• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แอลกอฮอล์ : ดีกรีแห่งความทุกข์

สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานในสิกขาบท ตั้งใจที่จะงดเว้นจากการประทุษร้าย สติสัมปฤดี
โดยการดื่มสุราและเสพของมึนเมาทุกชนิด อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

นี่คือคำสมาทานศีลข้อที่ ๕ ที่พุทธศาสนิกชนทั่วโลกยึดถือปฏิบัติ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ให้ความหมายของคำว่า สุรา เหล้าและแอลกอฮอล์ ดังนี้
สุรา : เหล้า หรือน้ำเมาที่ได้จากการกลั่น
เหล้า : น้ำเมาที่กลั่นหรือหมักแล้ว
แอลกอฮอล์ : สารอินทรีย์ชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นของเหลวใส กลิ่นฉุน ระเหยง่าย เกิดขึ้นจากการหมักสารประเภทแป้งและน้ำตาล ผสมยีสต์ เป็นองค์ประกอบของสุราและเมรัยทุกชนิด เมื่อดื่มเข้าไปจะออกฤทธิ์ทำให้ มีอาการมึนเมา
จากคำจำกัดความของสุรา เหล้า และแอลกอฮอล์ ล้วนเกี่ยวกับความมึนเมา ขาดสติสัมปชัญญะที่จะประคองตนเองในการประกอบกิจกรรมต่างๆ เพื่อการดำรงชีวิตที่เจริญก้าวหน้า
เข้าทำนอง สติมาปัญญาเกิด สติเตลิดเกิดปัญหา
เรื่องเด่นจากปก นิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ ๓๐๘ เดือนธันวาคม ส่งท้ายปี พ.ศ.๒๕๔๗ แอลกอฮอล์ : ดีกรีแห่งความทุกข์ และต้อนรับศักราชใหม่ด้วยความสุขที่ไร้แอลกอฮอล์ เพราะว่าผู้คนมีความทุกข์อันเนื่องมาจากแอลกอฮอล์มากเกินพอแล้ว คือ ทุกข์ทั้งกายทุกข์ทั้งใจ (ของตนเองและคนใกล้ชิด)
เข้าทำนอง ร่างกายเป็นทุกข์ จิตใจเป็นทุกข์ ครอบครัวและสังคมเป็นทุกข์
ท่านผู้อ่านและคนใกล้ชิดจะทุกข์อย่างไรโปรดพิจารณาด้วยความมีสติ และเพิ่มดีกรีแห่งความสุขกันดีกว่า

คนไทยดื่มเหล้าสูงเป็นอันดับ ๕ ของโลก
องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยข้อเท็จจริงว่า การดื่มแอลกอฮอล์เกินควรเป็นสาเหตุของการตายและความพิการทั่วโลก
ประมาณร้อยละ ๔ ของการตายและความพิการทั่วโลกเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมากกว่ายาเสพติดถึง ๕ เท่า
ร้อยละ ๓๐ ของการตายจากมะเร็งหลอดอาหาร โรคตับ โรคชัก อุบัติเหตุจราจร ฆาตกรรมและการบาดเจ็บโดยเจตนา มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์
แอลกอฮอล์ไม่เพียงบั่นทอนสุขภาพร่างกายให้เสื่อมลงเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสติปัญญาและสุขภาพจิตของผู้ดื่มและก่อปัญหาสังคมอีกด้วย ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ได้แก่ การเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจราจรมากกว่าร้อยละ ๕๐ ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด การก่อความรุนแรงต่อครอบครัวและการก่ออาชญากรรม
ถึงแม้จะยอมรับกันโดยทั่วไปว่าแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและสังคม แต่แนวโน้มการดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยกลับเพิ่มสูงขึ้น เฉลี่ย ๒.๖ แสนคนต่อปี

องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ คนไทยดื่มแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อหัวเท่ากับ ๑๓.๕๙ ลิตร สูงเป็น อันดับ ๕ ของโลก รองจากโปรตุเกส สาธารณรัฐไอร์แลนด์ บาฮามาส์ และ สาธารณรัฐเช็ก ตามลำดับ
การดื่มแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ (ก่อนผสมสุราประเภทต่างๆ) ของคนไทยมีอัตราการเพิ่ม ๐.๒๙ ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งคิดเป็นเท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับการดื่มในประเทศอังกฤษ ซึ่งมีอัตราการเพิ่มเพียง ๐.๑๔ ลิตร ต่อคนต่อปี

จากการรวบรวมสถิติผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนพบว่า ในภาวะปกติ ร้อยละ ๒๖ เกี่ยวข้องกับการ "เมาแล้วขับ" และเพิ่มเป็นร้อยละ ๖๐-๖๕ ในช่วงเทศกาล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้วิเคราะห์ไว้ว่า หากสามารถลดอุบัติเหตุจราจรจากคนเมาได้ร้อยละ ๕๐ จะลดการเสียชีวิตปีละ ๒,๙๐๐ ราย ลดการบาดเจ็บปีละ ๒๙,๖๒๕ ราย และลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจได้ประมาณ ๑๓,๙๗๕ ล้านบาท
ผลการวิจัยของมูลนิธิเพื่อนหญิง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖ พบว่า ค่าใช้จ่ายในการดื่มแอลกอฮอล์ในครอบครัวสูงถึง ๑๐๐-๓๐๐ บาทต่อครั้ง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ดื่มขั้นต่ำประมาณ ๑๘ ล้านคน และในอัตราความถี่ของการดื่มประมาณสัปดาห์ละครั้ง คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการดื่มแอลกอฮอล์ถึง ๑๐๐,๐๐๐-๒๘๐,๐๐๐ ล้านบาท

ใครบ้างที่ดื่มแอลกอฮอล์
ร้อยละ ๓๕ ของคนไทยวัยเกิน ๑๑ ขวบดื่ม แอลกอฮอล์

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติครั้ง ล่าสุดปี พ.ศ.๒๕๔๖ พบว่าคนไทยดื่มสุรา ๑๘.๖๑ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๓๕.๔๖ ของประชากรอายุ ๑๑ ขวบขึ้นไป แยกเป็นชาย ๑๕.๕๑ ล้านคน หรือร้อยละ ๖๐.๘๐ ของเพศชายอายุ ๑๑ ขวบขึ้นไป เป็นหญิง ๓.๙๕ ล้านคนหรือร้อยละ ๑๔.๕๑ ของเพศหญิงอายุ ๑๑ ขวบขึ้นไป
ชายวัยทำงานดื่มหนักที่สุด
กลุ่มที่ดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยทำงานชาย อายุ ๒๕-๔๔ ปี จำนวน ๗.๘๔ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๗๔.๖๔ ของประชากรเพศชายในวัยเดียวกัน (จำนวน ๑๐.๕๐ ล้านคน)
นักดื่มขาประจำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ในกลุ่มผู้ที่ดื่มตั้งแต่ ๑-๒ ครั้งขึ้นไปต่อสัปดาห์ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่ดื่มประจำ พบว่าในเพศชายดื่มประจำในปี พ.ศ.๒๕๔๖ มีอัตราร้อยละ ๔๓.๙ ของเพศชายที่ดื่ม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๓๙.๓ ในปี พ.ศ.๒๕๔๔
นักดื่มหญิงเพิ่มปีละหลายแสนคน
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ. ๒๕๔๖ พบว่าจำนวนผู้หญิงที่ดื่มสุรามีประมาณ ๒.๘๔ ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ ๑๔.๕ ของประชากร เพศหญิง) ในขณะที่ปี พ.ศ.๒๕๔๔ อัตราการดื่มสุราของผู้หญิงเท่ากับ ๒.๓ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๙.๘ ซึ่งภายใน ๒ ปีเพิ่มขึ้นถึง ๕.๔ แสนคน
นักดื่มหญิง ๑ ใน ๔ ไม่ยอมเลิกแม้ตั้งครรภ์
จากการสอบถามผู้หญิงวัยเกิน ๑๕ ปี ที่กำลัง ตั้งครรภ์ พบว่าร้อยละ ๒๓.๓ หรือประมาณ ๑ ใน ๔ ยังไม่เลิกดื่มแอลกอฮอล์ โดยร้อยละ ๗.๖ ของผู้หญิง ที่ตั้งครรภ์ระบุว่ายังคงดื่มเป็นประจำ ขณะที่อีก ร้อยละ ๑๐.๔ ระบุว่าดื่มนานๆ ครั้ง นอกจากนี้ ยังพบ ด้วยว่าผู้หญิงในเมืองมีอัตราการเลิกดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์น้อยกว่าผู้หญิงชนบท

แอลกอฮอล์กับวัยรุ่น
วัยรุ่นไทยเป็นนักดื่มมากขึ้น
- วัยรุ่นเพศชายวัย ๑๑-๑๙ ปี ที่ดื่มแอลกอฮอล์มีจำนวนประมาณ ๑.๐๖ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๒๑.๒๓ ของประชากรในกลุ่มอายุนี้
- ปรากฏการณ์ที่น่าเป็นห่วงก็คือ นักเรียนชายและนักเรียนหญิงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับ ปวช. ที่ดื่มแอลกอฮอล์ประมาณร้อยละ ๕๐ เริ่มดื่มเมื่ออายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ทั้งนี้ ผู้ชายเริ่มต้นดื่มในอายุที่น้อยกว่าผู้หญิง
- นักเรียนมัธยมปลายจนถึงอุดมศึกษาประมาณ ๑ ใน ๓ ของนักเรียนทั้งหมดยอมรับว่าตนเองเป็น "คนดื่มแอลกอฮอล์" และนักเรียน ปวส. มีประสบการณ์การดื่มมากที่สุดเมื่อเทียบกับนักเรียนชั้นอื่นๆ โดยคิดเป็นร้อยละ ๘๘.๓ ของนักเรียนชาย และร้อยละ ๗๔.๔ ของนักเรียนหญิง
- ในช่วงเวลาเพียง ๗ ปี (พ.ศ. ๒๕๓๙-๒๕๔๖) กลุ่มผู้หญิงวัย ๑๕-๑๙ ปี เป็นกลุ่มที่น่าจับตามากที่สุด เนื่องจากมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นเกือบ ๖ เท่า คือจากร้อยละ ๑.๐ เป็นร้อยละ ๕.๖ และในกลุ่มหญิงวัยนี้เป็นผู้ดื่มประจำถึง ร้อยละ ๑๔.๑ (ดื่ม ๑-๒ ครั้งต่อสัปดาห์ถึงดื่มทุกวัน)
- เด็กที่เริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนอายุ ๑๓ ปี มีโอกาสติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปจนโต ในทางตรงข้าม หากเริ่มดื่มในวัย ๒๑ ปีขึ้นไป ความเสี่ยงในการเกิดปัญหาจากการดื่มในลักษณะต่างๆ จะลดลงถึงร้อยละ ๗๐
เพื่อน ครอบครัว สังคม และวัฒนธรรม มีอิทธิพล ต่อการดื่มแอลกอฮอล์ของวัยรุ่น
- การดื่มครั้งแรกของนักเรียนชายที่อายุต่ำกว่า ๑๐ ขวบ นอกจากความอยากลอง แล้วยังมีอิทธิพลมาจากพ่อแม่ ที่ยอมให้ดื่มอีกด้วย
- ความอยากรู้และอยากลองและเพื่อน คืออิทธิพลที่สำคัญของการดื่มครั้งแรกของวัยรุ่นชาย ส่วนผู้หญิง มีพ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือแฟนเป็นปัจจัยสำคัญ
- ครอบครัวที่ขาดพ่อแม่ มีความเสี่ยงสูงต่อพฤติกรรม การดื่ม เช่นเดียวกับครอบครัวที่พ่อแม่ดื่ม ทั้งนี้ นักเรียนชายร้อยละ ๗๙.๘ และนักเรียนหญิงร้อยละ ๘๐.๗ ที่เคยดื่มแอลกอฮอล์ ให้ข้อมูลว่ามีบิดาดื่มแอลกอฮอล์
- โฆษณาสร้างความเข้าใจผิดแก่วัยรุ่นจำนวนมาก เช่น นักเรียนชายเห็นว่า การดื่มแอลกอฮอล์ต่างประเทศเป็นเครื่องแสดงความทันสมัย ขณะที่นักเรียนหญิงบอกว่า ดื่มแอลกอฮอล์ของต่างประเทศแล้วไม่เมา

ทำลายสุขภาพ ทำลายชีวิต
แอลกอฮอล์สามารถซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว โดยแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่จะถูกดูดซึมในกระเพาะอาหารและกระจายเข้าสู่กระแสเลือดภายใน ๕ นาที ก่อนส่งต่อไปยังอวัยวะต่างๆ ภายใน ๑๐-๓๐ นาที ทั้งนี้สามารถตรวจพบแอลกอฮอล์ในเลือดได้ภายในเวลา ๕ นาที หลังจากเริ่มดื่ม และเริ่มก่อผลต่ออวัยวะทั่วร่างกายคือ
ช่องปากและลำคอ แอลกอฮอล์จะไประคายเคืองเยื่อบุที่ละเอียดอ่อนในปากและหลอดอาหาร มักจะเกิดอาการร้อนซู่เมื่อผ่านลงไปและก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหลอดอาหารอีกด้วย
ผิวหนังและหลอดเลือด ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ที่ส่งผลให้เห็นชัดเจนเริ่มตั้งแต่ผิวหนัง หลอดเลือด ที่ขยายตัว ส่งผลให้หน้าแดง ในทางตรงกันข้าม ผู้ดื่มบางรายอาจมีอาการหลอดเลือดหดตัว ทำให้หน้าซีด ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต
สมอง แอลกอฮอล์มีพิษโดยตรงต่อสมอง ทำให้เซลล์สมองเสื่อม ในผู้ติดแอลกอฮอล์พบว่ามีการฝ่อลีบของสมองส่วนคอร์เท็กซ์ ซึ่งมีผลต่อการเสื่อมทางจิตด้วยหลายประการ
หัวใจ แอลกอฮอล์จะกระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วขึ้น ทำงานหนักขึ้นในระยะยาวจะทำให้การทำงาน ของกล้ามเนื้อหัวใจแปรปรวน สารที่มีหน้าที่สำคัญในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจลดต่ำลง ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือด และแอลกอฮอล์ยังทำให้กล้ามเนื้อของหัวใจบวมขึ้น ทำให้เกิดการเป็นพิษของหัวใจ เป็นเหตุให้เกิดการสะสมของไขมันมากขึ้นและทำให้เกิดการเผาผลาญช้าตามไปด้วย
กระเพาะอาหารและลำไส้ โรคที่พบได้บ่อยในหมู่นักดื่ม คือโรคกระเพาะ แอลกอฮอล์ในระดับความเข้มข้นต่ำเพียงร้อยละ ๑๐ จะทำให้มีการกระตุ้นน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะและลำไส้
ตับ เนื่องจากตับเป็นแหล่งสันดาปที่สำคัญของแอลกอฮอล์ ตับจึงเป็นอวัยวะที่ได้รับพิษมากที่สุด เซลล์ตับที่ถูกทำลายจะมีไขมันเข้าไปแทนที่ ทำให้เกิดการคั่งของไขมันในตับ ซึ่งเป็นสาเหตุแรกๆ ของอาการตับอักเสบ ส่งผลให้เซลล์ตับถูกทำลายมากขึ้น เมื่อเซลล์ตับตายลงถึงระดับหนึ่ง จะมีการสร้างพังผืดขึ้นที่บริเวณนั้นในลักษณะคล้ายแผลเป็น ทำให้เนื้อตับที่เคยอ่อนนุ่มแข็งตัวขึ้นเกิดอาการที่เรียกว่า "ตับแข็ง" ในที่สุด
ตับอ่อน แอลกอฮอล์จะทำให้เซลล์ของตับอ่อนระคายเคือง เซลล์บวมขึ้น ทำให้การไหลเวียนของ น้ำย่อยไม่คล่องตัว สารเคมีไม่สามารถที่จะเข้าไปในลำไส้เล็กได้ ทำให้มันย่อยตัวตับอ่อนเอง ทำให้เกิดเลือดออกอย่างเฉียบพลันและการอักเสบของตับอ่อน
กระแสเลือด ร้อยละ ๙๕ ของแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไปในร่างกายจะซึมเข้ากระแสเลือด โดยผ่านเยื่อบุในกระเพาะและลำไส้ดูโอดีนัมอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงกระแสเลือดมันจะเข้าไปในเซลล์และตามเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายอย่างรวดเร็วเช่นกัน แอลกอฮอล์จะทำให้เซลล์ของเลือดเกาะเป็นก้อนเหนียว ทำให้การไหลเวียนช้าลง ออกซิเจนน้อยลง ทำให้เลือดจางด้วย โดยที่แอลกอฮอล์จะไปลดการสร้างเม็ดเลือดแดง และยังไปทำให้ความสามารถของเม็ดเลือดขาวในการกลืนตัวเชื้อและการทำลายแบคทีเรียช้าลง ทำให้การแข็งตัวของเกล็ดเลือด ช้าลง
กระเพาะปัสสาวะและไต แอลกอฮอล์ทำให้เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะบวมขึ้น ทำให้ไม่สามารถยืดตามปกติ ได้ในไต การระคายเคืองทำให้สูญเสียน้ำมากขึ้น

ไอคิวและอีคิวถูกทำลาย
ไอคิว (IQ) สติปัญญา
IQ (Intelligent Quotient) ความสามารถทางสติปัญญาที่ลูกน้อยแต่ละคนจะมีมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ โดยการสัมผัส โอบกอด พูดคุยกับลูกสม่ำเสมอ เพื่อให้จุดเชื่อมต่อที่เรียกว่า ซินแนปส์ (Synapse) ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสมองพัฒนาได้เต็มที่
อีคิว (EQ) อารมณ์
EQ (Emotional Quotient) ความฉลาดทางอารมณ์ หรือวุฒิภาวะทางอารมณ์ เพื่อให้ลูกน้อยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพดี อารมณ์ดี ควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับสมองส่วนที่เรียกว่า อะมิกดาลา (amygdala) เป็นสมองที่ก่อให้เกิดอารมณ์ต่างๆ (หากคนเราไม่มีสมองส่วนนี้ จะกลายเป็นคนที่ไม่รู้จักอารมณ์คนอื่น ไม่รู้จักกลัว ไม่รู้จักโกรธ เกลียด ไม่ร้องไห้) การเลี้ยงดูลูกด้วยการให้ความรัก ความอบอุ่น ยอมรับและรับรู้ความรู้สึกของลูก สอนให้ลูกมีทักษะในการเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย
สารเคมีและแอลกอฮอล์ส่งผลให้ผู้ดื่มรู้สึกผ่อนคลาย ครึ้มอกครึ้มใจ สนุกสนานรื่นเริงได้จริง ทว่าในระยะยาวเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เพียงแต่บั่นทอนสุขภาพร่างกายให้เสื่อมโทรมลงเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสติปัญญาและสุขภาพจิตของผู้ดื่มและก่อให้เกิดปัญหาด้านบุคลิกภาพและสังคมระยะยาวด้วย
ไอคิวลดเพราะแอลกอฮอล์
มีงานวิจัยในประเทศไทยที่ระบุว่า การดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้ผู้ดื่มมีระดับเชาวน์ปัญญาลดลง โดยพบว่ากลุ่มผู้เริ่มดื่มในช่วงอายุ ๒๐-๒๙ ปีซึ่งเป็นกลุ่มคนวัยเรียนจนถึงเริ่มต้นทำงานและเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว เกิดเชาวน์ปัญญา เสื่อมมากกว่ากลุ่มที่เริ่มดื่มในกลุ่มอายุอื่นๆ
ก่อให้เกิดโรคจิต
จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกพบว่า ๑ ใน ๓ ของผู้ป่วยทางจิตของแต่ละประเทศมีสาเหตุมาจากแอลกอฮอล์ คนติดแอลกอฮอล์จึงมักมีจิตใจและอารมณ์อ่อนไหว ความอดทนต่อภาวะเครียดหรือกดดันลดน้อยลง ขาดสมาธิ นำไปสู่บุคลิกภาพเสื่อม-โทรมในที่สุด
โรคจิตจากการดื่มมีด้วยกันหลายอาการ และมักรักษาให้หายขาดได้ยาก ได้แก่ โรคประสาทหลอน โรคหวาดระแวง โรคความจำเสื่อม โรคซึมเศร้า โรคหวาดกลัวผิดปกติ เป็นต้น ทั้งนี้ เกิดจากการดื่มสามารถเกิดขึ้นได้กับนักดื่มทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชาย
ผลักดันให้ก่อความรุนแรง
เนื่องจากแอลกอฮอล์สามารถละลายไขมันได้ดี จึงสามารถผ่านทำนบที่กั้นระหว่างกระแสเลือดกับเซลล์สมอง (blood-brain-barrier) ได้เป็นอย่างดี ผลที่เกิดขึ้นในทันทีก็คือ กดการทำงานของสมอง โดยเฉพาะส่วนที่พัฒนามามาก นั้นคือ สมองส่วนที่ควบคุมความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทำให้สมองส่วนอื่นๆ เพิ่มอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรม ส่งผลให้ผู้ดื่มขาดความยับยั้งชั่งใจดังเช่นที่มีภาวะปกติ จนทำให้สามารถก่อความเดือดร้อนและอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นโดยง่าย
การเติบโตในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความรุนแรงเพราะคนในครอบครัวดื่มแอลกอ-ฮอล์ จะทำให้เด็กในครอบครัวนั้นสะสมความรุนแรงในบุคลิกภาพ มีโอกาสเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพและพฤติกรรมการดื่มเหมือนพ่อแม่
 
               

ผู้ที่ดื่มเป็นประจำทุกวันในปริมาณ ๒๐.๐-๓๙.๙ กรัมของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หรือเทียบได้กับเบียร์ ๑-๒ ขวดต่อวันจะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่ไม่ดื่มในเรื่องต่างๆ ดังนี้
แท้ง ผู้ดื่มเสี่ยงมากกว่าผู้ไม่ดื่ม ๑.๗๖ เท่า
มารดาคลอดทารกน้ำหนักต่ำ เสี่ยง ๑.๔๐ เท่า
มะเร็งปากและช่องปาก เสี่ยง ๑.๘๕ เท่า
มะเร็งหลอดอาหาร เสี่ยง ๒.๓๘ เท่า
มะเร็งตับ เสี่ยง ๓.๐๓ เท่า
มะเร็งเต้านม (อายุน้อยกว่า ๔๕) เสี่ยง ๑.๔๑ เท่า
(อายุมากกว่า ๔๕) เสี่ยง ๑.๓๘ เท่า
มะเร็งอื่นๆ เสี่ยง ๑.๓๐ เท่า
ความดันเลือดสูง เสี่ยง ๒.๐๐ เท่า
ตับแข็ง เสี่ยง ๙.๕๐ เท่า
หัวใจเต้นผิดปกติ เสี่ยง ๒.๒๓ เท่า

แอลกอฮอล์ก่ออุบัติเหตุ
- การดื่มแอลกอฮอล์และความ เมาสัมพันธ์กับอุบัติเหตุจราจรดังนี้
ระดับแอลกอฮอล์ ๒๐-๔๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ (ประมาณไม่เกิน ๑ ชั่วโมง หลังจากการดื่มเบียร์ ๑ ขวด) จะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ๓-๕ เท่า
เสี่ยงต่อการเสียชีวิตเป็น ๖-๗ เท่าที่ระดับ ๕๐-๗๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
เสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น ๒๙-๒๔๐ เท่าที่ระดับ ๑๐๐-๑๔๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
และสูงกว่า ๓๐๐ เท่าที่ระดับเกิน ๑๕๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ดื่ม
- ผู้ที่ "เมาแล้วขับ" ก่อให้ เกิดอุบัติเหตุทางจราจรเป็นจำนวนมาก สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ที่น่าเป็นห่วงคือคนที่ดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมากที่คิดว่าตัวเองยังขับขี่รถได้แม้ว่าได้ดื่มก่อน จากการรายงานการเฝ้าระวังการบาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุขนส่งในช่วงวันหยุดปีใหม่ พ.ศ.๒๕๔๗ ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าร้อยละ ๗๒.๗ ของผู้บาดเจ็บรุนแรงจากพาหนะทุกประเภท ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเกิดเหตุ และที่น่าเศร้า คือ ในปี ๒๕๔๗ มีผู้บาดเจ็บรุนแรงที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเกิดเหตุถึงร้อยละ ๔๔.๒ สูงกว่า ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งมีร้อยละ ๑๙.๒

เหยื่อเมาแล้วขับใครรับผิดชอบ
อุบัติเหตุจราจร คงมิใช่โรคของเวรและกรรมหรือเป็นความดวงดี ดวงตก แต่อย่างใด แต่มาจากพฤติกรรมในการใช้รถใช้ถนนของคนขับรถ เช่น เมาแล้วขับ ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ ทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน ต้องสูญเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ เราเรียกเขาเหล่านั้นว่า "เหยื่อ"
ก่อนที่คุณจะสตาร์ตรถในขณะที่คุณเมาอยู่คุณลองหันมาดูชีวิตของเหยื่อ ผู้พิการจากการเมาแล้วขับกันบ้างว่าเขาใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างไร

มิ่งขวัญ สมยานุสรน์ อายุ ๓๔ ปี

"วันนั้นไปงานเลี้ยงวันเกิดหัวหน้าก็มีการดื่มเหล้ากินเบียร์ เหมือนงานเลี้ยงทั่วๆ ไป ตอนกลับบ้านหัวหน้าก็มาส่ง เราก็รู้ว่าหัวหน้าเมาเหล้าเพราะดื่มไปมาก ระหว่างทางที่หัวหน้าขับมาก็รู้สึกว่าขับเร็ว กลัวนะแต่ก็ชินแล้ว
สักพักหนึ่งรถก็ไปชนขอบกลางถนน ล็อกเบาะข้างคนขับ รถหมุน ตัวก็ไปฟาดกับประตู เบาะคนขับก็มาทับตัวอีกที หันไปเห็นคนขับนอนหลับ กรนเป็นปกติดี ตอนนั้นขยับตัวไม่ได้แต่รู้สึกว่ามีรถร่วมกตัญญูมารับเอาไปที่โรงพยาบาลบางนา
รู้สึกปวดขา ก่อนการผ่าตัดหมอใช้ที่ดึงหัวไหล่ ๖ ชั่วโมง เพื่อให้กระดูกเข้าที่ แล้วต้องอยู่ไอซียู ๙ วัน กระดูก C2 หัก คือ ตั้งแต่หัวไหล่ ลำตัวลงไปจนถึงเท้าไม่รู้สึก เวลาขับถ่ายต้องสวน ไม่คิดว่าจะต้องลำบากขนาดนี้ พี่สาวต้องช่วยเหลือค่าใช้จ่าย
ตอนแรกไม่โกรธคู่กรณีตอนหลังโกรธเพราะค่าดูแล ค่ารักษาที่ศิริราช คู่กรณีไม่ดูแลเท่าไหร่ ในแต่ละเดือนค่าใช้จ่ายจะตกประมาณ ๒๐,๐๐๐ กว่าบาท ตอนนี้เรียนคอมพิวเตอร์อยู่มูลนิธิส่งเสริมคนพิการที่นนทบุรี ได้มางานสัมมนา "เหยื่อเมาไม่ขับใครรับผิดชอบ" แล้วทำให้ได้รู้ข้อกฎหมายในเรื่องสิทธิที่ควรจะได้เกี่ยวกับคนพิการ เช่น เบี้ยรายเดือน ประกันสังคมซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก
อยากบอกคนที่เมาแล้วขับว่าให้นึกถึงคนที่นั่งรถมากับคุณนึกถึงคนที่ใช้ถนนร่วมกับคุณด้วย"Ž

อนุสรณ์ พิพัฒนสุขสมัย อายุ ๒๔ ปี

"เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๖ ตอนนั้นอายุ ๒๓ ปี เป็นวันเปิดเรียนวันแรก ตอนเลิกเรียนเสร็จก็ไปห้องเพื่อนจะไปคุยเรื่องการรับน้องและซื้อเหล้ามาสังสรรค์กันนิดหน่อย
พอกินกันเสร็จก็จะไปต่อกันข้างนอก ไปกันทั้งหมด ๔ คน เพื่อนเป็นคนขับผมเป็นคนซ้อน มีรถขับปาดหน้า ก็เลยชน เพื่อนเสียชีวิตคาที่ ส่วนผมสลบไป ๒๐ กว่าวันพอฟื้นขึ้นมาก็รู้ว่าตัวเองขาขาด แขนซ้ายเป็นอัมพาตเพราะเส้นประสาทการควบคุมและสั่งงานของแขนซ้ายขาด สะโพกร้าว สมองบวม ถ้าอากาศร้อนผมจะเบลอแล้วหูอื้อ ใครมาคุยด้วยในตอนนั้นก็จะไม่รู้เรื่อง

ตอนแรกก็คิดฆ่าตัวตายเหมือนกันนะ ตอนหลังก็เลิกคิดเพราะเห็นคนที่แย่กว่าเราเขายังอยู่ได้เลย แล้วเราเป็นแค่นี้ เราก็ต้องอยู่ได้ พยายามไม่อยู่คนเดียวถ้าอยู่คนเดียวจะคิดสั้น ตอนนี้ผมเรียนอยู่ที่มูลนิธิส่งเสริมคนพิการ ฝึกอาชีพทางด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก ชีวิตปัจจุบันก็ร่าเริงดี เวลาเพื่อนชวนออกไปข้างนอกก็ไปนะถ้าเขารับผิดชอบเรื่องยกรถวิลแชร์ให้เราได้ ไปกับเราแล้วไม่อาย กับสายตาคนข้างนอกที่มองเราแรกๆ ก็กลัวเหมือนกันไปๆ มาๆ หน้าด้าน ไม่อายแล้ว
อยากฝากบอกคนที่เมาแล้วขับว่า อย่าคิดว่าตัวเองเก่ง อย่าคิดว่ากล้า อย่าแน่ใจให้มาก จอดดีกว่า รถสาธารณะมีครับ"Ž

ด.ช.อภิศักดิ์ ขาวบู อายุ ๓ ขวบ
"คุณตาของน้องอภิศักดิ์ เล่าว่าประสบเหตุตอนน้องเขาอายุ ๒ ขวบกว่า คือพ่อของเด็กจะไปหายาย พอมาถึงครึ่งทางรถติดไฟแดง จอดรถข้างทาง พอดีรถบัสมาข้างหลังแม่เขาเห็นรถวิ่งมาจะชนก็เลยโยนลูกออกมา พ่อตายคาที่ หัวเละ แม่ตายที่โรงพยาบาล ส่วนน้องอภิศักดิ์ต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ๑ เดือน แล้วกลับมารักษาตัวที่บ้าน ทำกายภาพทุก ๑๕ วัน ไส้แตก ตั้งแต่ช่วงขาลงไปใช้การไม่ได้ บางครั้งก็บ่นว่าเจ็บท้อง เวลาขับถ่ายจะไม่รู้สึกตัว แต่เลี้ยงง่ายไม่งอแง พอลืมตาเห็นหน้าคุณตาก็หลับต่อได้ มาทราบข่าวทีหลังว่าคนขับรถบัสเมา ชนแล้วหนีไป เจ้าของรถบัสให้ตามตัวมาพิสูจน์ตำรวจก็ตามจับ ทางเจ้าของรถบัสเลยออกค่าทำศพให้"Ž

นัฐพล ไชยเจริญ อายุ ๓๐ ปี

"ประมาณช่วงสงกรานต์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ ทางบ้านจัดงานสังสรรค์กัน วันนั้นเลยกินเหล้าหนักไปหน่อย แล้วผมก็ขับรถไปหาเพื่อน ยังไม่ถึงครึ่งทางก็เกิดอุบัติเหตุ ผมไม่รู้สึกตัวเลย เขาต้องส่งผมไปที่โรงพยาบาลศูนย์นครปฐม ผลออกมาคือกระดูกไขสันหลังแตกไปบาดเส้นประสาทขาด นอนอยู่โรงพยาบาล ๑ เดือน
หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้วผมไม่รู้วิธีการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง คือครั้งแรกผมใช้สายยูสวนท่อปัสสาวะ พอ ๓-๔ ปีก็ติดเชื้อภายใน หมอบอกว่าไม่ดีให้ผมถอด พอเอาสายฉี่ออกก็ใช้ กระป๋องนมรองฉี่แทน พอผมนอนตะแคงผมก็เป็นแผล นอนตะแคงซ้ายก็เป็นแผลข้างซ้ายนอนทับตรงไหนก็เป็นแผลหมดต้องไปหาหมอ ผมอยากฝากให้ช่วยสอนพวกคนพิการให้เขาดูแล ตัวเองว่าทำอย่างไรไม่ให้เป็นแผลกดทับเพราะถ้าเป็นแล้วหายยาก
อยากหางานทำ ตอนนี้กำลังติดต่อเรื่องลอตเตอรี่อยู่ จริงๆ ไม่อยากขาย อยากหางานประดิษฐ์ทำมากกว่า เคยเรียนที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรนะ ปรากฏว่าไม่มีห้องน้ำสำหรับคนพิการที่นั่งวิล-แชร์ ผมต้องปั่นวิลแชร์ไปเข้าห้องน้ำที่หอซึ่งไกลออกไป ๓ กิโลเมตร อยู่ได้เกือบเดือนแผลมันเริ่มเน่ากลิ่นเริ่มออกผมถูกส่งกลับบ้าน หลังจากนั้นผมต้องตัดขาเพราะแผลเน่าจากการกดทับ

เมื่อ ๔ ปีที่แล้วผมปิดตัวเอง แม้แต่หน้าบ้านยังไม่กล้ามานั่ง เคยคิดสั้นเหมือนกัน เอาคัตเตอร์เข้ามาในห้องแล้ว แต่กลัวถ้าไม่ตายจะทรมานกว่าเดิมก็เลยล้มเลิกความคิด แต่ตอนนี้มีวิลแชร์ก็ออกไปหาเพื่อนบ้าง ไปคุยแก้เครียด ชีวิตประจำวันช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่าง กวาดบ้าน ถูบ้าน ทำกับข้าว
อยากเอาสติกเกอร์ไปฝากเพื่อน เอาไปติดให้หมดเลย เพราะคนแถวบ้านเพื่อนก็ยังดื่มเราไม่อยากเตือน เพราะอยู่ที่จิตสำนึก ผมยอมรับว่าเป็นนักดื่มมาก่อน ไปเตือนเขาคงจะไม่เชื่อ เรื่องนี้เขาไม่เป็นกับตัวเองเขาไม่รู้หรอก"Ž

ภัทรพันธ์ กฤษณา ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ

"ผมเป็นคนพิการคนหนึ่ง ที่ไม่เคยคิดถึงสาเหตุที่แท้จริงของความพิการ คิดเพียงว่าโชคร้าย ใช้ชีวิตบนความพิการมาเกือบ ๑๕ ปี ทำงานด้านช่วยเหลือคนพิการมาทุกรูปแบบแต่ไม่เคยคิดถึงการป้องกันการเกิดคนพิการเลย จนกระทั่งผมพบคุณหมอแท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ได้นั่งลำดับเหตุการณ์ถึงวันเกิดอุบัติเหตุของผม เราไม่ได้ประมาท ไม่ได้ขับรถเร็ว แต่วันนั้นเป็นวันที่มีคนคนหนึ่ง ที่ไม่รับผิดชอบต่อคนอื่นที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกับเขา เขาเมาและคึกคะนอง และมั่นใจว่าตัวเองขับรถคันใหญ่ จึงขับรถออกมาตัดหน้ารถของผม ทำให้ผมหักรถหลบเสียหลักพุ่งชนกองหินข้างทาง ศีรษะกระแทกกับหลังคารถ ทำให้ผมพิการอัมพาตครึ่งท่อนล่าง ระดับสูง ขยับได้เพียงแต่คอและแขนไม่สามารถใช้มือได้ ไม่สามารถขับถ่ายเองได้ ไม่สามารถทำอะไรได้ ถ้าไม่มี พี่เลี้ยงคอยช่วยหยิบจับอะไรให้ เพียงเพราะผมมีคนเมาแล้วขับ มาใช้รถใช้ถนนร่วมกับผม ผมจึงเป็นผลกระทบของสังคมนี้ และเป็นเหยื่อจากน้ำเมา"Ž

ได้ฟังความลำบากของเหยื่อแต่ละคนแล้วก็อยากให้คุณผู้อ่านทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการรับผิดชอบต่อสังคมไม่ทำให้คนที่ใช้รถใช้ถนนกับคุณต้องมาเดือดร้อนเพียงเพราะคุณเมาแล้วขับ
แอลกอฮอล์ทำร้ายครอบครัว
ครอบครัวที่มีสมาชิกดื่มแอลกอฮอล์แม้เพียงหนึ่งคน ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจมากหรือน้อยตามความรุนแรงของปัญหา แต่หน่วยที่ต้องแบกรับความ เสียหาย คือครอบครัว
จากการวิจัยเรื่องผลกระทบของสุราในฐานะเป็นปัจจัยร่วมการเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ของมูลนิธิเพื่อนหญิง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖ พบว่าการดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในครอบครัวเพิ่มขึ้น ทำให้ขาดสติในการควบคุมอารมณ์ รวมทั้งก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทในครอบครัว
- โดยการวิจัยพบว่า ปัญหาที่เกิดในครอบครัว จากสามีที่ดื่ม "ประจำ" แล้วทำร้ายร่างกายภรรยา เกิดขึ้นร้อยละ ๕.๗ และภรรยาที่ดื่ม "ประจำ" แล้วทำร้ายร่างกายสามี เกิดขึ้นร้อยละ ๖.๒ ของผู้ที่ดื่มประจำ
- ครอบครัวที่สมาชิกหรือผู้นำครอบครัวดื่มแอลกอฮอล์จะมีแนวโน้มการเกิดความรุนแรงในครอบครัวและบุคคลอื่น เด็กในครอบครัวที่มีการดื่ม มีแนวโน้มเกิดโรคซึมเศร้าสูงกว่าในครอบครัวทั่วไป และมีเด็กไทยประมาณ ๑ ใน ๔ เห็นการดื่มแอลกอฮอล์จนเมาของสมาชิกในครอบครัว
- ผลการวิจัยยังพบว่า ค่าใช้จ่ายในการดื่มแอลกอฮอล์ในครอบครัวมีสูงถึง ๑๐๐-๓๐๐ บาท ซึ่งเมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ดื่มขั้นต่ำประมาณ ๑๓ ล้านคนและในอัตราความถี่การดื่มประมาณสัปดาห์ละครั้ง คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการดื่มแอลกอฮอล์ถึง ๔.๖๘ หมื่นล้านบาท โดยที่เงินจำนวนนี้สามารถนำไปสร้างโรงเรียนได้ประมาณ ๗,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ แห่ง
ปัญหาการหย่าร้างและเปลี่ยนงานในผู้ติดแอลกอฮอล์มีแนวโน้มสูงเกินครึ่งหนึ่งของกลุ่มที่ติดแอลกอฮอล์

ผู้หญิงถูกทำร้ายในครอบครัว
ผลกระทบที่เกิดจากคนในครอบครัวติดแอลกอฮอล์ ทำร้ายและทำลายร่างกาย จิตใจคนใกล้ชิด ที่นำเสนอเป็นเพียงส่วนน้อยนิดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น

สมร/ลำพูน
"ถูกใช้ความรุนแรงเป็นประจำ แต่ไม่มีใครกล้าเข้ามาช่วยเหลือ ทำให้รู้สึกโกรธและเสียใจมาก จนไม่ยอมพูดกับสามีถึง ๒๙ วัน แต่ก็ต้องพูดคุยกัน เพราะลูกๆ ขอร้องให้ดีกัน ซึ่งทุกวันนี้ไม่ได้รู้สึกรักสามีอีกแล้ว แต่ต้องอยู่ด้วยกันเพื่อลูกเท่านั้น
เจ็บตามร่างกาย เนื่องจากถูกทุบตี บีบคอ ชกตา จนทำให้ตาบวมเขียว ซึ่งจะมีอาการปวดตามเนื้อตัวอยู่ประมาณ ๑ สัปดาห์ ทุกครั้งที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำร้ายของสามี ตนเองไม่เคยไปพบแพทย์ เพราะอาย
เสียสุขภาพกายและใจ เวลามีปัญหาก็ไม่สามารถพูดจา หรือขอคำปรึกษาจากสามีได้ จึงทำให้รู้สึกเก็บกด กดดันกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้อารมณ์เสียง่าย
ทำงานออกมาได้ไม่ดี สูญเสียสมาธิในการทำงาน นอกจากนี้ การที่สามีเอาเงินไปกินเหล้าหมด ทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น แทนที่สามีจะเอาเงินที่ไปซื้อเหล้ามาช่วยเหลือครอบครัว แต่สามีกลับเอาเงินไปซื้อเหล้าเสียหมด
ลูกเห็นพ่อแม่ทะเลาะกันตลอด จนหลังๆ ลูกๆ เริ่มเข้าใจ ไม่ถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็ทำให้สัมพันธภาพระหว่างแม่กับลูกไม่ดี ลูกๆ ไม่กล้าเข้าหาทั้งพ่อและแม่ แต่จะติดเพื่อนมาก"Ž

ผาสุก/อำนาจเจริญ
"สามีชอบหาเรื่องทะเลาะวิวาทเมื่อกลับมาบ้าน หนักเข้าก็มีการทำร้ายร่างกาย ทุบตี รุนแรงมากสุดถึงขั้นสลบ ทุกครั้งที่เกิดเหตุ พ่อแม่ ญาติพี่น้องจะมาช่วยดูแล ไม่เคยพาส่งโรงพยาบาล พอเหตุการณ์สงบลง ญาติผู้ใหญ่จะมาพูดคุยแก้ไขปัญหา ให้เลิกพฤติกรรม แต่ไม่เคยได้ผล ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม สามียังกินเหล้า และกินมากขึ้น จึงตัดสินใจจะเลิก แต่สามีไม่ยอม
บอบช้ำตามร่างกาย เจ็บปวดตามเนื้อตัว เนื่องจากถูกทุบตี บางครั้งรุนแรงจนทำให้ไม่รู้สึกตัว หน้าตาปูดบวม ฟกช้ำดำเขียว เจ็บท้อง เลือดไหลกระจาย หรือบางครั้งเลือดคั่ง อาการสาหัสแต่ก็ไม่เคยไปโรงพยาบาล เพราะอายคนอื่น อายหมอด้วย ส่วนใหญ่รักษาเองตามวิธีชาวบ้าน
สุขภาพจิตใจไม่ดี ไม่แจ่มใส หงุดหงิดง่าย โมโหเร็ว ทำให้มีทัศนะคติไม่ดีกับเหล้า เกลียดทุกคนที่กิน ไม่อยากคบหาสมาคมด้วย มีความคิดไม่อยากอยู่เป็นครอบครัว อยากเลิกกับสามีตลอดเวลา เก็บกดและกดดัน
ทำงานได้ไม่เต็มที่ รู้สึกเหนื่อยและท้อ การทำงานต้องหยุดชะงักช่วงถูกทำร้าย เพราะต้องหยุดรักษาตัว ทำให้เงินขาดมือ ไม่พอใช้จ่าย เพราะสามีดื่มเหล้าทุกวัน สามีมีเงินติดตัวไม่ได้ มีเท่าไรจะซื้อเหล้ากินหมด ทำให้ต้องดิ้นรน กู้หนี้ยืมสินคนอื่นมาใช้จ่ายบ้าง
มีผลกระทบต่อลูกๆ โดยเฉพาะลูกสาวคนโต ที่ขาดความรัก ความอบอุ่น มีความรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รัก พ่อไม่สนใจ กินแต่เหล้า เมามาก็ทะเลาะ ตบตีแม่ ส่วนแม่ก็เอาน้องไปอยู่ด้วย ทอดทิ้งให้เขาอยู่กับตายายเพียงลำพัง ทำให้เขาเหงา ติดเพื่อน ชอบเที่ยว ไม่อยากเรียนหนังสือ ปัจจุบันออกจากโรงเรียนแล้ว"Ž

อมรา/สงขลา
"ดูเหมือนไม่น่าจะตีกันนะ แต่เขาก็ทั้งตบทั้งตี พี่ก็อารมณ์ร้อนเหมือนกัน พี่ก็เถียงเขาไป แต่เขาก็ตอกกลับมาว่า ถ้าเธอดีจริง สามีเก่าคงไม่ทิ้งไป ประโยคนี้ทำให้พี่รู้สึกเจ็บใจมากเลย กำลังรีดผ้าอยู่ ทนไม่ได้ ก็ขว้างเตารีดใส่เขา เขาก็วิ่งหนี นั่นเป็นครั้งหนึ่งที่พี่เริ่มโต้ตอบเขากลับไป แต่จุดเริ่มต้นส่วนใหญ่คือเวลาเขาเมา แล้วจะพูดไม่ดีใส่พี่ พี่จะเงียบ ทนฟัง มารุ่งเช้าก็ถามเขาว่าที่เขาพูดอย่างนั้นหมายความว่าอย่างไร จากนั้นก็เริ่มมีปากเสียงและก็ทุบตีกันเรื่อยมา เกิดขึ้นอย่างนี้ทุกวันหรือเกือบทุกวัน
ตามเนื้อตัวเป็นรอยเขียวคล้ำ เป็นจ้ำๆ มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดหัว ล่าสุดที่ทะเลากัน มีการตีกันบริเวณศีรษะ
ส่งผลกระทบถึงการทำงาน ทำงานออกมาได้ไม่ดี เวลาทะเลาะกันแต่ละครั้ง ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ ต้องนอนพักเป็นวันๆ ทำให้ขาดงานบ่อยครั้ง
ลูกเห็นพ่อแม่ทะเลาะกันมาตลอด และมักตั้งคำถามอยู่เสมอว่า ทำไมพ่อกับแม่ต้องทะเลาะกัน จนหลังๆ ลูกเริ่มเข้าใจ และเลิกถามกันไปเอง"Ž

ดวงพร/กรุงเทพ ฯ
"หลังๆ เริ่มมีการใช้ความรุนแรง ใช้กำลังโดยไม่มีเหตุผล ถึงขั้นออกปากไล่ออกจากบ้าน บังคับกดดันต่างๆ ให้หย่า เพื่อจะพาผู้หญิงคนใหม่เข้ามาอยู่ในบ้าน สามีข่มขู่ว่า จะเอาชีวิตถ้าคุยกันไม่รู้เรื่อง ไม่ยอมหย่าให้ ทนความกดดัน และถูกทำร้ายจิตใจไม่ไหว จึงหนีออกมาพร้อมลูก
เกิดบาดแผลชอกช้ำตามเนื้อตัวร่างกาย ปวดหัวตัวร้อนเป็นไข้ขึ้นมาเฉยๆ ในขณะที่มีปากเสียงทะเลาะวิวาทกัน และทำให้เป็นโรคภูมิแพ้ เนื่องจากคลุกคลีกับสุนัขตลอดเวลา ประกอบกับเป็นคนสุขภาพไม่ค่อยดีอยู่แล้ว มีเรื่องอะไรจะมีผลต่อสุขภาพทันที ทำให้ความสามารถในการทำงานน้อยลง
ไม่มีสมาธิ คิดมาก เก็บกด มีอาการซึมเศร้า ไม่อยากมีชีวิตอยู่ เพราะอึดอัดใจไม่สามารถพูดคุยปรึกษากับใครได้ แม้แต่พ่อแม่ทางบ้าน ไม่เคยคิดฆ่าตัวตายเลย เพราะเป็นห่วงลูกที่ขอมาเลี้ยง และมีญาติพี่น้องคอยช่วยเหลืออยู่บ้าง
เมื่อแยกทางกับสามี ก็ไม่มีรายได้ ไม่ได้ประกอบอาชีพ ทำให้เดือดร้อนในเรื่องการเงินมาก แต่ละเดือนค่านม ค่าอาหารของตนและลูก น้องสาวเป็นคนช่วยเหลือ
มีผลกระทบต่อพัฒนาการการเจริญเติบโตของลูก ลูกมีปัญหาพูดช้ากว่าปกติ เพราะถูกถ่ายทอดความรู้สึกที่แม่ถูกกระทำ"Ž

แอลกอฮอล์กับโฆษณา
กระตุ้นการบริโภคด้วยโฆษณา
- งบประมาณการโฆษณาแยก ตามประเภทของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าเบียร์มีการใช้งบประมาณสูงที่สุด รองลงมาคือวิสกี้ และบรั่นดี
- ในประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์ผสมน้ำผลไม้เข้าสู่ตลาดในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา โดยมีการโฆษณา ทางตรงและทางอ้อมที่เจาะกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะเพศหญิง น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของการดื่มเพิ่มขึ้น ๕.๖ เท่าตัวใน ๗ ปี (พ.ศ.๒๕๓๙-๒๕๔๖)ของกลุ่มหญิงวัย ๑๕-๑๙ ปี
- มีผลวิจัยในประเทศไทยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่า "โฆษณา" เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ชักนำเยาวชนให้ดื่มแอลกอฮอล์ และชี้ว่าสื่อที่มีอิทธิพลอย่างสูงในการสร้างให้เยาวชนดื่มแอล-กอฮอล์ได้แก่โทรทัศน์และภาพยนตร์
- การวิจัยของคณะสาธารสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (๒๕๔๑) พบว่า การโฆษณาเป็น ๑ ใน ๕ ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนวัย ๑๕-๒๔ ปี ในกรุงเทพฯ นอกเหนือจากเพื่อนชวน คล้อยตามบรรยากาศในสถานศึกษา ครอบครัวแตกแยก และดื่มตามสมาชิกในครอบครัว และยังมีงานวิจัยชิ้นอื่นในปีเดียวกัน ที่ยืนยันผลในลักษณะเดียวกัน (ประสิทธิ์ โพธิอาสน์, ๒๕๔๑) และชี้ว่าสื่อที่มีอิทธิพลอย่างสูงในการสร้างอิทธิพลให้เยาวชนดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ โทรทัศน์และภาพยนตร์
ขอขอบคุณที่เอื้อเฟื้อข้อมูล
๑. เครือข่ายองค์กรงดเหล้า
๒. มูลนิธิเพื่อนหญิง
๓. มูลนิธิเมาไม่ขับ
๔. มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

กฎหมายควบคุมจำหน่ายสุรา
รวบรวมโดย ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์

กฎหมายควบคุมการจำหน่ายสุราของไทย
ประเทศไทยได้มีกฎหมายควบคุมจำหน่ายสุรามาช้านาน แต่มิได้ดำเนินการบังคับใช้อย่างแพร่หลาย ประกอบกับกฎหมายใช้มานานแล้ว โทษที่กำหนดก็ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป จึงทำให้กฎหมายดังกล่าว เป็นกฎหมายที่เกือบจะไม่มีการใช้บังคับเลยในปัจจุบัน
มาตรการการควบคุม มีดังนี้
๑. ข้อจำกัดการจำหน่าย
ใน พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๒๖ (๑๐) ห้ามมิให้ผู้ใด จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุรา หรือบุหรี่ แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์ (เด็ก ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี บริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส)
นอกจากนั้น พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังห้ามเด็ก ซื้อหรือเสพสุรา หรือบุหรี่ หรือเข้าไปในสถานที่เฉพาะเพื่อการจำหน่ายหรือเสพสุราหรือบุหรี่ หากฝ่าฝืนให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบถามเด็ก เพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก และมีหนังสือเรียกผู้ปกครองมาร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือ ว่ากล่าวตักเตือน ให้ทำทัณฑ์บน หรือมีข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับวิธีการและระยะเวลาในการจัดให้เด็กทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณประโยชน์ และอาจวางข้อกำหนดให้ผู้ปกครองต้องปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อ ตามมาตรา ๔๔ วรรคสองหรือวางข้อกำหนดอื่นใด เพื่อแก้ไข หรือป้องกันมิให้เด็กกระทำความผิดขึ้นอีกก็ได้ (มาตรา ๔๕)
๒. ข้อจำกัดในการโฆษณา
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมการจำหน่ายสุรา กรมประชาสัมพันธ์ ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การโฆษณา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ไว้โดยห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่า ๐.๕ ของน้ำหนัก หรือ ๐.๔๖ ดีกรีทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐-๒๒.๐๐ น. และระยะเวลา ๒๒.๐๐-๐๕.๐๐ น. ให้โฆษณาได้ โดยให้ทำในลักษณะการเสนอภาพลักษณ์ของบริษัทหรือกิจการ (Corporate image) เท่านั้น ต้องไม่มีลักษณะเชิญชวนให้บริโภคหรืออวดอ้างสรรพคุณของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น และประกาศนี้เป็นมาตรการขั้นแรกคล้ายเป็นมาตรการทดลอง จึงมีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๖ ถึง ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๗ หลังจากนั้นจะทบทวนความเหมาะสมอีก
ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ไว้โดยมีรายละเอียด ดังนี้
(๑) การโฆษณาในลักษณะการเสนอภาพลักษณะของบริษัทหรือกิจการหมายความว่า การโฆษณาให้ลักษณะการ ส่งเสริมสังคม ศีลธรรม หรือวัฒนธรรม อันดี โดยไม่รวมถึงการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ทั้งนี้ อาจแสดงชื่อหรือสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์หรือภาพของผลิตภัณฑ์ ในช่องท้ายของการโฆษณาได้
(๒) ลักษณะของการโฆษณาที่เข้าข่ายชวนเชิญให้ดื่ม หรืออวดอ้างสรรพคุณทั้งทางตรงและทางอ้อม คือทำให้เกิดทัศนคติว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ประสบความสำเร็จทางสังคมทางเพศ หรือทำให้สมรรถนะทางร่างกายดีขึ้นโดย
- ใช้นักกีฬา ผู้ใช้แรงงาน เป็นผู้แสดงโฆษณา
- สถานภาพการเป็นดารา นักร้อง นักแสดง เป็นผู้แสดงโฆษณา
- ภาพการ์ตูนโฆษณา
- ชักจูงให้ซื้อหรือบริโภคเพื่อนำรายได้ไปบริจาคเป็นการกุศล
(๓) ให้เพิ่มเสียงคำเตือนในเสียงโฆษณา ฟังได้ชัดเจนทุกพยางค์ อย่างน้อย ๓ วินาที ทั้งในวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
(๔) เพิ่มคำเตือนเป็นอักษรลอย เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๕ วินาที เป็นตัวอักษรสีขาว ขนาดความสูงของตัวอักษรไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๒๕ ส่วน ของขนาดความสูงของจอภาพ ภายในพื้นที่สีเข้มตัดกับพื้นโฆษณา ที่พื้นที่กรอบ ๑ ใน ๑๐ ส่วน ของความสูงจอภาพ ในสื่อวิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพและภาพยนตร์
(๕) เพิ่มคำเตือนในพื้นที่โฆษณาของสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อกลางแจ้ง ขนาดพื้นที่คำเตือน ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ของพื้นที่โฆษณา ขนาดอักษรไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของพื้นที่คำเตือน และสื่อกลางแจ้งต้องไม่อยู่ภายในรัศมี ๕๐๐ เมตร จากสถานศึกษา
(๖) ข้อความคำเตือน สามารถเลือกได้ อย่างน้อย ๑ ข้อความคือ "การดื่มสุราแล้วขับขี่ จะเป็นอันตรายและผิดกฎหมาย" "การจำหน่ายสุราแก่บุคคลอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ผิดกฎหมาย" "การดื่มสุราเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และบั่นทอนสติสัมปชัญญะ"Ž
(๗) การโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทางสื่อวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และสื่อกลางแจ้ง ต้องไม่โฆษณาในลักษณะการแถมพก หรือให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค หรือมีการให้ของแถม

กฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์มีออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่การใช้บังคับให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์นั้น คงจะต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย

 

ข้อมูลสื่อ

308-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 308
ธันวาคม 2547
พญ.เพ็ญพรรณ วัฒนไกร
กองบรรณาธิการ