• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่องจริงจากห้องฉุกเฉิน

เรื่องจริงจากห้องฉุกเฉิน


ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่  ๕  ผู้ป่วยหลังผ่าตัดชายไทยอายุประมาณ ๗๐ ปี นอนราบอยู่บนเตียงรถเข็นในห้องฉุกเฉิน ไม่มีอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวาย ไม่หอบ ไม่ไอ นอน เฉยอยู่

แพทย์ประจำบ้าน : "ผู้ป่วยรายนี้  เป็นชายไทยหม้าย อายุ ๖๙ ปี เพิ่ง ออกจากโรงพยาบาลเมื่อ ๑๐ วันก่อน หลังได้รับการผ่าตัดเอาหลอดเลือดแดงใหญ่กลางท้องที่โป่งพอง (abdominal aortic aneurysm) ออก แล้วใช้หลอดเลือดเทียมต่อให้แทน หลังผ่าตัดไม่มีภาวะแทรกซ้อน แผลหายดี และให้ผู้ป่วยกลับบ้านเมื่อ ๑๐ วันก่อน ๒-๓ วันมานี้ ผู้ป่วยมีอาการ เหนื่อยเวลาเดินเข้าห้องน้ำ และเวลากินอาหาร อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ตรวจร่างกายก็ไม่พบอะไรผิดปกติชัดเจน นอกจากแผลผ่าตัดที่ท้องที่หายดีแล้ว หัวใจและปอดก็ปกติดี ผมไม่ทราบว่าผู้ป่วยเหนื่อยจากอะไรครับ"
อาจารย์ : "เวลาที่ผู้ป่วยเหนื่อยเป็นอย่างไร"
แพทย์ประจำบ้าน : "ผู้ป่วยบอกว่าเหนื่อยเวลาเดินหรือทำอะไรเล็กๆน้อยๆ เวลานอนเฉยๆไม่เหนื่อยครับ ทำให้คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องทางหัวใจ และปอด แต่ตรวจหัวใจและปอดแล้วก็ปกติครับ"
อาจารย์ : "แล้วหมอคิดว่าผู้ป่วยน่าจะเหนื่อยจากอะไร"
แพทย์ประจำบ้าน : "ไม่ทราบครับ"

อาจารย์หันไปหาผู้ป่วย

อาจารย์ : "สวัสดีครับคุณสุนทร เป็นอย่างไรบ้างครับ หายเหนื่อยหรือยัง"
ผู้ป่วย : "ยังครับ ยังเหนื่อยอยู่" (ผู้ป่วยตอบขณะนอนราบอยู่บนเตียง เข็น และไม่มีอาการหายใจเร็ว หรือหายใจลำบากให้เห็นได้)
อาจารย์ : "คุณสุนทรนั่งไหวไหมครับ ถ้านั่งได้ ลุกขึ้นมานั่งคุยกันได้ไหมครับ"

ผู้ป่วยใช้มือจับลูกกรง ๒ ข้างเตียง และดึงตนเองให้ลุกขึ้นนั่งได้โดยไม่ลำบาก และหลังจากออกแรง ดึงตนเองให้ลุกขึ้นนั่งแล้ว ก็ไม่มีอาการหอบ เหนื่อย หรือหายใจลำบากให้เห็น เช่นเดียวกับในขณะนอนอยู่

อาจารย์ : "ลุกขึ้นนั่งแล้วสบายขึ้นไหมครับ หรือนอนอยู่สบายกว่า"
ผู้ป่วย : "นอนสบายกว่าครับ"
อาจารย์ :  "คุณสุนทรลองเล่าอาการของคุณให้หมอฟังอีกครั้ง หลังออกจากโรงพยาบาล ว่าเกิดอะไรขึ้น คุณสุนทรจึงรู้สึกเหนื่อยใน ๒-๓ วันนี้"
ผู้ป่วย : "ก็ไม่มีอะไร ออกจากโรงพยาบาลยังปวดแผลนิดหน่อย แต่พอช่วยตัวเองได้ ไม่เหนื่อยเหมือน ๒-๓ วันนี้"
อาจารย์ :  "แล้วก่อน ๒-๓ วันนี้ คุณสุนทรไปกินอะไรหรือไปทำอะไรเข้า จึงเกิดอาการเหนื่อยขึ้นมา"
ผู้ป่วย : "ไม่ได้กินอะไร หรือทำอะไรต่างไปจากวันก่อนๆ"
อาจารย์ : "แล้วปกติ คุณสุนทรกินอาหารอะไรบ้าง"
ผู้ป่วย : "ตั้งแต่หลังผ่าตัดก็กินอาหารอ่อนเรื่อยมา ๓-๔ วันนี้เบื่ออาหาร กินไม่ค่อยลง"
อาจารย์ : "กลางคืนนอนหลับดีไหมครับ"
ผู้ป่วย : "ไม่ค่อยหลับเลยตั้งแต่หลังผ่าตัดมา"
อาจารย์ : "ไม่หลับเพราะอะไรครับ มันเจ็บ มันปวด มันไม่สบายตรงไหนหรือครับ ที่ทำให้ไม่หลับ"
ผู้ป่วย : "ไม่เจ็บไม่ปวดอะไร แต่ไม่รู้ว่าทำไมมันไม่หลับ พอไม่หลับ สมองมันก็ฟุ้งซ่านไปเรื่อย"
อาจารย์ : "แล้วการขับถ่ายล่ะครับ เป็นอย่างไรบ้าง"
ผู้ป่วย : "ปัสสาวะอุจจาระปกติดี ไม่มีปัญหาครับ"

อาจารย์หันไปทางแพทย์ประจำบ้าน

อาจารย์ : "ว่าไง ตกลงหมอคิดว่า ผู้ป่วยเหนื่อยจากอะไร"
แพทย์ประจำบ้าน : "ไม่ทราบครับ ตรวจหัวใจก็ดี ปอดก็ดี ไม่มีอะไรผิดปกติ อาจารย์ว่าเหนื่อยจากอะไรครับ"
อาจารย์ : "หมอคิดว่า อาการเหนื่อยของผู้ป่วยแปลว่าอะไร หรือหมายถึงอะไร"
แพทย์ประจำบ้าน : "เหนื่อย ก็แปลว่า หายใจไม่ทัน หายใจเร็ว หายใจลำบาก หอบ ไม่ใช่หรือครับ"
อาจารย์ : "แล้วหมอตรวจพบอาการหายใจไม่ทัน หายใจเร็ว หายใจลำบาก หรือหอบบ้างไหม"
แพทย์ประจำบ้าน : "ตรวจไม่พบครับ"
อาจารย์ : "เมื่อตรวจไม่พบแล้ว หมอยังคิดว่าผู้ป่วยเหนื่อยอยู่อีกหรือ"
แพทย์ประจำบ้าน : "นั่นน่ะสิครับ ผมเลยไม่รู้ว่าผู้ป่วยเหนื่อยจากอะไร"
อาจารย์ : "ผมว่าหมอไม่รู้ว่า อาการเหนื่อยของผู้ป่วยหมายถึงอะไรมากกว่า"

แล้วอาจารย์ก็หันไปหาผู้ป่วย

อาจารย์ : "คุณสุนทรช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยสิครับว่า เวลาที่คุณสุนทรเหนื่อยมีอาการอย่างไรบ้าง"
ผู้ป่วย : "เวลาเดินหรือทำอะไร มันไม่มีแรง อ่อนเพลีย ทำไม่ค่อยได้ ก็เลยเหนื่อย ถ้านั่งเฉยๆ นอนเฉยๆ ไม่ทำอะไร ก็ไม่เหนื่อยครับ"

อาจารย์หันหน้าไปทางแพทย์ประจำบ้าน

อาจารย์  : "ตกลงอาการเหนื่อยของผู้ป่วยแปลว่าอะไร"
แพทย์ประจำบ้าน : "อ้อ แปลว่า อ่อนเพลีย ไม่มีแรงครับ"
อาจารย์ : "แล้วทำไมหมอเพิ่งถึง "บางอ้อ" เล่า"
แพทย์ประจำบ้าน : "ผมก็สงสัยอยู่แล้วครับว่า ผู้ป่วยบ่นเหนื่อยทำไมถึงนอนราบได้ หายใจปกติ ไม่เร็ว ไม่แรง แต่บังเอิญลืมถามให้ละเอียดครับว่า เหนื่อยของผู้ป่วยหมายถึงอะไรครับ"

อาจารย์หันหน้าไปทางผู้ป่วย

อาจารย์ : "อาการเหนื่อยของคุณเกิดจาก ความอ่อนเพลียไม่มีแรง ซึ่งคงเกิดจากการขาดอาหาร ขาดการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ และขาดการออกกำลังกาย เพราะเพิ่งผ่าตัดมาใหม่ๆ คุณต้องกินอาหารเพิ่มขึ้น กินไข่มื้อละฟอง วันละ ๓ ฟอง กินข้าวสวย กินอาหารอร่อยๆ จะได้กิน ได้มากขึ้น กินแต่อาหารอ่อนอย่างเดียวจะฟื้นตัวช้า"
ผู้ป่วย : "หมอช่วยบอกลูกผมหน่อยได้ไหมครับ เขาให้ผมกินแต่อาหารอ่อน ของเผ็ด ของเค็ม ของมีรสชาติ ไข่ เนื้อ เขาก็ไม่ยอมให้กิน ว่าแสลงแผลที่เพิ่งผ่าตัดมา"

ผู้ป่วยพูดเสร็จ ก็มีตาแดงๆ และน้ำตาปริ่มตา อาจารย์จึงสั่งให้แพทย์ประจำบ้านไปตามลูกผู้ป่วยเข้ามา

อาจารย์ : "สวัสดีครับ คุณเป็นลูก คุณสุนทรใช่ไหมครับ"
ลูกผู้ป่วย : "ใช่ครับ"
อาจารย์ : "คุณพ่อเพิ่งผ่าตัดไป และได้แต่อาหารอ่อนๆที่ไม่มีรสชาติ จึงเบื่ออาหาร และได้อาหารไม่พอ ทำให้อ่อนเพลีย ไม่มีแรง คุณพ่อบอกว่า คุณไม่ยอมให้คุณพ่อกินข้าวสวย ไข่ เนื้อ และอื่นๆ เพราะกลัวแสลงต่อแผล ที่จริงแผลของคุณพ่อหายดี แล้วตั้งแต่ตอนกลับบ้าน และตอนนี้ก็ไม่มีอะไรผิดปกติ หมอคิดว่า ที่คุณพ่อเหนื่อย ก็เพราะขาดอาหาร นอนไม่หลับ  และขาดการออกกำลังกาย จึงทำให้อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เมื่อเดินหรือทำอะไร จึงเหนื่อยง่าย ดังนั้นคุณต้องหาอาหารอร่อยๆ ให้คุณพ่อกิน อย่างน้อยก็ให้ได้ไข่มื้อละฟอง คุณพ่อจะได้ฟื้นตัวเร็ว แข็งแรงขึ้น และหายเหนื่อย คุณจะทำได้ไหมครับ"
ลูกผู้ป่วย : "ได้ครับ"
อาจารย์ : "ส่วนเรื่องอาการนอนไม่หลับ หมอจะให้ยาคลายกังวลและยานอนหลับไปด้วย ถ้ากินยาคลายกังวลแล้วหลับได้ ก็ไม่ต้องกินยานอนหลับ และเมื่อใช้ยาเหล่านี้จนหลับได้ดีแล้ว ให้ค่อยๆลดยาลง แล้วหยุดยา จะได้ไม่ติดยา ส่วนเรื่องการออกกำลังกายนั้น ให้ใช้การเดินเล่น หรือเดินช่วงสั้นๆในระยะแรก เมื่อแข็งแรงขึ้นแล้ว ก็เดินไกลขึ้น เดินเร็วขึ้น จนกระทั่งเดินสลับวิ่ง หรือวิ่งเหยาะๆ ก็ได้"

ตัวอย่างผู้ป่วยรายนี้ แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่มาหาเราด้วยอาการที่ผู้ป่วยคิดว่าฉุกเฉิน อาจจะไม่ฉุกเฉินหรือ ไม่รุนแรง แต่ในความรู้สึกของผู้ป่วยหรือ ญาติอาจคิดว่าฉุกเฉินหรือรุนแรง การถามประวัติและตรวจร่างกายให้ตรงเป้าตรงประเด็น จะลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการวินิจฉัยโรค ไม่ต้องตรวจเลือด ตรวจเอกซเรย์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรืออื่นๆ ซึ่งอาจทำให้วินิจฉัยโรคผิดพลาดได้ถ้าไม่ได้ซักประวัติดีๆ การซักประวัติ และการตรวจร่างกายได้ตรงเป้า จึงสำคัญมากในการตรวจรักษาในห้องฉุกเฉิน

ข้อมูลสื่อ

250-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 250
กุมภาพันธ์ 2543
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์