• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง (ตอนที่ ๗)

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง (ตอนที่ ๗)


รุ่งเช้า คนไข้ก็ยังหมดสติอย่างสมบูรณ์ ตัวอ่อนปวกเปียก ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นเหมือนเดิม หัวใจเต้นเร็วแต่เต้นในจังหวะปกติ ความดันเลือดยังค่อนข้างต่ำ แม้จะให้ยาเร่งอยู่เต็มที่ แต่ก็สูงกว่าเมื่อคืนและยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเต็มที่

อาจารย์ : "มาดูคนไข้เช้านี้แล้ว ผมก็ยังคิดว่าคนไข้กินยาเกินขนาด แม้ญาติจะยืนยันว่าไม่ได้กินยา เพราะไม่เคยมีประวัติฆ่าตัวตายมาก่อน และญาติก็ยังคิดว่าเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันจากโรคหัวใจขาดเลือด แต่ผมดูแล้วดูอีก ก็ไม่มีลักษณะใดที่เข้าได้กับโรคหัวใจขาดเลือด คลื่นไฟฟ้าหัวใจเมื่อคืนและเช้านี้ก็ไม่มีลักษณะของหัวใจขาดเลือด ดังนั้น หมอรักษาแบบ "กินยาเกินขนาด" ไปก่อน อย่าไปกังวลเรื่องอื่น แล้วอาจารย์ทางพิษวิทยาว่าอย่างไร"

แพทย์ประจำบ้าน : "อาจารย์ทาง พิษวิทยาก็คิดว่า น่าจะ "กินยาเกินขนาด" เหมือนกันครับ แต่ญาติคนไข้เซ้าซี้มาก จึงได้เชิญอาจารย์ทางสมองมาดูด้วย เพราะกลัวว่าอาจมีเลือดออกในสมอง หรือสมองขาดเลือด แต่ไปตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มาแล้ว ก็ปกติดีครับ"

อาจารย์ : "แล้วอาจารย์ทางพิษวิทยา คิดว่าเกิดจากยาหรือสารพิษตัวไหน แล้วไม่ทำอะไรเพิ่มเติมหรือ"

แพทย์ประจำบ้าน : "อาจารย์คิดว่าน่าจะเกิดจากยานอนหลับ แต่บังเอิญ เป็นวันเสาร์-อาทิตย์ จึงไม่สามารถตรวจ (ทางห้องปฏิบัติการ) ว่าเกิดจากยาหรือสารพิษอะไรแน่ และเนื่องจากความดันเลือดยังค่อนข้างต่ำ อาจารย์จึงยังไม่กล้าฟอกเลือดเพื่อล้างเอาพิษออกครับ เพราะกลัวว่าจะทำให้คนไข้ช็อก (เลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่พอเพียง)ได้ จึงให้แต่ผงถ่านกัมมันต์ไปก่อนครับ"

อาจารย์ : "ดีแล้ว หมอรักษาคนไข้ได้ถูกต้องแล้ว แม้คนไข้จะยังไม่ฟื้นคืนสติ และสมองจะยังไม่ทำงานเลย แต่เราต้องให้โอกาสคนไข้อีกอย่างน้อย ๒-๓ วัน ถ้าหลัง ๒-๓ วัน  แล้วสมองยังไม่ฟื้นเลย ค่อยพิจารณากันใหม่"

ญาติคนไข้ที่เป็นหมอเดินกลับเข้ามาดูคนไข้ นัยน์ตาแดงก่ำ และยังมีน้ำตาไหลรินอยู่ หลังจากเฝ้าคนไข้มาทั้งคืน

ญาติ : "อาจารย์ช่วยน้องหนูด้วยนะคะ น้องหนูคงเป็นโรคหัวใจแน่ๆ หัวใจจึงได้หยุดเต้น กว่าจะพามาถึงโรงพยาบาลและทำการฟื้นชีวิตสำเร็จ สมองคงขาดเลือดไปนาน อาจารย์ทางประสาทวิทยาบอกหนูว่า สมองตายแล้ว ไม่มีหวังแล้ว อาจารย์ช่วยน้องหนูด้วยนะคะ สวนหัวใจดูอีกครั้งจะดีไหมคะ"

อาจารย์ : "หมอใจเย็นๆก่อน ผมยังไม่เห็นว่า น้องของหมอหมดหวัง คงต้องรอดูสัก ๒-๓ วันก่อน ดูว่าสมองจะฟื้นหรือไม่ ในขณะนี้ผมยังบอกไม่ได้ว่าสมองตายหรือไม่ ต้องให้เวลาและโอกาสแก่น้องของหมออีก ๒-๓ วัน ให้เรารู้แน่ว่าคนไข้ไม่รู้ตัวจากสาเหตุอะไรก่อน ส่วนเรื่องโรคหัวใจนั้น ผมค่อนข้างมั่นใจว่า การไม่รู้สึกตัวครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจแน่ สวนหัวใจใหม่อาจจะเป็นอันตรายในสภาพอย่างนี้ หมอทำใจให้สบาย ผมไม่คิดว่าคนไข้หมดหวัง และอาจจะฟื้นเป็นปกติได้ หมอกลับไปบ้านพักผ่อนได้แล้ว หลังจากเฝ้าคนไข้มาทั้งคืน หมออยู่นี่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร ทำให้แพทย์ประจำบ้านเขาคอยห่วงกังวล หมอไปด้วย"

คนไข้อยู่ในห้องไอซียูตลอดวันเสาร์และอาทิตย์ในสภาพเดิม แม้จะรักษาระดับความดันเลือดได้ดีขึ้น และปัสสาวะออกตามสายสวนดีขึ้น แต่คนไข้ก็ยังไม่รู้สึกตัวอย่างสมบูรณ์ และยังอ่อนปวกเปียกเหมือนเดิม เมื่อห้องปฏิบัติการเปิดทำการในวันจันทร์ จึงได้เอาน้ำล้างกระเพาะและเลือดของคนไข้ไปตรวจหายาและสารพิษ และพบว่าในเลือดของคนไข้มียานอนหลับและยาแก้แพ้อยู่ในระดับที่สูงมาก จนคนไข้ไม่น่าจะมีชีวิตอยู่ได้ ประกอบกับความดันเลือดของคนไข้อยู่ในเกณฑ์ที่จะฟอกเลือดได้แล้ว จึงได้ฟอกเลือดให้คนไข้ หลังฟอกเลือดคนไข้ ๓ ครั้ง ใน ๒ วัน คนไข้เริ่มลืมตาและขยับแขนขาได้ แต่ยังไม่เข้าใจคำสั่งต่างๆ หลังจากการฟอกเลือดในวันต่อๆมาจนระดับ ยาลงมาอยู่ในระดับที่ไม่เป็นพิษ คนไข้ก็ฟื้นคืนสติโดยสมบูรณ์ และแม้ว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคปอดอักเสบ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในขณะที่คนไข้หมดสติและอาเจียนแล้วสำลักขณะอยู่ที่บ้าน แต่ด้วยยาปฏิชีวนะและการดูดเสมหะผ่านท่อช่วยหายใจ คนไข้ก็หายจากโรคปอดอักเสบและเอาท่อช่วยหายใจออกได้ หลังจากนั้นอาการก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนหายเป็นปกติ และกลับบ้านได้ และติดต่อรักษาตนกับจิตแพทย์ตั้งแต่นั้นมา

คนไข้รายนี้ให้บทเรียนหลายอย่างที่สำคัญ คือ

๑. การวินิจฉัยโรคที่ผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะถ้าเรามีอคติ จะเป็นฉันทาคติ (ลำเอียงเพราะความรัก ความชอบ ความเป็นเพื่อน) โทสาคติ (ลำเอียงเพราะความโกรธ ความเกลียด) โมหาคติ (ลำเอียงเพราะความหลง หลงว่าตนถูกหรืออื่นๆ) หรือภยาคติ (ลำเอียงเพราะความกลัว เช่น กลัวโรคหัวใจจึงคิดว่าเป็นโรคหัวใจ กลัวคนหาว่าเป็นโรคจิต จึงไม่ยอมไปหาจิตแพทย์) เป็นต้น ถ้าชาวบ้านมีอคติ หมออาจช่วยอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องได้ง่าย แต่ถ้าหมอเกิดอคติในการวินิจฉัยโรคเสียเอง ก็จะแก้ไขได้ยาก และทำให้เกิดการรักษาผิดทางหรือผิดโรคได้ ดังเช่นในกรณีคนไข้รายนี้ หมอคนเดิมที่เคยรักษาคนไข้ ซึ่งเป็นเพื่อนกัน และเป็นหมอด้วย จะด้วยความรักเพื่อนหรือเกรงใจเพื่อนก็ตาม ทำให้คล้อยตามความต้องการของคนไข้และญาติซึ่งก็เป็น หมอด้วยว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด แม้ว่าจะสวนหัวใจและถ่ายภาพรังสี ด้วยธัลเลียมแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ คนไข้และญาติจึงยิ่งฝังใจว่าตน เป็นโรคหัวใจขาดเลือดและมุ่งมั่น รักษาไปแบบนั้น อาการจึงไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร และเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน(กินยาเกินขนาด) ญาติก็ยังไม่ยอมรับและยังเคี่ยวเข็ญให้หมออื่นๆ ที่ต้องมาดูแลคนไข้เข้าใจว่าคนไข้เป็นโรคหัวใจ ทำให้การรักษายุ่งยากขึ้น เคราะห์ดีที่แพทย์ชุดใหม่ไม่ยอมคล้อยตามความเห็นของญาติ การรักษาจึงไม่ผิดทาง และทำให้คนไข้พ้นจากอันตรายได้โดยไม่ต้องไปสวนหัวใจใหม่

๒. ภาวะหมดหวังหรือภาวะที่ไม่มีทางรักษาให้ดีขึ้นได้ เป็นภาวะที่หมอแต่ละคนอาจมีความเห็นต่างกันได้ ในกรณีที่มีความเห็นต่างกัน ก็ควรจะต้องมีหมอหลายๆคนมาปรึกษาหารือ และให้ความเห็นให้เป็นที่ยุติ ถ้าความเห็นยังแตกต่างกันมากจนไม่มีข้อยุติ ก็ต้องยกประโยชน์ให้แก่คนไข้ โดยลองรักษาคนไข้ไปก่อน จนกว่าทุกคนจะยอมรับว่า การรักษาที่ให้ไปนั้นไม่มีประโยชน์แก่คนไข้เลย  มีแต่ทำให้คนไข้เจ็บปวดและทนทุกข์ทรมานมากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น  ทุกคนก็จะยอมรับการยุติการรักษา   ที่ทำให้คนไข้ต้องทรมานมากขึ้นและนานขึ้นได้ ในคนไข้รายนี้ แม้จะมีหมอบางคนบอกว่าหมดหวัง เพราะสมองตายแล้ว แต่หมอส่วนใหญ่ยังคิดว่าคนไข้มีหวัง และให้การรักษาต่อก็ปรากฏว่าคนไข้ฟื้นขึ้นได้เมื่อรู้สาเหตุที่แน่นอน และกำจัดสาเหตุนั้นออกไป อันที่จริง ถ้าญาติไม่มีอคติ ตั้งแต่แรกว่าคนไข้เป็นโรคหัวใจและปฏิเสธ การกินยาตาย ก็คงจะทำให้การตรวจรักษาง่ายขึ้น โดยกลับไปดูที่ห้องนอนคนไข้ว่ามีซองยาหรือขวดยาอะไรที่ยาขาดหายไปมาก ก็จะช่วยให้วินิจฉัยสารพิษได้แต่เนิ่นๆ โชคดีที่หมอที่ให้การรักษาไม่ยอมคล้อยตามความเชื่อของญาติ (ซึ่งแม้จะเป็นหมอ แต่โดยฉันทาคติหรืออคติอื่นๆ ทำให้คิดว่าคนไข้เป็นโรคหัวใจอยู่เรื่อย) การรักษาจึงไม่ผิดทางและทำให้คนไข้รอดจากความหมดหวังได้

ข้อมูลสื่อ

242-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 242
มิถุนายน 2542
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์