• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิตามินซี

วิตามินซีละลายได้ดีในน้ำ มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์วิตามินซีได้เอง แต่ได้จากผักและผลไม้

คำถาม การให้เด็กอมวิตามินซี มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรบ้าง
     
วิตามินซี (vitamin C) เป็นวิตามินที่รู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีมากกว่าวิตามินชนิดอื่นๆ และมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในคนปกติ ในเด็กเล็ก และในผู้ใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในทางบวกและทางลบ เกิดผลดีและผลเสีย ทั้งด้านสุขภาพและค่าใช้จ่าย 
ดังนั้น เมื่อมีคำถามมาเช่นนี้ก็ขอกล่าวถึงวิตามินซีที่ประชาชนทั่วไปควรทราบ และแนวทางการรักษาสุขภาพตนเองที่เกี่ยวข้องกับวิตามินซีที่เหมาะสม
    
ธรรมชาติของวิตามินซี
วิตามินซี หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า กรดแอสคอร์บิก (ascorbic acid) เป็นวิตามินที่ละลายได้ดีในน้ำ และมีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) 
วิตามินซีเป็นวิตามินที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เอง และไม่สะสมในร่างกายของเรา ดังนั้น คนเราจำเป็นต้องได้รับวิตามินซีจากอาหาร ผักและผลไม้ที่กินกันทุกวัน ซึ่งอาหารที่คนไทยกินส่วนใหญ่จะให้ปริมาณวิตามินซีที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวันอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยได้พบผู้ที่ขาดวิตามินซี 
ยกเว้นผู้ที่ไม่ได้กินผักและผลไม้เป็นเวลานานๆ เช่น ในอดีตที่กะลาสีท่องไปในทะเลนานๆ และขาดผักและผลไม้ ทำให้ขาดวิตามินซี ทำให้เกิดอาการเลือดออกตามไรฟัน เหงือกอักเสบ ผิวหนังแห้งแตกเป็นสะเก็ด แผลหายช้า เลือดกำเดาไหล ซึ่งเรียกโรคนี้ว่า ลักปิดลักเปิด (scurvy) ซึ่งไม่ค่อยพบในปัจจุบันแล้ว
    
ความสำคัญของวิตามินซี
วิตามินซีนี้มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายของเรา ดังนี้
๑. ช่วยในการสร้างคอลลาเจน (collagen) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบของกระดูก กระดูกอ่อน กล้ามเนื้อ และหลอดเลือด
๒. ช่วยรักษาหลอดเลือดฝอย กระดูก และฟันให้แข็งแรง
๓. ช่วยในกระบวนการสมานแผลให้หายได้เร็ว
๔. ช่วยในการสร้างสารสำคัญในร่างกายของเรา เช่น อีพิเนฟริน (epinephrine) คอร์ติโคสตีรอยด์ (corticosteroids) เป็นต้น
นอกจากนี้ วิตามินซียังช่วยให้การดูดซึมของธาตุเหล็กจากทางเดินอาหารได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

ปริมาณวิตามินซีที่จำเป็นต่อมนุษย์ 
ปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายต้องการเพื่อนำไปใช้ดำรงชีวิตตามปกตินั้น พบว่าผู้ใหญ่มีความต้องการวิตามินซี วันละ ๖๐-๙๐ มิลลิกรัม ขณะที่เด็กมีความต้องการวิตามินซี ๓๐-๕๐ มิลลิกรัมต่อวัน 
หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร มีความต้องการปริมาณวิตามินซีเพิ่มขึ้นมากกว่าคนปกติ เพราะต้องการปริมาณที่เพียงพอสำหรับคนถึง ๒ คน คือตัวมารดาและลูกน้อย ซึ่งมีความต้องการอยู่ระหว่าง ๙๐-๙๕ มิลลิกรัมต่อวัน
อีกกรณีหนึ่งที่มีความต้องการวิตามินซีที่สูงกว่าคนปกติคือผู้ที่สูบบุหรี่ เพราะบุหรี่จะส่งผลไปลดปริมาณวิตามินซีของร่างกาย จึงต้องการปริมาณวิตามินซีเพิ่มสูงขึ้น อีกประมาณ ๓๕ มิลลิกรัมต่อวัน หรือผู้ที่สูบบุหรี่มีความต้องการวิตามินซีประมาณ ๙๕-๑๒๕ มิลลิกรัมต่อวัน
    
แหล่งที่อุดมด้วยวิตามินซี
วิตามินซีที่ดีควรเป็นวิตามินที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่มากมายในอาหารที่เรากินเป็นประจำทุกวัน 
ตัวอย่างอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซี ได้แก่ ฝรั่ง ส้ม มะละกอ มะม่วง มะนาว บร็อกโคลี่องุ่น สตรอเบอร์รี่ ผลกีวี แคนตาลูป มะเขือเทศ มันฝรั่ง และผักใบเขียว เป็นต้น 
นักโภชนาการประมาณว่า ฝรั่ง ๑ ผล (ขนาดกลาง) จะมีวิตามินซี ประมาณ ๑๕๐ มิลลิกรัม ซึ่งเกินพอต่อความต้องการของร่างกายใน ๑ วัน ที่ต้องการเพียง ๖๐-๙๐ มิลลิกรัมเท่านั้น
อาหารที่คนเรากินแต่ละวันมีวิตามินซีเพียงพอหรือไม่?
ในแต่ละวันร่างกายของคนเราได้รับปริมาณวิตามินซีจากอาหารในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว 
จากการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ได้รับวิตามินซีจากอาหารมากเกินความต้องการในแต่ละวันอยู่แล้ว 
ดังนั้น ถ้ามาเปรียบเทียบกับอาหารของชาวไทยที่อุดมไปด้วยผักและผลไม้นานาชนิด จึงเชื่อว่าคนไทยน่าจะได้รับวิตามินซีจากอาหารในชีวิตประจำวันที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว
    
ผลข้างเคียงของวิตามินซี
เนื่องจากวิตามินซีจัดเป็นยาชนิดหนึ่งที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีรายงานอาการข้างเคียงที่เกิดเนื่องจากการใช้วิตามินซีชนิดเม็ดได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
นอกจากนี้ ควรระวังการใช้วิตามินซีในผู้ป่วยโรคทาลัสซีเมีย (thallassemia) และผู้ป่วยที่ขาดเอนไซม์ G-6-PD ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติต่อเลือดได้
    
การใช้วิตามินซีในขนาดสูง
การกินวิตามินซีเสริม ซึ่งมีการอ้างว่าจะช่วยลดโอกาสการเป็นหวัด หรือช่วยให้หวัดหายเร็วขึ้น หรือลดโอกาสการเป็นมะเร็ง เป็นต้น โดยแนะนำให้ใช้ในขนาดสูง 
ในเรื่องนี้มีรายงานว่า ผู้ที่ป่วยเป็นหวัด มะเร็ง เครียด มักมีระดับของวิตามินซีในร่างกายต่ำกว่าปกติ (น้อยกว่า ๖๐-๙๕ มิลลิกรัมต่อวัน) ซึ่งควรได้รับวิตามินซีให้ได้ในระดับปกติ (๖๐-๙๕ มิลลิกรัมต่อวัน) แต่ไม่ได้ชี้ชัดว่าการกินวิตามินซีในขนาดสูง (มากกว่า ๑,๐๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน) จะช่วยลดสิ่งเหล่านี้ได้ หรือถ้ามีรายงานยืนยันในเรื่องนี้ ก็จะเป็นรายงานที่ไม่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์อย่างแท้จริง 
นอกจากนี้ การที่ร่างกายได้รับวิตามินซีในปริมาณมากเกินไป อาจส่งผลข้างเคียงได้หลายประการ เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งเกิดจากวิตามินซี ไปสร้างความระคายเคืองให้กับกระเพาะอาหาร และหากกินเข้าไปในปริมาณสูงมากๆ อาจทำให้เกิดโรคนิ่วในไตได้ เพราะวิตามินซีเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำและไม่มีการสะสมในร่างกาย เมื่อกินในปริมาณที่มากเกิน ร่างกายจะขับทิ้งออกทางไต ซึ่งถ้ากินเข้าไปในปริมาณมากกลับเป็นโทษ คือไตจะต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้น เพื่อขจัดวิตามินซีที่ได้รับมากเกินนี้ทิ้งออกไปจากร่างกาย และอาจทำให้เกิดนิ่วที่ไตได้ 
การกินวิตามินซีในขนาดสูง จึงควรระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้และควรปรึกษาแพทย์ 
    
วิตามินซีกับเด็ก
มีพ่อแม่หรือผู้ปกครองให้เด็กอมวิตามินซีจำนวนมาก เพราะราคาไม่แพง  
วิตามินซีละลายในน้ำและไม่มีการสะสม ผู้ใหญ่ให้เด็กอมวิตามินซี จึงค่อนข้างปลอดภัย ถ้าให้เป็นครั้งคราวเท่านั้น และให้หลังอาหารทันที พร้อมทั้งดูแลเรื่องเหงือกและฟันของเด็กให้ดี 
การให้วิตามินซีแก่ลูกหลาน ผู้ใหญ่มักมีเจตนาให้วิตามินซีเหมือนขนมหรือลูกอม ที่หอมหวานและมีรสชาติอร่อย ซึ่งเข้าใจว่าอาจเป็นประโยชน์แก่เด็กในแง่บำรุงร่างกาย ประกอบกับเด็กก็ชอบอมเป็นประจำ เนื่องจากรสชาติอร่อยเหมือนขนมหรือลูกอมชั้นดี 
การที่เด็กได้รับวิตามินซีเป็นระยะเวลานานๆ อาจเกิดผลเสียแก่เด็กได้ ทั้งนี้เพราะวิตามิน ซีมีรสเปรี้ยวจากการแต่งรส ซึ่งเป็นกรด จะกัดกร่อนทำลายเคลือบฟัน เกิดผลเสียต่อเหงือกและฟันของเด็กได้ ประกอบกับเด็กได้รับวิตามินซีในปริมาณที่เพียงพอจากอาหารที่กินเข้าไปแล้ว 
ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้วิตามินซีเสริมเพิ่มเติมแก่เด็ก ด้วยการหาซื้อวิตามิน ซีให้อม เพราะเกิดผลเสียต่อฟัน และเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องยาและสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิตามินซี ยา หรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ สามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรชุมชน (ที่ประจำอยู่ที่ร้านยา) ที่พร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องสุขภาพ

ข้อมูลสื่อ

323-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 323
มีนาคม 2549
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด