• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โยคะสำหรับโรคทั่วๆ ไป : ปวดหลัง (ต่อ)

โยคะสำหรับโรคทั่วๆ ไป : ปวดหลัง (ต่อ)

การเสริมสร้างสุขภาพจิต

คราวที่แล้ว เราได้อธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างกาย ลมหายใจ และจิต คราวนี้เรามาพิจารณาในรายละเอียดของจิตอีกแง่หนึ่ง ในเรื่องของอารมณ์ ซึ่งมีผลต่อการดูแลอาการปวดหลังด้วยเช่นกัน

บางครั้งเรามักจะเผลอมองโลกในแง่ลบ ด้วยความ โกรธ ความขุ่นเคือง ความเกลียด ความน้อยเนื้อต่ำใจความเคียดแค้น อันส่งผลต่อการกระทำ ส่งผลต่อชีวิตของเรา กระทบต่อไปยังสุขภาพของเรา ตลอดจนคนข้างตัว ซึ่งไม่มีผลดีแต่อย่างใด "การเสริมสร้างสุขภาพจิต" ช่วย ให้เราปรับความคิดจากแง่ลบเป็นแง่บวกแทน

มีเทคนิค ๒ แบบ ที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิต อย่าง แรกเป็นแบบ"เพิ่ม-เติม" คือการคอยปลุกอารมณ์เชิงบวก คอยเติมอารมณ์เชิงบวก ขณะเดียวกัน ก็ลดสภาวะอารมณ์ในเชิงลบ เราอาจทำได้ด้วยการร้องเพลง เต้นรำ สวดท่องคำ หรือการผ่อนคลายอย่างลึก วิธีเหล่านี้ได้รับ การนำไปใช้ ทั้งในทางศาสนาและในจิตบำบัดสมัยใหม่เพื่อเพิ่มสภาวะเชิงบวกในใจ
ส่วนในชีวิตประจำวัน เราอาจใช้แบบที่ ๒ "แผ่กว้าง" คือ การเลือกเอาอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ของเรา เช่น ความโกรธ ตั้งใจว่าจะหลีกเลี่ยงอารมณ์นี้สัก ๒-๓ เดือน ทุกคืนก่อนนอน ทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน คอยบันทึกว่าวันนี้เราเผลอโกรธไปกี่ครั้ง เช้าวันรุ่งขึ้นตั้งใจที่ลดจำนวนครั้งลง ในเบื้องต้นเราอาจจะยังหลุดยังเผลอโกรธบ่อย แต่ในไม่ช้าเราจะมีสติรู้ตัวเมื่อ อารมณ์เชิงลบก่อตัวขึ้นในใจเรา  วิธีนี้จะช่วยลดความรุนแรงของอารมณ์ และอาจช่วยขจัดอารมณ์เชิงลบนั้นให้หายไปได้

เทคนิคการระลึกถึงความสงบ และเทคนิคการเข้า สู่ความสงบ
ลองระลึกถึงความสงบที่เราได้รับจากการฝึกสมาธิ คอยระลึกถึงความสงบนี้ตลอดทั้งวัน เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ตึงเครียด ให้นึกถึงสภาวะสงบนั้น (การหมั่น ฝึกทำจะเพิ่มความชำนาญในการทำ) วิธีนี้ช่วยให้เราถอยตัวออกจากการคลุกอยู่ในปัญหา เมื่อเราไม่ติดอยู่ใน ปัญหา เราก็มองปัญหาได้อย่างรอบด้านเป็นจริง ทำให้ เราแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ไม่ใช่ด้วยอารมณ์ และเมื่อ มีเวลาว่างหมั่น "เข้าสู่ความสงบ" ดีกว่าการปล่อยให้จิตหมกมุ่นอยู่กับความคิด

การผ่อนคลายอย่างลึก
นอนหงาย จัดตัวในอริยาบถที่สบาย ขาแยกกันประมาณ ๑ ฟุต มือวางห่างลำตัวประมาณ ๑ ฟุต ฝ่ามือ หงาย ปล่อยนิ้วมืองอเล็กน้อยตามธรรมชาติ จัดปรับศีรษะ ให้ถนัด หลับตา พักร่างกายให้สบาย มีสติรู้ ไม่เผลอหลับ นำสติมารับรู้ความผ่อนคลายตามอวัยวะส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย ทำจนครบทั้งร่างกายใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที ผลก็คือ ทุกส่วน ของกายผ่อนคลายเต็มที่ ขณะเดียวกัน จิตที่ตามรู้ การผ่อนคลายของกาย จะได้รับการผ่อนคลายไปพร้อมๆ กัน เมื่อทำเทคนิคนี้เสร็จ ผู้ทำจะรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ทั้งกายและใจ

ตัวอย่าง การไล่ความรู้สึกไปตามร่างกาย
ส่วนล่าง นิ้วเท้า ฝ่าเท้า ส้นเท้า ข้อเท้า น่อง เข่า ต้นขา สะโพก เอว
ส่วนกลาง ทรวงอก กระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อหลัง ไหล่ ต้นแขน ข้อศอก ปลายแขน ข้อมือ ฝ่ามือ นิ้วมือ
ส่วนบน คอ คาง ริมฝีปาก ฟัน เหงือก ลิ้น หลอดลม จมูก แก้ม ตา คิ้ว หว่างคิ้ว หน้าผาก ขมับ ใบหู ทั่วหนังศีรษะ กระหม่อม

ข้อมูลสื่อ

280-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 280
สิงหาคม 2545
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์