• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่องจริงจากห้องฉุกเฉิน

เรื่องจริงจากห้องฉุกเฉิน


ผู้ป่วยรายที่ ๓  หญิงไทยหม้าย อายุ ๕๐ ปี ถูกญาติพามาที่ห้องฉุกเฉิน

แพทย์ : "สวัสดีครับ คนไข้เป็นอะไร หรือครับ"
ญาติ : "เวียนหัว บ้านหมุน และคลื่นไส้อาเจียนค่ะ"

แพทย์ : "เป็นมากี่วันแล้วครับ"
ญาติ : "เป็นมา ๓ วันแล้วค่ะ"

แพทย์ : "แล้วกินยาอะไรอยู่ หรือช่วยตัวเองยังไงบ้างเพื่อให้อาการดีขึ้น"
ญาติ : "ก็พาไปหาหมอที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน กินยามา ๒ วันแล้วยังไม่หายค่ะ"

แพทย์ : "แล้วหมอเขาว่าเป็นโรคอะไร ต้องกินยากี่วันจึงจะหาย"
ญาติ : "หมอไม่ได้บอกค่ะ"

คุณหมอจึงหันไปทางผู้ป่วย

แพทย์ : "สวัสดีครับ หมอเขาบอกคุณหรือเปล่าว่าคุณเป็นอะไร และต้องกินยากี่วันจึงจะหาย"
ผู้ป่วย : "หมอไม่ได้บอกค่ะ"

แพทย์ : "แล้วคุณไม่ถามเขาหรือว่าคุณเป็นอะไร"
ผู้ป่วย : "ไม่ได้ถามค่ะ กลัวเขาดุเอา"

แพทย์ : "ถ้าเขาดุ คุณก็ต่อว่าเขาสิว่า ถามดีๆทำไมต้องดุ คุณหมอไม่อยากให้คนไข้รู้หรือว่าเป็นอะไร จะต้องปฏิบัติรักษาตัวอย่างไร"
ผู้ป่วย : "ไม่ค่อยกล้าถามค่ะเพราะเคยถูกดุว่า อยากรู้ก็ไปเรียนหมอสิ"

แพทย์ : "หมอต้องขอโทษแทนหมอคนนั้นก็แล้วกัน เขาคงจะหงุดหงิดอะไรอยู่เลยมาพาลพาโลกับคุณ ที่จริงถ้าคุณถามเขาดีๆ เหมือนที่หมอแนะนำ คุณเมื่อกี้นี้ เขาไม่ควรจะดุคุณ และควรจะตอบคุณดีๆ ให้คุณรู้ว่าตนเองเป็นโรคอะไร และควรจะดูแลตนเองอย่างไร คุณกินยามา ๒ วันแล้ว อาการดีขึ้น เลวลง หรือคงเดิมครับ"
ผู้ป่วย :  "ดีขึ้นค่ะ แต่ยังไม่หาย เลยมาหาหมอให้แน่ใจ"

แพทย์ : "แล้วคุณเป็นโรคประจำตัวอะไรอยู่บ้าง นอกจากการเจ็บป่วยคราวนี้"
ผู้ป่วย : "เป็นเบาหวานค่ะ เป็นมาหลายปีแล้ว ก็รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านมาตลอด คุมเบาหวานได้ดีค่ะ น้ำตาลเมื่อ ๒ วันก่อน ๑๒๐ เท่านั้น (น้ำตาลในเลือด ๑๒๐ มก./ดล. ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน"

แพทย์ : "อ้าว ก็คุณรักษาที่โรงพยาบาลนั้นมาตลอด แล้วอยู่ดีๆทำไมมานี่ล่ะ"
ผู้ป่วย :  "ก็เพื่อนเขาบอกว่าที่นี่ดี ก็เลยมาค่ะ"

แพทย์ : "แล้วคุณเอาใบส่งตัว หรือผลการตรวจ ผลการรักษาต่างๆ จากโรงพยาบาลเก่ามาด้วยหรือเปล่า"
ผู้ป่วย : "เปล่าค่ะ"

แพทย์ : "ถ้าอย่างนั้น คุณควรกลับไปรักษาที่เดิม เพราะที่โรงพยาบาลเก่าเขามีประวัติของคุณพร้อมอยู่แล้ว คุณจะได้ไม่ต้องเจ็บตัวเพราะถูกเจาะเลือด เอกซเรย์ และอื่นๆอีก"
ผู้ป่วย : "ไม่เป็นไรค่ะ ฉันมีเงินเสีย และยอมเจ็บค่ะ"

แพทย์ : "ถึงคุณจะมีเงินเสียและยอมเจ็บ แต่ผลการตรวจใหม่จะบอกไม่ได้เลยว่าความผิดปกตินั้นมันดีขึ้น เลวลง หรือคงเดิม เพราะเราไม่มีของเก่ามาเปรียบเทียบ นอกจากนั้น ยาที่คุณเคยใช้แล้วแพ้หรือเป็นพิษ เราก็ไม่รู้ ถ้าใช้ให้คุณอีก คุณก็จะแพ้หรือเป็นพิษจากยาอีก หรือยาที่คุณเคยใช้แล้วไม่ได้ผล เราก็ไม่รู้ ถ้าเราเอามาให้คุณอีก มันก็จะไม่ได้ผลอีก พูดง่ายๆ ก็คือ เราต้องมาลองผิดลองถูกกันใหม่ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อตัวคุณเอง"
ผู้ป่วย :  "ไหนๆฉันก็มาแล้ว คุณหมอก็ตรวจไปก่อนก็แล้วกัน"

แพทย์ : "ถ้าคุณยืนยันจะมาตรวจรักษาที่นี่ตลอดไป โดยไม่ย้ายไปย้ายมาอีก หมอก็จะตรวจให้ แต่คุณต้องไปขอใบส่งตัวจากโรงพยาบาลเก่าของคุณมาก่อน ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวหมอให้ยาอะไรไป ยาที่หมอให้อาจเป็นพิษ อาจไม่ได้ผล หรือไปขัดกับยาอื่นที่คุณเคยใช้อยู่ก่อนแล้วจะเป็นอันตรายได้ อนึ่ง คุณเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งต้องรักษาตลอดชีวิต ถ้าคุณไม่ตรวจรักษาใกล้ๆบ้าน คุณจะต้องเสียค่ารถมาก และต้องเสียเวลาในการเดินทางมาก นั่งรถนานๆจะทำให้คุณเวียนหัว และหงุดหงิดโดยเปล่าประโยชน์"
ผู้ป่วย : "แปลว่าหมอจะไม่รักษาฉันใช่ไหมล่ะ"

แพทย์ : "หมอจะรักษาให้ได้ เมื่อหมอได้ประวัติการตรวจรักษาที่คุณได้รับอยู่และได้รับมาก่อนแล้ว มิฉะนั้น อาจเกิดอันตรายขึ้นต่อตัวคุณเอง ถ้าคุณยังยืนยันจะรักษาที่นี่ คุณก็นั่งรอไปก่อน แล้วให้ญาติคุณไปที่โรงพยาบาลเก่า ไปขอผลการตรวจรักษาของคุณที่โรงพยาบาลนั้นมาก่อน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะได้มา แต่อาการของคุณก็ไม่ได้ฉุกเฉินอะไร

"ทางที่ดี หมอคิดว่าคุณกินยาที่โรงพยาบาลเก่าให้คุณไว้ต่อไปจะดีกว่า เพราะยานั้นก็ทำให้คุณดีขึ้นแล้วถ้ากินยาหมดแล้วยังไม่หาย ค่อยกลับไปหาหมอคนเดิม และบอกเขาว่า กินยาหมดแล้วยังไม่หาย หมอเขาก็จะได้ให้ยาใหม่ที่ไม่ซ้ำกับยาเก่าได้"

ผู้ป่วยรายนี้ เป็นตัวอย่างที่พบบ่อยของผู้ป่วยที่ชอบย้ายหมอ ย้ายโรงพยาบาลไปเรื่อยๆ (หมอเรามักเรียกผู้ป่วยพวกนี้ว่า พวก "ช็อป" ไปเรื่อยๆ โดยแปลงมาจากภาษาอังกฤษว่า shopping around ที่หมายถึง การเลือกซื้อสินค้าตามร้านต่างๆไปเรื่อยๆ)

การกระทำเช่นนี้เป็นผลเสียอย่างร้ายแรงต่อ

๑. ตัวผู้ป่วยเอง เพราะหมอใหม่ในโรงพยาบาลใหม่ จะต้องเริ่มต้นการตรวจใหม่ทั้งหมด ต้องตรวจภายใน ล้วงก้น ล้วงคอ ฯลฯ ใหม่ ถ้าจำเป็นเช่นเดียวกับที่ต้องเจาะเลือด เจาะกระดูก เจาะหลัง เจาะข้อ ฯลฯ ใหม่ ถ้าจำเป็นทำให้ผู้ป่วยต้องเจ็บปวด และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตรวจนั้น นอกจากจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แล้ว ยิ่งกว่านั้น ผลการตรวจใหม่ต่างๆ ก็จะไม่มีผลการตรวจเก่ามาเปรียบเทียบ ทำให้ไม่ทราบว่าผลนั้น ดีขึ้น เลวลง หรือคงเดิม ทำให้ปรับขนาดยาที่จะให้คนไข้ไม่ได้ ได้แต่ลองผิดลองถูกไปก่อน นอกจากนั้น ยาที่ผู้ป่วยเคยใช้ไม่ได้ผลหรือใช้แล้วแพ้หรือเป็นพิษ หมอใหม่ โรงพยาบาลใหม่ก็จะไม่รู้ และอาจใช้ยาเหล่านั้นกับผู้ป่วยอีก ทำให้ไม่ได้ผลหรือเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ อนึ่ง การเปลี่ยนหมอ เปลี่ยนโรงพยาบาล ทำให้การตรวจรักษาล่าช้าออกไป ถ้าเป็นโรคร้ายหรือรุนแรง ก็อาจเป็นอันตรายถึงพิการหรือถึงตายได้

๒. ครอบครัวของผู้ป่วย ก็ประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย และความสับสนวุ่นวายที่เกิดจากการย้ายหมอย้ายโรงพยาบาล และความหงุดหงิดกังวล เมื่อเห็นว่าผู้ป่วยต้องได้รับความทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นจากความล่าช้าในการตรวจรักษาทุกครั้งที่ย้ายหมอย้ายโรงพยาบาล โดยไม่มีใบส่งตัวจากหมอเก่าหรือโรงพยาบาลเก่า

๓. แพทย์และพยาบาล ในโรงพยาบาลเก่าก็อาจเกิดอารมณ์หรือความหงุดหงิด เมื่อผู้ป่วยและญาติเป็นคนขอย้ายเอง เพราะแพทย์พยาบาลอาจรู้สึกว่า ผู้ป่วยและญาติดูถูกตนหรือไม่ให้เกียรติตนที่ดูแลอยู่ แล้วยังทำให้ตนต้องเสียเวลามาเขียนใบส่งตัวหรือหาผลการตรวจต่างๆให้ โดยที่ตนยังเห็นว่าตนยังสามารถดูแลรักษาผู้ป่วยได้ เป็นต้น

ส่วนแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลใหม่ก็อาจเกิดอารมณ์และความหงุดหงิด เพราะต้องเสียเวลาโดยไม่จำเป็น ในการพูดคุยให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจถึงพิษภัยต่างๆ ที่เกิดจากการย้ายหมอย้ายโรงพยาบาล และยังรู้สึกอึดอัดใจ เพราะไม่รู้ว่าจะรักษาผู้ป่วยอย่างไร จึงจะไม่ให้ยาตีกัน (เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาเก่ากับยาใหม่ เพราะไม่รู้ว่ายาเก่ามีอะไรบ้าง) หรือจะให้ยาตัวไหนดี (เพราะไม่รู้ว่ายาตัวไหนผู้ป่วยเคยใช้แล้วได้ผล ตัวไหนเคยใช้แล้วไม่ได้ผลหรือเป็นพิษ เป็นต้น)

ผู้ป่วยที่เปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่มีใบส่งตัวพร้อมกับผลการตรวจรักษาที่เคยได้รับมาก่อน จึงสร้างความยากลำบากให้แก่แพทย์พยาบาลอย่างมาก และถ้าไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินจริงๆ แล้ว แพทย์และพยาบาลควรจะส่งผู้ป่วยกลับไปโรงพยาบาลเดิม แต่ถ้าผู้ป่วยอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ก็ต้องตรวจรักษาภาวะฉุกเฉินไปก่อน เมื่อหายจากภาวะฉุกเฉินแล้ว ควรส่งผู้ป่วยกลับไปโรงพยาบาล เดิม เพื่อไม่ให้เกิดประเพณีหรือวัฒนธรรม "ช็อป" ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้

๔. โรงพยาบาลและประเทศ ต้องเสียค่าใช้จ่ายและค่าเตรียมเจ้าหน้าที่สำหรับรองรับผู้ป่วย "ช็อป" เหล่านี้โดยไร้ประโยชน์ ค่าตรวจวิจัยต่างๆ เช่น น้ำยาเอกซเรย์ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรืออื่นๆ เกือบทั้งหมดต้องซื้อจากต่างประเทศ ทำให้เงินออกนอกประเทศโดยไม่จำเป็นและโดยไร้ประโยชน์ เพราะเป็นการทำซ้ำทำซากจากที่เคยทำไว้แล้ว เพียงเพื่อสนองความอยาก "ช็อป" ของผู้ป่วยและญาติเท่านั้น

ข้อมูลสื่อ

248-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 248
ธันวาคม 2542
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์