• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เพื่อรับมือกับโรคหัวใจและหลอดเลือด (๑)

เพื่อรับมือกับโรคหัวใจและหลอดเลือด (๑)

"ด้วยความรู้ในปัจจุบัน เราสามารถสร้างโลกที่ปราศจากการคุกคามจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ในโลกเช่นนั้นการป้องกันเกิดขึ้นนับแต่วันแรกเริ่มของชีวิตทุกคนจะมีชีวิตที่เปี่ยมด้วยสุขภาพ  ได้หายใจอากาศที่ปลอดควันบุหรี่ได้กินอาหารที่ถูกหลักอนามัย  หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ ได้อาศัยและทำงานในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ" นี้คือคำประกาศเพื่อสุขภาพของหัวใจที่วิคตอเรีย

ความสำเร็จของสถาบันวิจัยโภชนาการในอดีตเป็นสักขีพยานของความสำเร็จของประเทศไทยในการ เผชิญหน้ากับภาวะขาดสารอาหาร อันเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในยุคนั้น เช่นเดียวกับปัญหาโรคติดต่อถัดจาก นั้นมาจนถึงปัจจุบันโจทย์ใหม่ของระบบสุขภาพคือ "โรคไม่ติดต่อ" ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มแยกแยะเป็นโรคเรื้อรัง โรคมะเร็ง และการบาดเจ็บ

โรคเรื้อรัง...โรคที่อาจกล่าวได้ว่า ง่ายต่อการรักษา แต่ยากที่จะวินิจฉัยในเบื้องต้น และยากต่อการรักษาแต่ง่ายต่อการวินิจฉัยในบั้นปลาย เพราะธรรมชาติของโรคเรื้อรังจู่โจมอย่างเงียบเชียบค่อยเป็นค่อยไป ทฤษฎีที่กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกคือ Barger theory กล่าว ว่าโรคเรื้อรังเกิดขึ้นตั้งแต่ชีวิตในครรภ์เสียด้วยซ้ำ

เมื่อเผชิญกับโรคเรื้อรัง แนวคิดและความรู้ที่เคย ใช้ได้ผลกับโรคติดต่ออันเป็นที่มาของยาวิเศษ (magic bullet) คือ ยาปฏิชีวนะและวัคซีน กลับใช้ไม่ได้เลยใน กรณีของโรคเรื้อรัง นับแต่วันที่อินซูลินซึ่งเป็นยารักษาโรคเบาหวานถูกค้นพบ แทนที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะลดลงกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วโลก

กำเนิดของโรคเรื้อรังอย่างเช่นความดันเลือดสูงเบาหวาน หลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น สลับซับซ้อนมากกว่าที่เราเคยรู้เกี่ยวกับโรคติดต่อ สาเหตุของโรคเรื้อรังไม่ได้มีหนึ่งเดียว และหนึ่งสาเหตุก็อาจเกี่ยวข้อง กับหลายโรค ดังเช่น การสูบบุหรี่เป็นเหตุเกี่ยวข้องกับ โรคถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร หลอดเลือดสมองตีบตัน และอื่นๆ อีกมากมาย 

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพล อย่างมากต่อการเกิดโรคเรื้อรัง ความรับผิดชอบต่อการป้องกันและรักษาโรคจึงอยู่ที่ตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคมเป็นอย่างมาก  การฝากความหวังว่าจะได้ยา วิเศษจากแพทย์จึงเป็นความคิดที่ล้าสมัยเสียแล้ว การที่จะคาดหวังให้ความรับผิดชอบนั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง จนบังเกิดผลดี ความรู้ที่ถูกต้องแม่นยำและรอบด้านเป็นปัจจัยสำคัญ บทความนี้มุ่งเสนอประเด็นสำคัญหรือแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับโรคเรื้อรังโดยใช้โรคหัวใจและ หลอดเลือดเป็นตัวอย่าง มากกว่ามุ่งเสนอรายละเอียดของสาระความรู้

สถานการณ์และแนวโน้มของโรคหัวใจและหลอดเลือด
ในบรรดาสาเหตุการตาย ๒๕ อันดับแรกที่ก่อให้เกิดการสูญเสียก่อนวัยอันสมควร (years of life lost) ในปี พ.ศ.๒๕๔๑ ปรากฏว่า โรคหลอดเลือดสมองและ โรคหัวใจขาดเลือดจัดอยู่ในอันดับที่ ๓ และ ๗ ตามลำดับ มีข้อมูลบ่งชี้ในเบื้องต้นว่าผู้ป่วยด้วย ๒ โรคนี้กำลัง  เพิ่มขึ้นจากการศึกษาดัชนีวัดภาระโรค (DALY) เปรียบ เทียบข้อมูลในปี พ.ศ.๒๕๓๐ และปี พ.ศ.๒๕๓๖ พบว่าโรคหัวใจขาดเลือดเลื่อนอันดับจากที่ ๗ เป็นที่ ๓ และ โรคหลอดเลือดสมองเลื่อนอันดับจากที่ ๘ เป็นที่ ๕ ทำนองเดียวกัน หลักฐานจากการสำรวจสถานะสุขภาพ ประชาชนไทยในปี พ.ศ.๒๕๓๔ และปี พ.ศ.๒๕๓๙ พบ ว่า ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งได้แก่ เบาหวาน โคเลสเตอรอลสูง ความดันเลือดสูง อ้วน กำลังขยายตัว (พบจำนวนผู้มีโรคและอาการเหล่านี้มากขึ้น) ในคนไทย ยกเว้นพฤติกรรมสูบบุหรี่ที่พบน้อยลง
นอกจากการป่วยและการตาย โรคหัวใจและหลอดเลือดยังก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจต่อชีวิตครอบครัว ชีวิตการงาน การลงทุน ขณะที่ประเทศ ไทยยังไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกา

โรคหัวใจและหลอดเลือดนำมาซึ่งความสูญเสียต่อพลังการผลิตสูงถึง ๑๗.๖ พันล้านดอลลาร์ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ หรือประมาณร้อยละ ๒ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน ประเทศ ในประเทศแคนาดาความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ของโรคนี้มีมูลค่า ๑๒ พันล้านดอลลาร์ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ โดยจำแนกได้เป็นค่ารักษาพยาบาล ความสูญเสียทางอ้อมจากการขาดรายได้เพราะการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ

ปัจจัยเสี่ยง
ความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุเป็นจุดตั้งต้นของการหาทางแก้ปัญหา  สำหรับกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด คำว่า "สาเหตุ" มักถูกแทนที่ด้วยคำว่า"ปัจจัยเสี่ยง" เพราะความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลระหว่างตัวการกับตัวโรคไม่ตรงไปตรงมา  ตัวอย่างเช่น คนที่สูบบุหรี่ไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยอัมพาตจากหลอดเลือดสมองอุดตัน ในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่สูบบุหรี่กลับเป็นโรคนี้แม้ว่าโอกาสที่คนไม่สูบบุหรี่จะเป็นโรคน้อยกว่าคนที่สูบบุหรี่ก็ตาม 

เมื่อกล่าวถึงปัจจัยเสี่ยง อาจจัดกลุ่มสำหรับโรคเรื้อรังได้เป็น ๕ กลุ่มใหญ่ ได้แก่
๑. กลุ่มที่แก้ไขไม่ได้ เช่น พันธุกรรม อายุ เพศ
๒. พฤติกรรมเสี่ยง เช่น การกิน การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา
๓. ปัจจัยเสี่ยงทางสรีระ เช่น ความดันเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง น้ำหนักเกิน
๔. สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และสังคม เช่น จราจรที่แออัด  มลพิษ ที่อยู่อาศัยที่แออัด เสื่อมโทรม
๕. นโยบายสาธารณะ เช่น ผังเมืองที่นำไปสู่การจราจรคับคั่ง การกระจายรายได้ที่ไม่สมดุล    
                    (ยังมีต่อ)

ข้อมูลสื่อ

281-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 281
กันยายน 2545
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์