• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จิตวิญญาณ เพื่อสุขภาวะ ๒ "ที่เป็นอยู่ และเป็นไป"

จิตวิญญาณ เพื่อสุขภาวะ ๒ "ที่เป็นอยู่ และเป็นไป"

ตอนที่แล้วค้างกันไว้เรื่อง "ที่มาของจิตวิญญาณ" ขอย้อนเพื่อให้ต่อติดกับตอนนี้ สรุปก็คือ คนแต่ละคนเกิดมากับแก่นแท้ติดตัวมาแต่อยู่ในท้องแม่ ค่อยๆ เติบโตผ่านขั้นตอนกระบวนพัฒนาการมาคล้ายกัน เมื่อแก่นแท้ปะทะเข้ากับข้อจำกัดของโลกภายนอก กรอบทางสังคมวัฒนธรรม และวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่ จะทำให้แก่นแท้ดั้งเดิมถูกบิดเบือนไปด้วยการที่จิตวิญญาณของเราสร้างเกราะคุ้มกันภายในเพื่อให้ทุกข์ที่สัมผัสรับรู้อยู่ในขณะนั้นหมดไปชั่วคราว เช่น หิวแม่ยังไม่เอานมมาให้ เด็กรู้สึกทุกข์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่รู้ว่าทำไมแม่ไม่เอานมมาให้ สภาวะจิตของเด็กพยายาม หาทางออกจากทุกข์ด้วยการทดลองใช้กลไกทางจิตแบบต่างๆ บางอย่างก็ได้ผลดีทุกครั้ง บางอย่างได้ผลบางครั้ง บางอย่างไม่ได้ผล เด็กก็จะค่อยเรียนรู้และเลือกใช้กลไกทางจิตบางตัวจนเกิดเป็นนิสัย กลไกทางจิตนี้จะบิดเบือนวิธีการมองโลกแต่ดั้งเดิมที่บริสุทธิ์ ไปสู่การมองโลกตามกิเลสประจำตัวของคนแต่ละประเภท และสิ่งที่มีอยู่ประจำตัวของเราแต่ละคนทั้งกิเลสทางอารมณ์ ทางความคิด และสัญชาตญาณนี้แหละ จะผลักดันให้เราแสดงพฤติกรรมต่างๆ

กระบวนการแห่งความเป็นตัวตนของเรานี้จะจัดแบ่งประเภทบุคลิกภาพของคนได้หลักๆ เป็น ๙ ประเภทตามทฤษฎี "นพลักษณ์๑" ซึ่งจะอธิบายเหตุแห่งทุกขภาวะ ที่มาของการเสื่อมถอยของจิตวิญญาณมนุษย์ ทำให้เราตกอยู่ในบ่วงแห่งกิเลสกรรม และเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารกันทุกคน นักวิทยาศาสตร์สนใจเรื่องจิตกันไม่มากนัก ส่วนใหญ่มักอธิบายภาวะจิตที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น เครียดแล้วปวดท้องเป็นโรคกระเพาะ ซึมเศร้าแล้วเกิดโรคอ่อนแรงสมองไม่ทำงาน โดยอธิบายว่าภาวะจิตที่เครียดหรือผิดปกติไปทำให้เกิดการหลั่งสารบางชนิดที่ก่อให้เกิดโรค ท่านอาจารย์ประเวศพูดเสมอๆ ว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน ธรรมชาติสร้างมาให้แต่ละส่วนทำงานเกี่ยวเนื่องอย่างสมดุล แต่ถ้าเราดูแลความสมดุลของร่างกายไม่ดี ก็ย่อมส่งผลไปถึงระบบการทำงานทั้งหมดให้เรรวนปรวนแปรไปจนเกิดโรคขึ้น ยกตัวอย่างเอาเรื่องที่กำลังร้อนแรงขณะนี้ คือ การดื่มสุรา แอลกอฮอล์เมื่อเข้าไปในกระเพาะจะถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด ไหลเวียนไปทั่วร่างกายไปถึงสมอง จะมีผลในทางกระตุ้นหรือกดระบบประสาทก็ได้ ในระยะสั้นทำให้ตื่นตัว สนุกสนานหรืออาจทำให้ง่วงนอนขาดสติ ถ้าไปขับรถก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุก่อความเสียหายต่อตนเองและคนอื่น นี่คือผลระยะสั้นจากการดื่มสุรา ในระยะยาวร่างกายจะถือว่าแอลกอฮอล์เป็นสารแปลกปลอมเมื่อเข้าสู่กระแสเลือด จะถูกลำเลียงไปที่ตับเพื่อไปทำลายและขับออกไป ถ้าตับต้องทำหน้าที่ทำลายแอลกอฮอล์บ่อยเข้าๆ เนื้อตับก็จะถูกทำลายกลายเป็นโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับ ก็จะเห็นว่า เพียงสุราตัวเดียวก็ทำให้เกิดโรคมากมายต่อมนุษย์ ถ้าเราตัดไฟเสียแต่ต้นลม ก็คือ ไม่ดื่มสุรา ไม่ให้เด็กของเราหัดดื่มสุราก็เท่ากับเราช่วยป้องกันอุบัติเหตุ และโรคภัยไข้เจ็บมากมายหลายชนิด จะได้ไม่ต้องสูญเสียเงินไปรักษากันมากมายอย่างที่เป็นอยู่

กลับมาที่คำถามสำคัญซึ่งเป็นประเด็นหลักที่กำลังพูดกันอยู่นี้ "ทำไมต้องดื่มสุรา" คงมีหลายคำตอบ ย้อนกลับไปถึงตอนเด็กๆ ไม่มีเด็กคนไหนเกิดมาแล้วก็ดื่มสุราเป็นหรือชอบดื่มสุรา อ้าว! แล้วทำไมถึงหัดดื่มล่ะ คนที่ไม่ดื่มสุรา ดื่มครั้งแรกๆ จะไม่ชอบแน่ เพราะรสชาติมันเหลือร้าย ทั้งขม ทั้งเผาคอ การเริ่มดื่มสุราจึงมักมีต้นเหตุจากกระบวนการทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการชักจูงจากเพื่อน เห็นจากสื่อทีวี (ภาพยนตร์โฆษณาในทีวีมันน่าหลงใหลให้ดื่มเสียจริงๆ เพราะมันไปกระตุ้นจินตนาการด้านเพศ และความรื่นรมย์) หรือแม้แต่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้าน เด็กทดลองดื่มนอกจากเพราะถูกชักจูงจากสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่ก็มีกระบวนการภายในจิตของตนที่ส่งเสริมให้หัดหรือดื่มสุราด้วย เพราะฤทธิ์ของสุราทำให้ผ่อนคลาย สบาย ไม่นึกถึงทุกข์ทางจิตที่กำลังเป็นอยู่ แล้วเราจะหาทางดับทุกข์ด้วยวิธีอื่นได้ไหม นอกจากการดื่มสุราหรือเสพยาเสพติด ทุกคนก็คงตอบว่า "ได้" ถ้าเรารู้ว่าทุกข์คืออะไร เกิดจากอะไร แต่เป็นที่น่าเสียดายที่มนุษย์เราส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า ทุกข์ของเราอยู่ที่ไหน นี่แหละคือ สัญญาณบอกถึงความเสื่อมถอยทางจิตวิญญาณ

กลับไปเมื่อตอนเด็กๆ ใหม่อีกที เด็กๆ รับรู้ความทุกข์ด้านร่างกายได้ง่าย เช่น หิว หนาว เจ็บ ร้อน ปวด แล้วก็แสดงปฏิกิริยาต่อความรู้สึกนั้นตรงๆ คือ ร้องไห้ โยเย งอแง หรือหากพูดได้ก็บอกแม่ตรงๆ พอโตขึ้นหน่อย กระบวนการเลี้ยงดูและกรอบทางสังคม กลับทำให้เด็กรับรู้ความทุกข์ภายในน้อยลงทุกที กลับไปมองหาและโทษเหตุแห่งทุกข์จากภายนอก ดูตัวอย่างสักหน่อย ตอนเด็กๆ ร้องไห้เพราะแย่งของเล่นกัน เด็กขัดใจไม่ได้ของเล่นที่ต้องการก็ร้องไห้ แม่ถามว่าร้องไห้ทำไม ลูกก็บอกว่า น้องหรือพี่แย่งของเล่น แม่ก็บอกว่า ไม่เป็นไร บางคนก็บอกว่าเดี๋ยวแม่ซื้อให้ใหม่ บางคนก็ตีเด็กดุว่าร้องทำไมให้แบ่งกันเล่น บางคนก็ไปแย่งของเล่นกลับคืนมาให้เด็ก มีต่างๆ กันออกไป กลับมาดูที่เด็กว่า เด็กตีความสิ่งที่เห็นอย่างไร ถ้าแม่บอกไม่เป็นไรเดี๋ยวซื้อให้ใหม่ เด็กก็เรียนรู้ว่า อ้อทุกข์นี่แม่แก้ไขให้ได้ด้วยการซื้อให้ใหม่ (หาวิธีแก้ไขจากภายนอก คือ แม่แก้ไขให้) ถ้าถูกดุถูกตี เด็กก็รับรู้ว่า แม่ไม่ชอบให้แสดงความทุกข์ (ต่อไปก็อย่าแสดงหาวิธีอื่น และก็ไม่รู้ว่าทุกข์คืออะไร รู้แต่ว่าแสดงไม่ได้) จะเห็นว่าตั้งแต่เล็กๆ พ่อแม่น้อยคนนักที่จะช่วยเหลือให้เด็กสังเกตอารมณ์ และความทุกข์ของตนจากภายใน ส่วนมากจะแสดงให้เด็กเห็นว่า แก้ไขทุกข์ภายในได้ด้วยสิ่งภายนอก เด็กจึงเริ่มมองหาเหตุแห่งทุกข์ภายในของตนจากการมองหาสิ่งภายนอก ซึ่งทำให้ศักยภาพ ของการรับรู้ตนเองของเด็กค่อยๆ หดหายไปทุกที ยิ่งโตขึ้น เราก็ยิ่งมองหาและให้ความสนใจกับเรื่องภายนอกตนเองออกไปทุกที ทำให้เกิดกลไกทางจิตที่เราเรียกว่า "การโยนหรือโทษใส่สิ่งอื่นหรือคนอื่น" ทำให้จิตของเราเหินห่างจากการมองตนเองมากขึ้น

ดูอีกตัวอย่าง พอโตเป็นวัยรุ่นมีแฟนแล้ว เสียใจก็เพราะแฟนพูดไม่ถูกหู ตรงนี้ต้องวิเคราะห์ให้ดี ความเสียใจเป็นทุกข์ภายในใจของเรา แฟนพูดเป็นเรื่องภายนอก (แฟนเขาก็พูดแบบนี้ของเขามานานแล้ว ตอนรักกันอารมณ์ดีๆ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าไม่ถูกหู) ส่วนเรื่องไม่ถูกหู เป็นอคติของเราว่าไม่ถูกหูพูดไม่ตรงกับที่เราคิด ไม่ตรงใจ อยากให้เขาพูดหวาน แต่วันนี้เขาอารมณ์ไม่ดีพูดห้วนไปหน่อย จิตมันก็ตีความไปแล้วว่า โทษไปแล้วว่าเขาพูดไม่ถูกหู ถ้าเราปฏิบัติเช่นนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็เกิดนิสัยทางจิตที่จะหาทางออกง่ายๆ ด้วยการอธิบายเหตุแห่งทุกข์ของเราว่ามาจากโลกภายนอก มาจากคนอื่น แล้วก็จะพยายามไปแก้ไข ไปหาวิธีแก้ไขจากภายนอก ทุกคนก็ทำแบบนี้กัน
ถ้าเราเป็นคนเล็กๆ ผลกระทบอาจไม่มากเพราะเราสัมพันธ์กับผู้คนไม่มาก แต่ถ้าเป็นคนใหญ่คนโต ผู้บริหารประเทศ หรือแม้แต่บริหารโลก (อคติเองว่าบริหารโลก) ก็จะมองหาว่าเหตุแห่งทุกข์ของประเทศตน มาจากประเทศอื่นเขาทำเรา เช่น เพราะเขากีดกันทางการค้าเราก็เลยขายของไม่ได้ เพราะเขาเอาระเบิดมาถล่มตึกทำให้คนของเราตาย มองดูเผินๆ ก็เหมือนว่าจะถูกต้อง แต่ถ้าวิเคราะห์กันลึกลงไปหน่อยว่า ทำไมเขากีดกันทางการค้า ทำไมเขาเอาระเบิดมาถล่มตึก บางทีต้นเหตุก็อยู่ที่ตัวเราเอง จากอคติของการมอง คนอื่นมองโลกภายนอกผ่านแว่นตา (ก็คือ กิเลสประจำตัวของแต่ละคน) คงจะไม่ขยายความไปกว่านี้ เพราะถ้าท่านไปศึกษาประวัติศาสตร์ของการเกิดสงครามทุกยุคทุกสมัย ก็จะเห็นว่ามนุษย์เราไม่ว่าจะก้าวหน้าไปทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากเพียงใด เรายังไม่สามารถหลุดพ้นจากการครอบงำของกิเลสประจำตัวของเราแต่ละคนไปได้เลย ซึ่งมันได้ก่อให้เกิดทุกข์ต่อมนุษยชาติอย่างแสนสาหัส ดังที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้

ขอจบตอน "ที่เป็นอยู่และเป็นไป" สำหรับสุขภาวะทางจิตวิญญาณไว้เท่านี้ก่อน คราวหน้าคงจะเป็นบทสรุปว่า เราจะรื้อฟื้นจิตวิญญาณอันเป็นแก่นแท้ของเราได้อย่างไร โดยเฉพาะกับเด็กๆ ลูกหลานของเราที่จะเป็นอนาคตของประเทศและของมนุษยชาติ

๑ นพลักษณ์ เป็นศาสตร์โบราณมีอายุกว่า ๒,๐๐๐ ปี กำเนิดในเอเชียกลาง ในกลุ่มนักบวช "ซุฟี" ซึ่งถือการปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ เช่นเดียวกับศาสนาพุทธ ครูซุฟีได้สั่งสมประสบการณ์ในการสังเกตลูกศิษย์และธรรมชาติของมนุษย์ โดยดูลึกไปถึงกิเลสทางความคิด อารมณ์ และสัญชาตญาณ แล้วจัดแบ่งคนออกเป็นประเภทหลักๆ ได้ ๙ ประเภท ผู้สนใจหาอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ "นพลักษณ์ ศาสตร์แห่งการเข้าถึงตน เข้าถึงคน" และเล่มอื่นๆ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง

ข้อมูลสื่อ

299-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 299
มีนาคม 2547
อื่น ๆ
พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ