• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การช่วยตนเองและช่วยกันเองในยามเจ็บฉุกเฉิน

การช่วยตนเองและช่วยกันเองในยามเจ็บฉุกเฉิน

"หมอชาวบ้าน" ประจำเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคมได้กล่าวถึงเรื่อง"การช่วยตนเอง และช่วยกันเองในยามป่วยฉุกเฉิน"
ช่วงต่อไปนี้จะกล่าวถึง "การช่วยตนเองและช่วยกันเองในยามเจ็บฉุกเฉิน"
"เจ็บ" ในที่นี้หมายถึง การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ภยันตราย แมลงสัตว์กัดต่อย และการได้รับสารพิษ รวมทั้งการแพ้ยา และการ เป็นพิษจากยาด้วย
"ฉุกเฉิน" ในที่นี้หมายถึง เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน และจะต้องรีบแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายถึงชีวิตหรือพิการ หรือต้องทุกข์ทรมานอย่างมาก
"การช่วยตนเองและช่วยกันเอง" ในที่นี้หมายถึง คนที่เกิดอาการเจ็บฉุกเฉิน รู้จักวิธีช่วยตนเองเพื่อกำจัดหรือบรรเทาอาการเจ็บฉุกเฉิน นั้น ถ้ายังมีสติสัมปชัญญะและกำลังวังชาพอที่จะช่วยตนเองได้ หรือถ้าไม่สามารถช่วยตนเองได้ คนที่อยู่ใกล้ๆ หรือพบเห็นการเจ็บฉุกเฉิน นั้น รู้จักช่วยผู้ที่เจ็บฉุกเฉินตามสมควร เพื่อช่วยชีวิตหรือลดความทุกข์ ทรมานของผู้ป่วยลงได้

ประชาชนทั่วไปจึงควรศึกษาว่า การเจ็บอย่างไรเป็น "การเจ็บฉุกเฉิน" และควรจะช่วยตนเองและช่วยกันเองอย่างไรในขั้นแรกก่อนจะนำส่งโรงพยาบาล 
ถ้าการช่วยตนเองหรือช่วยกันเอง ทำให้อาการดีขึ้นจนพ้นภาวะฉุกเฉิน จะลดอันตรายถึงชีวิตหรือ พิการ และความทุกข์ทรมานต่างๆ จากการเจ็บฉุกเฉินลงได้ เพราะการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยขณะที่ไม่มีอาการฉุกเฉิน จะปลอดภัยกว่าการ เคลื่อนย้ายขณะที่มีอาการฉุกเฉิน อย่างมากมาย

ระดับความรุนแรงของการเจ็บป่วย และขั้นตอนของการช่วย ตนเอง และช่วยกันเองในการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่กล่าวไว้แล้วใน"การช่วยตนเองและช่วยกันเองใน ยามป่วยฉุกเฉิน" ในหมอชาวบ้าน ประจำเดือนเมษายน ๒๕๔๕ จะใช้ ได้เช่นกันสำหรับ"การเจ็บฉุกเฉิน" โดยต้องระมัดระวังเพิ่มเติมในกรณี ที่ "การเจ็บฉุกเฉิน" เกิดขึ้นในกรณี สงครามจลาจล อุบัติภัยหมู่ สาธารณภัย หรืออุบัติเหตุรุนแรง ที่มีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ประชาชน ที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจะต้อง
๑. ตั้งสติให้ได้ก่อน อย่าตื่นเต้นตกใจ หรือวู่วามวิ่งเข้าไปยังจุด เกิดเหตุทันที เพราะอาจมีอันตราย จากการสู้รบ สารเคมี ก๊าซพิษ การระเบิดของก๊าซหรือน้ำมันเชื้อ เพลิง ตึกถล่ม ฯลฯ
๒. สอบถามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ๑๙๑ เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือฝ่ายปกครองในพื้นที่เสียก่อนว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร และต้องการให้ประชาชนทั่วไปเข้า ไปช่วยเหลือหรือไม่

ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ต้องการให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปช่วยเหลือ อย่าเข้าไปเป็นอันขาดเพราะนอกจากจะเป็นอันตรายต่อตนเองแล้ว ยังกีดขวางการทำงาน ของเจ้าหน้าที่และบุคลากรอื่นที่มีหน้าที่โดยตรง และสามารถช่วย เหลือผู้บาดเจ็บได้ดีกว่าด้วย

ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการความช่วยเหลือ ให้ถามว่าต้องการความช่วยเหลือด้านใด และพิจารณาว่าตนจะให้ความช่วยเหลือนั้นได้หรือไม่ หรือจะติดต่อผู้อื่นที่ช่วยได้ไปช่วยแทน ถ้าพิจารณา แล้วเห็นว่าตนไม่มีความสามารถที่จะช่วยได้ ห้ามเข้าไปในที่เกิดเหตุเด็ดขาด

เพราะการเป็น"ไทยมุง" เป็น การกีดขวางการปฏิบัติงานช่วยชีวิต และงานอื่นๆ ในภาวะฉุกเฉินอย่างมาก และทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย และต่อเจ้าหน้าที่ผู้กำลังปฏิบัติ งานที่ต้องพะว้าพะวัง ทำให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น

๓. อย่าเสี่ยงถ้าไม่แน่ใจ การ จะช่วยผู้อื่นให้พ้นภัยจากกรณีต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ควรแน่ใจก่อนว่า ตนเองมีความสามารถที่จะเข้าไปช่วยในจุดเกิดเหตุ และการช่วยนั้น จะไม่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่นทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม

อันตรายทางตรง เช่น ทำให้ ผู้ป่วยบาดเจ็บมากขึ้น (เพราะตน ไม่รู้วิธีช่วยเหลือที่ถูกต้อง) ทำให้ ตนเองบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายถึง ชีวิต (เพราะเหตุการณ์รุนแรงมาก ไม่มีเครื่องป้องกันภัยเหมือนเจ้า หน้าที่ ไม่มีความรู้หรือกำลังวังชา พอสำหรับเหตุการณ์นั้น เป็นต้น)

อันตรายทางอ้อม เช่น กีด ขวางหรือรบกวนการปฏิบัติงานของ เจ้าหน้าที่ เพิ่มงานและความพะวักพะวนแก่เจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติ งานช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เป็นต้น
โดยทั่วไป ประชาชนที่ไม่เคย ได้รับการฝึกหัดในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับภยันตราย โดยเฉพาะใน อุบัติเหตุรุนแรง (ร้ายแรง) ไม่ควร เข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บโดยตรง ควร ช่วยเหลือโดยอ้อม คือ รีบเรียก หรือรีบหาคนที่ชำนาญในเรื่องนั้นมา ช่วยจะดีกว่า เช่น โทรศัพท์ไปบอก  ๑๙๑ หรือ ๑๖๖๙ ทันที แล้วแจ้งเหตุ เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงมาทำ การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ยกเว้นใน กรณีที่ไม่สามารถเรียกหรือหาใคร มาช่วยเหลือได้ หรือในขณะที่รอให้ผู้ที่มีความชำนาญมาช่วยเหลือ ควรปฏิบัติดังนี้
๑. สังเกตสภาพแวดล้อม
ถ้าผู้บาดเจ็บอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีอันตรายให้เข้า ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ทันที ถ้าคิดว่าตนช่วยได้ และจะไม่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น แต่ถ้าผู้บาดเจ็บอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อันตราย หรืออาจเกิดอันตราย เช่น

  •  ในอุบัติเหตุรถยนต์และ/หรือรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะที่เกิดบนถนนที่รถวิ่งกันด้วยความ เร็วสูง ให้ดำเนินการดังนี้ก่อนเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ

๑.๑ รีบทำเครื่องหมายให้รถที่จะวิ่งเข้าสู่บริเวณที่เกิดเหตุทราบ ว่ามีอุบัติเหตุอยู่ข้างหน้า จะได้ชะลอ ความเร็วลง เช่น ด้วยการหักกิ่งไม้ ข้างทาง หรือใช้กระป๋องหรือสิ่งอื่น ที่หาได้ง่าย และเห็นได้ชัดในระยะ ไกลมาขวางถนนด้านซ้ายบ้างขวา บ้างเป็นระยะแบบสลับฟันปลา ให้ ไกลจากจุดเกิดเหตุทั้งข้างหน้าและ ข้างหลังอย่างน้อย ๑๐๐-๒๐๐ เมตร เพื่อให้รถลดความเร็วลง และถ้ามีคนช่วยยืนโบกผ้าหรือธงด้วย จะ ยิ่งช่วยได้มากขึ้น ต้องทำขั้นตอนนี้ ก่อนจะทำขั้นตอนต่อไป
๑.๒ สังเกตสิ่งอันตราย เช่น น้ำมันไหลนอง มีสารเคมีหกเลอะ-เทอะหรือฟุ้งกระจาย มีกลิ่นก๊าซหรือกลิ่นแปลกปลอม หรือมีสิ่งอื่นๆ ที่อาจจะเป็นอันตรายในบริเวณที่เกิดเหตุหรือไม่ และให้สังเกตเครื่อง หมาย หรือสัญลักษณ์ของสารอันตรายที่ติดไว้ข้างรถ และบนสิ่งของ ที่บรรทุกอยู่ด้วย
รถที่บรรทุกวัตถุไวไฟ เช่นน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม และรถ ที่บรรทุกสารเคมีอันตราย สารพิษ หรือสารกัมมันตภาพรังสี จะมีเครื่องหมายติดอยู่ที่ตัวรถ ถ้ารถเหล่านี้เกิดอุบัติเหตุ ต้องระวังการ ติดไฟ การระเบิด และการได้รับพิษโดยไม่ทันรู้ตัวได้
ถ้ามีสิ่งต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ห้ามเข้าใกล้บริเวณที่เกิดเหตุ ถ้าไม่ มีจึงจะเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุ และดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

๒. ดูว่ามีผู้บาดเจ็บกี่คนและบาดเจ็บอย่างไร แล้วรีบโทรศัพท์แจ้งศูนย์ฉุกเฉิน เช่น ๑๙๑ หรือ ๑๖๖๙ และถามศูนย์ด้วยว่าตนควร จะช่วยผู้บาดเจ็บหรือไม่และอย่างไร แล้วดำเนินการตามที่ศูนย์ฉุกเฉิน แนะนำ

ในกรณีที่ติดต่อศูนย์ฉุกเฉินไม่ได้ หรือขณะที่รอหน่วยรถพยาบาล ฉุกเฉินอยู่ ควรดำเนินการขั้นต่อไป
(ยังมีต่อ)


 

ข้อมูลสื่อ

281-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 281
กันยายน 2545
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์