• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข้อคิดจากตัวอย่างผู้ป่วย

ข้อคิดจากตัวอย่างผู้ป่วย

ตัวอย่างผู้ป่วยทั้ง ๕ ราย คงพอจะทำให้เห็นถึงความหมายของคำว่า "ผู้ป่วยที่หมดหวัง" ในสภาวการณ์ที่แตกต่างกัน รวมทั้งผู้ป่วยที่ถูกคิดว่าหมดหวังที่จะรักษาพยาบาลให้ดีขึ้น แต่แล้วก็สามารถรักษาพยาบาลให้รอดได้ เป็นต้น

"ความหมดหวัง"  ในที่นี้  จึงหมายถึงเฉพาะ "ความหมดหวัง" ในด้านการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือแผนฝรั่งเป็นสำคัญ ไม่ได้หมายถึง "ความหมดหวังในด้านจิตวิญญาณ" หรือ "ความหมดหวังในด้านความรู้สึกนึกคิดของคนไข้ของญาติ หรือของแพทย์แผนอื่น" และแม้แต่แพทย์แผนเดียวกัน ก็อาจจะมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ ดังนั้นในสภาวะที่โรงพยาบาลหรือชุมชนนั้น มีหมออยู่หลายคนที่ยินดีจะมาตรวจคนไข้และให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า"หมดหวัง" หรือไม่ ก็ควรจะให้มีความเห็นจากหมอหลายๆคน จะได้ลดความคลางแคลงใจลงได้ อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยภาวะ "หมดหวัง" ก็เช่นเดียวกับการวินิจฉัยโรค ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นโดยไม่มีอคติ ถ้ามีอคติเสียแล้ว ถึงจะวินิจฉัยโดยหมอหลายคนก็จะสู้การวินิจฉัยโดยหมอคนเดียวที่ไม่มีอคติมิได้

การวินิจฉัยภาวะ "หมดหวัง" ในกรณีที่ยุ่งยากหรือสลับซับซ้อน จึงควรตั้งคำถามตนเอง และตั้งคำถามผู้ที่เกี่ยวข้องง่ายๆ ดังนี้

"ถ้าฉัน (หรือคุณ)อยู่ในสภาพเช่นเดียวกับคนไข้ ในเวลานี้ที่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ตลอดเวลา และหมอที่รักษาฉัน (หรือคุณ)ไม่รู้ว่าจะรักษาให้ฉัน (หรือคุณ)ดีขึ้นได้อย่างไร ฉัน (หรือคุณ)จะทำอย่างไร"

แน่นอน คนทุกคนคงตอบเหมือนกันว่า ก็เปลี่ยนโรงพยาบาล หรือเปลี่ยนหมอเสียสิ ซึ่งรวมถึงเปลี่ยนไปรับการรักษาด้วยหมอแผนอื่น รวมทั้งหมอแผนอนาคต (หมอดู) เพื่อสะเดาะเคราะห์ หรืออื่นๆ ซึ่งในความเป็นจริง คนไข้ที่ "หมดหวัง" จริงๆแล้วแม้จะเปลี่ยนหมอ เปลี่ยนโรงพยาบาลไปกี่คนหรือกี่แห่ง ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด จะไม่พ้นภาวะ "หมดหวัง" ได้ และจะต้องได้รับความทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นจากการลองผิดลองถูกในการรักษาใหม่ ยกเว้นในกรณีที่เกิดปรากฏการณ์ "เหลือเชื่อ" ที่ยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไป เช่น

ในกรณีผู้ป่วยรายที่ ๒ ที่เป็นมะเร็งเต้านม แล้วรักษาด้วยยาลูกกลอนจากสำนัก "เจ้าแม่กวนอิม" สำนักหนึ่ง จนอยู่รอดมาได้ถึง ๘     ปี ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นน้อยครั้งมาก อาจจะเป็นเพราะศรัทธาในเจ้าแม่กวนอิม การปลงตก (การยอมรับสภาพของตนเอง) กำลังใจ  อันกล้าแข็งของคนไข้ และ/หรือฤทธิ์ของยาสมุนไพรที่ทำเป็นยาลูกกลอน ที่ช่วยชลอการเติบโตและการลุกลามของมะเร็งให้ช้าลงแบบ "ลางเนื้อชอบลางยา" ทำให้คนไข้รายนี้อยู่รอดมาได้นาน แม้จะไม่หายจากโรคก็ตาม เมื่อได้เปลี่ยนหมอ เปลี่ยนโรงพยาบาลจนสมใจแล้ว ก็ยังอยู่ในภาวะ "หมดหวัง" เหมือนเดิม คำถามเดิมย่อมกลับมาอีก

"ถ้าฉัน (หรือคุณ)ต้องทนทุกข์ทรมานเช่นเดียวกับคนไข้และไม่มีทางรักษาให้ดีขึ้น ฉัน (หรือ คุณ)จะทำอย่างไร"

แน่นอน คนที่ได้รับความทุกข์ทรมานมากที่สุด มักจะเป็นคนไข้ ถ้าคนไข้ยังมีสติสัมปชัญญะอยู่ ควรให้คนไข้เป็นคนตัดสินว่าจะทำอย่างไรต่อไป ถ้าคนไข้ไม่มีสติสัมปชัญญะและไม่ได้บอกไว้ล่วงหน้าว่าจะให้ทำ อย่างไรในกรณีที่ตน "หมดหวัง" แล้ว พ่อแม่ (ในกรณีที่คนไข้ยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือยังอยู่ในความดูแลของพ่อแม่) คู่ชีวิต (ในกรณีที่คนไข้แต่งงานแล้ว) ลูกหลาน หรือ ผู้พิทักษ์โดยชอบธรรม (ตามกฎหมาย) ย่อมจะต้องตัดสินใจแทน โดยยึดคำถามข้างต้นเป็นหลักเสมอ นั่นคือ "ถ้าฉันต้องทนทุกข์ทรมานเหมือนคนไข้ และไม่มีทางรักษาให้ดีขึ้น ฉันจะทำอย่างไร หรือจะให้หมอช่วยฉันอย่างไร"

การ "เอาใจเขามาใส่ใจเรา"  จึงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยลดความทุกข์ทรมาน ของคนไข้ที่หมดหวัง การให้คนไข้ที่หมดหวัง เป็นคนตัดสินใจในอนาคตและชีวิตของตนเอง จะทำให้คนไข้ที่หมดหวังสามารถทำความเข้าใจกับสภาพที่แท้จริงของตนเอง และมีเวลาทำใจให้ยอมรับและปลงตกได้ ซึ่งจะทำให้ความวิตกกังวลลดลง กับช่วยผ่อนคลายความเจ็บปวดและอาการไม่สบายต่างๆทางร่างกายลงได้ คนไข้และญาติจะตัดสินใจได้ดีขึ้น  ถ้าได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด จึงเป็นหน้าที่ของหมอและพยาบาลที่ได้ตรวจ และรักษาพยาบาลคนไข้ ที่จะอธิบายให้คนไข้และญาติได้เข้าใจข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อคนไข้และญาติจะตัดสินใจได้ถูกต้อง

ในกรณีที่คนไข้และญาติดื้อรั้น หรือไม่ยอมเข้าใจ คงจะต้องให้คนไข้และญาติไปรักษากับหมออื่นหรือโรงพยาบาลอื่นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งหรือปัญหาระหว่างแพทย์พยาบาลกับคนไข้ และ/หรือญาติของคนไข้ได้ ซึ่งในความเป็นจริง เมื่อหมอเดิม "หมดปัญญา" หรือ "หมดความสามารถ" ที่จะทำให้คนไข้ดีขึ้นแล้ว ก็ควรจะส่งคนไข้ให้แก่หมอคนใหม่ที่คิดว่าจะรักษาคนไข้ให้ดีขึ้นได้ หรือให้คนไข้และ/หรือญาติเลือกหมอและโรงพยาบาลใหม่ และ ส่งคนไข้ไปรักษากับหมอและโรงพยาบาลนั้นพร้อมกับผลการตรวจรักษาที่ได้ทำไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม แพทย์พยาบาลไม่ควรจะใช้วิธีการปัดความรับผิดชอบ โดยการส่งคนไข้ที่หมดหวังไปให้แก่หมออื่นหรือโรงพยาบาลอื่น ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่า หมออื่นหรือโรง-พยาบาลอื่นก็ไม่สามารถทำให้คนไข้ดีขึ้นได้เช่นกัน การปัดความรับผิดชอบเช่นนั้น ทำให้คนไข้และญาติต้องได้รับความทุกข์ทรมานมากขึ้นในการเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลในอีกแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะในที่ห่างไกล เช่น จากชนบทไปกรุงเทพฯ เป็นต้น นอกจากนั้น แพทย์พยาบาลบางแห่งยังไม่เขียนใบส่งตัวและผลการตรวจรักษาให้คนไข้และญาตินำติดตัวไปด้วย โดยมักจะบอกคนไข้ และ/หรือญาติอย่างง่ายๆว่า "ที่นี่ไม่มีเครื่องมือ ต้องไปกรุงเทพฯ" แล้วให้คนไข้และญาติต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อเผชิญชะตากรรมเอาเอง

คนไข้และญาติก่อนจะเปลี่ยนหมอ เปลี่ยนโรงพยาบาลจึงต้องขอใบส่งตัวพร้อมกับผลการตรวจรักษา เช่น เอกซเรย์ ผลเลือด ผลปัสสาวะ ชื่อยาต่างๆที่เคยกินเคยใช้อยู่ ความเห็นของหมอที่รักษาอยู่ว่าตนเป็นโรคอะไร รักษาแล้วหมอคิดว่าดีขึ้น เลวลง หรือคงเดิม คนไข้แพ้ยาและการรักษาอะไรบ้าง และอื่นๆ เพื่อให้หมอใหม่รู้ว่า เคยตรวจรักษามาอย่างไร จะได้รักษาให้ต่อเนื่อง หรือให้การรักษาใหม่โดยไม่ซ้ำกับของเดิมที่ไม่ได้ผล จะได้ไม่ต้องลองผิดลองถูก หรือใช้ยาและการรักษาที่คนไข้แพ้อีก

สรุป : ตัวอย่างผู้ป่วยทั้ง ๕ รายนี้คงพอจะทำให้เห็นสภาพของ "ผู้ป่วยที่หมดหวัง" ในลักษณะต่างๆกัน ตั้งแต่ไม่รู้สึกตัวโดยสมบูรณ์ จนถึงรู้สึกตัวดีและมีความปรารถนาที่จะจากไปเองโดยธรรมชาติและตามธรรมชาติ และผลของการรักษาพยาบาลทั้งในแบบที่สุดโต่งหรือเกือบสุดโต่ง ทั้ง ๒ ข้าง และในแบบทางเดินสายกลาง เพื่อเป็นกรณีศึกษาและพิจารณาให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นต่อไป

ข้อมูลสื่อ

243-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 243
กรกฎาคม 2542
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์