• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาในห้องฉุกเฉิน


ห้องฉุกเฉิน (emergency room) ของโรงพยาบาลต่างๆ อาจมีชื่อแตกต่างกันไป เช่น

หน่วยฉุกเฉิน (emergency unit) ชื่อคล้ายกับหน่วยฉุกเฉินของทหาร ตำรวจ หรือหน่วยบรรเทาสาธารณภัยไป เพราะบางหน่วยจะมีรถพยาบาลออกไปรับผู้ป่วยในที่เกิดเหตุในทันทีด้วย

หน่วยอุบัติภัย (traumatic unit) เป็นห้องฉุกเฉินที่ทำการตรวจรักษาผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุและภัยธรรมชาติ เป็นต้น

ไม่ว่าห้องฉุกเฉินจะมีชื่อเป็นอย่างไรก็ตาม ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล คือ ส่วนของโรงพยาบาลที่จะทำหน้าที่ตรวจรักษาผู้ป่วย (หรือคนไข้) นอกโรงพยาบาลที่เกิดอาการป่วยทันที เฉียบพลัน และ/หรือมีอาการหนัก และถ้าเห็นว่าจำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ก็จะส่งตัวเข้าในหอผู้ป่วยในโรงพยาบาลนั้นทันทีถ้ามีเตียงรับไว้ได้ ถ้าไม่มีเตียงรับไว้หรือถ้าหมอในโรงพยาบาลนั้นไม่สามารถตรวจรักษาภาวะฉุกเฉินนั้นได้ ก็จะต้องส่งผู้ป่วยคนนั้นต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น ผู้ป่วยหรือคนไข้ที่จะเดินทางไปห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลใด จึงควรทราบว่า โรงพยาบาลนั้นรับรักษาผู้ป่วยหรือคนไข้ประเภทนั้นหรือไม่ด้วย เช่น ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่รักษาเกี่ยวกับโรคจิตโรคประสาท ย่อมไม่สามารถตรวจรักษาภาวะอุบัติเหตุ หรือภาวะฉุกเฉินอื่นๆที่ไม่ได้เกี่ยวกับโรคจิตโรคประสาท ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลแม่และเด็ก ย่อมไม่รับคนไข้ที่ไม่ใช่แม่และเด็ก เป็นต้น

ตัวอย่างผู้ป่วย :
ผู้ป่วยรายนี้เป็นข่าวครึกโครมไปทั่วประเทศไทยเมื่อต้นเดือนกันยายนนี้ที่เป็นชายไทยอายุ ๒๐ กว่าปี เดินทางจากต่างจังหวัดมาทำงานรับจ้างที่กรุงเทพฯ แล้วเกิดอาการเศร้าซึม ปีนท่อระบายน้ำใต้ทางด่วนขึ้นไปอยู่ใต้พื้นทางด่วน พร้อมที่จะกระโดดลงมาเพื่อฆ่าตัวตาย จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องนำรถกระเช้าและลูกสาวอายุ ๓ ขวบ ขึ้นรถกระเช้าไปอ้อนวอนเป็นเวลาหลายชั่วโมง กว่าจะยอมลงมาจากใต้พื้นทางด่วนนั้น ตำรวจเห็นชายผู้นั้นยังเศร้าซึม และเหม่อลอย แม้จะมีภรรยาและลูกอีก ๒ คนรอรับอยู่ อีกทั้งดูซูบซีดอิดโรย จึงพาตัวส่งโรงพยาบาลเอกชนใกล้ๆ นั้น โรงพยาบาลเอกชนนั้นก็เมตตา สงสาร ยอมรับตัวไว้เพื่อตรวจรักษาให้ แต่ในเวลาต่อมา ชายผู้นั้นก็ได้กระโดดกระแทกกระจกหน้าต่างแตกกระจาย ทะลุกระจกหน้าต่างที่แตกลงจากตึก ๑๐ ชั้น ลงไปสู่พื้นล่างบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

บทเรียนจากผู้ป่วยกรณีนี้ สอนเราว่า

๑. อย่าประเมินคนที่ต้องการจะฆ่าตัวตายต่ำเกินไป บางคนอาจจะคิดว่า เขาคงไม่กล้าฆ่าตัวตายจริง เป็นแต่เรียกร้องความสนใจเท่านั้น หรืออื่นๆ ซึ่งทำให้ขาดการระแวดระวัง และการป้องกันไม่ให้มีสิ่งจูงใจ โอกาส หรือช่องทางที่จะทำให้เกิดการฆ่าตัวตายในบริเวณที่ผู้ป่วยพักอาศัยอยู่ ในกรณีนี้ คือ ที่สูง (ตึก ๑๐ ชั้น) หน้าต่างที่มีแต่กระจก ไม่มีลูกกรงเหล็กดัดปิดกั้น ไม่มีคนอยู่ใกล้พอ ที่จะเหนี่ยวรั้งหรือยึดคนไข้ไว้ได้ทัน เป็นต้น

๒. ผู้ป่วยรายนี้มีประวัติโรคจิต โรคประสาทมาก่อน เคยได้รับการรักษามาแล้ว แต่ได้รับยาไม่สม่ำเสมอเพราะความยากจน ประกอบกับที่ตกงานและมีภรรยาและลูกเล็กๆ ๒ คนต้องเลี้ยงดู ในภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองเช่นนี้ ความเครียดจึงทับถมทวีขึ้น ถึงกับต้องหาทางกลับบ้านในต่างจังหวัด แต่ก็คงขาดเงินค่าเดินทางกลับบ้าน และไม่รู้จะหาทางออกให้แก่ชีวิตของตนอย่างไร ตำรวจและผู้ช่วยเหลือที่ได้รับทราบประวัติเช่นนี้ ควรจะนำตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่ชำนาญในด้านจิตเวชมากกว่าโรงพยาบาลทั่วไป เพราะนอกจากจะมีแพทย์และพยาบาลที่ชำนาญในด้านนี้มากกว่าแล้ว ยังมีห้องผู้ป่วยที่มีลูกกรงเหล็กทั้ง ๔ ด้าน และไม่มีอุปกรณ์หรือวัตถุใดๆในห้องที่ผู้ป่วย จะใช้ฆ่าตัวตายได้

อนึ่ง ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะซึมเศร้ารุนแรง และแสดงเจตจำนงชัดเจนว่าจะฆ่าตัวตาย ควรจะได้รับยาแก้ซึมเศร้าและยานอนหลับ ให้ผู้ป่วยพักหลับไปอย่างน้อย ๖-๘ ชั่วโมงติดต่อกัน และให้กลูโคสและน้ำเกลือทางเส้นเพื่อทดแทนพลังงานน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปจากการขาดอาหารและน้ำในระหว่างที่จิตใจ ไม่ปกตินั้น นอกจากนั้น ลูกเมียของผู้ป่วย ควรจะได้รับการดูแลช่วยเหลือด้วย ถ้าลูกเมียของผู้ป่วยเป็นที่รักของผู้ป่วยและไม่ได้มีปัญหากับผู้ป่วย การให้ลูกเมียของผู้ป่วยได้ร่วมช่วยดูแลผู้ป่วยอย่างน้อยวันละหลายๆชั่วโมง จะช่วยให้อาการทางจิตของผู้ป่วยหายเป็นปกติเร็วขึ้น และลูกเมียของผู้ป่วยอาจจะสังเกตความดีขึ้นหรือเลวลงของอาการทางจิตของผู้ป่วยได้ดีกว่าแพทย์และพยาบาล ช่วยบอกแพทย์และพยาบาลถึงวิธีการฆ่าตัวตายที่ผู้ป่วยเล่าให้ฟังใหม่ และช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตายในโรงพยาบาลได้

๓. สังคมยังละเลยคนยากไร้มากเกินไป ดังเราจะเห็นได้จากสภาพเด็กเร่ร่อนและผู้ใหญ่เร่ร่อนที่ค้นหาเศษอาหารขวดพลาสติกเปล่า กระดาษใช้แล้ว ฯลฯ ตามถังขยะและที่ทิ้งขยะ ขาดแคลนทั้งที่อยู่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ดังเช่นครอบครัวพ่อแม่ลูกทั้ง ๔ นี้ จนต้องเผชิญกับเคราะห์กรรมที่ป้องกันได้และหลีกเลี่ยงได้ แต่รัฐบาลและระบบราชการประจำ ยังคงวุ่นอยู่กับการแย่งชิงตำแหน่งและผลประโยชน์เป็นล้านล้านบาท โดยการผลักภาระหนี้สินของคนรวยมาให้คนจนแบกรับ ไม่ให้โอกาสในการศึกษา การทำมาหาเลี้ยงชีพ และการมีชีวิตอยู่ตามควรแก่อัตภาพและศักดิ์ศรีแห่งความเป็น มนุษย์แก่คนยากไร้ที่มีอยู่มากมาย โศกนาฏกรรม (การฆ่าตัวตาย) นี้ มีมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรัฐบาลชุดนี้ และคงจะมีเพิ่มขึ้นๆไปอีก หากรัฐบาลยังเอาแต่ "อุ้มคนรวย ไม่ช่วยคนจน" ต่อไป

ผู้ที่จะเป็นแพทย์ หรือฝึกจะเป็นแพทย์  จะต้องตระหนักถึงความทุกข์ลำเค็ญของพี่น้องประชาชนไทยส่วนที่ยังเดือดร้อนอยู่ตลอดมา แพทย์หญิงโกร บรุ๊นแลนด์ อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศ นอรเวหลายสมัย และปัจจุบันเป็นแพทย์สตรีคนแรกที่เพิ่งได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เมื่อไม่กี่เดือนก่อนให้สัมภาษณ์เป็นข่าวไปทั่วโลกว่า "ความยากจนเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้คนเจ็บป่วย และความเจ็บป่วยก็เป็นสาเหตุที่ทำให้คนยากจนด้วย"

วงจรอุบาทว์แห่งความจน-เจ็บ-โง่นี้ เป็นที่รู้กันมานานแล้ว แต่มีรัฐบาลไม่กี่รัฐบาลในประเทศต่างๆ ที่ตั้งใจแก้ไข ประเทศที่ไม่มีการแก้ไขจึงมีช่องว่างระหว่างคนรวย กับคนจนกว้างออกไปทุกที ทำให้คนจน-คนเจ็บ-คนโง่ เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ แพทย์หญิงโกร บรุ๊นแลนด์ ซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศ นอรเวอยู่ประมาณ ๑๐ ปี ได้ทำให้ประเทศนอรเวเป็นประเทศที่มีการพัฒนาคนอยู่ในอันดับที่หนึ่ง นำหน้าประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ตามลำดับ ทั้งที่เศรษฐกิจของนอรเวยังห่างไกลจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นมาก แสดงว่า เงินหรือเศรษฐกิจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนาคน แต่เป็นความตั้งใจ เป้าหมาย และวิธีการที่ถูกต้องที่จะฉุดความไม่เป็นธรรมในสังคมลงต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด
 
หวังว่าตัวอย่างของการฆ่าตัวตายเช่นนี้ จะเป็นบทเรียนให้ทุกคนโดยเฉพาะแพทย์และนักการเมืองได้คิดและเร่งเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงวิธีการผิดๆ ต่างๆ ก่อนที่จะมีคนฆ่าตัวตายมากขึ้นๆไปอีก

ข้อมูลสื่อ

246-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 246
ตุลาคม 2542
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์