• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่องจริงจากห้องฉุกเฉิน

เรื่องจริงจากห้องฉุกเฉิน


ผู้ป่วยรายที่ ๔  ชายไทยโสด อายุ ๒๓ ปี มาห้องฉุกเฉินพร้อมกับพ่อแม่และน้องสาว

แพทย์ : "สวัสดีครับ คุณมีอาการอะไรหรือ"
ผู้ป่วย : "หมอที่โรงพยาบาลตาคลีให้ผมมารักษาที่กรุงเทพฯ ครับ เขาให้เอาผลเลือดนี่มาให้ดูครับ"

แพทย์ดูผลเลือดที่หมอโรงพยาบาลตาคลีตรวจไว้ พบว่า ผู้ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว

แพทย์ : "หมอที่นั่นให้คุณมาเท่านี้หรือ"
ผู้ป่วย : "ครับ เขาตรวจเลือดเสร็จ พอเห็นผลเขาก็ให้ผมลงมากรุงเทพฯ เลย"

แพทย์ : "เขาไม่เขียนใบส่งตัวอะไรให้เลยหรือ"
ผู้ป่วย : "เปล่าครับ เขาให้แต่ใบผลเลือดมา แล้วบอกว่าให้ไปที่โรงพยาบาลรามาฯ หรือศิริราช ผมจึงมานี่ครับ"

แพทย์ : "ที่จริง เขาควรเขียนใบส่งตัวมาด้วย เพราะถึงเขาจะยังไม่ได้ตรวจอะไรอย่างอื่นหรือยังไม่ได้ให้การรักษา ถ้าเขาเขียนใบส่งตัวมา เราจะได้รู้ว่าเขาคิดอย่างไร และ โรงพยาบาลของเขาจะสามารถดูแลคุณต่อได้ไหมเมื่อคุณดีขึ้นและกลับไปอยู่บ้านแล้ว เอาละ โชคดีที่ใบผลเลือด ที่ให้มาบอกโรคได้ชัดเจน คุณหมอที่ตาคลีบอกคุณไว้หรือเปล่าว่าคุณเป็นโรคอะไร"
ผู้ป่วย : "ครับ เขาบอกว่าสงสัยจะเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวให้มาตรวจเพิ่มเติมให้แน่นอนที่กรุงเทพฯ ครับ"

แพทย์ : "ดีมาก ผลเลือดที่ได้มาทำให้คิดว่าคุณน่าจะเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว เพราะมีเม็ดเลือดขาวที่มีลักษณะมะเร็งในกระแสเลือด แล้วคุณยังซีดมาก และเกล็ดเลือดต่ำมากด้วยการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวต้องใช้เวลานานและเสียค่าใช้จ่ายสูง คุณและพ่อแม่กับน้องสาวมีที่พักในกรุงเทพฯ ไหม"
แม่ผู้ป่วย : "ไม่มีค่ะ"

แพทย์ : "อ้าว แล้วถ้าเรารับลูกของคุณไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล แล้วคุณ ๓ คนจะไปพักที่ไหน"
แม่ผู้ป่วย : "ขอเรานอนข้างๆเตียงลูกได้ไหม"

แพทย์ : "ไม่ได้หรอก เพราะระเบียบโรงพยาบาลไม่ยอมให้ญาตินอนข้างเตียงผู้ป่วย นอกจากในห้องพิเศษ และลูกของคุณคงต้องอยู่รักษาตัวหลายวัน แล้วคุณทั้งสามคนจะพักที่ไหน"
แม่ผู้ป่วย : "เรานอนตรงไหนก็ได้ ขอที่ว่างๆตรงไหนก็ได้ค่ะ ตรงที่คนไข้นั่งรอตรวจนอกห้องก็ได้ เพราะเดิมก็ไม่คิดว่าจะต้องอยู่โรงพยาบาล คิดว่าตรวจเสร็จแล้วก็จะเอายากลับไปกินที่บ้านที่ตาคลีเลย แล้วอยู่โรงพยาบาลนี่เสียเงินมากไหมคะ"

แพทย์ : "คงเป็นหมื่นนะ เพราะยาฆ่ามะเร็งค่อนข้างแพง และอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อน ทำให้ต้องใช้ยาอื่นเพิ่มเข้าไปอีก"
แม่ผู้ป่วย : "คุณหมอ เราไม่ค่อยมีเงินค่ะ คุณหมอช่วยสงเคราะห์เราด้วยนะคะ"

แม่ผู้ป่วยพูดไปน้ำตาไหลไป พร้อมกับยกมือไหว้หมอปลกๆ

แพทย์ : "ผู้ป่วยเคยทำงานโรงงานมีประกันสังคมไหม"
ผู้ป่วย : "ครับ ผมทำงานในโรงงานที่นวนคร เพิ่งลาออกมาไม่กี่วันเพราะทำงานไม่ไหว ผมป่วยมาเดือนเศษแล้ว ไปรักษาที่โรงพยาบาลในนวนครที่ผมมีประกันอยู่หลายครั้ง อาการก็ไม่ดีขึ้น แถมทรุดลงจนทำงานไม่ไหว ต้องลาออก และกลับไปบ้านที่ตาคลี จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลตาคลี และพบว่า เป็นโรคนี้ และหมอให้มากรุงเทพฯ   ครับ"
แพทย์ : "ถ้าอย่างนั้น ขอหมอดูบัตรประกันสังคมของคุณหน่อย"

น้องสาวผู้ป่วยค้นดูในย่ามพักใหญ่ ก็พบบัตรประกันสังคมที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในนวนคร แล้วยื่นให้หมอดู

แพทย์ : "บัตรประกันสังคมคุณยังใช้ได้ ยังไม่หมดอายุ วิธีที่ดีที่สุด คือ คุณรีบไปที่โรงพยาบาลที่คุณทำประกันสังคมไว้ แล้วเอาใบตรวจเลือดนี่ให้เขาและบอกว่า อาการของคุณไม่ดีขึ้น คุณจึงกลับบ้าน และไปตรวจกับหมอที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หมอพบว่า คุณเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว จึงให้คุณกลับมารักษาที่กรุงเทพฯ ถ้าโรงพยาบาลที่นวนครเขารักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวไม่ได้ เขาก็จะส่งคุณไปรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ๆที่รักษาโรคนี้ได้ แล้วคุณจะไม่ต้องเสียค่าตรวจรักษาเลย คุณคิดว่าดีไหม"
ผู้ป่วย :  "ครับ คงต้องทำตามที่หมอแนะนำ"

แล้วผู้ป่วยก็หันไปบอกพ่อแม่และน้อง ให้เก็บย่ามและกระเป๋า เตรียมตัวเดินทางไปยังโรงพยาบาลในนวนครที่ตนได้ทำประกันสังคมไว้

ตัวอย่างผู้ป่วยรายนี้ แสดงให้เห็นว่าแม้ในภาวะฉุกเฉินดังเช่นในผู้ป่วยรายนี้ที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันจนซีดมาก และเกล็ดเลือดต่ำมาก ซึ่งอาจจะทำให้เลือดออกง่าย และหอบเหนื่อยได้ แต่ในขณะที่เลือดยังไม่ออก และผู้ป่วยยังเดินไปมาได้ ไม่อ่อนเพลียมากหรือหอบเหนื่อยจากอาการซีด การแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับผู้ป่วย ย่อมจะถูกต้องและดีกว่าการรีบให้เลือด ให้เกล็ดเลือดและให้ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีประกันไว้ไม่ทราบเรื่อง เพราะในกรณีเช่นนั้น โรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีประกันไว้จะไม่ยอมออกค่าใช้จ่ายให้ แล้วผู้ป่วยและครอบครัวก็ต้องจ่ายเอง ซึ่งคงต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาจ่าย ทำให้เกิดความทุกข์ยากเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
 
อนึ่ง ตัวอย่างผู้ป่วยรายนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องและความไม่เอาใจใส่ของโรงพยาบาลที่รับทำประกันสังคมให้กับผู้ใช้แรงงาน หรือคนงานต่างๆ ผู้ป่วยรายนี้ไม่สบาย ไปตรวจรักษากับโรงพยาบาลที่ตนทำประกันไว้หลายครั้ง แต่แพทย์ในโรงพยาบาลนั้นก็ไม่สนใจที่จะตรวจผู้ป่วยให้ละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพบว่าผู้ป่วยไม่ดีขึ้นจากการตรวจรักษาครั้งก่อนๆ เพราะผู้ป่วยเล่าว่า หมอแทบไม่ได้ตรวจอะไรเลย ถามไม่กี่คำ แล้วก็ให้ใบสั่งยาตนไปเอายาที่ห้องยา กลับไปกินบ้าน แม้ตนจะไปหาใหม่เพราะไม่ดีขึ้น หมอก็เพียงเปลี่ยนยาใหม่ ให้เท่านั้นโดยไม่ได้ตรวจอะไรเพิ่มเติม และไม่ได้ตรวจเลือดตนเลย อันที่จริงการประพฤติปฏิบัติ เช่นนั้นของแพทย์เป็นสิ่งที่ผิดจรรยาบรรณของการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และถ้าผู้ป่วยฟ้องร้องต่อแพทยสภา แพทย์ผู้นั้นก็จะถูกลงโทษอย่างแน่นอน

โรงพยาบาลเกือบทั้งหมดที่รับทำประกันสังคมสำหรับคนงาน มักจะสั่งให้แพทย์ใช้การตรวจที่ง่ายที่สุด ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม นั่นคือ การตรวจร่างกายเท่านั้นและให้ใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (การตรวจแล็บ) ให้น้อยที่สุด ผู้ป่วยรายนี้จึงไม่ได้รับการตรวจเลือด แม้จะมองเห็นอย่างชัดเจนว่าผู้ป่วยซีดมาก ทำให้วินิจฉัยโรคผิดพลาด จึงรักษาผิดทาง อาการผู้ป่วยจึงไม่ดีขึ้นแต่กลับ ทรุดลงจนทำงานไม่ไหวและต้องลาออกจากงาน คงจะต้องมีกลไกการตรวจสอบโรงพยาบาลต่างๆ ที่รับทำประกันสังคม แต่กลับเอารัดเอาเปรียบคนงานโดยไม่ตรวจรักษาให้เท่าที่ควรจะต้องทำ หรือคอย "โบ้ย"  (ส่ง) คนงานที่เป็นโรคให้ไปเอาประกันกับโรงพยาบาลอื่น ทำให้คนงานที่ป่วยเหล่านี้ต้องเดินทางไกลกว่าจะได้รับการตรวจรักษา เป็นต้น

ข้อมูลสื่อ

249-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 249
มกราคม 2543
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์