• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเร็งเต้านมระยะที่ ๓

มะเร็งเต้านมระยะที่ ๓


ขณะตรวจเยี่ยมผู้ป่วยในช่วงเย็นวันหนึ่ง ที่ห้องฉุกเฉิน

 แพทย์ประจำบ้าน : "ผู้ป่วยเป็นหญิงม่ายอายุ ๕๖ ปี มีอาการซึมลง และไม่ค่อยกินอาหารและน้ำมา ๒-๓ วันนี้ วันนี้ซึมมาก ลูกจึงพามาโรงพยาบาล ผู้ป่วยได้รับการตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะ ที่ ๓ เมื่อ ๒ ปีก่อน แต่ผู้ป่วยปฏิเสธการผ่าตัด การฉายแสง และการให้ยาฆ่ามะเร็ง (ที่มักเรียกกันว่า "เคโม" ที่ย่อมาจาก cancer chemotherapy) และได้รักษาด้วยยาสมุนไพรแทน จากการตรวจร่างกาย พบแผลมะเร็งที่เต้านมซ้าย และต่อมน้ำเหลืองที่คอและรักแร้ซ้าย และตับโต ผู้ป่วยเคยเอกซเรย์กระดูกเมื่อปีก่อน พบมะเร็งลุกลามไปที่กระดูกด้วย ผลตรวจเลือดวันนี้พบว่า แคลเซียมในเลือดสูงกว่าปกติมาก ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยซึมมาก
จึงรีบให้น้ำเกลือจำนวนมากเข้าเส้นและให้ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดแคลเซียมในเลือด"

 อาจารย์ : "เมื่อแคลเซียมในเลือดลดลงแล้ว ผู้ป่วยตื่นขึ้น แล้วหมอจะทำอะไรต่อ"
แพทย์ประจำบ้าน : "เมื่อผู้ป่วยตื่นแล้ว ผู้ป่วยและญาติไม่ยอมให้รักษามะเร็งด้วยยาฆ่ามะเร็ง (เพราะผ่าตัดและฉายแสงไม่ได้แล้ว) ก็คงต้องให้ผู้ป่วยกลับบ้านครับ"
อาจารย์ : "การที่หมอทำให้ผู้ป่วยตื่นขึ้น หมอคิดว่าหมอทำประโยชน์หรือโทษให้ผู้ป่วย"
แพทย์ประจำบ้าน : "น่าจะเป็นประโยชน์นะครับ เพราะลูกผู้ป่วยพามาให้รักษาอาการซึมและกินไม่ได้  เมื่อเรารักษาให้ผู้ป่วยหายซึม ผู้ป่วยก็จะกินได้ ไม่ถูกต้องหรือครับ"
อาจารย์ : "ถ้าผู้ป่วยตื่นขึ้น หมอคิดว่าผู้ป่วยจะมีความ สุขหรือความทุกข์ทรมานล่ะ"
แพทย์ประจำบ้าน : "ไม่ทราบครับ"
อาจารย์ : "เมื่อหมอไม่ทราบ หมอคุยกับลูกผู้ป่วยบ้าง หรือเปล่าว่าก่อนที่แม่จะซึมลง แม่มีความสุขหรือความทุกข์ทรมานอย่างไรบ้าง"
แพทย์ประจำบ้าน : "เปล่าครับ"
อาจารย์ : "ถ้าอย่างนั้นหมอเชิญลูกผู้ป่วยเข้ามาคุยกันหน่อย"

แพทย์ประจำบ้านไปเชิญลูกผู้ป่วยซึ่งเป็นหญิงวัยกลางคน แต่งกายดี และมีกิริยาท่าทางเอาใจใส่แม่ของตนมาก
อาจารย์ : "สวัสดีครับ ที่เชิญคุณเข้ามาก็เพื่อปรึกษาและขอความเห็นของคุณ คุณทราบว่าคุณแม่เป็นโรคมะเร็งเต้านมที่ลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง ตับ ปอด และกระดูกแล้วใช่ไหมครับ"
ลูกผู้ป่วย : "ค่ะ แต่คุณแม่ไม่ยอมผ่าตัด ฉายแสง หรือให้ "เคโม" ค่ะ หนูก็อยากให้คุณแม่มีความสุขความสบายตามที่คุณแม่ต้องการ"
อาจารย์ : "ก่อนที่คุณแม่จะซึมลง คุณแม่มีอาการสบายดีหรือครับ"
ลูกผู้ป่วย : "ไม่สบายค่ะ คุณแม่ปวดเมื่อยและปวดกระดูกมาก อ่อนเพลียจนช่วยตนเองเกือบไม่ได้ แต่ไม่ยอมให้หนูพามาโรงพยาบาล เพราะไม่อยากให้หมอทำอะไรให้คุณแม่เจ็บอีก แต่เมื่อวานคุณแม่ซึมมาก จนไม่กินอะไร หนูจึงพามาโรงพยาบาลได้"
อาจารย์ : "ที่คุณแม่คุณซึมลงมาก เพราะมะเร็งที่ลามไปที่กระดูก มันสลายแคลเซียมในกระดูกออก ทำให้แคลเซียมในเลือดสูงมากคุณแม่จึงซึมลง นี่เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่จะช่วยให้ผู้ป่วย มะเร็งระยะสุดท้ายไม่ต้องเจ็บปวดและทุกข์ทรมานโดยแคลเซียมที่สูงมากในเลือดจะทำให้ผู้ป่วยซึมลงๆ และหลับไปอย่างถาวร คุณหมอเขาเห็นว่าคุณกังวลเกี่ยวกับอาการซึมและไม่กินอาหารของคุณแม่ จึงพยายามให้น้ำเกลือและยาขับปัสสาวะเพื่อลดแคลเซียมในเลือดลง แล้วคุณแม่ก็จะตื่นขึ้น และได้รับความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานจากมะเร็งอีก คุณต้องการเช่นนั้นใช่หรือไม่ครับ"
ลูกผู้ป่วย : "ไม่ค่ะ ไม่อยากให้คุณแม่ทรมาน ถ้ารู้ว่านี่เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติของโรคมะเร็งระยะสุดท้ายที่จะไม่ให้แม่ทรมาน พวกเราก็อยากให้เป็นไปตามธรรมชาติค่ะ ไม่อยากให้คุณหมอให้น้ำเกลือหรือยาใดๆ และขอพาคุณแม่กลับบ้านเลยนะคะ"

นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แพทย์จำนวนมากยังห่วงแต่การรักษาแล็บ (ในกรณีนี้คือผลเลือดที่แสดงว่า แคลเซียมสูงมาก) มากกว่าการรักษาคนที่ได้ทนทุกข์ทรมานมากว่าปี จากโรคมะเร็งที่ลุกลามไปมากแล้ว และผู้ป่วยและญาติก็ได้ทำใจยอมรับความตายตามธรรมชาติมาแล้วด้วย เพราะการทำให้แคลเซียมในเลือดลดลงและทำให้ ผู้ป่วยตื่นขึ้นมาเพื่อได้รับความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงต่อไป แม้จะช่วยยืดเวลาให้ผู้ป่วยออกไปอีกหน่อย แต่ไม่ได้ทำให้โรคดีขึ้น และยิ่งจะทำให้โรคลุกลามออกไป ทำให้ทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้น และผู้ป่วยก็ไม่ต้องการเช่นนั้นด้วย จึงปฏิเสธที่จะมาโรงพยาบาลตั้งแต่หลายวันก่อน การรักษาคนไข้จึงต้องคิดถึงคนก่อนไข้ คิดถึงไข้ก่อนโรค และคิดถึงโรคก่อนแล็บเสมอ

ข้อมูลสื่อ

329-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 329
กันยายน 2549
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์