• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คนไข้โรคเรื้อรัง การดูแลรักษาและสร้างเสริมสุขภาพ

คนไข้โรคเรื้อรังที่พบบ่อยในบ้านเรา ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคปอดที่มีอาการหอบหืด

คนไข้โรคเรื้อรัง
คนไข้โรคเหล่านี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นปัญหาสำคัญของการสาธารณสุข  ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลรักษาคนไข้กลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นโรคที่รักษาไม่หาย

คนไข้จะมีอาการกำเริบ เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น เบาหวานอาจเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเฉียบพลัน เกิดภาวะแทรกซ้อนทำให้ตาบอด ไตวาย เท้าเป็นแผลอักเสบจนต้องตัดขา
ความดันโลหิตสูงทำให้หลอดเลือดในสมองแตก เกิดเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
โรคปอด เช่น ถุงลมปอดโป่งพอง ทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยเฉียบพลัน ระบบการหายใจล้มเหลว
เป้าหมายการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการกำเริบ หรือภาวะแทรกซ้อน และให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

การให้บริการทางการแพทย์
โรงพยาบาลตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลชุมชนจนถึงระดับโรงเรียนแพทย์ จัดบริการคลินิกโรคเฉพาะทาง เพื่อให้คนไข้ได้รับบริการจากแพทย์และทีมสหวิชาชีพที่ได้รับการฝึกอบรมเฉพาะโรค เพื่อให้การรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพ

ที่คลินิกเฉพาะโรค แพทย์ให้การตรวจรักษา พยาบาลให้สุขศึกษาและแนะนำวิธีการปฏิบัติตัว เภสัชกรแนะนำเรื่องยา นักโภชนากรแนะนำการเลือกอาหารที่มีประโยชน์ นักกายภาพบำบัดแนะนำการออกกำลังกาย นักจิตวิทยาประเมินภาวะความเครียดและแนะนำวิธีคลายความเครียด

มีการจัดระบบเครือข่ายการส่งต่อไปและกลับจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์และโรงเรียนแพทย์

การสร้างเครือข่าย ส่งผลให้คนไข้ได้รับบริการที่ดีตามสภาวะของโรค เช่น การส่งต่อแพทย์เฉพาะทางจักษุ อายุรกรรมโรคไต อายุรกรรมโรคระบบประสาท อายุรกรรมโรคปอด  ศัลยแพทย์หลอดเลือด ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เป็นต้น

การรักษาพยาบาล
คนไทยโชคดีที่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ง่าย เนื่องจากมีสถานบริการสาธารณสุขถึงระดับตำบลและชุมชน และได้รับสิทธิจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
มียารักษาโรคกลุ่มนี้มากมาย สามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมตามสภาวะของโรค
คนไข้มักได้รับยาหลายขนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนไข้ที่เป็นหลายโรคร่วมกัน และที่สำคัญ คนไข้บางคนได้ยามาจากสถานพยาบาลหลายแห่ง ซึ่งบางครั้งได้ยาชนิดเดียวกัน บางครั้งเป็นยาที่กินร่วมกันไม่ได้
ยาหลายขนานที่กินร่วมกัน อาจทำให้เกิดผลเสีย ส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงหรือเป็นพิษจากยา
บางครั้งคนไข้กินยาชนิดเดียวกัน แต่ลักษณะเม็ดยาไม่เหมือนกัน ทำให้ได้ยามากเกินขนาดโดยไม่รู้ตัว
จากการติดตามเก็บข้อมูลของโรงพยาบาลหลายแห่งพบว่า คนไข้กินยาไม่ครบ กินไม่หมด แล้วมารับยาใหม่ เนื่องจากค่ายาฟรี นอกจากผลการรักษาพยาบาลจะไม่ดีแล้ว ยังเป็นการสิ้นเปลืองค่ายา เสียงบประมาณโดยไม่จำเป็น

เครือข่ายชุมชน
การสร้างเครือข่ายชุมชนทางสาธารณสุขมีความสำคัญ ระบบ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ระบบสถานบริการปฐมภูมิที่อยู่ในชุมชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และประชาคม มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
เครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง มีการจัดกิจกรรมร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการดูแลคนไข้ และช่วยเหลือเกื้อกูลกันในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน ญาติมิตรดูแลญาติมิตร

กิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
โรคเรื้อรังเหล่านี้ สาเหตุหนึ่งเกิดจากวิถีชีวิตและพฤติกรรม ที่สำคัญ ได้แก่
การกินอาหาร ทั้งประเภทและช่วงเวลาการกิน พฤติกรรมเสี่ยง คือ กินอาหารไม่ครบหมู่ กินอาหารบางหมู่มากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน งดอาหารมื้อเช้า แต่กินอาหารมื้อเย็นมากเกินไป กินอาหารเสร็จถึงเวลาเข้านอน ดื่มสุรา และสูบบุหรี่
การทำงานที่ใช้แรงกายน้อย ขาดการออกกำลังกาย แต่ใช้สมองและมีความเครียดสูง
การดำรงชีวิตท่ามกลางมลภาวะอากาศไม่บริสุทธิ์ เช่น แก๊สจากท่อไอเสียรถยนต์ ฝุ่นผงจากโรงงานอุตสาหกรรม อยู่ท่ามกลางหมอกควันในชนบทที่ก่อกองไฟทุกคืน
โรงพยาบาลหลายแห่งจัดกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนไข้ เช่น ค่ายเบาหวาน ชมรมออกกำลังกาย คลินิกอดบุหรี่ ตลาดนัดอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

การสร้างเสริมสุขภาพ
การรักษาโรคเรื้อรังเหล่านี้ จะได้ผลดี ต้องควบคู่กับการสร้างเสริมสุขภาพ
สำหรับคนที่เป็นโรค การสร้างเสริมสุขภาพ ทำให้ควบคุมอาการของโรคให้สงบ ไม่กำเริบ ไม่เกิดอันตรายจากภาวะแทรกซ้อน
ถึงแม้จะเป็นโรค ก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
สำหรับคนที่ยังไม่เป็นโรค คนที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรค การสร้างเสริมสุขภาพ เป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด
การสร้างเสริมสุขภาพที่สำคัญ คือ การเสริมพลังให้คนไข้ให้ความสำคัญกับวิถีความเป็นอยู่ คนไข้พึงหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นความเสี่ยง และสร้างพฤติกรรมที่สร้างเสริมสุขภาพ
    
การสร้างเสริมสุขภาพจะได้ผล คนไข้ต้องตระหนักว่าเป็นหน้าที่ของตนเองในการดูแลสุขภาพของตนเอง ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเท่านั้น
 

ข้อมูลสื่อ

393-055
นิตยสารหมอชาวบ้าน 393
มกราคม 2555
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์