• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชอบยา

คนไข้รายที่ ๒ : ชายไทยวัย ๖o ปี หิ้วถุงหลายถุงเข้ามาหาหมอ

ชาย :
“สวัสดีครับ คุณหมอ ผมเป็นโรคหัวใจ รักษามาหลายแห่งแล้วไม่ดีขึ้น คุณหมอช่วยผมหน่อยครับ”
หมอ : “สวัสดีครับคุณขอใบส่งตัวหรือใบรายงานผลการตรวจและการรักษาจากคุณหมอคนก่อนๆมาด้วยหรือเปล่าครับ เพราะการเปลี่ยนหมอและเปลี่ยนโรงพยาบาลบ่อยๆจะทำให้การรักษาไม่ปะติดปะต่อกัน เป็นอันตรายต่อคุณเอง ทำให้คุณเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น และทำให้โรคของคุณไม่ดีขึ้นด้วย”
ชาย : “ผมไม่ได้ขอใบส่งตัวมาครับ แต่ผมเอายาทั้งหมดที่ผมได้รับมาให้หมอดูด้วย หมอแต่ละแห่งให้ยาผมประมาณ ๑o ชนิด และไม่เหมือนกันเลย ผมกินมา ๓ แห่งแล้วก็ไม่ดีขึ้น จึงเอายาที่เหลือมาให้หมอดูด้วย”
หมอ : “เออ...คุณไม่ต้องเอาซองยาออกจากถุงแต่ละถุงมาให้ผมดูหรอก เพราะผมคงไม่รู้ว่ายานั้นจำเป็นสำหรับคุณหรือไม่ในขณะที่คุณไปหาหมอคนนั้น เพราะผมไม่รู้ว่า
ตอนนั้นคุณมีอาการอะไร และหมอคนนั้นตรวจพบอะไรบ้าง จึงได้ให้ยาชนิดนั้นๆแก่คุณ
“อันที่จริง ถ้าคุณกินยาแล้วไม่ดีขึ้น คุณควรจะกลับไปพบหมอที่รักษาคุณ แล้วหมอที่รักษาคุณอยู่จะได้ปรับเปลี่ยนยาให้คุณได้ถูก
“คุณเอายามาให้ผมดู ผมอาจจะดูยาต่างๆที่คุณหมอคนก่อนๆให้คุณไว้ แล้วไม่รู้ว่าเป็นยาอะไรก็ได้ ถ้าคุณหมอคนก่อนๆไม่ได้เขียนชื่อยาไว้ จึงไม่มีประโยชน์ที่คุณจะเทถุงเพื่อให้ผมดูซองยาที่ไม่มีชื่อยาเหล่านี้”
ชาย : “เท่าที่ผมทราบ ก็มียาบำรุงหัวใจ ยาลดไขมันในเลือด ยาขับปัสสาวะ ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ยาป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัวอุดหลอดเลือด ยาอมและยาพ่นเวลาเจ็บหัวใจ ยาป้องกันการเจ็บหัวใจ ยาป้องกันหัวใจเต้นผิดปกติ ยาบำรุงร่างกาย ๓ อย่าง พวกวิตามิน แคลเซียม น้ำมันปลา ยาคลายเครียดและยานอนหลับครับ”
หมอ : “โอ้โฮ คุณนี่เก่งจริงนะ ทำไมคุณรู้จักยาเหล่านี้ล่ะ”
ชาย : “อ้าว...ก็ผมเป็นคนขอให้หมอสั่งยาป้องกันและรักษาโรคทุกอย่างให้ผมเอง เพื่อไม่ให้หมอลืมสั่งยาอะไรที่จะใช้ป้องกันและรักษาโรคแม้แต่อย่างเดียวได้ แล้วผมก็ถามหมอทุกครั้งว่ายาแต่ละชนิดที่ได้ ใช้ป้องกันและรักษาโรคอะไร ไม่ถูกต้องหรือครับ”
หมอ : “ถูกบ้างไม่ถูกบ้างครับ ถูกที่คุณสนใจถามไถ่หาความรู้ว่า ยาที่คุณได้รับมีประโยชน์อย่างไร แต่ไม่ถูกที่คุณชอบใช้ยามากๆ โดยหวังว่ายาเท่านั้นที่จะทำให้คุณปลอดภัยจากโรคได้ โดยไม่สนใจว่ายาที่คุณใช้มีพิษภัยอะไรบ้าง และจำเป็นต้องใช้ยาชนิดนั้นๆหรือไม่ หรือควรจะปฏิบัติรักษาตัวด้วยวิธีอื่นแทนการกินยาจะดีกว่าหรือไม่ เป็นต้น

“ดังนั้น คุณควรจะกลับไปหาหมอที่รักษาคุณอยู่และถามหมอด้วยว่า ที่คุณกินยาเป็นจำนวนมากๆนั้น จำเป็นมั้ย และยาเหล่านั้น “ตีกัน” (มีปฏิกิริยาระหว่างกัน) มั้ย ถ้าไม่ใช้ยา จะสามารถดูแลรักษาตนเองอย่างไร”

ตัวอย่างคนไข้รายที่ ๒ เป็นคนไข้ที่ “ชอบยา” หลายๆอย่าง หลายๆชนิด โดยคิดว่ายาจะสามารถชะล้างโรคออกไปจากร่างกายของตนได้หมดสิ้น คนไข้ที่ชอบกินยามากๆบางคนจึงชอบเปลี่ยนหมอ และมีความสุขกับการมียาหลายๆชนิดอยู่ในกระเป๋ายาของตน ซึ่งตนก็กินบ้างไม่กินบ้าง เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง ในยาเหล่านั้น บางคนก็เอาไว้อวดเพื่อนฝูงเพื่อแสดงว่าตนมีโรคมากจึงต้องกินยาหลายอย่างและกินแล้วก็ยังไม่หาย เป็นต้น
จึงจำเป็นต้องอธิบายให้คนไข้ประเภทนี้เข้าใจว่า

๑. ยาไม่ใช่อาหารและไม่ใช่ขนม
ที่อยากจะกินก็กินได้ โดยไม่มีพิษภัยอะไรมาก นอกจากจะกินมากเกินไปจนแน่นท้องหรือจนอ้วนแล้วทำให้เกิด “โรคอ้วน” และโรคอื่นๆตามมา เป็นต้น

๒. ยาทุกตัวมีพิษหรือฤทธิ์ข้างเคียงทั้งนั้น
ที่มีพิษน้อยอาจจะไม่ค่อยรู้สึก ที่มีพิษมากอาจทำให้พิการหรือถึงแก่ชีวิตได้ เช่น ยาแก้ไข้แก้ปวด จำพวกแอสไพริน ที่ใช้กันทั่วไปในชื่อยาประสระนอแรด ยาทัมใจ และอื่นๆ ถ้ากินเวลาท้องว่างอาจทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ เป็นแผล ตกเลือด หรือเป็นแผลทะลุจนเกิดอาการรุนแรง เจ็บหนัก และฉุกเฉินได้ ทั้งที่เป็นยาธรรมดาๆ ซื้อขายกันได้ทั่วไป เป็นต้น

๓. ยาส่วนใหญ่เป็นยาบรรเทาอาการ
ไม่ได้รักษาสาเหตุ การกินยาเหล่านี้จึงทำให้อาการลดลง แต่ไม่ได้ทำให้โรคหายและบางครั้งอาจทำให้เป็นโรคนานขึ้น เช่น
ถ้าเกิดข้อเท้าเคล็ดหรือแพลงแล้วปวดมาก เราก็กินยาแก้ปวด ทำให้อาการปวดลดลง เราจึงเดิน (ใช้เท้าข้างที่ปวด) ได้มากขึ้น การเดินหรือใช้เท้าข้างที่เคล็ดหรือแพลงมากขึ้น จะทำให้เท้าข้างนั้นหายช้าออกไปอีก เพราะเท้าที่เคล็ดหรือแพลงต้องการพัก (อาการปวดคืออาการที่ทำให้เราต้องพักเท้าข้างนั้น แต่เมื่อเรากินยาแก้ปวดให้อาการปวดลดลง แล้วใช้เท้าข้างนั้นมากขึ้น อาการเท้าเคล็ดเท้าแพลงก็จะหายช้า และอาจเกิดเป็นอาการเจ็บเรื้อรังได้)
ยาแก้ไข้หวัด ก็เป็นยาบรรเทาอาการไข้ อาการปวดเมื่อย อาการคัดจมูกน้ำมูกไหลเท่านั้น ไม่ได้รักษาโรคไข้หวัด (ดูคนไข้รายแรก) การกินยาลดไข้แก้ปวด จะทำให้ความร้อน (ไข้) ในร่างกายลดลง ซึ่งความร้อนนี้แหละจะไปทำลายเชื้อหวัดในร่างกาย
คนที่ชอบกินยาแก้ไข้ แก้ปวด หรือยาแก้ไข้หวัดเวลาเป็นหวัดจึงมักจะหายจากหวัดช้ากว่าคนที่ยอมทนร้อน (ทนไข้และทนอากาศร้อน) ด้วยการสวมใส่เสื้อหนาๆ และหลีกเลี่ยงอาหารและน้ำเย็น เพื่อให้เหงื่อซึมๆ ทั้งวันทั้งคืนสัก ๒-๓ วัน ไข้หวัดจะหายเองทันทีโดยไม่ต้องกินยาอะไร (ยิ่งกินยาฉีดยามาก ยิ่งหายช้า)

๔. ยามีปฏิกิริยาระหว่างกัน (ตีกัน) ได้
ยิ่งกินยาหลายชนิดโอกาสที่ยาจะ “ตีกัน” (เสริมฤทธิ์กัน ต้านฤทธิ์กัน หรือทำให้เกิดพิษขึ้น) ยิ่งมีมากขึ้น
ยาบางตัวเมื่อกินร่วมกัน จะเกิดพิษรุนแรงจนทำให้ถึงตายได้
ปฏิกิริยาระหว่างยายังรู้กันไม่หมด เพราะบางอย่างมันไม่เกิดพิษให้เห็นในทันทีหลังกินยา แต่ไปเกิดพิษหลังหยุดกินยาไปหลายวัน หรือหลายเดือนแล้วก็ได้
ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการกินยาหลายๆอย่าง หรือหลายๆชนิด พร้อมๆกัน

๕. ยาไม่ใช่ “แก้วสารพัดนึก”
ที่จะให้ผลในด้านสุขภาพได้ดีกว่าการปฏิบัติรักษาตนเองอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ เช่น
-การกินอาหารให้ครบทุกหมู่ และกินแต่พอดี ไม่ให้อ้วนหรือผอมไป
-การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งอาจทำได้ด้วยการกวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า หรืองานบ้านอื่นๆ รวมไปจนถึงงานนอกบ้าน เช่น ตัดหญ้า ขุดดิน ปลูกต้นไม้ เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายด้วยการเสียเงินไปเล่นเทนนิส เล่นกอล์ฟ หรืออื่นๆ
-การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
-การขับถ่ายให้สม่ำเสมอ ผู้ที่ท้องผูกบ่อยๆ ควรกินผักและน้ำเพิ่มขึ้น และอาจเพิ่มอาหารที่ทำให้ระบายง่ายขึ้น เช่น ส้มตำ แกงส้ม มะขาม เป็นต้น
-การผ่อนคลายความเครียด ด้วยการร้องเพลง เล่นดนตรี เล่นกีฬา สวดภาวนา นั่งสมาธิ เป็นต้น
-การหลีกเลี่ยงจากสิ่งเสพย์ติด เช่น บุหรี่ สุรา ชา กาแฟ หรือสารเสพย์ติดอื่น
-การคบหาสมาคมกับคนดี เป็นต้น

ตัวอย่างคนไข้รายที่ ๒จึงเป็นตัวอย่างคนไข้ที่ชอบกินยาหลายๆชนิด ชอบเปลี่ยนหมอ และชอบวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บจนเกินกว่าเหตุ
วิธีแก้ไขที่ถูกต้อง จึงต้องพยายามอธิบายให้คนไข้เข้าใจถึงผลเสียของการกินยาหลายๆอย่าง และต้องทำให้คนไข้เลิกห่วงกังวลจนเกินไปกับโรคที่เป็นอยู่
ถ้าตรวจแล้วไม่พบว่าคนไข้เป็นโรคอะไรรุนแรง อาจจะหยุดยาทั้งหมดที่กินอยู่ แล้วให้แต่ยาคลายเครียดคลายกังวลไปสัก ๑-๒ อย่าง เพื่อให้ลองใช้ดูสัก ๑-๒ สัปดาห์ ถ้าอาการดีขึ้น แสดงว่าอาการที่ทำให้คนไข้ไปหาหมอในตอนแรกนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากความห่วงกังวลหรือความเครียด
แต่เมื่อหมอให้ยานานาชนิดแก่คนไข้ตามที่คนไข้ร้องขอ คนไข้จึงเกิดพิษจากยาซ้ำเติมเข้าไป ทำให้อาการไม่ดีขึ้นหรือทรุดลงได้

ที่สำคัญ คือต้องให้กำลังใจคนไข้มากๆ เพื่อคนไข้จะได้หายกลัวโรคภัยไข้เจ็บจนเกินไป และใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข (โดยปราศจากความกลัวหรือความกังวล) ได้

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

229-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 229
พฤษภาคม 2541
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์