• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไอคิว ๑ ตอน...ไอคิวอะไรหนอ

ไอคิว ๑ ตอน...ไอคิวอะไรหนอ


"คุณป้าขา คุณป้าขา หนูไม่ยอม คุณหมออะไรไม่รู้ว่าพวกหนูไอคิวต่ำ มันแปลว่าอะไรหรือคะ คุณป้าขา ช่วยเฉลยให้หนูฟังหน่อย"

"เดี๋ยวสิลูก ใจเย็นๆ ความจริงป้าก็รู้จักอาจารย์หมอที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กนะคะ คุณหมอนิชรา เรืองดารกานนท์ ท่านทำงาน อยู่ที่หน่วยพัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นสาวไฟแรงเชียวล่ะ ท่านมีส่วนร่วมในการสำรวจระดับไอคิวเด็กไทยในระดับประเทศมาหลายครั้ง ป้าก็เลยขอให้คุณหมอช่วยไขข้อข้องใจให้กับลูกๆ  และโอกาสต่อๆ ไป ก็จะชวนท่านอื่น ซึ่งสนใจเรื่องนี้ มาพูดคุยเพิ่มเติมอย่างสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ ต่อเด็กๆ ของเราซึ่งคืออนาคตของชาติต่อไป เท่าที่ป้าฟังจากคุณหมออธิบายก็เข้าใจได้ไม่ยากจ้ะ  ป้าจะเล่าให้ฟังนะจ้ะ"

ไอคิวคืออะไร

ที่จริงไอคิวก็เป็นเพียงค่าตัวเลขที่ได้จากการทดสอบโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาทั่วโลกใช้เป็นตัวสะท้อนถึงความฉลาดของคน การวัดไอคิว (หรือที่เรียกว่าระดับเชาวน์ปัญญา) ยังคงเป็นวิธีการมาตรฐานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่า สามารถสะท้อนถึงสติปัญญาของคนได้ในระดับหนึ่ง แม้ในระยะหลังจะมีแบบทดสอบทักษะด้านต่างๆ อีกมาก แต่แบบทดสอบไอคิวยังเป็นชุดที่นักวิชาการนำมาใช้มากที่สุดเมื่อต้องการประเมินความสามารถด้านสติปัญญาของคน

เขาทดสอบไอคิวกันอย่างไร

แบบทดสอบไอคิวมีหลายประเภท แต่ชุดมาตรฐานที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่ชนิด มีทั้งแบบทดสอบไอคิวอย่าง ง่ายๆ คือ ไม่มีข้อทดสอบมากนัก และประเภทที่มีหลายองค์ประกอบซึ่งมีข้อทดสอบจำนวนมาก  ในการสำรวจระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กไทยที่ผ่านมา ได้นำแบบทดสอบชุดย่อมาใช้ ซึ่งเหมาะกับการทดสอบเด็กจำนวนมากในคราวเดียวกัน 

วิธีทำก็คือ ให้ผู้รับการทดสอบดูภาพรูปทรงเรขาคณิต (สี่เหลี่ยม วงกลม สามเหลี่ยม เป็นต้น) และเลือกคำตอบ โดยไม่มีการพูดคุย ซักถาม จึงมีอิทธิพลด้านภาษาเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยมาก เมื่อจบการทดสอบแล้วก็จะนำคะแนนที่ได้มาเทียบเคียงเป็นระดับไอคิว ความยากของการทดสอบก็คือ จะต้องใช้ผู้ชำนาญพอสมควร เขาจึงไม่นำไปใช้ทดสอบกันพร่ำเพรื่อ

"เป็นอย่างไรคะลูก ได้ทราบคำเฉลย คงเข้าใจศัพท์คำว่า ไอคิวกันแล้วนะจ้ะ  เอาล่ะ วันนี้พวกหนูๆ กลับไปช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำงานบ้าน เสร็จแล้วก็ทำการบ้านให้เรียบร้อย แล้วเข้านอนแต่หัวค่ำ อย่าดูโทรทัศน์นะคะ ถ้ายังนอนไม่หลับ ก็อ่านหนังสือที่หนูชอบสักพัก ก็จะง่วงและหลับจ้ะ ถ้าหนูดูโทรทัศน์ แสงเสียงภาพที่ตื่นเต้นจะทำให้หนูนอนหลับยากจ้ะ เอาล่ะ ไปนอนได้แล้ว จะได้ตื่นแต่เช้า ทานอาหารเช้า แล้วไปโรงเรียน เป็นเด็กดีนะลูก แล้วพรุ่งนี้มาคุยกับป้าต่อ จะได้รู้กันให้กระจ่างเรื่อง ไอคิว นะจ้ะ"

ข้อมูลสื่อ

300-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 300
เมษายน 2547
อื่น ๆ
พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ