อัมพาตจากหลอดเลือดสมองแตก
ชายไทยคู่ (คู่หมายความว่ามีภรรยาอยู่) อายุ ๕๐ ปี ถูกภรรยาพามาห้องฉุกเฉินโดยนอนมาในเตียงเข็น เพราะเดินไม่ได้ เนื่องจากแขนขาซีกหนึ่งอ่อนแรง
ภรรยาผู้ป่วย : "คุณหมอคะ สามีอิชั้นตื่นเช้าขึ้นมา เวียนศีรษะ ลุกจากเตียงไม่ได้ ต้องช่วยกัน ๒ คนจึงทำให้ลุกได้ แต่ก็เดินไม่ได้ เพราะแขนขาซีกขวาไม่มีแรง และพูดตะกุกตะกัก นี่ต้องช่วยกันหิ้วปีกขึ้นรถ จึงมาโรงพยาบาลได้"
แพทย์ : "สามีคุณมีอาการตั้งแต่เมื่อไรครับ"
ภรรยาผู้ป่วย : "ตั้งแต่เช้าประมาณ ๖ โมงค่ะ ตอนไป ปลุกเค้าให้ลุกขึ้นไปทำงาน เพราะเห็นเค้าตื่นสาย ปกติเค้าจะตื่นประมาณตี ๕ ครึ่งค่ะ"
แพทย์ : "ถ้าอย่างนั้น คุณเห็นสามีที่เป็นปกติ (ไม่มีอาการอะไร) ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ครับ"
ภรรยาผู้ป่วย : "ประมาณ ๔ ทุ่มเศษ ตอนเข้านอนค่ะ"
แพทย์ : "แสดงว่าสามีคุณอาจเริ่มมีอาการไม่สบายในระหว่าง ๔ ทุ่ม ถึง ๖ โมงเช้า ลักษณะอาการแบบนี้มักแสดงว่า หลอดเลือดสมองแตกหรือตีบตัน ทำให้ซีกหนึ่งของร่างกายเป็นอัมพาต และถ้าเป็นซีกขวา มักจะมีอาการพูดไม่ได้ หรือไม่เข้าใจคำพูดด้วยก็ได้ สามีคุณมีโรคประจำตัวอะไรบ้างครับ และกินยาอะไรอยู่หรือเปล่า"
ภรรยาผู้ป่วย : "ไม่มีค่ะ ไม่ได้กินยาอะไร เวลาปวดหัวตัวร้อนก็กินยาพาราเซตามอลนานๆ ครั้งเท่านั้น อ้อ ๔-๕ ปีก่อน เราเคยไปตรวจสุขภาพ แล้วเขามีความดันสูงนิดหน่อย แต่ไม่มีเบาหวาน ไขมันไม่สูง ไตและตับดี หมอให้เขาไปตรวจวัดความดันใหม่ แต่เขาเห็นว่าสบายดี ไม่มีอาการอะไร เลยไม่ได้ไปตรวจอีกค่ะ"
แพทย์ตรวจร่างกายผู้ป่วย ก็พบว่าผู้ป่วยเป็นอัมพาต ซีกขวา และไม่สามารถตอบคำถามต่างๆ ได้ แต่ยังฟังรู้เรื่อง ความดันเลือด ๑๙๐/๑๒๐ ไม่มีไข้ ไม่หอบเหนื่อย และไม่มีอาการผิดปกติอื่น
แพทย์ : "จากที่ตรวจร่างกายก็เป็นอย่างที่พูดกับคุณตอนต้นแล้วว่า สามีคุณคงจะมีหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบตัน ทำให้เป็นอัมพาตและพูดไม่ค่อยได้ หมอต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองดูก่อนว่า เป็นภาวะหลอดเลือดแตกหรือตีบตัน เพราะการรักษาจะผิดกัน การตรวจคอมพิวเตอร์สมองจะต้องเสียเงินอย่างน้อย ๓-๔ พันบาท สามีคุณมีสิทธิเบิกค่าตรวจรักษาไหม ครับ หรือมีสิทธิ "๓๐ บาท" ที่โรงพยาบาลไหน คุณจะได้ไม่ต้องเสียเงินมาก"
ภรรยาผู้ป่วย : "สามีเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ เบิกได้ค่ะ อิชั้นต้องจ่ายเงินก่อนไหมคะ ไม่ได้พกเงินสดจำนวน มากๆ ติดตัวมาเสียด้วย ใช้รูดบัตรได้ไหมคะ"
แพทย์ : "ได้ครับ มีตู้เอทีเอ็มอยู่หน้าห้องฉุกเฉินให้คุณเบิกเงินได้ ถ้าสามีคุณมีสิทธิ์ "๓๐ บาท" ที่นี่ คุณก็ไม่ต้องสำรองจ่ายเงินจำนวนมาก และจะเสียเพียง ๓๐ บาทเท่านั้น แต่สามีคุณเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ จึงไม่มีสิทธิ "๓๐ บาท" เหมือนประชาชนทั่วไป ก็ไม่เป็นไรครับ จ่ายไปก่อนแล้วไปเบิกคืนทีหลัง"
ผู้ป่วยได้รับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และพบว่ามีเลือดออกในสมองซีกซ้าย จึงทำให้เป็นอัมพาตซีกขวา
แพทย์ : "ผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบว่า มีเลือดออกในสมอง แสดงว่าหลอดเลือดแตก ไม่ใช่ตีบตัน จำเป็นต้องเฝ้าดูอาการสัก ๒-๓ วัน ถ้าเลือดไม่ออกมากขึ้นจนกดสมอง ส่วนอื่นมากก็ไม่ต้องผ่าตัดสมองเพื่อเอาเลือดที่คั่งออก แต่ถ้าเลือดออกมากขึ้น อาจต้องผ่าตัดเอาเลือดที่คั่งออก"
ภรรยาผู้ป่วย : "แล้วเลือดที่คั่งในสมองจะหายไปมั้ยค่ะ"
แพทย์ : "จะค่อยๆ หายไปเองครับ รวมทั้งอาการอัมพาต ต่างๆ ก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง เรายังไม่มียาหรือวิธีรักษาที่จะ ทำให้เนื้อสมองที่เสียไปแล้วดีขึ้นได้ แต่เนื้อสมองส่วนอื่นๆ ที่ยังดีอยู่จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น ทำให้อาการค่อยๆ ดีขึ้นครับ"
ภรรยาผู้ป่วย : "อีกนานมั้ยคะกว่าจะหาย"
แพทย์ : "ยังตอบไม่ได้ครับ ต้องดูต่อไปสัก ๒-๓ วันก่อน ถ้าเลือดไม่ออกเพิ่มขึ้น และอาการดีขึ้นเร็ว การฟื้นตัวก็จะเร็วขึ้น และภายใน ๑-๒ เดือน อาจจะดีขึ้นมากๆ แต่คงไม่หายเป็นปกติเหมือนเดิมนะครับ"
ภรรยาผู้ป่วย : "คุณหมอช่วยรักษาให้หายเป็นปกติ ไม่ได้หรือคะ"
แพทย์ : "หมอบอกคุณแล้วครับว่า เรายังไม่มียาหรือวิธี รักษาอะไรที่จะทำให้เนื้อสมองที่เสียไปแล้วกลับมาเป็นปกติได้ เราได้แต่ประคับประคองอาการของคนไข้ ให้เขาฟื้นตัว ขึ้นโดยตัวของเขาเอง ซึ่งการฟื้นตัวจากภาวะหลอดเลือด สมองแตกนั้น เกือบทั้งหมดจะไม่ฟื้นตัวได้สมบูรณ์นัก"
ภรรยาผู้ป่วย : "แล้วทำไมสามีอิชั้นถึงหลอดเลือดแตกคะ เหล้าก็ไม่ดื่ม บุหรี่ก็ไม่สูบ แล้วก็ระวังอาหารการกิน ไม่กินมัน ไม่กินหวาน เป็นคนดีมาตลอด"
แพทย์ : "ครับ แต่ตอนไปตรวจสุขภาพแล้วหมอเขานัดให้ไปตรวจใหม่ เพราะมีความดันสูง สามีคุณคิดว่า ไม่เป็นอะไร เพราะไม่มีอาการจึงไม่ได้ไปตรวจใหม่ ส่วนใหญ่หลอดเลือดสมองแตกก็เพราะโรคความดันเลือดสูงครับ"
ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันระบบการแพทย์ของเรายังไม่มีระบบการดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายในรูปแบบที่ประชาชนกับแพทย์รู้จักกันและผูกพันกันเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น เมื่อผู้ป่วยไม่มาตรวจตามนัด แพทย์หรือพยาบาลจะโทรศัพท์ไปถามหรือไปเยี่ยมที่บ้านว่าเกิดอะไรขึ้น จึงไม่ไปตรวจตามนัด การตรวจรักษาก็จะเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยและประชาชนในชุมชนแต่ละแห่ง จะมีหมอและพยาบาลที่รู้จักตน และได้ดูแลตนตั้งแต่เกิดจนตายเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน มีอะไรก็ปรึกษากันได้ ช่วยเหลือกันได้ ต่างพึ่งพาอาศัยกัน หมอและพยาบาลในรูปแบบดังกล่าวนี้ จะดูแลผู้ป่วยและประชาชนแบบเป็นคนทั้งคน นั่นคือ ไม่ดูแลเป็นส่วนๆ หรือดูแลเฉพาะอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง แล้วยังดูแลทั้งครอบครัวและชุมชนด้วย นั่นคือ เป็นหมอเจ้าของไข้ เป็นพยาบาลเจ้าของไข้ อย่างแท้จริงและสมบูรณ์ คอยช่วยดูแล แนะนำ และส่งต่อให้แพทย์อื่นช่วยดูแลในโรคหรือภาวะที่ตนไม่เชี่ยวชาญ แต่ก็ไม่ทอดทิ้งผู้ป่วยและยังคงเป็นแพทย์เจ้าของไข้ผู้ป่วยต่อไป
เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ป่วยและประชาชนในชุมชนนั้นก็จะมีที่พึ่ง ที่ปรึกษาหารือ และที่ให้การคุ้มครองดูแลในด้านโรคภัยไข้เจ็บอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันไม่ให้เป็นโรค ป้องกันไม่ให้โรคกำเริบบ่อยๆ และดูแลรักษาให้เมื่อเป็นโรคหรือโรคกำเริบ และส่งต่อไปยังแพทย์อื่นที่เชี่ยวชาญกว่าเมื่อจำเป็น ในกรณีผู้ป่วยดังตัวอย่างข้างต้น ผู้ป่วยจะได้รับการติดตามมาตรวจวัดความดันเลือดใหม่ ถ้าพบว่าความดันเลือดสูงเป็นประจำก็จะได้รับการรักษาแบบต่อเนื่องโอกาสที่หลอดเลือดสมองจะแตกจะลดลงมากและอาจจะไม่เกิดขึ้นเลย ซึ่งย่อมดีกว่าการปล่อยไว้จนหลอดเลือดสมองแตกแล้วค่อยมาเริ่มรักษา เพราะเมื่อเป็นอัมพาตเช่นนี้แล้ว โอกาสที่จะฟื้นคืนดีดังเดิมย่อมมีน้อยมาก
- อ่าน 11,789 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้