• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาการและโรค (ตอนจบ)

อันที่จริง มนุษย์แทบทุกคนจะมีโรคอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างอยู่ในร่างกายเสมอ เช่น ปวดหัว มึนหัว(โรคเครียด) ปวดฟัน(โรคฟันผุหรือเหงือกอักเสบ) เบื่อ-เซ็ง-เศร้า(โรคเครียดหรือโรคซึมเศร้า) ปวดท้อง(โรคกระเพาะลำไส้จากสาเหตุต่างๆ เช่น ท้องผูก ท้องเดิน ฯลฯ) อ่อนเพลีย(โรคขาดน้ำ ขาดอาหาร โรคนอน ไม่หลับ โรคเครียด) เป็นต้น
 
แต่ถ้าโรคหรืออาการที่เป็นอยู่นั้นไม่ได้รบกวนหรือกระทบกระเทือนต่อการดำรงชีวิตตามปกติ และไม่ลุกลามหรือยืดเยื้อ การตรวจรักษาโรคหรืออาการเหล่านั้นมักจะไม่จำเป็น เพราะโรคหรืออาการเหล่านั้นจะหายเองได้ และไม่ทำให้เกิดอันตราย หรือความพิการถาวรขึ้น แม้จะทำให้เกิดความรำคาญหรือความไม่สะดวกสบายได้บ้างในระยะเวลาสั้นๆ

หรือแม้ในคนที่เป็นโรคร้ายแรง แต่ถ้าการตรวจหรือการรักษาอาจจะทำให้คนไข้ตาย หรือพิการ หรืออาจจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ ผู้ที่จะทำการตรวจหรือการรักษา จะต้องบอกข้อเท็จจริงทั้งหมดให้คนไข้และญาติได้ทราบก่อน และเมื่อ คนไข้และ/หรือญาติยอมอนุญาต ให้ทำการตรวจและ/หรือการรักษานั้นแล้ว จึงจะทำการตรวจและ/หรือการรักษานั้นได้

อนึ่ง แม้คนไข้และญาติจะยอม อนุญาตให้ทำการตรวจและ/หรือการรักษานั้นแล้วก็ตาม ผู้ที่ทำการตรวจและ/หรือการรักษาก็ยังต้อง ระมัดระวังอย่างเต็มความสามารถที่จะไม่ให้คนไข้เกิดอันตรายจากการตรวจและ/หรือการรักษานั้น

การรักษาคนจึงยากกว่าการรักษาโรคมากมาย เพราะนอกจากจะต้องรักษาคนไข้ทั้งคน(ทั้งร่างกายและจิตใจที่เป็นโรคและไม่ได้เป็นโรค)แล้ว ยังต้องรักษาสังคมของคนไข้ โดยเฉพาะคนใกล้ชิดและญาติสนิทมิตรสหายด้วย
 
โรคหลายโรคมีสาเหตุโดยตรงหรือโดยอ้อมจากความขัดแย้งในครอบครัวหรือในที่ทำงาน หรือมีชนวนที่ทำให้เกิดอาการ หรืออาการกำเริบขึ้นจากคนใกล้ชิดหรือญาติสนิทมิตรสหาย หมอจึงต้องช่วยคลี่คลายหรือบรรเทาความ ขัดแย้งให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ด้วย คนไข้จึงจะมีสุขภาพดีทั้งกาย ใจ และสังคม

นอกจากนั้น หมอยังต้องนึกถึงค่าใช้จ่ายของคนไข้และ/หรือญาติในการมารับการรักษาด้วย ค่าใช้จ่ายนี้ย่อมรวมถึงค่าตรวจรักษา รวมทั้งค่าผ่าตัดและค่ายา ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหารการกินและอื่นๆ

การตรวจรักษาที่ทำให้คนไข้และครอบครัวต้องเป็นหนี้เป็นสินมากมาย หรือต้องล้มละลายขายบ้านขายที่ดิน ย่อมเป็นการตรวจ รักษาที่ยังความทุกข์ยาก ไม่เฉพาะแก่คนไข้เท่านั้น แต่จะยังความลำบากยากแค้นให้แก่ครอบครัว โดยเฉพาะลูกๆที่ยังเล็กและกำลังเจริญเติบโตหรือกำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่อย่างที่หมออาจคาดไม่ถึงได้ เช่น ลูกคนไข้ต้องออกจากโรงเรียน ทางบ้านคนไข้เงินหมดไม่มีข้าวจะกิน เป็นต้น

การตรวจรักษาใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ในช่วงที่ผ่านมาทั้ง- หมด ได้เน้นย้ำไว้แล้วตั้งแต่เมื่อ เริ่มต้นในส่วนของการตรวจรักษา(หลังจากส่วนที่เกี่ยวกับการซักประวัติ และการตรวจร่างกายได้จบความลง) ว่าการตรวจรักษาที่กล่าวถึง เป็น “การตรวจรักษาอาการ” ตามลักษณะอาการต่างๆเป็นสำคัญ

มีการบอกเล่าถึงโรคและสาเหตุ แต่เพียงสังเขปและไม่ค่อยได้พูดถึงการรักษาโรค การรักษาสาเหตุและการรักษาคนเลย
จึงต้องย้ำเตือนอีกครั้งหนึ่งว่า การตรวจรักษาที่ถูกต้องนั้น ต้องตรวจรักษาทั้งอาการ โรคและสาเหตุของอาการและของโรค และที่สำคัญที่สุด ต้องตรวจรักษาคน (คนไข้ ครอบครัว และสังคม)ด้วย จึงจะทำให้คนไข้หายป่วยและมีสุขภาพดีได้ทั้งกาย ใจ และสังคม ดังที่ทุกคนปรารถนาได้

ข้อมูลสื่อ

235-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 235
พฤศจิกายน 2541
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์