• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยออาหารและยาน่ารู้จัก

ยออาหารและยาน่ารู้จัก

ในยุคที่กระแสการดูแลสุขภาพกำลังมาแรง สมุนไพรไทยหรือ ผักพื้นบ้านหลายชนิด ก็ได้มีโอกาสเปิดตัวให้ประชาชนคนรุ่นใหม่ ได้รู้จักกันมากขึ้นด้วยเช่นกันไม่เช่นนั้นหลายคนอาจจะคุ้นเคยอยู่เพียงแค่ แตงกวา หอมใหญ่ มะเขือเทศ ผักบุ้ง ผักกาดขาว ผักชี ผักคะน้า ทั้งๆ ที่บ้านเราอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชผักพื้นบ้านนับร้อยนับพันชนิด ที่คนโบราณใช้เป็นทั้งอาหารและยารักษาโรคกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว และหนึ่งในจำนวนผักพื้นบ้านหลากหลาย ที่ถูกชูธงให้เป็นพืชมหัศจรรย์ที่ช่วยพิทักษ์สุขภาพของผู้คนในปีพ.ศ. นี้ก็คือ ยอ (ลูกยอและน้ำยอ)
ดังนั้น การเขียนถึงยอในฉบับนี้ จึงเป็นเหมือนการนำเรื่องเก่า(ที่ดีๆ) มาเล่าใหม่

ถิ่นกำเนิด
ยอ (Indian mulberry) ผักสมุนไพรพื้นบ้านชนิดนี้ สันนิษฐานกันว่ามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่แถบหมู่เกาะโปลินีเซียน ฟิจิ ตองกา ตาฮิติ ฯลฯ ซึ่งเป็นเขตที่มีอากาศร้อนในทวีปอเมริกา ต่อมาได้มีผู้นำมาปลูกตามประเทศต่างๆ ในเขตร้อน อาทิเช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ศรีลังกา เวียดนาม และไทย และถึงแม้จะมีต้นกำเนิดมาจากต่างถิ่น แต่คนไทยก็คุ้นเคยกับยอมานานนับเป็นร้อยปีแล้ว
ยอในเมืองไทยมีทั้งยอป่าและยอบ้าน ซึ่งยอทั้ง ๒ ชนิด จะแตกต่างกันทั้งลักษณะของใบและผล
ยอป่า พบ มากในป่าเบญจพรรณแล้ง และป่าแดง ไม้ยอป่าใช้ทำเป็นเครื่องเรือนและเสาบ้าน ได้ ส่วนเปลือกราก (ที่อายุ ๓-๔ ปี) เนื้อไม้และ ใบ ใช้ทำเป็นสีย้อมผ้าได้ (ให้สีแดง)
ส่วนยอบ้าน ขึ้นได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย เปลือก ราก เนื้อไม้ และใบของยอบ้าน ใช้ทำเป็นสีย้อมผ้าได้เช่นกัน โดยเปลือก ราก เนื้อไม้ และใบ จะให้สีเหลืองแกมแดง เปลือกรากให้สีแดง เนื้อรากให้สีเหลือง ใช้ย้อมผ้าไหมและผ้าฝ้าย ซึ่งให้สีคงทนตามธรรมชาติ
นอกจากนี้ ยอบ้านยังมีประโยชน์ในด้านอาหาร และด้านยารักษาโรคด้วย

ยอกับความเชื่อของไทย
ยอเป็นต้นไม้ที่คนไทยถือว่า เป็นไม้มงคล นิยมปลูกในบริเวณบ้าน ซึ่งตามตำราแนะนำให้ปลูกกันทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เพื่อเป็นเคล็ดว่าจะได้รับการสรรเสริญ เยินยอ แม้ในการสร้างบ้านก็มีการใช้ใบยอรองก้นหลุมเสาเอก เสาโท และใช้ใบยอรองขันพิธีบายศรีสู่ขวัญในงานมงคลต่างๆ และความจริงแม้จะไม่เชื่อเรื่องเหล่านี้ก็ตาม แต่ถ้าหากปลูกต้นยอสักต้นไว้บริเวณบ้าน ก็สามารถนำส่วนต่างๆ ของต้นยอมาใช้ประโยชน์ได้มากทีเดียว

อาหารจานอร่อยจากใบยอ
ส่วนของต้นยอที่นิยมนำมาปรุงเป็นอาหารก็คือใบอ่อน โดยอาจลวกใบหรือต้มให้สุก แล้วกินเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือใช้ใบยอเป็นผักรองก้นกระทงห่อหมก ทำเป็นแกง อ่อม แกงเผ็ด ร่วมกับเนื้อสัตว์ต่างๆ
ส่วนผลห่ามหรือผลแก่จัดสีเขียว ชาวอีสานจะนำมาทำเป็นส้มตำแทนมะละกอ ว่ากันว่าอร่อยไม่แพ้ "ตำบักหุ่ง" เลยทีเดียว
ยอเป็นไม้ที่ขึ้นและเติบโตได้เองตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้น การนำใบและผลยอมาปรุงเป็นอาหารจึงปลอดภัยต่อผู้บริโภค ที่สามารถกินได้อย่างสนิทใจ
ขณะเดียวกัน ยอก็มีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายหลายชนิด อาทิเช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี ๑ วิตามินบี ๒ วิตามินซี ไนอาซีน และโปรตีน เป็นต้น
โดยเฉพาะแคลเซียมมีมากถึง๔๖๙ มิลลิกรัม ในใบยอ ๑๐๐ กรัมเรียกว่ากินใบยอสุกประมาณ ๒ ช้อน กินข้าวพูนๆ ร่างกายก็ได้รับแคลเซียม ถึงครึ่งหนึ่งของความต้องการ ในแต่ละวันแล้ว (คนทั่วไปควรได้รับแคลเซียมวันละ๘๐๐ มิลลิกรัม) และถึงแม้ว่าแคลเซียมในผักจะถูกดูดซึมไปใช้ได้ไม่ดีเท่ากับแคลเซียมจากเนื้อสัตว์ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้น้อยไปกว่ากันมากนัก แถมราคายังถูกกว่าด้วย ส่วนที่เหลือก็เก็บเล็กผสมน้อยเอาจากอาหารประเภทอื่นๆ ซึ่งถ้าหากเลือกกินแต่อาหารที่มีประโยชน์ทุกมื้อ รับรองว่าจะไม่ขาดแคลเซียม (ไปบำรุงกระดูก) แน่นอน

ยอ : ยากลางบ้าน
ก่อนที่บรรดานักวิทยาศาสตร์หรือแพทย์สมัยใหม่จะทำการศึกษาวิจัยถึงคุณค่ามหาศาลของยอนั้น ภูมิปัญญาชาวบ้านของไทยรุ่นปู่ย่าตายาย ก็ได้ใช้ยอเป็นยากลางบ้าน ดูแลสุขภาพของตนเอง สมาชิกในบ้าน และคนในชุมชนกันมานานแล้ว
ส่วนของต้นยอที่นำมาใช้เป็นประโยชน์ทางยา คือ ราก ใบสด และ ผล ซึ่งแต่ละส่วนมีสรรพคุณและรสชาติแตกต่างกัน
ใบอ่อน มีรสขมเล็กน้อย มี สรรพคุณช่วยลดความร้อนในร่างกาย (แก้ไข้)
ผล มีรสเผ็ดร้อน ช่วยขับลม ในลำไส้ แก้อาเจียน บำรุงธาตุ เจริญ อาหาร ฟอกเลือด ขับเลือดของสตรี
ผลสุก มีกลิ่นฉุน สรรพคุณช่วยขับผายลมในลำไส้
ราก สรรพคุณเป็นยาระบาย

แก้คลื่นไส้อาเจียน
ใช้ลูกยอดิบเผาหรือปิ้งในเตาถ่าน โดยใช้ไฟอ่อน กะว่าผิวนอกไหม้ดำเป็นถ่าน ข้างในเหลืองกรอบ ถ้าเผาไม่ถึงที่ ยาจะมีรสขื่น หากไม่มีเตาถ่าน ให้หั่นลูกยอเป็นแว่นบางๆ คั่วทั้งสดๆโดยใช้ไฟอ่อนคั่วจนเหลืองกรอบ จากนั้นเอามาชงน้ำร้อนหรือต้ม
ถ้าต้มให้เดือดนาน ๒-๓ นาทีถ้าชงน้ำร้อน ใช้ยอ ๑ ลูกต่อน้ำ ๑ แก้ว แล้วชงทิ้งไว้ ๕ นาที ควรเติมเกลือพอมีรสเค็ม เพื่อชดเชยเกลือที่เสียไปจากการอาเจียน ถ้ามียาหอมอยู่ในบ้าน ผสมลงไปด้วยจะยิ่งดี เป็นการ เสริมฤทธิ์ยอ จะช่วยให้หยุดอาเจียนเร็วขึ้น ควร กินน้ำยอนี้ขณะที่ยังร้อนหรืออุ่นๆ  อยู่

แก้ท้องผูก
รากยอมีสารแอนทราควิโนนออกฤทธิ์ระบายท้องได้ วิธีนำมาใช้คือ นำรากยอที่โตขนาดนิ้วชี้ ยาวไม่เกิน๖ นิ้วฟุต สับเป็นชิ้นๆ ใส่น้ำ ๒ แก้ว ต้ม ๑๐-๑๕ นาที กิน ๑ แก้ว ก่อนเข้านอน ตอนเช้าท้องไส้จะระบายดีเหมาะสำหรับคนท้องผูกและเป็นริดสีดวงทวาร (ถ้าต้องการถ่ายมาก ก็เพิ่มรากยอ)

ท้องอืด แน่นหน้าอก มีลมในลำไส้
คนสมัยก่อนถ้ากินอาหารได้ดีนอนหลับ ขับถ่ายเป็นปกติ ท้องไม่อืด แค่นี้เขาก็ถือว่าสุขภาพดีแล้ว คนสมัยนี้ท้องอืดกันเยอะ อาจเป็นเพราะกินอาหารขยะมาก กินอาหารที่ย่อยยาก หรือเย็นจัด อึดอัดใน  ท้อง นั่งก็ไม่ได้ นอนก็ไม่สบาย ถ้าเอามือเคาะที่ท้องจะมีเสียงดังบึกๆ ลองใช้ลูกยอ (ที่ปลูกไว้ในบ้าน) แก้ปัญหาเหล่านี้ดู รับรองได้ผล
ใช้ลูกยอสุกงอม จิ้มเกลือกับน้ำตาล
ใช้ลูกยอแก่จัด สีขาวขุ่น (แต่ยังไม่สุกงอม) หมักฝังในขวดเกลือ ๑-๒ วัน ลูกยอจะสุกงอม แล้วนำมาจิ้มเกลือ น้ำตาลทรายแดงหรือน้ำผึ้ง กินทั้งเนื้อและเมล็ด (เมล็ดยอเคี้ยวพอแหลกก็กลืนได้)
ลูกยอดิบแก่ ทำเป็นส้มตำ
ใบยอ ปรุงเป็นอาหาร ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อได้

แก้ลมวิงเวียน
ใช้ลูกยอแก่นำมาฝานบางๆตำใส่มะนาว กระเทียม พริก เกลือ กินเป็นประจำ จะไม่ค่อยเวียนศีรษะ ทำให้เลือดลมหมุนเวียนดี

ปวดหัว
ใช้ใบยอต้มเดือด ๓-๕ นาที แปะที่หัว

เบื่ออาหาร
นำลูกยอแก่มาหั่นบางๆ ใส่ขวดโหล ต้มน้ำเกลือพอเค็ม นำมาใส่ให้ท่วมสูงจากเนื้อยอ ๔-๕ นิ้ว ดองไว้ ๒-๓ คืน รินน้ำยากินครั้งละครึ่งแก้ว วันละ ๔ ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน

แก้บิด
ใช้ลูกยอแก่ ๑ ลูกใหญ่ หั่นบางๆ แล้วนำไปอังไฟให้เหลือง แช่น้ำ ๑ แก้ว ทิ้งไว้ ๑๕-๓๐ นาที รินแต่น้ำดื่ม กินทุกครั้งที่ถ่าย หรือทุก ๓-๔ ชั่วโมง

ปวดข้อ
ใช้ใบยอตำคั้นน้ำ ทาแก้โรคเกาต์ ปวดตามข้อ นิ้วมือ นิ้วเท้า

เป็นไข้
ใช้เปลือกยอต้ม ๑๐-๑๕ นาทีกินวันละ ๓-๔ ครั้ง ครั้งละ ๑ แก้ว

ถ่ายมีเลือดปน
หากมีอาการท้องผูก เจ็บแถวทวารหนัก เวลา ถ่ายอุจจาระจะมีเลือดปน ให้นำใบยอป่า ๑ กำมือ มา ตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาแต่น้ำ ผสมเกลือเล็กน้อย กินก่อนอาหารเช้าประมาณ ๓ วัน อาการจะทุเลาและ หายในที่สุด

ปากเปื่อย
เป็นแผลในเยื่อบุปาก และลิ้นเป็นขุย กินของ เผ็ดเค็มไม่ได้ ใช้ลูกยอดิบที่ผิวยังมีสีเขียวเข้ม ๒ ผล เผาไฟถ่านจนไหม้เป็นถ่ายดำตลอดลูก ผสมเกลือ บด ให้ละเอียด ทำในปาก วันละ ๒ ครั้ง เช้า-เย็น

ประจำเดือนขัด

สตรีที่ประจำเดือนขัด ขาดหาย ใช้ลูกยอค่อนข้างแก่ ๓-๔ ผลทำเป็นส้มตำกินวันละ ๑ ครั้ง จนประจำ เดือนมาตามปกติ

ร้อนในกระหายน้ำ
นำลูกยอสุกมาเผาไฟหรือหั่น ปิ้งไฟให้เหลืองกรอบ แล้วต้มหรือชงกินต่างน้ำ ช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำได้
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ จากการใช้ประโยชน์จากยอมาทำเป็นยากลางบ้าน ถ้าจะรวบรวม กันจริงๆ คงได้เป็นเล่ม เห็นไหม! ว่าปู่ย่าตายายของ เราล้ำสมัยกว่าคนรุ่นใหม่มานานแล้ว

ข้อมูลอ้างอิง
๑. ผักพื้นบ้านฯ :
 โดยสำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน , สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, สถาบันการแพทย์แผนไทย,กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
๒. มหัศจรรย์ผัก ๑๐๘ : โดยสถาบันวิจัยโภชนาการ , มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย
๓. ทำเนียบร้านผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษและสมุนไพรในประเทศไทย : โดย สำนักพิมพ์กลั่นแก่น
๔. เกษตรกรรมธรรมชาติแบบไทยๆ : โดย สุกัญญา นิยมตรุษะ
๕. ยอ : สรรพคุณเยี่ยม : โดย สำนักพิมพ์กลั่นแก่น

น้ำลูกยอ เป็นยาวิเศษจริงหรือ ?

ปัญหาหนึ่งที่เป็นเรื่องหนักใจของนักวิชาการด้านสาธารณสุขบ้านเราก็คือ คนไทยมักเชื่อง่ายและชอบทำอะไรตามกระแสสังคม ที่มีคนได้ประโยชน์สร้างขึ้นมาจำกันได้ไหม ตั้งแต่ยุคน้ำผักปั่น น้ำอาร์ซี (ชีวจิต) น้ำหญ้าปักกิ่ง น้ำเสาวรส เป็นต้นและล่าสุดก็น้ำลูกยอ (ที่คนขายรวยกันไปเยอะแล้ว)
ความจริงน้ำผัก น้ำผลไม้ต่างๆ หรือน้ำอาร์ซี ก็ล้วนมีประโยชน์มีคุณค่าโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว ยอมีประโยชน์ น้ำลูกยอก็มีประโยชน์ คนโบราณเขารู้มาก่อนนานแล้ว และพืชผักชนิดอื่นๆ ก็มีประโยชน์ เมื่อกินรวมๆ กันหลายอย่าง หลายชนิด ร่างกาย ก็ได้รับสารอาหารครบถ้วน ทำให้สุขภาพแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโรค ไม่เจ็บป่วยง่าย
ปัจจุบันความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การอาหารที่ก้าวหน้าทันสมัย ทำให้เราได้รับรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าอาหารแต่ละชนิดแต่ละประเภทที่กินเข้าไปนั้น มันไปทำหน้าที่อะไรบ้าง ในร่างกายแล้วแต่ละชนิดมีสารอาหารอะไรมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าหากไม่มีการฉกฉวยสร้างกระแส ความรู้ด้านโภชนาการเหล่า นี้ก็จะถูกถ่ายทอดไปสู่ประชาชนในลักษณะเป็นความรู้ที่ควรนำไปปฏิบัติด้วยตนเอง ไม่ใช่เรื่องการค้าการขาย
ดังเช่น เมื่อนายแพทย์  ดร.นีล โซโลมอน จากโรงพยาบาลจอห์นฮอปสกิ้นได้ทำการศึกษาฤทธิ์ของผลลูกยอ(หรือลูกโนนิของฝรั่งนั่นแหละ)แล้วพบว่ามีสรรพคุณทางการแพทย์มากมาย จากตรงนั้นกระแสน้ำลูกยอก็โด่งดังไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย
น้ำโนนิบ้านเรามีขายมาประมาณ ๒ ปีกว่าแล้วด้วย ระบบขายตรงราคาประมาณขวดละ ๑,๕๐๐ บาท ซึ่งน้ำโนนิที่ว่านี้มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ น้ำจากผลลูกยอร้อยละ ๘๙ น้ำองุ่นเข้มข้นร้อยละ ๕ น้ำบลูเบอรี่เข้มข้นร้อยละ ๕ แต่งกลิ่นธรรมชาติ ดื่มวันละ ๒ ช้อนโต๊ะ ก่อนอาหาร
ส่วนสรรพคุณของน้ำโนนิจากแผ่นพับก็บอกเอาไว้ว่า"น้ำผลไม้โนนิ" อุดมไปด้วยเอนไซม์ โปรซีโรเนส และ โปรซีโรนีน ซึ่งเมื่อกินแล้วจะรวมตัวกันเป็นซีโรนีนในลำไส้ใหญ่ และจะถูกดูดซึมเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ภายในร่างกาย
ซีโรนีน มีหน้าที่คือ ช่วยให้ปฏิกิริยาชีวเคมีในเซลล์ดีขึ้น ปรับสภาพความเป็นกรดด่างของร่างกายให้อยู่ในสภาพสมดุลเสริมภูมิต้านทานการติดเชื้อ ทำให้เซลล์ต่างๆ มีความแข็งแรงสมบูรณ์ ทำหน้าที่เป็นปกติขึ้น ฟื้นฟูเซลล์ที่เสื่อมโทรม ฯลฯสารอาหารต่างๆ ในน้ำโนนิ (ตามที่โฆษณา)ประกอบ ด้วยแร่ธาตุต่างๆ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม เหล็ก แคลเซียม  ฟอสฟอรัส สังกะสี โปรตีน ซัลเฟอร์ กรดโฟลิก กรดอะมิโน วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี วิตามินบี ๑ วิตามินบี ๕ วิตามินบี ๖ วิตามินบี ๑๒ แคโรทีน และสารอื่นๆ นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารพฤกษเคมี หรือ สารออกฤทธิ์มากมายที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น สโคโปเลติน ซึ่งเป็นสารต้านการอักเสบ ฮีสตามีน ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ช่วยลดความดันเลือด เซโรโทนิน ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น ปกป้องตับ แก้ปวด แอนทราควิโนน ต่อต้านเชื้อไวรัส และเอชไอวี ช่วยควบคุมการติดเชื้อ
แบคทีเรียและเชื้อรา แคมนาแคนอล ช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์ระยะก่อนมะเร็ง เปลี่ยนเซลล์มะเร็งให้กลายเป็นเซลล์ที่ดีได้ ฯลฯ (นี่คือสรรพคุณที่โฆษณาไว้)
เรื่องดีๆ สรรพคุณยอดเยี่ยมอย่างนี้ ผู้ที่ไม่มีพื้นความรู้ทางด้านสุขภาพเป็นทุนเดิม เมื่อโดนเพื่อนฝูงญาติมิตรกรอกหูบ่อยๆ รายไหนรายนั้น ใจอ่อนควักเงินจ่ายไปแต่โดยดี
ส่วนความเห็นของผู้รู้ นักวิชาการ หรือแพทย์ที่อยู่ในวงการสาธารณสุข ท่านเหล่านี้มองและคิดอย่างไรกับกระแส"น้ำลูกยอ (ไทย, ฝรั่ง) ฟีเวอร์" ท่านหนึ่งที่ออกมาพูดและให้ข้อคิดกับสื่อมวลชนต่างๆ  ก็คือ อาจารย์สง่า ดามาพงศ์ นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย
"เรื่องน้ำลูกยอที่ขายกันมากในบ้านเราตอนนี้ ถ้าถามความเห็น  ผมก็ว่าเป็นน้ำผลไม้หรือน้ำสมุนไพรที่มีประโยชน์ชนิดหนึ่ง แต่อยากให้ข้อคิดว่า ทุกคนควรเดินทางสายกลางในการกิน คือกินอาหารทุกชนิดที่มีประโยชน์หมุนเวียนเปลี่ยนไป กินให้เป็นธรรมชาติ กรุณากินยอแบบที่บรรพบุรุษของเรากิน คือนำมารองก้นห่อหมก มาทำตำยอ หรือ แกงต่างๆ ไม่ใช่กินตามแฟชั่น กินตามกระแสอย่างเช่นณ วันนี้ พ่อค้าบอกว่ากินน้ำลูกยอแล้วรักษาโรคได้สารพัดชนิด ก็เลยกินกันใหญ่ กินในรูปของแคปซูล กินในรูปของยา กินในรูปของอาหารเสริม กินจนกระทั่งน่ากลัวว่าอาจจะเป็นอันตราย
ยออาจมีคุณสมบัติหลายอย่างตามที่เขาโฆษณาก็จริง แต่ไม่อยากให้กินในรูปของอาหารเสริม หรือไปซื้อน้ำลูกยอขวดละ ๔๐๐ บาท ขวดละ ๑,๐๐๐ บาท มากิน ความจริงทำเองก็ได้ แล้วที่ว่าลูกยอไทยมีคุณสมบัติน้อยกว่าลูกยอฝรั่งนั้น ผมว่าเป็นกุศ โลบายของคนขาย ตรงนี้แพทย์แผนไทยเอามาวิเคราะห์แล้วว่า มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมาก ที่สำคัญยังไม่มีการพิสูจน์อย่างชัดเจนว่าจะรักษาโรคนั้น โรคนี้ได้จริง ตามที่กล่าวอ้าง"
ส่วนแพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความ เห็นในเรื่องนี้กับคุณภาวินีย์ เจริญยิ่ง จากหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อไม่นานมานี้ แบบตรงไปตรงมา ว่า
"หมอรู้สึกสมเพชเวทนา พวกแพทย์พยาบาลที่สิ้นไร้ไม้ตอก มาขายน้ำลูกยอ แล้วบอกว่าเป็นการแพทย์ทางเลือก ทั้งที่มันเป็นแค่น้ำผลไม้ เป็นแค่อาหารเสริมเท่านั้น ตอนนี้ได้ให้ทีมวิชาการค้นหาผลงานการวิจัยจากต่างประเทศ ในอินเตอร์เน็ตและเอกสารต่างๆ ทั่วโลก แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ารักษาโรคต่างๆ ได้ตามที่ระบุ ถือเป็นน้ำผลไม้อย่างหนึ่งที่มีวิตามินซี วิตามินเอ และแร่ธาตุโพแทสเซียมสูงมากพอๆ กับน้ำส้ม และน้ำมะเขือเทศ มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีเอนไซม์หลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งกินน้ำลูกยอไทยก็ได้ เงินทองก็ไม่รั่วไหล ไม่ต้องไปซื้อน้ำลูกยอจากต่างประเทศ
ลูกยอไทยก็มีประโยชน์เหมือนกัน เป็นสปีชี่เดียวกับของต่างประเทศ คนโบราณนำมาทำส้มตำ นำมาหั่นตากแห้งใช้ชงชา หรือนำมาหมักเป็นยา หมออยากถามว่าถูกเขาหลอกหรือเปล่า ข้อความที่โฆษณาถูกต้องหรือไม่ ราคาแพงคุ้มค่ากับการรักษาหรือไม่ ขัดต่อวัฒนธรรม ในการที่จะพึ่งตัวเองหรือเปล่า ประเทศไทยบอบช้ำมามากแล้ว อย่าทำให้ประเทศต้องขาดดุลอีกเลย
งานวิจัยเรื่องลูกยอยังมีไม่มากนัก ที่มีมากที่สุดคือคณะแพทย์ในเกาะตาฮิติ แต่การวิจัยเหล่านี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ของชาติอื่น แต่มีรายงานที่มีข้อมูลน่าสนใจคือ ลูกยอมีสาร noni PPO ซึ่งมีผลต่อเซลล์มะเร็ง และยืดอายุของหนูที่เป็นมะเร็งนี้ได้จริง แต่ยังไม่พบรายงานการวิจัยในคน สรุปได้แต่เพียงว่าอาจมีผลป้องกันมะเร็งได้
มีรายงานว่าผู้ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง เมื่อกินน้ำลูกยอแล้วมีโพแทสเซียมสูงมากจนเป็นอันตราย เพราะฉะนั้นคนที่เป็นโรคไตจึงไม่ควรกิน หมออยากแนะนำให้ประชาชนคั้นกินเองสดๆ จะได้ประโยชน์มากกว่า"
เห็นทีพวกเราจะต้องช่วยกันปฏิบัติอย่างจริงจัง ในเรื่องไม่อุดหนุนสินค้าต่างประเทศ อะไรที่บ้านเรามีของ ทดแทนได้ก็น่าจะช่วยกันประหยัด เภสัชกรหญิงสุภากร  ปิติพร แห่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ปราจีนบุรี กล่าวถึงน้ำโนนิที่โด่งดังนั้นว่า
"ก็คือลูกยอบ้านเราดีๆ นี่เอง แต่ เรากลับต้องจ่ายเงินแพง ซื้อน้ำลูกยอ ต่างประเทศ เมื่อก่อนยอเป็นพืชพื้นๆ มากเลยนะ ก็เลยไม่ได้มีใครให้ความสำคัญหรือจดบันทึกอะไรไว้ เพราะ ฉะนั้นการจะนำกลับมาใช้ประโยชน์กันอีกครั้ง ก็ต้องอาศัยโกบอลไลเซชั่น ว่าที่จริงโดยตัวของมันเองยอเป็นพืชที่มีประโยชน์ทางด้านสมุนไพรอยู่แล้ว ส่วนน้ำลูกยอที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ผลิตออกจำหน่ายนั้น ก็เป็น การทำเลียนแบบน้ำโนนิของต่างประเทศ เป็นเครื่องดื่มสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ราคาถูกกว่ามาก"
ปัจจุบันโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ซึ่งเป็น โรงพยาบาลที่ส่งเสริมการดูแลสุขภาพ และเป็นโรง-พยาบาลหัวหอกในการนำสมุนไพรต่างๆ มาใช้รักษาคนไข้ โดยลดการใช้ยาสังเคราะห์ และยาจากต่างประเทศ ได้ใช้แคปซูลยอกับคนไข้ที่มีอาการปวด ประจำเดือน ปวดเมื่อยตามตัว ภูมิแพ้หวัด เครียด นอนไม่หลับ อาหารไม่ย่อย และช่วยกระตุ้นภูมิ คุ้มกันในร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นมากใครไม่ชอบกินยาฝรั่ง จะหันมาพิสูจน์คุณภาพยาไทยหรือยาจากธรรมชาติล้วนๆ ก็นับเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย

ยอบ้าน    (Indian mulberry)
วงศ์     Rubiaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ Morinda citrifolia Linn.
ชื่อพื้นเมือง   มะตาเสือ (ภาคเหนือ) ยอ,ยอบ้าน  (ภาคกลาง) แยใหญ่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ยอ (ภาคอีสาน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้น ตรง สูงประมาณ ๓-๘ เมตร ใบใหญ่หนา สีเขียวสด ออกดอกรวมกันเป็นช่อกลม ลักษณะผลกลมยาวรี มีตาเป็นปุ่มรอบผล ลูกอ่อนมีสีเขียวสด ผลสุกสีขาวนวล ยอขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิดปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ดีในที่ชุ่มชื้น ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เพียง ๑-๒ ปีก็จะออกดอก ออกผลตลอดปี ใบอ่อนของยอ ออกทุกฤดูกาล ส่วนผลออกมากในช่วงฤดูหนาว

อย.เตือน อย่าหลงเชื่อน้ำลูกยอ โฆษณาอ้างรักษาโรค
อย. เตือนผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์น้ำลูกยอที่อ้างสรรพคุณทางยา โอ้อวดว่า สามารถรักษาโรคต่างๆ ได้เป็นอันขาด โดยเฉพาะการโฆษณาทางแผ่นปลิวและช่องทางขายตรง เพราะแท้จริงผลิตภัณฑ์น้ำลูกยอเป็นเพียงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่ง ไม่สามารถรักษาโรคได้ ขอให้ผู้บริโภคเชื่อเฉพาะสรรพคุณที่ระบุบนฉลากที่ได้รับอนุญาตจาก อย. แล้วเท่านั้น
ภญ.พรพิมล ขัตตินานนท์ รักษาการนักวิชาการอาหารและ ยา ๑๐ ชช ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข อย. เปิดเผย ว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำลูกยอหลายยี่ห้อออกสู่ท้องตลาด และมีรูปแบบจำหน่ายโดยวิธีการขายตรง มีการใช้สื่อโฆษณา เช่น ใบปลิว แผ่นพับ ออกแจกจ่ายให้กับสมาชิกนำไปแนะนำและขายสินค้าให้กับประชาชน โดยมักพบว่าข้อความโฆษณาผลิต-ภัณฑ์ดังกล่าวอวดอ้างสรรพคุณเกินความจริง เช่น อ้างผลการศึกษาวิจัยหรือประสบการณ์จากผู้ป่วยที่เป็นโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง หัวใจ อัมพฤกษ์ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เอดส์ ภูมิแพ้ ไขข้ออักเสบ และความผิดปกติอื่นๆ ของร่างกายว่า เมื่อดื่มน้ำลูกยอดังกล่าวแล้วมีอาการดีขึ้นร้อยละ ๕๕-๙๐ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จึงขอแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำลูกยอ ได้ขออนุญาตใช้ฉลากเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้น ซึ่งก็คือผลิตภัณฑ์ที่ใช้กินโดยตรงนอกเหนือจากการกินอาหารหลักตามปกติ มีจุดมุ่งหมายสำหรับบุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพปกติ ไม่ใช่สำหรับผู้ป่วย และไม่ได้มีสรรพคุณที่สามารถรักษาโรคแต่อย่างใด สำหรับการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงดังกล่าว อย. กำลังติดตามดำเนิน การตามกฎหมายกับผู้โฆษณา เพื่อไม่ให้หลอกลวงผู้บริโภคให้เกิด ความเข้าใจผิด
ภญ.พรพิมล ขัตตินานนท์ กล่าวต่อไปว่า ขอให้ผู้บริโภคอย่า ได้หลงเชื่อโฆษณาเกินความจริงของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณในทางยาว่าสามารถบรรเทา หรือรักษาโรคต่างๆ ได้เป็นอันขาด เพราะหากสามารถรักษาโรคได้จริง จะต้องผ่านการพิจารณาตามกระบวนการในการขออนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์ยา โดยเฉพาะที่สำคัญ ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ ก็ตาม ขอให้ผู้บริโภคอ่านข้อมูลของอาหารนั้นบนฉลากทุกครั้งว่ามีสรรพคุณ เพียงไร และขอให้เชื่อถือเฉพาะสรรพคุณที่ระบุบนฉลากซึ่งได้รับการอนุญาตจาก อย. แล้วเท่านั้น
กองเผยแพร่และควบคุมการโฆษณา
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข

 

ข้อมูลสื่อ

278-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 278
มิถุนายน 2545
ธารดาว ทองแก้ว