• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาการและโรค (ตอนที่๓)

                                                                           

๓. การตรวจรักษาสาเหตุ
ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุโดยตรง หรือโดยอ้อม สาเหตุดั้งเดิม หรือสาเหตุที่ทำให้อาการกำเริบ (ชนวน) เช่น
โรคเบาหวานส่วนใหญ่ สาเหตุโดยตรงหรือสาเหตุดั้งเดิมคือ กรรมพันธุ์ (ได้รับเชื้อพันธุ์จากพ่อ แม่ปู่ย่าตายาย) ส่วนสาเหตุโดยอ้อม หรือชนวนที่ทำให้อาการกำเริบหรือเป็นมากขึ้นคือ ความอ้วน(กินอาหารมากเกินไป) การไม่ออกกำลังกาย(ความขี้เกียจ) การติดเชื้อ (ไข้หวัด ฝี ปอดบวม หรืออื่นๆ) เป็นต้น
โรคหัวใจล้มที่เกิดจากลิ้นหัวใจ ตีบหรือรั่ว สาเหตุโดยตรงคือ ลิ้น หัวใจตีบหรือรั่ว สาเหตุดั้งเดิมส่วนหนึ่งคือ ไข้รูมาติก ที่เกิดจากภูมิแพ้ต่อการติดเชื้อโรคชนิดหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง สาเหตุโดยอ้อมคือ การอยู่ รวมกันอย่างแออัด เช่น บ้านช่องคับแคบ การระบายอากาศไม่ดี การคลุกคลีตีโมงกันอย่างใกล้ชิด(ในบ้าน ในโรงเรียน หรือที่อื่น) ทำให้เกิด การติดเชื้อระหว่างกันได้ง่าย สาเหตุที่ทำให้กำเริบหรือชนวนที่ทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อย และเท้าบวมขึ้น คือ การออกกำลังมากเกินไป การกินเค็มมากเกินไป การติดเชื้อ (ไข้หวัด ปอดอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ หรืออื่นๆ) เป็นต้น

ในตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่า สาเหตุดั้งเดิมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและผ่านพ้นไปแล้ว ไม่สามารถจะย้อนกลับไปรักษาสาเหตุดั้งเดิมได้
ในตัวอย่างแรก สาเหตุดั้งเดิมและสาเหตุโดยตรงเป็นสาเหตุเดียวกัน แต่ในตัวอย่างที่สอง สาเหตุโดยตรง และสาเหตุดั้งเดิมนั้นเป็นคนละสาเหตุกัน
ในตัวอย่างที่สอง สาเหตุดั้งเดิมผ่านพ้นไปแล้ว จึงรักษาไม่ได้ (แต่ในคนที่ยังไม่เป็นโรคหัวใจรูมาติก เป็นแต่เพียงไข้มารูติก จะป้องกันไม่ให้เกิดโรคหัวใจรูมาติกจนลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วได้ นั่นคือ ป้องกันสาเหตุโดยตรงของภาวะหัวใจล้มได้ด้วยการรักษาและป้องกันไม่ให้เป็นไข้รูมาติกบ่อยๆ)

แต่เมื่อเป็นโรคหัวใจรูมาติกจนลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วแล้ว สาเหตุดั้งเดิมคือ การเป็นไข้รูมาติกบ่อยๆ ได้ผ่านพ้นไปแล้ว จึงไม่สามารถย้อนกลับไปรักษาได้ แต่สามารถ รักษาสาเหตุโดยตรง(คือลิ้นหัวใจที่ตีบหรือรั่ว)ได้ โดยการผ่าตัดหรือการสวนหัวใจขยายลิ้นที่ตีบเมื่อเกิดภาวะหัวใจล้มที่รุนแรง หรือไม่สามารถจะดำรงชีวิตได้ตามสมควรด้วยการใช้ยาแล้ว

อย่างไรก็ตาม คนที่มีลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วมากและ/หรือนานจน เกิดภาวะหัวใจล้ม(หอบเหนื่อยและเท้าบวม)แล้ว จะยังสามารถมีชีวิตได้เหมือนปกติหรือเกือบปกติใหม่ได้ ถ้ารู้จักหลีกเลี่ยงชนวน(สาเหตุที่ทำให้อาการกำเริบ)ต่างๆ เช่น การทำงานหนักเกินไป การออกกำลังมากเกินไป ความเครียดรุนแรง (โมโหมาก ตื่นเต้นมาก ดีใจมาก หรืออื่นๆ) การกินเค็มจัด การกินมากจนอ้วนขึ้น การติดเชื้อ การตั้งครรภ์ เป็นต้น
                                                                      

นั่นคือ คนที่มีโรคหัวใจอยู่ ไม่จำเป็นจะต้องมีอาการหอบเหนื่อย บวม เจ็บหัวใจ หรืออื่นๆ ถ้าโรคหัวใจที่เป็นอยู่ยังเป็นไม่มาก หรือสามารถควบคุมอาการต่างๆได้ด้วยการดูแลสุขภาพตัวเอง และ/หรือการกินยาตามแพทย์สั่ง

แต่เมื่อใดที่เกิดอารมณ์เครียดรุนแรง กินเค็มจัด ออกกำลังมาก ตั้งครรภ์ หรืออื่นๆ ซึ่งจะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดอาการขึ้น อาการจึงจะกำเริบขึ้นหรือกำเริบขึ้นอย่างรุนแรงได้
ถ้าดูแลตนเองโดยหลีกเลี่ยงชนวนต่างๆให้ดี ก็จะมีชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติได้ เพราะไม่มีอาการหรืออาการไม่กำเริบขึ้นนั่นเอง
 
การตรวจรักษาสาเหตุ จึงรวมถึง
ก. การตรวจรักษาสาเหตุดั้งเดิม ถ้าทำได้
ข. การตรวจรักษาสาเหตุโดยตรง ถ้าทำได้
ค. การตรวจรักษาสาเหตุโดยอ้อม ถ้าทำได้
ง. การกำจัดหรือหลีกเลี่ยงชนวน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ หรือทำให้อาการกำเริบขึ้น

๔. การตรวจรักษาคน
ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จะต้องจำไว้เสมอว่า เรารักษา “คน” ไม่ใช่รักษา “โรค”
ถ้าเรารักษาโรคจนโรคหาย แต่คนไข้ตายหรือพิการ เราจะถือว่าการรักษา นั้นถูกต้องเหมาะสมหรือดังที่มีคำค่อนแคะ หมออยู่เสมอว่า
“การผ่าตัดเป็นผลสำเร็จ แต่ คนไข้ตาย” หรือ “การรักษาเป็นผลสำเร็จ เชื้อโรค หรือเนื้อมะเร็งตายหมด แต่คนไข้ก็ตายหรือพิการด้วย”

ดังนั้น ในการตรวจรักษาคนไข้ เราจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า
ก. เรา “รักษาคน” ไม่ใช่ “รักษาโรค”
ข. คนที่มีสุขภาพดี ไม่ได้หมายความว่า เป็นคนที่ไม่มีโรค ใดๆในร่างกาย
ค. สุขภาพ หมายถึง สภาวะแห่งความสุขทั้งกาย ใจ และสังคม ไม่ใช่สภาวะที่ปราศจากโรค (อ่านต่อฉบับหน้า)

ข้อมูลสื่อ

234-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 234
ตุลาคม 2541
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์