• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การให้น้ำกับสวนบำบัด

การให้น้ำกับสวนบำบัด


ในการทำสวนบำบัด กิจกรรมที่ยากที่สุด คือ การรดน้ำพืชและต้นไม้ในสวน การที่จะขนแบกถังน้ำเพื่อนำไปรดน้ำไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนทำสวน โดยเฉพาะถ้าคนทำสวนเป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ น้ำ ๑ ลิตร หรือ ๑,๐๐๐ ซีซี หนัก ๑ กิโลกรัม ถังน้ำใบหนึ่งอาจจุน้ำ ๕-๑๐ ลิตร หนัก ๕-๑๐ กิโลกรัม การขนเพียง ๒ เที่ยวอาจไม่มีปัญหา แต่ถ้าต้องขนหลายเที่ยว อาจทำให้กล้ามเนื้อล้า และเหน็ดหน่ายกับการทำงาน ดังนั้น การทำสวนบำบัด ควรคำนึงถึงเรื่องการรดน้ำต้นไม้ในสวน และมีวิธีการต่างๆ ที่ช่วย เช่น ควรเลือกพืชและต้นไม้ที่มีความทนทาน เกิดและเติบโตในท้องถิ่น นั้นๆ และต้องการน้ำไม่มาก จะทำให้เป็นการภาระน้อย ไม่ต้องรดน้ำบ่อย การเลือกต้นไม้แบบนี้ ไม่ได้หมายความว่า สวนบำบัดจะดูแห้งแล้ง ไม่สวยงาม  ความจริงแล้วสวนบำบัดจะสวยงามเหมือนทั่วไป เพียงแต่ต้องให้เวลาในการสำรวจ สังเกตต้นไม้ต่างๆ ที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ หรือที่มีการปลูกตามบ้านคนต่างๆ ในละแวกนั้น

นอกจากนี้ อาจมีวิธีจัดกลุ่มต้นไม้ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่ม เช่น ปลูกต้นไม้ที่ต้องการน้ำมากอยู่ด้วยกัน ใกล้บ้านหรือใกล้น้ำ ทำให้รดน้ำได้ง่าย หรือปลูกในที่ที่เป็นแอ่งเป็นหลุม ซึ่งน้ำจะขังรวมกันเวลาให้น้ำหรือฝนตก ทำให้ได้น้ำมาก และช่วยรักษาสภาพของดินได้ดีอีกด้วย อีกวิธีก็คือ ไม่ต้องรดน้ำต้นไม้จนกว่าต้นไม้จะเกิดอาการขาดน้ำให้เห็น เช่น ใบเหี่ยว กิ่งก้านห้อยลงจึงจะรดน้ำ วิธีนี้ไม่ทำให้ต้นไม้ตายหรืออ่อนแอ แต่จะช่วยให้ต้นไม้ปรับตัวทนทานขึ้น รากจะแทงดินลึกขึ้น วิธีการนี้ไม่เหมาะกับพืชผักสวนครัว มะเขือเทศ เพราะทำให้ไม่งามและผลผลิตน้อยลง

การใช้ปุ๋ยหมัก พืชคลุมดิน ฟาง วัสดุต่างๆ ช่วยคลุมดิน จะช่วยป้องกันการระเหยของน้ำจากผิวดิน ทำให้ดินเย็นลง รดน้ำน้อยลง ปัจจุบันมีอุปกรณ์ช่วยให้รดน้ำได้สะดวก และประหยัดน้ำหลายวิธี เช่น ระบบน้ำหยด ระบบน้ำแบบสปริงเกอร์ ระบบน้ำที่ตั้งแบบอัตโนมัติ เป็นต้น สุดท้ายนี้เป็นเคล็ดลับในการทำสวนแบบประหยัดน้ำ

-  ภาชนะปลูกต้นไม้ที่มีขนาดเล็ก ดินจะแห้งเร็วกว่าภาชนะขนาดใหญ่ ถ้าเป็นไปได้ควรปลูกพืชไว้รวมกันในภาชนะที่มีขนาดใหญ่

-  ภาชนะที่ยกสูงจากพื้น จะแห้งเร็วกว่าระดับพื้นดิน ถ้าต้องรดน้ำที่พื้นสัปดาห์ละครั้ง จะต้องรดน้ำในภาชนะที่ยกสูงจากพื้น สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง เพื่อให้มีความชื้นเพียงพอ

-  ภาชนะที่ทำจากดินและไม้ จะแห้งเร็วกว่าภาชนะพลาสติกหรือเซรามิก

-  ผักและไม้ดอก ต้องการน้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ นิ้ว เพื่อให้ได้ผล ไม่ว่าจะเป็นจากน้ำฝน หรือการรดน้ำ

-  ให้น้ำเต็มที่ รอให้ดินแห้ง แล้วให้น้ำจนดินอิ่มน้ำ ถ้าให้น้ำบ่อยแต่น้อย กลับทำให้ต้นไม้อ่อนแอ

-  ต้นไม้ที่ปลูกใหม่จะต้องการน้ำมากกว่าต้นไม้ที่ปลูกนานและเติบโตดีแล้ว ต้องให้น้ำบ่อยจนแตกยอดดี จึงค่อยๆ ลดลง

-  ต้นไม้ ไม้พุ่ม หญ้าที่ขึ้นดีแล้ว ไม่ต้องการน้ำ แม้ว่าจะมีการทิ้งใบในช่วงหน้าแล้ง ต้นไม้จะปรับตัว แต่ถ้ารดน้ำในช่วงทิ้งใบ ต้นไม้จะแตกใบ และต้องการน้ำ

ข้อมูลสื่อ

300-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 300
เมษายน 2547
อื่น ๆ
นพ.ประพจน์ เภตรากาศ