๆ ว่าลูกเรียนหนังสือไม่ไหว หลับในห้องเรียนประจำ หลังจากเข้าโครงการแล้ว ครูไม่โทรศัพท์ตามอีกเลย ถือว่าสุขภาพอนามัยโดยรวมดีขึ้น เด็กสดชื่นแข็งแรงขึ้น การเรียนดีขึ้นด้วย
โครงการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลที่ชุมแพเป็นอย่างไร
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจและทางเดินอาหารเป็นปัญหาที่พบมากที่สุดของผู้ป่วยนอกในทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นหวัด เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ ท้องร่วงเฉียบพลัน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากติดเชื้อไวรัส จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะกันอย่างฟุ่มเฟือย... มีการสำรวจพบว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจร้อยละ ๙๐ ขึ้นไปในโรงเรียนแพทย์ของประเทศไทย และแพทย์ทั่วๆ ไปมีการใช้ยาปฏิชีวนะประมาณร้อยละ ๔๐-๕๐ ซึ่งการติดเชื้อทางเดินหายใจและทางเดินอาหารส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่สมควรที่จะให้ยาปฏิชีวนะ
โรงพยาบาลชุมแพจัดทำโครงการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล (Antibiotic Smart Use : ASU) พบว่า ๑ ปีผ่านไป สามารถประหยัดเงินได้ประมาณ ๗ แสนบาท ในการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ถ้าเกิดรวมทั้งประเทศจะประหยัดเงินงบประมาณจำนวนมากขนาดไหน ยังช่วยลดการแพ้ยาจากการใช้ยาปฏิชีวนะอีกด้วย ถ้าจ่ายยาปฏิชีวนะน้อย การแพ้ยาก็จะน้อยตามไป การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างฟุ่มเฟือยยังทำให้เชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล เพราะต้องหายาใหม่ที่มีราคาแพงมารักษา บางทีไม่มียาที่จะรักษาได้อีก รักษาไม่หายเสียชีวิตไปก็มีมาก แพทย์ทุกคนน่าจะได้ช่วยกันทำโครงการนี้จะเป็นคุณานุประการต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างมาก
ความสำคัญของงานวิชาการในชุมชน
แพทย์โรงพยาบาลชุมชนด้อยโอกาสในหลายๆ ด้าน เพราะนอกจากความเป็นอยู่แล้ว ด้านความก้าวหน้าทางวิชาการและความก้าวหน้าทางราชการก็น้อยกว่าแพทย์ในเมืองด้วย จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แพทย์ไม่อยากมาอยู่ชนบท งานวิชาการที่ทำนี้เป็นการให้กำลังใจแพทย์ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน แพทย์ประจำที่ดูแลรักษาผู้ป่วย ใช้โอกาสที่เป็นอยู่พัฒนาความรู้ตนเองโดยสามารถทำวิจัยได้จากงานประจำ การทำวิจัยจะทำให้เรามีความรู้ที่ลึกซึ้งขึ้น เปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น ทันโลกและทันเหตุการณ์ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง เป็นการยกระดับขีดความสามารถด้านวิชาการของแพทย์ ในโรงพยาบาลชุมชน และใช้ทำผลงานเพื่อความก้าวหน้าทางราชการ ได้ด้วย
ผมตั้งเป้าหมายว่าจะทำผลงานวิชาการปีละ ๑ เรื่อง ซึ่งได้รับความกรุณาจากคณาจารย์และเครือข่ายสุขภาพร่วมศึกษาวิจัย เช่น ศูนย์เชี่ยวชาญไวรัสวิทยาคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ล่าสุดเข้าร่วมโครงการพัฒนารูปแบบวิธีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล ได้งบจากแผนงานสร้างกลไกลเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ และได้นำเสนอผลงานในการประชุม HA Forum แห่งชาติ ครั้งที่ ๑๒
การดูแลสุขภาพตนเอง
ความคาดหวังที่จะทำงานให้สำเร็จและให้ได้ผลลัพท์ที่ดี ต้องทุ่มเทอุทิศทั้งกายและใจทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง สุขภาพเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ การปรับเวลามาทำงานแต่เช้าตรู่นั้นกว่าจะปรับตัวได้ก็นานพอดู เพราะเจอปัญหาสุขภาพ มาอยู่ชุมแพใหม่ๆ อาการหอบหืดกำเริบจึงได้หันมาดูแลสุขภาพตนเองโดย…
ประการที่ ๑ เรื่องการกินอาหาร ได้เปลี่ยนมากินอาหารมังสวิรัติ และกินมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า ๑๐ ปีแล้ว รู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้นมาก ป่วยก็หายเร็ว เป็นหวัดเป็นอะไรก็หายเร็ว ทำอะไรก็ไม่เหนื่อยง่ายด้วย
ประการที่ ๒ พยายามออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ แพทย์เองต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการดูแลสุขภาพให้กับประชาชน ปัจจุบันผมออกกำลังกายประมาณตี ๕ ถึง ๖ โมงเช้า และออกกำลังกายร่วมกับชุมชน ช่วยสนับสนุนตั้งชมรมเสริมสร้างสุขภาพอำเภอชุมแพ โดยการใช้วิธีแพทย์ทางเลือกต่างๆ เช่นเซไตย นิวโรบิกส์ และตีลัญจกร โดยมีอาจารย์นายแพทย์ดำรงพันธ์ วัฒนะโชติ และครอบครัว เป็นวิทยากรฝึกสอนให้
ประการที่ ๓ เรื่องของจิตใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราต้องดูแลให้ดี ผมคิดว่าธรรมะช่วยเยียวยาเรื่องจิตใจได้ เป็นธรรมโอสถ หมั่นปฏิบัติธรรม สวดมนต์ ไหว้พระ ทำบุญ และพยายามที่จะให้เจ้าหน้าที่ได้มีความรู้ เรื่องธรรมะมากขึ้น มีธรรมบรรยาย เสียงตามสายให้ความรู้เจ้าหน้าที่และผู้ป่วย ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติธรรมที่วัดทุกปี ทำติดต่อกันมา ๕-๖ ปีแล้ว โชคดีที่ได้มาอยู่ชนบท ได้เจอกัลยาณมิตรมากมาย ชักชวนไปทำบุญ ไปปฏิบัติธรรม ได้พบกับสิ่งที่ดีๆ
เรื่องการทำงานของแพทย์ชนบทยุคปัจจุบัน
บริบทของชุมชนเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โรงพยาบาลชุมชนเจริญมากขึ้น แต่ปัญหาสุขภาพยังมากอยู่ คิดว่าอยากให้น้องๆ มาช่วยกันดูแลสุขภาพของชาวชนบท จะได้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติด้วย เป็นการช่วยเหลือสังคม อย่างที่ทราบว่ามีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนชนบทกับคนในเมือง การที่แพทย์เราเสียสละอยู่ชนบทเป็นการลดช่องว่างเหล่านี้
น้องๆ ที่เป็นห่วงเรื่องความก้าวหน้าของหน้าที่การงานน่าจะสบายใจขึ้นได้ เพราะปัจจุบันชมรมแพทย์ชนบทช่วยเหลือให้แพทย์ชนบทก้าวหน้ามากขึ้น ได้ถึง ซี ๙ ส่วนเรื่องรายได้โดยเฉพาะเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทางชมรมฯ พยายามให้มีตรงจุดนี้ ซึ่งที่ผ่านมาช่วยได้มากทีเดียว ทำให้แพทย์กลับมาอยู่ในชนบทมากขึ้น
๒๖ ปีกับการทำงานในชนบท คุณหมอได้สรุปบทเรียนการทำงานสั้นๆ ว่า ผมรู้สึกปีติ ภาคภูมิใจและไม่เสียดายเวลาที่ผ่านไปเลย เพราะการเป็นแพทย์ชนบทได้ให้โอกาสผมได้สร้าง ได้ทำสิ่งที่ดีงามอย่างหลากหลายและมีประโยชน์ มีคุณค่าต่อเพื่อนมนุษย์
- อ่าน 3,307 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้