• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โคเลสเตอรอล

ปัจจุบันคงไม่มีใครไม่รู้จักโคเลสเตอรอล (cholesterol) เพราะขณะนี้มีบทบาทในชีวิตคนเราเป็นอย่างมาก
โคเลสเตอรอลถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๒ โดย Poulletier de la Salle ซึ่งได้บรรยายสารที่มีลักษณะแข็งสีขาวเป็นองค์ประกอบของนิ่วในถุงน้ำดีแต่ยังไม่มีชื่อเรียก
    
โคเลสเทอรีน
จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๓๕๙ Michel Eugene Chevreul นักเคมีชาวฝรั่งเศสค้นพบสารนี้เช่นกันซึ่งเขาเชื่อว่าน่าจะเป็นสารประเภทไขมันและตั้งชื่อว่า cholesterine มาจากภาษากรีก ว่า chole (น้ำดี) กับ stereos (แข็ง) ชื่อนี้ถูกใช้อยู่หลายสิบปีจนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๓ พบว่าสารนี้มี Hydroxyl group เป็นส่วนประกอบจึงเปลี่ยนชื่อเป็น cholesterol และใช้มาจนถึงทุกวันนี้
 
พ.ศ. ๒๔๗๐ และ พ.ศ. ๒๔๗๑
Henrich Otto Wieland และ Adolf Otto Reinhold Windaus สองนักเคมีชาวเยอรมันได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีจากการศึกษาโครงสร้างของโคเลสเตอรอล
 
พ.ศ. ๒๔๗๓
Shoenheimer เสนอว่าน่าจะมีกลไกบางอย่างที่ควบคุมสมดุลระหว่างโคเลสเตอรอลในร่างกายกับไขมันที่ได้รับจากอาหาร
 
พ.ศ. ๒๔๘๑
Carl Muller แพทย์ชาวนอร์เวย์รายงานผู้ป่วยเด็กที่มีโคเลสเตอรอลในเลือดสูงมากซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรมว่าโรค Familial Hypercholesterolemia (FH) แต่ไม่ทราบสาเหตุ
 
พ.ศ. ๒๔๙๙
Feodor Lynen นักเคมีชาวเยอรมันประสบความสำเร็จในการแยกกรดอะเซติก (acetic acid) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของไขมันทั้งหมดในร่างกาย และ Konrad Bloch ก็ค้นพบเส้นทางอันซับซ้อนที่เปลี่ยนกรดอเซติกที่มีคาร์บอน ๒ อะตอมจนเป็นโคเลสเตอรอลที่มีคาร์บอนถึง ๒๗ อะตอม นอกจากนี้ Bloch ยังพบว่า                         โคเลสเตอรอลเป็นสารตั้งต้นของกรดน้ำดีและฮอร์โมนเพศหญิงด้วย (ทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี พ.ศ.๒๕๐๗)
 
โคเลสเตอรอลเป็นสารที่ละลายในไขมัน  ดังนั้น เมื่อถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดมันจึงต้องอยู่ในรูปของไลโพโปรตีนที่ละลายในน้ำ Oncley Gofman      และ Fredrickson แบ่งไลโพโปรตีนออกเป็น ๔ ชนิดตามความหนาแน่นคือ High, Intermediate, Low และ Very low Density Lipoprotein (HDL, IDL, LDL และ VLDL) โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของแอลดีแอล (LDL) ซึ่งเป็นไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกาย แต่ตอนนั้นก็ยังไม่มีใครทราบเมตาบอลิสมของโคเลสเตอรอล
 
จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๑๕ Michael S. Brown  และ Joseph L. Goldstein แพทย์ชาวอเมริกันศึกษาเปรียบเทียบระหว่างเซลล์ของคนปกติกับคนที่เป็น FH ทำให้ค้นพบว่าเซลล์ปกติจะมีตัวกระตุ้นแอลดีแอลที่เยื่อหุ้มเซลล์ และมีเอนไซม์ HMG CoA reductase ที่อยู่ภายในเซลล์เป็นกลไกสำคัญในการนำแอลดีแอลจากกระแสเลือดไปใช้เรียกว่า “เส้นทางแอลดีแอล” (ทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๘)
 
นอกจากนี้ Brown และ Goldstein ยังเสนอว่าชาวตะวันตกกินอาหารที่มีไขมันสูงทำให้อ้วนและเพิ่มอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดหัวใจ  ก่อให้เกิดกระแสนิยมกินอาหารตะวันออกที่มีไขมันต่ำและคาร์โบไฮเดรตสูงตามมา โดย ๓ อันดับแรกคือ อาหารจีน ไทยและญี่ปุ่น น่าภูมิใจนะครับที่อาหารไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่วัยรุ่นไทยสมัยนี้กลับนิยมกินอาหารตะวันตกเพิ่มมากขึ้น

ลดความอ้วนสไตล์ Atkins
คนส่วนใหญ่เชื่อตามนั้นแต่มีแพทย์คนหนึ่งที่ไม่คิดเช่นนั้น พ.ศ. ๒๕๑๕ ปีเดียวกับที่เส้นทางแอลดีแอลถูกค้นพบ Robert Coleman Atkins อายุรแพทย์โรคหัวใจชาวอเมริกันก็ตีพิมพ์หนังสือชื่อ “Atkins’ Diet Revolution.” ซึ่งจำหน่ายได้มากกว่า ๑๕ ล้านฉบับและติดอันดับหนังสือขายดีอีกด้วย
    
Atkins เสนอว่าคาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารแรกที่ร่างกายจะนำไปใช้ ถ้าเหลือก็จะเปลี่ยนเป็นไขมัน  แต่ถ้าไม่เพียงพอร่างกายจะหันไปเผาผลาญไขมันออกมาใช้แทน        ดังนั้น การลดน้ำหนักควรกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ (ไม่ใช่กินอาหารที่มีไขมันต่ำ) ส่วนโปรตีนและไขมันนั้นให้กินสูงกว่าปกติเพื่อคงแคลอรีต่อวันไว้ (ที่จริงแล้วการกินอาหารแบบนี้ Dr. Alfred W. Pennington บุกเบิกไว้ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดย Atkins นำมาสานต่อ)  
 
แนวคิดนี้ถูกคัดค้านอย่างมากจากแพทย์ทั่วไปเพราะเกรงว่าอาจจะเกิดผลเสียในระยะยาว จึงมีการศึกษา Atkins’ diet มากมายแต่มักจะเป็นเพียงการศึกษาขนาดเล็กในระยะสั้นๆ  
    
พ.ศ. ๒๕๔๖ ทีมแพทย์จากมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเยล จึงทำการวิเคราะห์งานวิจัยทั้งหมด ๓,๒๖๘ การศึกษาและตีพิมพ์ในวารสาร JAMA ฉบับเดือนเมษายน  จากการวิเคราะห์พบว่าแคลอรีของอาหารที่กินนั้นค่อนข้างต่ำ ด้วยเหตุนี้น้ำหนักตัวที่ลดลงน่าจะเป็นผลจากการกินอาหารแคลอรีต่ำมากกว่าจะเกิดจาก
การกินอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ แต่โดยรวมก็ไม่พบผลเสียที่ร้ายแรงของการกินอาหารแบบนี้
 
ปัจจุบันมีชาวอเมริกันที่กิน Atkins’ diet กว่า ๓๐ ล้านคน ทำให้สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIH) เริ่มทำการศึกษาขนาดใหญ่เพื่อวิจัยผลระยะยาวของมัน      โดยจะใช้เวลาในการศึกษา ๕ ปี คงต้องรอคอยกันต่อไปว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร 
    
เราควรเดินสายกลาง กล่าวคือ กินอาหารให้ครบทุกหมู่ในปริมาณที่พอเหมาะ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ งดบุหรี่ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
    

 

ข้อมูลสื่อ

321-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 321
มกราคม 2549
นพ.ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์