• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วัณโรค

ทั่วโลกมีคนที่เสียชีวิตจากมาลาเรียประมาณ ๑ ล้านคนต่อปี แต่วัณโรคคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า ๒ ล้านคนต่อปี

รู้จักวัณโรค
วัณโรค (Tuberculosis : TB) เป็นโรคที่พบมานานแล้ว  มักเป็นภายในครอบครัว สมัยก่อนจึงเชื่อว่าถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูกหลาน  จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๐๘ นักวิทยาศาสตร์ถึงพบว่ามันเป็นโรคติดต่อ  ผู้ที่เป็นโรคนี้จึงถูกสังคมรังเกียจ
ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๒๕ Robert Koch พบว่าเชื้อแบคทีเรียรูปแท่งชื่อ Tubercle bacilli เป็นสาเหตุของโรคนี้ (ปัจจุบันคือ Mycobacterium tuberculosis) และพิสูจน์ได้ว่าโรคนี้แพร่เชื้อผ่านทางเสมหะทำให้ควบคุมการระบาดได้  นอกจากนี้ Koch ยังพยายามผลิตวัคซีนชื่อ Tuberculin ซึ่งล้มเหลวในการป้องกันโรค  แต่พอจะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้จึงยังคงมีใช้อยู่ในปัจจุบัน
ทุกวันนี้รู้แล้วว่าเชื้อวัณโรคอยู่ในสกุล Mycobacterium ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เช่น M. tuberculosis, M. bovis และ Mycobacterium avium complex เป็นต้น โดยเชื้อที่ก่อโรคในคนมากที่สุดคือ M. tuberculosis

วัคซีน BCG
ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๖๑ A. Calmette และ A. Guerin สองนักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันพลาสเตอร์ ก็ผลิตวัคซีนขึ้นมาเรียกว่า Bacille Calmette-Guerin (BCG) และเริ่มใช้ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔
สำหรับวัคซีน BCG นั้นจากการศึกษาพบว่าป้องกันโรคได้ไม่แน่นอนมีตั้งแต่ร้อยละ ๐ (การศึกษาที่อินเดีย) จนถึงร้อยละ ๗๗ (การศึกษาที่อังกฤษ)  จึงสรุปได้ว่ามันไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค  แต่หลายการศึกษาเห็นตรงกันว่าช่วยลดอุบัติการณ์ของวัณโรคที่รุนแรงได้เช่น วัณโรคเยื่อหุ้มสมองและวัณโรคชนิด Miliary องค์การอนามัยโลกจึงยังแนะนำให้ฉีดวัคซีน BCG นี้ในประเทศที่เป็นแหล่งของวัณโรคซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
สมัยก่อนอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยวัณโรคสูงมากเพราะยังไม่มีการรักษาที่ดีพอ  จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ก็พบว่าสเตรปโทมัยซิน (Streptomycin) ที่ค้นพบโดย Selman Abraham Wacksman  ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคนี้ แต่ไม่นานก็มีรายงานการดื้อยา จึงต้องให้ยาเสริมเข้าไปอีกตัวคือ Para amino salicylic acid (PAS)
ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ก็มีความหวังใหม่เมื่อ Robitzek และคณะพบว่า Isoniazid (สังเคราะห์โดย Meyer และ Mally ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๕) มีประสิทธิภาพในการรักษาวัณโรคแม้ให้เพียงตัวเดียว แต่ไม่นานก็มีรายงานเชื้อดื้อยาอีก การรักษาจึงต้องใช้ยาทั้ง ๓ ตัวร่วมกันและให้ยานานเป็นปี ถึงกระนั้นก็ตามอัตราการกลับเป็นซ้ำก็ยังคงสูงอยู่
ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ มีการค้นพบยาใหม่ชื่อ Ansamycin (ปัจจุบันคือ Rifampicin) ไม่มีใครคิดจะทดลองใช้มันเพียงตัวเดียวเพราะเกรงว่าจะเกิดการดื้อยาอีก จึงทดลองให้ยานี้เสริมเข้าไปพบว่าทำให้ระยะเวลาในการรักษาสั้นลงเหลือเพียง ๖ เดือน  
เนื่องจาก PAS มีผลข้างเคียงค่อนข้างมากจึงมีการพัฒนายาใหม่มาทดแทนคือ Ethambutol ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๓ บริษัท Squib ก็ผลิต Pyrazinamide เข้ามาเสริมทัพทำให้อัตราการหายสูงขึ้นกว่าร้อยละ ๙๐
ขอเล่าด้านการตรวจวินิจฉัยบ้าง  ปัจจุบันทำได้โดยการตรวจเอกซเรย์ปอดและนำเสมหะมาย้อมสีเพื่อใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องหาเชื้อ แต่หากเชื้อมีปริมาณน้อยก็อาจตรวจไม่เจอ  ส่วนการเพาะเลี้ยงหาชนิดของเชื้อนั้นก็ต้องรอ ๒-๔ เดือนกว่าจะได้ผล 
ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ บริษัท Roche จึงพัฒนาวิธีตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโดยใช้เทคนิค PCR มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับ BIOTEC และ NSTDA ก็พัฒนาชุดตรวจ PCR ขึ้นมาเช่นกันซึ่งตรวจหาพันธุกรรมของเชื้อได้ภายใน ๑-๒ สัปดาห์  
มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๑ Stewart T. Cole แห่งสถาบันพลาสเตอร์ สามารถถอดรหัสพันธุกรรมทั้งหมด (genome) ของเชื้อ M. tuberculosis ได้สำเร็จและตีพิมพ์ในวารสาร Nature  เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การคิดค้นยาและวัคซีนตัวใหม่
ต่อมา Marcus Horwitz ได้ปรับปรุงวัคซีน BCG เป็น rBCG30 ซึ่งปัจจุบันกำลังทดลองระยะที่ ๔ ในแอฟริกาใต้  นอกจากนี้ บริษัท Corixa และ Glaxo SmithKline ก็พัฒนาวัคซีนใหม่ชื่อ Mtb72f และเพิ่งเริ่มทดลองระยะที่ ๑ ในสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ล่าสุดเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ บริษัท Intercell AG และ Statens Serum Institut ก็คิดค้นวัคซีนใหม่และวางแผนจะทดลองระยะที่ ๑ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘
เชื้อวัณโรคมีความสามารถสูงมาก เชื่อว่าไม่ช้าก็คงจะดื้อยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนายาตัวใหม่ๆ อยู่รวมถึงมหาวิทยาลัยมหิดลด้วย แล้วเราจะช่วยอะไรได้บ้างไหม?
ผู้เขียนคงต้องบอกว่าช่วยได้โดยกินยาปฏิชีวนะให้เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ป่วยวัณโรคต้องกินยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง อย่าหยุดยาหรือหาซื้อยาเองเพราะจะทำให้เชื้อมีโอกาสดื้อยาสูง

 

ข้อมูลสื่อ

323-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 323
มีนาคม 2549
นพ.ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์