• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตัวอย่างผู้ป่วยที่ต้องรักษา "คน" ให้ได้ก่อน "ไข้" ต่อ

ตัวอย่างผู้ป่วยที่ต้องรักษา "คน" ให้ได้ก่อน "ไข้" (ต่อ)

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๒
ชายไทยอายุ ๗๑ ปี อยู่ที่จังหวัดน่านมาตลอดชีวิต ระยะหลายปีหลังนี้มีความดันเลือดสูง ได้รักษาอยู่กับหมอที่จังหวัดน่าน กินยาอยู่ ๒ ชนิด ชนิดละ ๑ เม็ด ต่อวัน ก็สบายดีมาตลอด

ปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๕ อากาศ ค่อนข้างหนาว ลูกๆ ที่อยู่กรุงเทพฯ จึงไปรับตัวจากน่านมาอยู่ที่กรุงเทพฯ และพาไปเที่ยวตามที่ต่างๆ แต่ผู้ป่วยกลับมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และเหนื่อยง่าย จึงพา ไปตรวจที่โรงพยาบาล
หมอ :  "สวัสดีครับ มีอาการอย่างไรบ้างครับ"
ผู้ป่วย :  "เหนื่อย...หมอ"
ผู้ป่วยตอบอย่างเนือยๆ หน้า ตาเฉยเมย ดูลักษณะคล้ายว่าจะกังวล ท้อแท้ และเบื่อหน่าย
หมอ : "เหนื่อยอย่างไรครับ เหนื่อยเหมือนไปวิ่งออกกำลังกายมา หรือเหนื่อยแบบไม่มีแรงครับ"
ผู้ป่วย : "บ่มีแฮง"
หมอ : "แล้วนอนหลับไหมครับ"
ผู้ป่วย : "บ่หลับ"
หมอ : "แล้วกินได้บ่"
ผู้ป่วย : "บ่ได้"

หมอจึงตรวจร่างกายผู้ป่วย พบว่าผู้ป่วยค่อนข้างผอม ความดันเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ (กินยา คุมความดันอยู่) ความดันเลือดท่านอนและท่ายืนไม่ต่างกันมากนัก ผู้ป่วยไม่มีอาการเวียนศีรษะหรือวูบเมื่อเปลี่ยนจากท่านอนเป็น ท่ายืน ตรวจร่างกายอื่นๆ ก็ไม่พบ ความผิดปกติ

เนื่องจากลูกๆที่อยู่กรุงเทพฯ รับราชการในระดับสูง และมีคนหนึ่งเป็นหมอด้วยจึงขอ"ตรวจสุขภาพ (check-up) อย่างละเอียด เพราะเบิกค่าตรวจรักษาจากสวัสดิการราชการได้

ผู้ป่วยจึงได้รับการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ และตรวจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วย ซึ่งผลการตรวจอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นเอกซเรย์และคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ปรากฏว่า หัวใจห้องล่างซ้ายโตเล็กน้อยจากที่มีความดันเลือดสูงมานาน และมีการเปลี่ยนแปลงในคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ทำให้สงสัยว่าอาจจะมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ผู้ป่วยจึงได้รับยาอมใต้ลิ้นสำหรับแก้ภาวะเจ็บหัวใจ และได้รับยาแอสไพรินเพื่อไม่ให้เลือดแข็งตัวง่าย จะได้ช่วยป้องกันภาวะ หัวใจขาดเลือด และภาวะกล้ามเนื้อ หัวใจตาย ร่วมไปกับยาเดิมที่กินอยู่ ซึ่งก็ช่วยป้องกันภาวะเหล่านี้ด้วย

หลายวันต่อมา ขณะนอนอยู่บนเตียง ผู้ป่วยรู้สึกแน่นอก จึง อมยาใต้ลิ้นที่ให้ไว้ แล้วเกิดความ รู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะ จึงลุกขึ้นเดินไปห้องน้ำ แล้วเกิดวูบและล้ม ลง หัวฟาดอ่างล้างมือในห้องน้ำจนหัวโนและแตกเป็นแผลเลือดอาบ ลูกๆ จึงรีบใช้น้ำสะอาดและสบู่ล้างแผล แล้วใช้ผ้าสะอาดกดปากแผลไว้ให้เลือดหยุดไหล แล้วพามาโรงพยาบาล

หมอที่โรงพยาบาลทำความ สะอาดบาดแผลอีกครั้ง แล้วเย็บแผล ให้ และใช้ถุงน้ำแข็งประคบบริเวณ นั้นเพื่อไม่ให้บวม (หัวโน) มาก

หมอ : "คุณลุงครับ คราวหน้าถ้าคุณลุงอมยาใต้ลิ้นแก้อาการ แน่นอกแล้ว คุณลุงต้องนั่งพักสัก ๑๐-๑๕ นาทีนะครับ ถ้าคุณลุงอมยาแล้วลุกขึ้นยืนหรือเดิน คุณลุง จะวูบได้ เพราะยาจะไปขยายหลอด เลือด ทำให้ความดันเลือดตกเวลา คุณลุงลุกขึ้นยืน เลือดจะตกไปอยู่ที่เท้ามาก ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมอง ไม่พอ คุณลุงจะวูบและล้มได้"
ผู้ป่วย : "ก็หมอบ่เคยบอกผมไว้ นี่"
หมอ : "หมอขอโทษแทนหมอคนที่สั่งยาให้คุณลุงนะครับ เขาคง ตรวจคนไข้อยู่หลายคน จนลืมบอกคุณลุงเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยา นี้ แล้วตอนคุณลุงล้มลง คุณลุงรู้ ตัวไหมครับว่าล้มอย่างไร ท่าไหน และส่วนไหนกระทบกระแทกกับอะไรบ้าง"
ผู้ป่วย : "รู้ มันเริ่มหน้ามืด แล้วก็ เซไปทางอ่างล้างมือ ทรงตัวไม่อยู่ ล้มลงหัวกระแทกกับขอบอ่าง แล้ว ก้นกระแทกกับพื้น และนอนหงาย ลงกับพื้น แล้วลูกก็เข้ามาช่วย"

การช่วยคน "หน้ามืดเป็นลม" ต้องให้ผู้ป่วยนอนราบกับพื้น ศีรษะต่ำ ถ้ามีบาดแผลเลือดออก ให้ใช้น้ำสะอาดและสบู่ฟอกล้างแผล แล้วใช้ผ้าสะอาดกดปากแผลเพื่อห้ามเลือด (ห้ามยกศีรษะขึ้นพาดตักหรือใช้หมอนรองศีรษะ เพราะ จะทำให้ฟื้นช้า)

นอกจากหัวโนและแผลแตก ที่หัวแล้ว ตรวจไม่พบบาดแผล รอยฟกช้ำ หรือจุดกดเจ็บที่อื่นเรื่องการตรวจเกี่ยวกับการบาดเจ็บ ในระยะแรกจึงครบถ้วนเพียงพอแล้ว

หมอ : "แล้วอาการแน่นอกล่ะครับ มันเริ่มอย่างไร และเป็นอย่างไร"
ผู้ป่วย : "ขณะที่หลับอยู่ เกิดอาการแน่นอก หายใจไม่ออก จน ตกใจตื่น ต้องลุกขึ้นนั่ง และอมยา ใต้ลิ้น พอยาละลายก็หายแน่นและ ลุกไปเข้าห้องน้ำ จึงวูบไป"

เนื่องจากอาการแน่นอกดังกล่าวอาจจะเป็นอาการเจ็บหัวใจได้ จึงได้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และพบว่ามันเปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้คิดว่า ผู้ป่วยอาจเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จึงรับไว้ในห้องบำบัดโรคหัวใจรุนแรง (coronary care unit, CCU)

ห้องบำบัดโรคหัวใจรุนแรง มีอุปกรณ์มากมาย มีสายระโยงระยางติดตัวผู้ป่วยเพื่อเฝ้าคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เฝ้าการหายใจ เฝ้าความดันเลือด เฝ้าระดับออกซิเจน เป็นต้น แล้วยังมีเสียงแปลกๆ ที่เกิดจากการทำงานและการเตือนของเครื่องเหล่านั้น ผู้ป่วยจำนวน มากไม่ค่อยชอบภาวะแปลกปลอม เหล่านี้ เพราะทำให้ตื่นเต้น กังวล และนอนไม่หลับ พักไม่ได้ ผู้ป่วยรายนี้ก็เช่นกัน

หลังจากอยู่ในห้องดังกล่าว ๓ วัน และพบว่าผู้ป่วยไม่ได้เกิดภาวะหัวใจตายเฉียบพลัน เพราะผลเลือดที่เจาะทุกวัน ไม่แสดงว่ามี การตายของกล้ามเนื้อหัวใจ และ คลื่นไฟฟ้าหัวใจในวันต่อๆ มา ก็ไม่เปลี่ยนแปลง (คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ที่เห็นเปลี่ยนในวันแรก อาจจะเกิดจากปัญหาทางเทคนิค) ผู้ป่วยจึงถูกย้ายออกจากห้องดังกล่าวไปอยู่ห้องธรรมดา

ผู้ป่วยมีอาการซึมลงเรื่อยๆ ตั้งแต่เข้าโรงพยาบาล พูดจาน้อย ลงๆ กินอาหารน้อยลงๆ เคลื่อน ไหวน้อยลงๆ หมอที่รักษาจึงกลัว ว่า อาจมีเลือดคั่งในสมองจากการ หกล้มหัวฟาด จึงส่งผู้ป่วยไปตรวจ คลื่นแม่เหล็กสมอง (magnetic resonance imaging, MRI)

เครื่อง MRI มีลักษณะเหมือนอุโมงค์แคบๆ ที่ผู้ป่วยจะต้องนอนตัวแข็ง (นอนนิ่งสนิทใน การตรวจ จึงต้องมัดตรึงศีรษะ แขน ลำตัว และขาของผู้ป่วยไว้กับพื้น เตียงที่เลื่อนเข้าและออกจากอุโมงค์ แคบๆ นั้น) ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย จึงรู้สึกกลัว และรู้สึกเหมือนว่าตน กำลังถูกมัดตราสัง แล้วเลื่อนเข้า ไปไว้ในโลงศพ บางคนถึงกับตกใจ และร้องโวยวาย ดิ้นรน สับสน จน ไม่สามารถตรวจได้

ผู้ป่วยรายนี้ไม่ร้องหรือดิ้นรน แต่หลังกลับจากการตรวจ MRI ยิ่งซึมมากขึ้น มีอาการเลอะเลือน (หลง) อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และผลการตรวจ MRI ก็ไม่พบ (เลือดคั่งในสมองมีแต่สมองฝ่อเล็กน้อยตามอายุ)

ตลอดระยะเวลาหลายวันที่ผ่านมา ระดับเม็ดเลือดแดงของผู้ป่วยลดลงๆ ส่วนหนึ่งคงเกิดจาก การเจาะเลือดตรวจแทบทุกวันและ การสร้างเลือดไม่เพียงพอ แต่อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการเสียเลือดทางกระเพาะลำไส้ เพราะตรวจพบซากเลือดในอุจจาระอันอาจเกิดจากยาแอสไพริน

ผู้ป่วยจึงถูกส่องกล้องตรวจกระเพาะและลำไส้เล็กส่วนต้น ปรากฏว่าปกติ จึงถูกงดอาหารและ น้ำต่อเพื่อตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยถูกสวนอุจจาระจนลำไส้ใหญ่สะอาด แล้วจึงส่องกล้องตรวจได้ ก็ไม่ปรากฏแผลหรือความผิดปกติ

หลังส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ได้ ๑ วัน ไข้ขึ้นสูง หนาวสั่น เพ้อ คลั่ง และสับสน ผู้ป่วยหาว่าหมอและพยาบาลพยายามจะฆ่าตน โดยใส่ยาพิษลงในอาหาร และเอา ยาบ้ามาฉีดและมาให้ตนกิน จนตนเองเลอะเลือนและเป็นบ้า

ผู้ป่วยจึงปฏิเสธที่จะกินอาหาร กินยา ฉีดยา และดิ้นรนจะกลับบ้าน จึงถูกจับมัดตรึงไว้กับเตียง และฉีดยาระงับประสาทให้จนหลับ ได้รับการรักษาแบบโรคจิตหลอน และได้ยาปฏิชีวนะรักษา อาการไข้สูงจากการติดเชื้อ

หลังได้รับยารักษาอาการทางจิตได้ ๕ วัน อาการเพ้อคลั่ง ดิ้นรนลดลง แต่ยังหวาดระแวงหมอและพยาบาลอยู่ หมอและญาติ จึงปรึกษาหารือกัน และตัด สินใจร่วมกันว่าควรจะให้ผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวที่บ้านจังหวัดน่าน

ผู้ป่วยดีขึ้นอย่างรวดเร็ว หลัง จากได้กลับไปอยู่ที่บ้านที่จังหวัดน่าน และภายใน ๑ สัปดาห์ก็หาย และกลับสู่สภาพเดิมก่อนที่จะเดิน ทางลงมากรุงเทพฯ
ตัวอย่างผู้ป่วยรายนี้ได้ให้บทเรียนที่สำคัญหลายอย่าง คือ
๑. ความหวังดีของลูกๆ ที่อยากให้พ่อหลบลมหนาวมาอยู่ที่กรุงเทพฯ กลับทำให้พ่อเจ็บป่วยแทบจะเอาชีวิตไม่รอด
เรามักจะลืมกันเสมอๆ ว่า การเปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนภูมิอากาศ เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม (ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต) เปลี่ยนอาหาร และวิถีทางการดำรงชีวิต และอื่นๆ มักจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยเสมอ โดยเฉพาะในคนที่อ่อนแอ เด็ก คนสูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัวอยู่

แม้แต่คนที่แข็งแรงและหนุ่ม สาว เวลาไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือ สถานที่ที่มีภูมิอากาศแตกต่างจาก ที่ตนเคยอาศัยอยู่มาก ก็ยังเจ็บ ป่วยได้ง่ายในขณะที่กำลังเที่ยวอยู่ หรือหลังกลับจากการเที่ยวแล้วนอกจากนั้น ผู้ป่วยรายนี้อยู่ ที่น่านมาตลอดชีวิต มีความเคย ชินกับสภาพชีวิตที่น่าน ที่มีภรรยา เพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน และสัตว์เลี้ยง แต่เมื่อมาอยู่กรุงเทพฯ ก็เหมือนถูกพรากจากสิ่งที่ตนรักและเคยชิน จึงเกิดความหงอยเหงา โดยเฉพาะ ในเวลากลางวันทั้งวัน ที่ลูกๆ ไปทำงานหมด ทิ้งตนให้อยู่บ้านตาม ลำพัง แม้จะมีคนคอยรับใช้ แต่ก็ไม่สามารถทดแทนสิ่งต่างๆ ที่ขาดหายไปได้

ภรรยาไม่ได้ลงมาด้วย เพราะเป็นอัมพาต จึงอยู่ที่น่านที่มีลูกหลานอีกส่วนหนึ่งคอยดูแลอยู่ ความห่วงใยภรรยาก็เป็นอีกสาเหตุ หนึ่งที่ทำให้เกิดอาการเศร้าซึม เบื่ออาหาร และหลับไม่สนิทคนที่เคยจากบ้านไปไกลๆ จะเข้าใจถึงอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากการคิดถึงบ้านได้ดี

ลูกๆ ที่พาพ่อมาอยู่กรุงเทพฯ ลืมคิดถึงความจริงข้อนี้ ประกอบกับ พ่อเป็นคนที่อดทน ไม่บ่นไม่บอกถึงความในใจของตน ลูกๆ จึงคิด ว่าอาการต่างๆ ของพ่อเกิดจากโรค ภัยไข้เจ็บที่รุนแรง จึงพาพ่อไปตรวจร่างกายเพื่อตรวจ (เช็ก) สุขภาพ
๒. การตรวจสุขภาพ แบบที่ทำกันทั่วๆ ไป ไม่ใช่การตรวจสุขภาพ แต่เป็นการตรวจเลือด อุจจาระ ปัสสาวะ เอกซเรย์ และอื่นๆ ทางห้องปฏิบัติการ (หรือเรียกย่อๆ ว่า" ตรวจแล็บ ") เป็นสำคัญ จึงไม่ สามารถรู้ถึงปัญหาและความทุกข์ (ทุกขภาพ) ที่แท้จริงของผู้ป่วยได้

ดังเช่นกรณีผู้ป่วยรายนี้ ความทุกข์ที่แท้จริงของผู้ป่วย คือ ความคิดถึงบ้าน ความห่วงใยภรรยาที่เป็นอัมพาตอยู่ที่บ้าน ความเหงา หงอยที่ต้องอยู่บ้านกรุงเทพฯ เพียงคนเดียว เวลาลูกๆ ไปทำงาน เป็น ต้น ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า เบื่อ อาหาร เงียบขรึม ไม่ค่อยพูด กินไม่ได้ นอนไม่หลับ

แต่การตรวจแล็บ โดยเฉพาะ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ กลับหันเหความ สนใจของหมอไปที่โรคหัวใจขาดเลือด จึงให้ยารักษาโรคหัวใจขาด เลือด ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเกิดอาการวูบและหกล้มหัวแตก จนต้องเข้าโรงพยาบาล และเกิดภาวะ แทรกซ้อนต่างๆ ตามมา เกือบถึงชีวิต
สุขภาพ หรือสุขภาวะ คือ ภาวะแห่งความสุขอันสมบูรณ์ทั้งทางกาย จิตใจ และสังคม ดังนั้น คนที่จะรู้ว่าตนเองมีความสุขหรือความทุกข์ก็คือคนคนนั้น คนอื่นจะไปรู้ดีกว่าคนคนนั้นได้อย่างไร

การตรวจสุขภาพที่ดีและถูก ต้องที่สุด ก็คือ การตรวจตนเอง และคอยสำรวจตนเองอยู่เสมอว่า มีความสุขและความทุกข์อย่างไรบ้าง ความสุขและความทุกข์เหล่า นั้นเกิดจากสาเหตุอะไร ถ้าไม่รู้จึงจะไปปรึกษาหมอหรือผู้ที่รู้ในเรื่องนั้นๆ เพื่อจะได้แก้ไขเสีย

การตรวจเลือดและตรวจแล็บ ต่างๆ ไม่สามารถบอกความสุขหรือความทุกข์ได้ บอกได้แต่ว่าผลที่ออกมานั้น "ปกติ" หรือ "ผิดปกติ" ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่า "ไม่เป็นโรค" หรือ "เป็นโรค" แต่แปลว่า "เหมือนคนส่วนใหญ่" หรือ "ไม่เหมือนคนส่วนใหญ่" เท่านั้น


การทึกทักผลแล็บที่ผิดปกติ ว่า "เป็นโรค" ทำให้เกิด "โรคประสาท" จากความเครียดกังวล และทำให้ต้องได้รับการตรวจรักษา เพิ่มเติม ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ต่างๆ ดังเช่นในกรณีผู้ป่วยรายนี้


บุคคลที่ชอบให้แพทย์สั่งตรวจ "แล็บ" มากๆ เพราะคิดว่าตนเบิก ได้ หรือตนจ่ายได้ จึงมักพบว่าจะ มี "แล็บ" ตัวใดตัวหนึ่งหรือหลาย ตัวผิดปกติเสมอ "ผลบวกเท็จ" (false positive) เหล่านี้จะนำมา ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมและการรักษา ที่ไม่จำเป็นได้ ในขณะเดียวกัน "ผลลบเท็จ" (false negative) ก็จะทำให้เกิดความประมาท ไม่ดูแลตนเองเท่าที่ควร ทำให้โรคกำเริบและเป็นอันตรายได้
๓. การใช้ยาโดยไม่เข้าใจถึงพิษ (ผลข้างเคียง) ของยา ดังในกรณีนี้ที่ผู้ป่วยอมยาใต้ลิ้นแก้อาการแน่นอก แล้วลุกขึ้นเดินไปห้องน้ำ จนเกิดอาการวูบและล้มลง หัวฟาดขอบอ่างน้ำจนหัวแตก

เพราะยาอมใต้ลิ้นแก้อาการ เจ็บหัวใจ เป็นยาขยายหลอดเลือด ทำให้ความดันเลือดตก โดยเฉพาะ ในท่ายืน เลือดจะตกไปอยู่ที่เท้าและท้องมาก ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมอง (ที่อยู่สูงสุด) ไม่พอ จึงเกิด อาการวูบทำให้ล้มลงได้

แพทย์หรือเภสัชกรที่จ่ายยา นี้ให้ผู้ป่วย จึงต้องแนะนำให้ผู้ป่วย อมยาในท่านั่ง และให้นั่งอยู่อย่างนั้น เป็นเวลาอย่างน้อย ๑๐-๑๕ นาทีหลังอมยา และห้ามลุกไปไหน ถ้ามีอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หลัง อมยา มิฉะนั้นอาจเกิดอาการวูบได้

อย่างไรก็ตาม บางครั้งแพทย์ และเภสัชกรได้แนะนำผู้ป่วยแล้ว แต่การแนะนำ (อย่างรวดเร็ว) เพียงครั้งเดียว และผู้ป่วยมียาหลาย ชนิด ทำให้ผู้ป่วยจำคำแนะนำไม่ได้ และคิดว่าแพทย์และเภสัชกรไม่ได้เตือนตนไว้ก่อน
๔. ผลของการตรวจแล็บ เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้มีอาการแน่นอกและอมยาแล้วหาย หมอจึงสงสัยว่าจะเป็นอาการเจ็บหัวใจ จึงได้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และพบว่ามันเปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้ สงสัยว่าจะเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จึงรับผู้ป่วยไว้ใน CCU ซึ่งมีเครื่องไม้เครื่อง มือและสายระโยงระยางพร้อมกับ เสียงจากเครื่องเฝ้าดูชีพจร การหายใจและอื่นๆ

ทำให้ผู้ป่วยซึ่งไม่เคยผ่านประสบการณ์เช่นนี้ เกิดความตื่นกลัว และจิตใจเปลี่ยนแปลงไป จน แพทย์สงสัยว่าอาจจะมีเลือดคั่งใน สมอง จึงส่งไปตรวจ MRI สมอง ทำให้ผู้ป่วยตกใจมากขึ้น จนเกิดอาการทางจิตมากขึ้น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และซึมมากขึ้น

ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ที่ทำให้สงสัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจ ตายเฉียบพลัน เรียกว่า "ผลบวก เท็จ" เพราะการตรวจซ้ำใหม่ในวันต่อๆ มา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และการตรวจก็ไม่พบสิ่งที่แสดงว่า กล้ามเนื้อหัวใจตาย

ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการตรวจ MRI ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะทางจิต เพราะความตกใจ กลัวกับห้องพักรักษาตัวที่ประกอบ ด้วยอุปกรณ์มากมาย และลักษณะ การตรวจ MRI ดังที่กล่าวไว้ในช่วงแรก

การตรวจแล็บต่างๆ แม้จะเป็นการตรวจที่ไม่เจ็บปวด แต่ก็อาจให้ผลแทรกซ้อนร้ายแรงทางจิตใจที่เราอาจไม่คาดคิดได้
๕. การส่องกล้องตรวจกระเพาะลำไส้ เป็นการตรวจที่เจ็บและรำคาญ เพราะต้องสอดกล้อง เข้าทางปากหรือจมูก และทางก้น (ทวารหนัก) และจะทำได้ต้อง  อดอาหารและน้ำอย่างน้อยๆ ๑๒ ชั่วโมง ถ้าส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ก็ต้องให้ยาระบายและสวนอุจจาระให้ลำไส้สะอาดด้วย ซึ่งล้วนทำให้ผู้ป่วยไม่สบายกายและ ใจได้มากๆ

นอกจากนั้น ในกรณีนี้ยังเกิด ภาวะแทรกซ้อน ทำให้เชื้อโรคในลำไส้ใหญ่แทรกตัวเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ไข้ขึ้นสูง และหนาวสั่น จากเลือดเป็นพิษ ทำให้อาการทางจิตของผู้ป่วยกำเริบขึ้นอย่างรุนแรง จนเกิดภาวะจิตหลอน หา ว่าแพทย์พยาบาลพยายามจะฆ่าตน และให้ยาบ้าตนกินจนตนเป็นบ้า

การตรวจพิเศษต่างๆ มี อันตรายแทรกซ้อนได้เสมอ ถ้าไม่ จำเป็นและหลีกเลี่ยงได้ ไม่ควรจะทำการตรวจนั้น โดยเฉพาะในเด็ก คนชรา และคนที่ร่างกายอ่อนแอ เป็นต้น
โดยสรุป ผู้ป่วยรายที่ ๒ นี้ ถ้าไม่ได้ถูกย้ายมาเที่ยวกรุงเทพฯ คงจะไม่เกิดอาการเจ็บป่วยจนต้อง เข้าโรงพยาบาล ความหวังดีของลูกๆ กลับทำให้ผู้ป่วยคิดถึงบ้าน คิดถึงภรรยา และสิ่งอื่นๆ ที่บ้าน จนเกิดอาการทางกาย ทำให้ลูกคิด ว่าเจ็บป่วยมาก จึงนำมา "ตรวจ สุขภาพ"

ทำให้ต้องได้รับยาเพิ่มและเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา จากการตรวจและการรักษาเพิ่ม เติมขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้จิตใจที่ห่วง กังวล และเครียดอยู่แล้ว ยิ่งเครียด มากขึ้น จนในที่สุดเกิดภาวะจิตหลอน และต้องนำกลับบ้านที่จังหวัดน่าน ผู้ป่วยจึงดีขึ้นอย่างรวดเร็วและกลับคืนสู่ภาวะปกติดังเดิม

ข้อมูลสื่อ

288-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 288
เมษายน 2546
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์