• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เครียดจากผลบวกเท็จ

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๓๗ 

หญิงไทยอายุ ๕๖ ปีมาขอปรึกษาปัญหาสุขภาพ โดยหอบแฟ้มเอกซเรย์ และผลตรวจต่างๆจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งมาด้วย

ผู้ป่วย:
"อิชั้นไปตรวจสุขภาพมาค่ะ หลังตรวจหมอบอกว่าอิชั้นมีไขมันในเลือดสูง คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ สงสัยจะเป็นโรคหัวใจ จะให้อิชั้นไปสวนหัวใจ หรือตรวจ MRI แบบใหม่ล่าสุด ที่เห็นหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ตีบด้วย อิชั้นจึงมาขอคำปรึกษาคุณหมอก่อน"

แพทย์: "แล้วคุณมีอาการไม่สบายอะไรบ้างครับ"

ผู้ป่วย:
"หลังหมอบอกว่าเป็นโรคหัวใจ รู้สึกแน่นหน้าอก และเหนื่อยง่ายค่ะ ทำอะไรก็เหนื่อย รู้สึกโรคหัวใจจะกำเริบมากขึ้น คุณหมอคิดว่าต้องไปสวนหัวใจ ทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจไหมคะ"
แพทย์: "แล้วก่อนหน้าที่คุณจะไปตรวจสุขภาพ คุณมีอาการอะไรบ้างหรือเปล่าครับ"

ผู้ป่วย:
"ก่อนไปตรวจสุขภาพ รู้สึกสบายดีค่ะ แต่เห็นโรงพยาบาลเขาโฆษณาลดราคาค่าตรวจสุขภาพเป็นแพ็กเกจ (Package) และโปรแกรม (Program) แบบต่างๆ จึงลองไปตรวจดูค่ะ"

แพทย์:
"แล้วคุณได้รับการตรวจอะไรบ้างครับ"

ผู้ป่วย:
"พยาบาลเขาเอาแบบฟอร์มมาให้กรอกประวัติ แล้วเขาก็วัดปรอท วัดชีพจร วัดความดันเลือด ชั่งน้ำหนัก แล้วก็ให้ไปตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจเอกซเรย์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตามแพ็กเกจ (package) ที่เขากำหนดไว้ แล้วก็นัดให้ไปพบแพทย์ แพทย์ดูแบบฟอร์มที่พยาบาลบันทึกไว้และผลการตรวจต่างๆ แล้วก็เอาเครื่องฟังมาฟังที่หัวใจของดิฉัน แล้วก็บอกว่าสงสัยหลอดเลือดหัวใจจะตีบ ต้องสวนหัวใจ หรือทำ MRI แบบใหม่เพื่อดูหลอดเลือดหัวใจค่ะ"

แพทย์:
"ในครอบครัวของคุณ มีใครเป็นโรคหัวใจบ้างไหมครับ"

ผู้ป่วย:
"ไม่มีค่ะ คุณพ่อคุณแม่อายุเกือบ ๘๐ แล้วก็ยังแข็งแรงดีอยู่ พี่น้องก็ไม่มีใครเป็นอะไร"

แพทย์:
"มีใครเป็นเบาหวานหรือความดันเลือดสูงไหมครับ"

ผู้ป่วย:
"ไม่มีใครเป็นเบาหวานค่ะ แต่คุณพ่อมีความดันเลือดสูงนิดหน่อย หมอว่าไม่เป็นไรไม่ต้องกินยา ให้ลดอาหารเค็มลงเท่านั้น"

แพทย์:
"แล้วปกติคุณดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และออกกำลังกายบ้างหรือเปล่าครับ"

ผู้ป่วย:
"อิชั้นไม่ดื่มเหล้าและไม่สูบบุหรี่ และไม่ชอบอยู่ใกล้คนสูบบุหรี่ ออกกำลังกายด้วยการเดินบ้าง วิ่งบ้าง เล่นแบดมินตันบ้างค่ะ"

แพทย์:
"คุณเดินข้ามสะพานลอยแล้วเหนื่อยไหมครับ"

ผู้ป่วย:
"ไม่เหนื่อยค่ะ เมื่อหลายเดือนก่อน ยังเดินขึ้นภูกระดึงกับเพื่อนอยู่เลย"

แพทย์:
"ถ้าอย่างนั้น คุณคงไม่ได้เป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ การทำสวนหัวใจ หรือการตรวจ MRI คงไม่เกิดประโยชน์ และอาจเป็นโทษด้วยซ้ำ"


ผู้ป่วย:
"ทำไมคุณหมอถึงมั่นใจว่าอิชั้นไม่เป็นโรคหัวใจค่ะ"

แพทย์:
“ถ้าคุณเป็นโรคหัวใจที่เป็นอันตรายหรือน่าจะเป็นอันตราย คุณคงเดินขึ้นภูกระดึงไม่ไหวหรอก เพราะการเดินขึ้นภูกระดึงต้องใช้กำลังมาก คนที่เป็นโรคหัวใจคงเดินขึ้นไม่ไหว นอกจากจะเป็นโรคหัวใจเล็กๆน้อยๆ ไม่มีความสำคัญอะไร เพื่อให้คุณสบายใจ คุณไปนอนบนเตียงตรวจ ให้หมอตรวจร่างกายของคุณหน่อย"

หลังการตรวจร่างกาย ซึ่งไม่พบความผิดปกติที่สำคัญอะไร นอกจากฟันผุที่ได้รับการอุดเรียบร้อยแล้ว และริดสีดวงจมูกกับริดสีดวงทวารหนักเล็กน้อย

แพทย์:
"ร่างกายของคุณที่ตรวจอย่างคร่าวๆ นี้ ไม่มีอะไรผิดปกติที่สำคัญ มีริดสีดวงจมูกและริดสีดวงทวารหนักเล็กน้อย ไม่ต้องใช้ยาอะไร ระวังอย่าให้คัดจมูกบ่อย           และอย่าให้ท้องผูกบ่อยก็พอแล้ว"

ผู้ป่วย:
"นี่ขนาดคุณหมอตรวจอย่างคร่าวๆ ยังตรวจยาวและได้รับการตรวจละเอียดกว่าที่อิชั้นได้รับการตรวจสุขภาพ แล้วหัวใจของอิชั้นปกติไหมค่ะ"

แพทย์:
"จากการตรวจร่างกายของคุณ ไม่พบว่าหัวใจของคุณผิดปกติ เพราะว่าหัวใจของคุณเต้นปกติดี หัวใจไม่โต เสียงหัวใจปกติ ไม่มีเสียงฟู่ (murmur) หรือเสียงผิดปกติอื่นใด"

ผู้ป่วย:
"แล้วทำไมหมอคนก่อน เขาฟังหัวใจของอิชั้น แล้วบอกว่าสงสัยหลอดเลือดหัวใจตีบล่ะค่ะ"

แพทย์:
“ไม่ทราบครับ เพราะยังไม่มีตำราที่ไหนบอกว่า ถ้าฟังเสียงหัวใจ จะทำให้ทราบว่าหลอดเลือดหัวใจตีบได้"

ผู้ป่วย:
"แล้วคุณหมอรู้ได้อย่างไรว่า หลอดเลือดหัวใจของอิชั้นไม่ได้ตีบ"

แพทย์:
"ผมอนุมานเอาจากการที่คุณไม่ได้มีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ทุกสิ่งในทางการแพทย์และในทางชีววิทยาไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกครับ คุณอาจจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบก็ได้ แต่ถ้าตีบก็คงตีบเล็กน้อยมาก จนไม่มีความสำคัญอะไร 

เอาอย่างนี้แล้วกัน คุณเอาผลตรวจเลือด เอกซเรย์และคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ที่คุณทำไว้แล้วมาให้ผมดูก่อน"

ผลเลือดที่ได้ มีไขมันโคเลสเตอรอลสูงเล็กน้อย คือ ๒๓๕ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ (ค่าปกติไม่เกิน ๒๐๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) อย่างอื่นอยู่ในเกณฑ์ปกติ เอกซเรย์อกปกติดี คลื่นไฟฟ้าหัวใจมีลักษณะแปลกกว่าคนปกติส่วนใหญ่เล็กน้อย แต่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติได้ และไม่ลักษณะของภาวะหัวใจขาดเลือด ที่จะบ่งบอกว่าผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้

แพทย์:
"เท่าที่ดูผลการตรวจที่คุณทำมาทั้งหมด ไม่มีอะไรผิดปกติ นอกจากไขมันในเลือดสูงเล็กน้อย ซึ่งถ้าคุณลดอาหารไขมันลง และออกกำลังเพิ่มขึ้น ก็คงจะลดลงเป็นปกติได้ และไขมันที่สูงก็สูงเพียงเล็กน้อย ไม่น่าจะทำให้คุณเป็นโรคอะไรได้ ในเมื่อคุณไม่มีกรรมพันธุ์และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ"

ผู้ป่วย:
"แล้วทำไมคุณหมอที่ตรวจสุขภาพอิชั้นถึงสงสัยว่าอิชั้นเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบล่ะค่ะ"

แพทย์:
"ไม่ทราบครับ คุณคงต้องกลับไปถามคุณหมอคนนั้น เพราะผมไม่รู้จะตอบคุณอย่างไร"

ผู้ป่วย:
"ตกลงคุณหมอไม่ต้องให้อิชั้นสวนหัวใจ หรือทำ MRIใช่ไหมค่ะ"

แพทย์:
"ก็แล้วแต่คุณครับ ถ้าคุณอยากให้แน่ใจ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ว่าคุณไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ก็คงต้องสวนหัวใจและฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจของคุณ ซึ่งก็คงมีความเสี่ยงถึงชีวิตยู่เล็กน้อย นอกจากจะเจ็บตัวและเสียเงินแล้ว แต่ถ้าหมอเป็นคุณ หมอไม่ให้ใครมาสวนหัวใจหมอง่ายๆหรอกครับ"
   
ในปัจจุบันการตรวจสุขภาพ หรือการตรวจสุขภาพประจำปีกลายเป็นธุรกิจที่ทำรายได้มหาศาลให้แก่โรงพยาบาล และเป็นการตรวจไม่ใช่ "การตรวจสุขภาพที่แท้จริง" 
   
เพราะการตรวจสุขภาพที่แท้จริงคือ การซักประวัติอย่างละเอียดเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม อุปนิสัย ครอบครัว กรรมพันธุ์ การออกกำลังกาย มลพิษทางกายและใจ ความเครียดและวิธีผ่อนคลายความเครียด ญาติมิตร เป็นต้น รวมทั้งการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซึ่งทั้ง      ๒ อย่างนี้อาจต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง
   
แต่การตรวจสุขภาพที่ทำกันทั่วไปในปัจจุบัน เป็น "การตรวจแล็บ" (ตรวจเลือด ปัสสาวะ เป็นต้น) เป็นสำคัญ จึงทำให้เกิดการวินิจฉัยผิดพลาด และทำให้เกิดโรคประสาท (โรคเครียด) จาก "ผลบวกเท็จ" (false positive) เป็นจำนวนมาก จึงสร้างกำไรมหาศาลให้กับโรงพยาบาลต่างๆที่หากินแบบนี้
    
   
 

ข้อมูลสื่อ

324-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 324
เมษายน 2549
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์