• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โปลิโอ

ติดต่อทางลำไส้ไม่ใช่ทางลมหายใจ ผู้ป่วยบางรายเกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ  ทำให้หายใจลำบากและเสียชีวิตได้ จึงมีการคิดค้นวัคซีนชนิดกิน      หรือ Oral Polio Vaccine (OPV) ขึ้นมาซึ่งสะดวกและทำให้มีภูมิคุ้มกันที่ลำไส้

ไขสันหลังของคนเราถ้าตัดในแนวขวางจะเห็นว่ามี ๒ ส่วนคือ ส่วนสีขาวและส่วนสีเทา  
     
ส่วนสีเทาจะเป็นกลุ่มนิวเคลียสของเซลล์ประสาทซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อต่างๆ  เชื้อโปลิโอจะเข้าไปทำลายนิวเคลียสเหล่านี้ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและลีบลง  โรคนี้จึงถูกตั้งชื่อว่า Poliomyelitis มาจาก Polios (สีเทา) กับ myelon (ไข)
จากภาพแกะสลักบนหินของอียิปต์ราว ๑,๕๘๐-๑,๓๕๐ ก่อนคริสตกาล  มีรูปของชายคนหนึ่งที่มีขาข้างขวาลีบ แสดงว่าโรคนี้มีมานานแล้วนั่นเอง แต่เป็นปริศนามากว่า ๓,๐๐๐ ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๕๐ Ivar Wickman แพทย์ชาวสวีเดนศึกษาพบว่าโรคนี้ติดต่อจากคนสู่คนทางการสัมผัสโดยตรงและส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยอายุน้อยกว่า ๑๔ ปี
พ.ศ. ๒๔๕๑ Karl Landsteiner และ Erwin Poper เริ่มทดลองหาสาเหตุของโรคนี้  โดยนำน้ำจากไขสันหลังของผู้ป่วยไปฉีดในหนู กระต่ายและลิง  พบว่าหนูและกระต่ายเป็นปกติแต่ไขสันหลังของลิงมีพยาธิสภาพเหมือนกับที่พบในคน  พวกเขาไม่สามารถระบุเชื้อได้แต่สังเกตว่าลักษณะคล้ายกับที่พบในโรคพิษสุนัขบ้าจึงส่งชิ้นเนื้อไปให้ Constantin Levaditi ที่สถาบัน Pasteur ในฝรั่งเศส (ซึ่งเชี่ยวชาญโรคพิษสุนัขบ้า)  อีกหนึ่งปีต่อมาก็ทราบว่ามันเกิดจากเชื้อไวรัส
พ.ศ. ๒๔๕๓ Simon Flexner พยาธิแพทย์ชาวอเมริกันและ Lewis เสนอว่าโรคนี้ติดต่อทางลมหายใจเพราะพบเชื้อนี้ในเยื่อบุจมูกของลิงทดลอง ทำให้เกิดความกลัวไปทั่ว
พ.ศ. ๒๔๕๕ ทีมวิจัยหนุ่มจากสวีเดน Carl Kling, Wilhelm Wernstedt และ Alfred Pettersson พบว่าเชื้อนี้อยู่ในลำไส้มากกว่า แต่ส่วนใหญ่ยังคงเชื่อที่ Flexner บอก 
     
อีก ๒๕ ปีต่อมา John Rodman Paul และ Trask ก็สรุปว่าโรคนี้ติดต่อทางลำไส้ไม่ใช่ทางลมหายใจ
 
เนื่องจากผู้ป่วยบางรายเกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ  ทำให้หายใจลำบากและเสียชีวิตได้  จึงมีการคิดค้นเครื่องช่วยหายใจหรือปอดเหล็กขึ้นและประสบความสำเร็จโดย Philip Drinker
 
ต่อมา David Bodian, Howard A. Howe และ Isabelle Mountain Morgan ก็แสดงให้เห็นว่าไวรัสนี้มีเพียง ๓ สายพันธุ์คือ Polio ๑, ๒, ๓  และผู้ที่ติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันในกระแสเลือด  ความคิดที่จะสร้างวัคซีนจึงเกิดขึ้น
พ.ศ. ๒๔๙๒  John Franklin Enders นักไวรัสวิทยา Frederic Chapman Robbins กุมารแพทย์ และ Thomas Huckle Weller แพทย์ชาวอเมริกันคิดค้นวิธีเพาะเชื้อโปลิโอในเนื้อเยื่อได้สำเร็จ ทำให้ทั้ง ๓ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗
 
Jonas Edward Salk แพทย์ชาวอเมริกันได้นำเทคนิคการเพาะเชื้อนี้ไปผลิตวัคซีนได้สำเร็จโดยใช้เชื้อที่ตายแล้วเรียกว่า Inactivated Polio Vaccine (IPV) และเริ่มใช้ในอเมริกาปีr.ศ. ๒๔๙๘ เขาทำให้ทุกคนประหลาดใจเพราะเพียงแค่ ๓ ปีเท่านั้น  จากที่เคยพบโรคนี้ในอเมริกาปีละหลายหมื่นรายลดลงเหลือเพียงสองร้อยกว่ารายต่อปี       นอกจากนี้ เขายังทำให้ทุกคนแปลกใจอีกเมื่อเขาไม่จดสิทธิบัตรสิ่งนี้เพราะอยากให้ทุกคนได้ใช้วัคซีนในราคาที่ไม่แพง
 

แต่ IPV มีผลเสียคือใช้วิธีฉีดและมีภูมิคุ้มกันแต่ในกระแสเลือดเท่านั้น  เมื่อมีการติดเชื้อในลำไส้จะไม่เกิดโรค แต่ยังสามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้อยู่ จึงมีการคิดค้นวัคซีนชนิดกินหรือ Oral Polio Vaccine (OPV) ขึ้นมาซึ่งสะดวกและทำให้มีภูมิคุ้มกันที่ลำไส้อีกด้วย เป็น Sabin นี้เองที่คิดค้น OPV สำเร็จในปี พ.ศ. ๒๕๐๔
 
เนื่องจากโรคนี้คล้ายไข้ทรพิษคือ ติดต่อจากคนสู่คนและมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ พ.ศ. ๒๕๓๑ องค์การอนามัยโลกจึงเริ่มโครงการที่จะกวาดล้างโปลิโอให้หมดไปจากโลก ปัจจุบันประเทศที่พัฒนาไปได้กวาดล้างสำเร็จแล้ว Ciro de Quadros แพทย์ชาวบราซิลเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการกวาดล้างโรคโปลิโอจนหมดสิ้นในทวีปอเมริกาใต้ (ทำให้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาสาธารณสุขประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๖)   
    
สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีรายงานผู้ป่วยรายสุดท้ายในประเทศต่างๆ ดังนี้  มาเลเซีย (พ.ศ. ๒๕๓๕) ลาว (พ.ศ. ๒๕๓๙) เวียดนาม (มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๐) กัมพูชา (มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๐) ไทย (เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๐) และพม่า (พ.ศ. ๒๕๔๓) จะเห็นว่าเราพบผู้ป่วยรายสุดท้ายช้ากว่าลาวและกัมพูชาเสียอีก
 
มาดูสถานการณ์ทั่วโลกกันบ้าง พบว่ามีผู้ป่วยลดลงเรื่อยๆ พ.ศ. ๒๕๔๖ พบผู้ป่วยเพียง ๗๐๐ กว่ารายและปีนี้เพิ่งมีรายงานแค่ ๒๐๐ กว่ารายเท่านั้น โดยพบในประเทศไนจีเรีย ปากีสถาน ไนเจอร์ อินเดีย อัฟกานิสถาน และอียิปต์ 
 
การจะประกาศว่ากวาดล้างเชื้อโปลิโอได้สำเร็จ  ต้องไม่พบผู้ป่วยอย่างน้อย ๓ ปีร่วมกับเกณฑ์อื่นๆ อีกหลายข้อซึ่งไทยยังทำไม่ได้  
    
ถ้าใครพบเห็นเด็กอายุน้อยกว่า ๑๕ ปี มีอาการอ่อนแรงเฉียบพลัน ขอให้ส่งพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าเกิดจากเชื้อโปลิโอหรือไม่  ถ้าใช่จะได้ป้องกันการระบาดทันท่วงที 
    
ขอเชิญชวนให้ร่วมมือกันพาเด็กไปรับวัคซีนตามเกณฑ์ทุกคน  เชื่อว่าในไม่ช้าประเทศไทยคงกวาดล้างโรคนี้ได้สำเร็จ 
 
  

ข้อมูลสื่อ

324-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 324
เมษายน 2549
นพ.ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์