• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ให้เลือดตัวเอง ความปลอดภัยที่คุณเลือกได้

ให้เลือดตัวเอง ความปลอดภัยที่คุณเลือกได้


การได้รับเลือดจากผู้อื่น แม้จะมีมาตรฐานด้านคุณภาพดีเพียงใด ก็ไม่อาจพูดได้ว่า "ได้เลือดปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์" เพราะเทคโนโลยีการตรวจทางห้องปฏิบัติการยังมีข้อจำกัด

ความไม่ปลอดภัยส่วนหนึ่งเกิดจากการได้รับเชื้อโรคที่ติดต่อจากการให้เลือด  นอกจากนั้นยังเกิดจากปฏิกิริยาจากหมู่เลือดและแอนติบอดี หมู่เลือดหลักของคนที่สำคัญคือ ระบบ A B O ซึ่งคนเราจะมีหมู่เลือดหมู่ใดหมู่หนึ่งใน ๔ หมู่นี้ ได้แก่ หมู่ A หมู่ B หมู่ AB และหมู่ O หมู่เลือดหลักที่สำคัญอีกระบบคือ Rh ซึ่งจะแบ่งเป็น  Rh+ และ  Rh- คนไทยส่วนมากจะเป็น Rh+ ที่เป็น Rh- จะมีจำนวนน้อยมาก ประมาณ ๑-๓ ต่อ ๑,๐๐๐ คน เพราะฉะนั้นคนไทยที่มีหมู่เลือด Rh- เมื่อจะต้องได้รับเลือด จึงหาเลือดได้ยาก

การจะได้รับเลือดจากใคร เลือดของผู้ให้และผู้รับต้องเป็นหมู่เดียวกันทั้งระบบ ABO และระบบ Rh ซึ่งการตรวจหมู่เลือด ๒ ระบบนี้ สามารถตรวจได้ชัดเจนไม่มีปัญหา
ถ้าให้เลือดผิดหมู่ในระบบ ABO หรือ Rh จะเกิดอันตรายจากเลือดเข้ากันไม่ได้ ทำให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย และคนไข้มีโอกาสอันตรายถึงเสียชีวิต นอกจากนี้ คนเรายังมีหมู่เลือดย่อยๆ อีกหลายระบบ และมีส่วนประกอบของแอนติเจนต่างๆ ไม่เหมือนกัน ซึ่งในกระบวนการให้เลือดตามปกติไม่มีการตรวจ ทำให้ผู้ได้รับเลือดอาจเกิดปฏิกิริยาแพ้เลือดบ้าง แต่มักไม่เกิดอันตราย หมู่เลือดย่อยๆ และแอนติเจนที่คนเราได้รับจากเลือดของคนอื่น มีผลทำให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีขึ้นในกระแสเลือด ถ้าในเวลาต่อมาได้รับเลือดที่มีแอนติเจนตัวนั้นอีก จะเกิดปฏิกิริยากับแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้น เกิดอาการแพ้เลือดที่รุนแรงมากกว่าเดิม

คนไข้ที่เป็นโรคเลือด หรือมีอาการซีดเรื้อรัง ที่ต้องให้เลือดบ่อยๆ ทำให้ในกระแสเลือดมีแอนติบอดีหลายชนิด การให้เลือดครั้งหลังๆ จะหาเลือดที่ไม่เกิดปฏิกิริยาการแพ้เลือดได้ ยากขึ้นเรื่อยๆ และหน่วยบริการเลือดต้องเพิ่มขั้นตรวจคัดกรองอีกหลายขั้นตอน เพื่อให้ได้เลือดที่มีโอกาสแพ้น้อยที่สุด หลายโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคเลือด เช่น ทาลัสซีเมีย เป็นโรคกรรมพันธุ์ที่ผู้ป่วยซีดมาแต่เด็กโดยพ่อแม่ไม่มีอาการซีด จะให้คำแนะนำพ่อและแม่ให้เป็นผู้ให้เลือดแก่ลูกทุกเดือน โดยสลับกันให้คนละเดือน เพื่อให้ลูกมีโอกาสได้รับแอนติเจนจากเลือดคนอื่นน้อยที่สุด มีบางรายที่มีแต่พ่อหรือแม่เพียงคนเดียวที่ให้เลือดลูกได้ ก็สามารถบริจาคให้ลูกได้ทุกเดือนโดยไม่มีปัญหา
      
การให้เลือดถี่ทุกเดือน ผู้ให้จะเกิดปัญหาต่อสุขภาพหรือไม่
มีความจริงเกี่ยวกับเรื่องเลือดดังนี้ ปกติเม็ดเลือดแดง ของคนเรามีอายุประมาณ ๑๒๐ วัน แต่จำนวนเม็ดเลือดแดง ครึ่งหนึ่งจะถูกทำลายไปเองในเวลาประมาณ ๓๐ วัน ดังนั้น ร่างกายของคนเราจึงมีการสร้างและทำลายของเม็ดเลือดแดงตลอดเวลา คนที่มีร่างกายสมบูรณ์ เมื่อเราเสียเลือดไปหรือเจาะเลือดเพื่อบริจาค ซึ่งโดยปกติจะเจาะประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ มิลลิลิตร ซึ่งไม่ถึงร้อยละ ๑๐ ของร่างกาย ร่างกายจะมีกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดงทดแทนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าปกติ ซึ่งในกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดงนี้ต้องใช้ธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้บริจาคเลือดจึงได้รับยาที่มีธาตุเหล็ก คือ เฟอร์รัสซัลเฟตกินเพิ่มขึ้น เคยมีการวิจัยพบว่า ผู้ที่บริจาคเลือดทุกสัปดาห์ติดต่อ กันเป็นปี โดยได้รับการดูแลสุขภาพที่ดี ปรากฏว่าสุขภาพปกติ ไม่มีอาการซีด ด้วยกลไกธรรมชาติระบบเลือดในร่างกายของเราเป็นเช่นนี้ การเจาะเลือดตนเองเก็บไว้ก่อนแล้วนำมาให้ภายหลังจึงเป็นเรื่องที่ทำได้
      
เตรียมเลือดไว้ให้ตนเอง
การเตรียมเลือดไว้ให้ตนเอง (autologous tranfusion) ในกรณีที่ต้องให้เลือด เป็นวิธีการที่จะได้เลือดที่ปลอดภัยที่สุด สามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรค ลดการเกิดปฏิกิริยาการแพ้เลือด ลดการสร้างแอนติบอดีที่ต่อต้านแอนติเจนต่างๆในร่างกาย การให้เลือดตัวเอง หมายถึง การเก็บและใช้เลือดของตัวเองเพื่อการรักษา ซึ่งสามารถทำได้โดยการเตรียมก่อนการผ่าตัด การเก็บเลือดในระหว่างการผ่าตัดให้กลับเข้าสู่การไหลเวียนของกระแสเลือดในร่างกาย โดยไม่ปล่อยทิ้งไป

การเตรียมเลือดของตนเองไว้ก่อนการผ่าตัดเป็นวิธีการหนึ่ง เหมาะสำหรับคนไข้ที่เตรียมการผ่าตัดล่วงหน้า โดยหมอและคนไข้กำหนดนัดการผ่าตัดที่แน่นอนประมาณการจำนวนเลือดที่ต้องเตรียม จากนั้นนัดคนไข้มาเจาะเลือดเก็บไว้ก่อนผ่าตัด เพื่อที่จะนำเลือดหรือส่วนประกอบของเลือดกลับมาให้คนไข้ขณะผ่าตัดหรือหลังผ่าตัด หากคุณเป็นคนแข็งแรงไม่ซีด โดยวัดความเข้มข้นของเลือดได้ระดับ Hemoglobin 11 gm% ขึ้นไป หรือ Hematocrit 33% ขึ้นไป อายุระหว่าง ๑๗-๖๐ ปี และน้ำหนัก ๕๐ กิโลกรัมขึ้นไป ก็สามารถเตรียมเลือดไว้สำหรับตนเองในการผ่าตัดล่วงหน้าได้ หมอจะเจาะเลือดของคุณเก็บไว้สัปดาห์ละถุง ถุงละประมาณ ๓๐๐ มิลลิลิตร รวม ๒-๓ สัปดาห์ โดยเก็บครั้งสุดท้ายก่อนผ่าตัดอย่างน้อย ๗๒ ชั่วโมง รวมจำนวนเลือด ๒-๓ ถุง ตามความจำเป็น เพื่อให้ดียิ่งขึ้น หมอจะให้กินยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็ก เฟอร์รัสซัลเฟต ครั้งละ ๑ เม็ด ๓ เวลาหลังอาหาร ก่อนเจาะเลือด ๑ สัปดาห์ หรืออย่างช้าที่สุดในวันที่เจาะเก็บถุงแรก

นอกจากยาแล้วการกินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น  เลือดหมู เลือดไก่ หรือตับก็ได้ประโยชน์ ซึ่งร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารได้ดีกว่ายาเสียอีก เลือดที่เจาะเก็บไว้สามารถเก็บได้นาน ๓๕ วัน แต่ปกติ เลือดที่เก็บใหม่ๆ จะมีคุณสมบัติดีกว่าเลือดที่เก็บไว้นานๆ จึงมักเตรียมเลือดถุงหลังสุดหลังการเจาะเก็บ ๗๒ ชั่วโมง  ถึง ๗ วัน แม้จะเป็นการนำเลือดตัวเองมาให้ตัวเอง เลือดที่เจาะเตรียมไว้ก็จะได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ร่องรอยการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี เชื้อเอดส์ ร่องรอยการติดเชื้อเอดส์ และเชื้อซิฟิลิส (HBsAg, anti HCV, HIV Ag, anti HIV, VDRL) ถ้าพบผลบวกเชื้อใดเชื้อหนึ่ง หมอก็จะไม่ให้เลือดนั้นกลับคืน คนไข้ กระบวนการให้เลือดตัวเองของคนคนนั้นเป็นอันยุติ เพราะการให้เลือดที่มีเชื้อใดเชื้อหนึ่งซึ่งความจริงก็คือ เชื้อในร่างกายคนไข้นั่นเอง อาจทำให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาบางอย่างที่อาจทำให้เชื้อลุกลามเพิ่มขึ้น

การเตรียมเลือดไว้สำหรับตัวเอง เป็นกระบวนการที่ต้องการความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งหมอ พยาบาล บุคลากรห้องเลือด รวมทั้งตัวคนไข้เองและญาติ เพราะกว่าจะผ่าตัดได้คนไข้อาจต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลหลายครั้ง เพื่อเตรียมเลือด โรงพยาบาลแห่งหนึ่งมีทีมงานที่เข้มแข็งในการชักชวนให้คนไข้เตรียมเลือดไว้ให้ตัวเอง ทำให้คนไข้ได้เลือดปลอดภัย และยังลดปัญหาการได้รับบริจาคเลือดจากประชาชนไม่เพียงพออีกทางหนึ่ง เลือดที่คนไข้บริจาคไว้ให้ตนเอง หากไม่ได้ใช้ ตรวจแล้วไม่พบภาวะเสี่ยงใดๆ โรงพยาบาลจะเตรียมเป็นเลือดบริจาคให้คนไข้อื่น มีคนไข้หลายคนที่ไม่เคยบริจาคเลือด เมื่อได้เจาะเลือดเตรียมไว้สำหรับตนเอง เกิดเป็นประสบการณ์ประทับใจและกลายเป็นผู้บริจาคเลือดประจำในเวลาต่อมา

ในโลกที่ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่คนเราเพรียกหา เริ่มมีคนคิดว่า เขาจะให้หมอเจาะเลือดเก็บไว้ในธนาคารเลือด ซึ่งโดยเทคโนโลยีการแช่แข็ง สามารถเก็บได้นานเป็นปี  เมื่อถึงคราวจำเป็นก็สามารถไปเบิกมาใช้ทันที โดยไม่ต้องเที่ยวหาเลือดของใครต่อใครที่อาจไม่ปลอดภัยให้ยุ่งยาก ใครเปิดธนาคารรับฝากเลือด จะคิดค่าฝากเท่าไร บอกมาเลย

ข้อมูลสื่อ

329-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 329
กันยายน 2549
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์