• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง (ตอนที่ ๖)

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง (ตอนที่ ๖)

รายที่ ๕ : ชายไทยอายุ ๔๐ ปี เป็นแพทย์ประกอบอาชีพอิสระ มาที่ห้องฉุกเฉินด้วยอาการเจ็บแน่นอกและเหนื่อยมา ๑ ชั่วโมง ญาติซึ่งเป็นแพทย์ให้ประวัติว่า ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่งมาหลายปี แต่ครั้งนี้ญาติให้มาที่โรงพยาบาลนี้ เพราะญาติทำงานอยู่ที่นี่จะได้ช่วยดูแล และเห็นว่ารักษาที่เก่ามาหลาย ปีแล้วไม่ดีขึ้น

ญาติ : "น้องเป็นโรคหัวใจขาดเลือดค่ะ รักษามาหลายปี เคยสวนหัวใจ ๒ ครั้ง ยังมีอาการเป็นๆหายๆ วันนี้มีอาการมาก อมยาไปหลายเม็ดไม่ดีขึ้น อาจารย์ช่วยดูให้หน่อยสิคะ"
อาจารย์ : "ครับ แล้วน้องหมออยู่ไหนล่ะ พาไปสิ"

ทั้งสองเดินไปหาคนไข้ ซึ่งเป็นชายวัยกลางคนนอนราบอยู่บนเตียงเข็นในห้องฉุกเฉิน ไม่มีหมอนหนุนศีรษะ หลับตา และไม่สนใจกับเสียงจ้อกแจ้กจอแจ อาจารย์หันไปหาแพทย์ประจำบ้านซึ่งเป็นแพทย์เวรในห้องฉุกเฉิน

อาจารย์ : "ว่าไงหมอ คนไข้คนนี้เป็นอย่างไรบ้าง"
แพทย์ประจำบ้าน : "คนไข้ไม่ให้ความร่วมมือครับ ถามประวัติก็ไม่ตอบ ตรวจร่างกายไม่พบอะไรผิดปกติ ตรวจอีซีจี (ECG หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจ) ก็ปกติครับ ยังไม่ได้ทำอะไรต่อ เพราะญาติอยากให้อาจารย์ตรวจก่อนครับ"

อาจารย์จึงหันไปพูดกับคนไข้ ซึ่งยังนอนหลับตาอยู่เหมือนเดิม โดยไม่แสดงปฏิกิริยาอะไรต่อการโต้ตอบ ของอาจารย์และแพทย์ประจำบ้านซึ่งยืนพูดกันอยู่ข้างเตียงของตน

อาจารย์ : "สวัสดีครับคุณหมอ ตอนนี้รู้สึกดีขึ้นหรือยังครับ หรือยังเจ็บหน้าอกอยู่ครับ"

คนไข้เงียบ ไม่ตอบคำถาม ต้องถามซ้ำอีก ๒ ครั้ง จึงลืมตาขึ้น กะพริบตาบ่อยๆ เวลาตอบคำถาม

คนไข้ : "ยังเจ็บอยู่"
อาจารย์ : "เจ็บตรงไหนครับ"

คนไข้ชี้ไปที่กลางอก

อาจารย์ : "แล้วร้าวไปที่ไหนหรือไม่ครับ"
คนไข้ : "ไปที่ไหล่และที่แขนทั้ง ๒ ข้าง"

อาจารย์ : "ตั้งแต่เริ่มเป็นจนถึงขณะนี้ ดีขึ้นหรือเลวลงครับ"
คนไข้ : "ดีขึ้นบ้างแล้ว แต่ยังไม่หายหมด"

อาจารย์ : "มีอาการอื่นอีกไหมครับ"
คนไข้ : "รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ และคลื่นไส้"

อาจารย์ : "หมออมยาใต้ลิ้น (แก้อาการ เจ็บหัวใจ) ไปกี่เม็ดครับ"
คนไข้ : "อมไปหลายเม็ด จำไม่ได้ว่ากี่เม็ด จนลิ้นแสบไปหมด"

อาจารย์ : "ถ้าอย่างนั้น อาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ และคลื่นไส้คงเกิดจากฤทธิ์ของยาอมใต้ลิ้น หมอไม่ต้องตกใจ เดี๋ยวมันก็จะหายไปเอง พี่ของหมอบอกว่า หมอไปสวนหัวใจมา ๒ ครั้ง ผลเป็นอย่างไรบ้าง"
คนไข้ : "เขาบอกว่าหลอดเลือดหัวใจที่ฉีดสีดูเป็นปกติ เขาสงสัยว่าน่าจะเป็นที่หลอดเลือดเล็กๆ มองไม่เห็นด้วยการฉีดสีครับ"

อาจารย์ : "หมอสวนหัวใจเมื่อไร"
คนไข้ : "ครั้งแรกเมื่อ ๓ ปีก่อนครับ ครั้งหลังเมื่อต้นปีนี้เอง แล้วก็ปกติทั้ง ๒ ครั้งครับ"

อาจารย์ : "แล้วหมอกินยาอะไรอยู่บ้าง นอกจากยาอมใต้ลิ้น"
ญาติ : "นี่ค่ะ อาจารย์ ยาทั้งหมดที่น้องกินอยู่"

ปรากฏว่า คนไข้ได้ยาหลายอย่าง คือ ยาแก้โรคหัวใจขาดเลือด ๓ ชนิด ยาคลายกังวล ๒ ชนิด ยานอนหลับ ๑ ชนิด รวมทั้งหมดแล้วมียาอยู่ ๖ อย่างด้วยกัน

อาจารย์ : "ยาที่หมอกินก็ถูกต้องแล้ว สำหรับรักษาโรคหัวใจขาดเลือด แต่ถ้าหมอยังมีอาการบ่อยๆ คงต้องหาสาเหตุอื่น ผมขอคุยกับหมอที่เคยรักษาหมอมาก่อนจะได้ไหม หมอรักษาอยู่กับใครล่ะ"

คนไข้ให้ชื่อหมอและโรงพยาบาลที่เคยรักษาอยู่เป็นประจำ อาจารย์จึงโทรศัพท์ไปหาหมอคนนั้น

อาจารย์ : "คุณหมอจำหมอวิโรจน์ที่เป็นคนไข้ประจำของคุณหมอได้ไหม วันนี้หมอวิโรจน์มาที่ห้องฉุกเฉินที่นี่ด้วยอาการเจ็บแน่นอก และอมยาแล้วไม่ดีขึ้น ผมจึงอยากขอทราบประวัติการเจ็บป่วย ผลของการสวนหัวใจและการดำเนินโรคของหมอวิโรจน์ ที่หมอเคยตรวจรักษาไว้หมอพอจะจำได้ไหมครับ"
หมอคนเก่า : "จำได้ครับอาจารย์ จำได้ดี เขาเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันครับ ผลการสวนหัวใจทั้ง ๒ ครั้ง ปกติดีทุกอย่างครับ หลอดเลือดหัวใจ ไม่มีรอยขรุขระหรือตีบแม้แต่น้อย เราเลยสงสัยว่าอาจจะเป็นที่หลอดเลือดหัวใจเล็กๆได้ไหม แต่ธัลเลียม-๒๐๑ ก็ปกติครับ (thallium-201 เป็นสารกัมมันตภาพรังสีที่ใช้ในการถ่ายภาพรังสีหัวใจ เพื่อดูว่ากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไหมในขณะพัก และ/หรือในขณะออกกำลัง) "หมอวิโรจน์เป็นคนขี้กังวลครับ เราเลยให้ยาป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือดไว้ก่อนครับ"

อาจารย์ : 
"เท่าที่ผมได้ดูคุณหมอ วิโรจน์เช้านี้ คุณหมอวิโรจน์ไม่มีอาการร้ายแรงหรือฉุกเฉินอะไร  คลื่นไฟฟ้าหัวใจก็ปกติ ผมจะส่งคุณหมอวิโรจน์กลับไปให้หมอดูแลต่อ จะดีไหมครับ"
หมอคนเก่า : "ได้ครับ อาจารย์ส่งมาเลย ผมจะดูแลต่อเองครับ"

อาจารย์จึงกลับไปหาคนไข้และ เล่าเรื่องที่ได้ติดต่อกับหมอคนเก่าของคนไข้ให้ฟัง และแนะนำให้คนไข้กลับไปหาหมอคนเก่า ซึ่งได้ดูแลคนไข้มาหลายปีและรู้จักคนไข้  ดีกว่า รู้จักยาที่ใช้กับคนไข้ว่าตัวไหน ได้ผล ตัวไหนไม่ได้ผล การดูแลรักษาจะได้ต่อเนื่อง และไม่ต้องมา "ลองผิดลองถูก" กันใหม่

คนไข้ยินยอมกลับไปรักษาที่เดิม แต่ญาติกลับไม่ยอมโดยอ้างว่า ที่เดิมรักษาไม่ได้ผล และถ้ารักษาที่นี่ ตนจะได้ช่วยดูแลและอำนวยความสะดวกให้คนไข้ได้ อาจารย์จึงพาญาติมาพูดกันข้างนอก ไม่ให้คนไข้ได้ยิน

อาจารย์ : "พูดกันจริงๆนะหมอ คนไข้ในขณะนี้ไม่มีอะไรฉุกเฉินหรืออันตรายเลย และผลการตรวจที่ผ่านๆมาทั้งหมดไม่พบอะไรที่ผิดปกติ พอที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ และจากที่ได้พูดคุยกับคนไข้เช้านี้ ผมคิดว่าคนไข้มีปัญหาทางจิตใจมากกว่าอาการเจ็บแน่นอก ครั้งนี้ก็ไม่ใช่อาการเจ็บหัวใจ เพราะ คนไข้นอนหงาย (ไม่หนุนหมอน)ได้อย่างสบายในขณะเจ็บ เจ็บอยู่นานกว่าชั่วโมงโดยคลื่นไฟฟ้าหัวใจยังปกติ และยิ่งได้ทราบประวัติการตรวจรักษาเดิมด้วยแล้ว ยิ่งทำให้มั่นใจว่า ไม่ใช่ปัญหาโรคหัวใจขาดเลือด แต่เป็นปัญหาของจิตใจ"
ญาติ : "ถ้าอย่างนั้น อาจารย์ส่งปรึกษาจิตแพทย์ที่นี่ได้ไหมคะ"

ญาติพยายามที่จะไม่ให้มีการส่งคนไข้กลับไปที่เดิม แต่อาจารย์ก็เห็นว่าสมควรให้จิตแพทย์ดูแลคนไข้ เพราะคนไข้มีอาการทางด้านจิตใจ ไม่ใช่ด้านหัวใจหรือโรคหัวใจ จึงส่งคนไข้ไปหาจิตแพทย์ จิตแพทย์ตรวจแล้วบันทึกไว้ในแฟ้มว่า คนไข้มีอาการวิตกกังวล และให้ยาคลายกังวลไป พร้อมกับแนะนำให้ไปพบหมอเดิมที่รออยู่ คนไข้ก็ได้ไปพบหมอเดิม ซึ่งก็ให้กำลังใจ และให้คนไข้กินยาเดิมต่อ

กลางดึกคืนวันนั้น ญาติพบคนไข้นอนไม่รู้สึกตัวอยู่ในห้อง จึงรีบนำคนไข้มาที่ห้องฉุกเฉินอีกครั้งหนึ่ง คนไข้อยู่ในสภาพหมดสติ (ไม่รู้สึกตัว) อย่างสมบูรณ์ ชีพจรคลำไม่ได้ และไม่หายใจ แพทย์เวรคืนนั้นจึงทำการฟื้นชีวิตด้วยการปั๊มหัวใจ ใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ยาช่วยกระตุ้นหัวใจ และการหายใจ ให้ยารักษาระดับความดันเลือด และ อื่นๆ แล้วแพทย์เวรก็ถูกญาติคนไข้ที่เป็นหมอขอให้โทรศัพท์ไปเชิญอาจารย์ให้มาดูคนไข้ เพราะเข้าใจว่า คนไข้น่าจะเป็นโรคหัวใจวายเฉียบพลัน จึงหมดสติทันที และต้องทำการฟื้นชีวิต

แพทย์ประจำบ้าน : "สวัสดีครับอาจารย์ ผมขอโทษที่รบกวนอาจารย์กลางดึก คนไข้ที่อาจารย์ดูไว้เมื่อเช้านี้ที่เป็นหมอและเคยรักษาโรคหัวใจที่โรงพยาบาลอื่นมาก่อน ญาติพบในห้องนอนครับ ในสภาพไม่รู้สึกตัว คลำชีพจรไม่ได้ และไม่หายใจ จึงพามา พวกเราได้ช่วยกันฟื้นชีวิตให้ครับ"
อาจารย์ : "แล้วคนไข้ฟื้นหรือยัง"

แพทย์ประจำบ้าน : "คนไข้ยังไม่รู้สึกตัวครับ แต่หัวใจเต้นเป็นจังหวะปกติแล้ว แต่เต้นเร็ว คนไข้ไม่หายใจเอง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเต็มที่ และความดันเลือดยังต่ำมาก ขนาดที่ใช้ยาเร่งความดันเลือดเต็มที่แล้วครับ"
อาจารย์ : "คนไข้มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเป็นอัมพาตหรือไม่ และรูม่านตาเป็นอย่างไร"

แพทย์ประจำบ้าน : "ไม่มีส่วนไหนเป็นอัมพาตชัดเจน แต่อ่อนปวกเปียกไปหมด รูม่านตาประมาณ  ๒ มิลลิเมตร(เส้นผ่าศูนย์กลาง) เท่ากันทั้ง ๒ ข้าง และไม่มีปฏิกิริยา ต่อแสง ร่างกายอ่อนปวกเปียกทั้งตัวไม่มีรีเฟลกซ์(ปฏิกิริยาตอบสนอง ต่อสิ่งกระตุ้น)ใดๆ เลย"
อาจารย์ : "สิ่งที่หมอเล่ามาทั้งหมด ไม่ใช่ลักษณะของหัวใจวายเฉียบพลัน และไม่ใช่ลักษณะของหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบตัน และถ้าร่วมกับสิ่งที่ผมได้เห็นเมื่อเช้านี้ ผมคิดว่าคนไข้กินยาเกินขนาด (กินยาฆ่าตัวตาย) มากกว่า หมอรีบล้างท้อง ให้น้ำเกลือเข้าเส้นเร็วๆ เพื่อเพิ่มความดันเลือด และพยายามรักษาระดับความดันเลือดไว้ให้ได้ และตามอาจารย์ทางด้านพิษวิทยาให้มาช่วยดูแลคนไข้ด้วย ผมไปโรงพยาบาลก็คงไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ แต่ถ้าหมอรักษาระดับความดันเลือด และสัญญาณชีพ (vital signs) ต่างๆไว้ไม่ได้ ให้โทรศัพท์บอกผมอีกครั้ง"

แพทย์ประจำบ้านได้จัดการตามสั่ง อาจารย์ทางพิษวิทยาได้เข้ามาดูคนไข้ และก็คิดว่าคนไข้คงกินยาเกินขนาดเช่นเดียวกัน หลังล้างท้องแล้ว จึงให้ผงถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) เพื่อดูดซับยาที่อาจหลงเหลืออยู่ในกระเพาะ ลำไส้ แล้วจึงย้ายคนไข้เข้าไอซียู (ICU หรือ Intensive Care Unit) เพื่อดูแลรักษาต่อ

ข้อมูลสื่อ

241-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 241
พฤษภาคม 2542
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์