• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง (ตอนที่๑)

คำว่า “ผู้ป่วยที่หมดหวัง” หรือ “คนไข้ที่หมดหวัง” ยังไม่มีคำจำกัดความที่แน่นอนและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่หมดหวังเกิดความขัดแย้ง ความไม่สบายใจ และ/หรือความไม่เข้าใจกัน จนถึงขั้นโกรธกันหรืออาฆาตกันได้ง่าย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่คนเราเข้าใจสัจธรรม(ความจริง แห่งธรรมหรือธรรมชาติ)น้อยลง

เราถูกมอมเมาให้ยึดติดกับตัวเลขของสุขภาพ เช่น ค่าไขมันในเลือด จำนวนเงินในธนาคาร(เพื่อบริโภคบริการทางสุขภาพ) และอื่นๆ ตามลัทธิ “วัตถุนิยม” และ “บริโภคนิยม” จนเราลืมความจริงแห่งชีวิต

ความจริงแห่งชีวิตมนุษย์คือ มนุษย์แต่ละคน แต่ละเผ่าพันธุ์ แต่ละเชื้อพันธุ์ ในแต่ละสิ่งแวดล้อม ย่อมมีสุขภาพ ความเจ็บป่วย และอายุขัยที่แตกต่างกัน การพยายามจะกำหนดตัวเลขที่ตายตัวสำหรับสุขภาพและอายุขัย โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพ ความเป็นจริงของเชื้อพันธุ์และเผ่าพันธุ์ โครงสร้างพื้นฐานทางชีววิทยาและสิ่งแวดล้อมในแต่ละเวลา แต่ละสถานที่และแต่ละโอกาส จึงเป็นความเข้าใจผิด และเป็นอวิชชาโดยแท้

ความหมายของ “ผู้ป่วยที่หมด หวัง”
เพื่อกระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์-วิจารณ์ในวงกว้าง และนำไปสู่การถกเถียงหาข้อสรุปร่วมกันในสังคม เพื่อให้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ขอเสนอคำจำกัดความหรือคำนิยาม หรือความหมายของคำว่า “ผู้ป่วยที่หมดหวัง” ดังนี้
“ผู้ป่วยที่หมดหวัง” คือ ผู้ป่วย ที่ป่วยด้วยโรคทางกายและ/หรือทางใจ ที่ไม่มีโอกาสจะพ้นทุกข์ทรมาน และไม่สามารถใช้เวลาที่เหลือในชีวิตของตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้
ตามคำจำกัดความหรือคำนิยาม ข้างต้น แม้จะไม่ได้กล่าวถึงการรักษาพยาบาล แต่โดยความหมายแล้ว คำว่า “ไม่มีโอกาส” ย่อมหมายความว่า ไม่สามารถรักษาพยาบาลให้ดีขึ้นได้ หรือรอดได้นั่นเอง เพราะถ้ารักษาพยาบาลได้ ก็ต้องหมายความว่า ยังมีโอกาสอย่างแน่นอน
เพื่อให้คำจำกัดความข้างต้นเป็นที่เข้าใจในรายละเอียดมากขึ้น ขออธิบายลักษณะต่างๆของ “ผู้ป่วย ที่หมดหวัง” ให้ละเอียดขึ้นดังนี้

๑. เป็นผู้ป่วย
หมายความว่า ต้องเจ็บป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บและต้องมาขอรับการรักษาด้วยความสมัครใจ (ในกรณีที่ไม่รู้สึกตัวหรือไม่อยู่ในสภาพที่จะมาขอรับการรักษา ด้วยความสมัครใจของตนได้ เช่น เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ บุคคลปัญญาอ่อน หรือเลอะเลือน สับสน ตัดสินใจเองไม่ได้ ก็ต้องให้พ่อแม่ สามีภรรยา หรือลูก ซึ่งเป็นญาติ สายตรง หรือผู้พิทักษ์โดยชอบธรรม(ตามกฎหมาย)ของผู้ป่วย เป็นผู้อนุญาตให้ทำการตรวจรักษาผู้ป่วยได้)

เพราะถึงแม้ว่าจะมีคนที่เจ็บจวนจะตายอยู่แล้ว แต่ถ้าเขาไม่ต้องการให้แพทย์คนใดรักษา แพทย์คนนั้นจะไปถือว่าเขาเป็นผู้ป่วยของตนมิได้ (นอกจากในภาวะฉุกเฉินที่ผู้ป่วยไม่ได้สั่งอะไรไว้ล่วงหน้า และไม่มีผู้พิทักษ์โดยชอบธรรมอยู่ในบริเวณนั้นที่จะให้ คำอนุญาต แพทย์และพยาบาล หรือแม้แต่บุคคลอื่นย่อมจะต้องให้ การปฐมพยาบาล หรือการรักษาพยาบาลไปก่อน เพื่อพยายามช่วยชีวิตไว้ก่อน)
 
ในกรณีที่ผู้ป่วยสั่งการไว้ล่วงหน้าว่าไม่ต้องการการตรวจรักษา และญาติก็ไม่ต้องการเช่นเดียวกัน แพทย์และพยาบาลจะไปยื้อยุด ฉุดตัวให้มารับการตรวจรักษาไม่ได้ ดังเช่น กรณีท่านพุทธทาสที่ถูก ยื้อยุดฉุดคร่าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยที่ท่านไม่ประสงค์เช่นนั้น เป็นต้น

ที่ร้ายยิ่งกว่านั้น คือการไปชักชวนหรือหลอกลวงให้ผู้ป่วยมารับการรักษากับตน โดยให้ความหวังที่ไม่อาจจะเป็นจริงได้ เพื่อต้องการชื่อเสียง หรือค่าตรวจรักษา เป็นต้น
 
๒. ป่วยด้วยโรคทางกาย และ/หรือทางใจ นั่นคือไม่นับโรคทางวิญญาณ (spiritnal illness) ซึ่งหมายถึงโรคที่เกี่ยวกับความเชื่อถือหรือกิเลสตัณหาต่างๆ เช่น ในบางศาสนาจะถือว่า ผู้ที่ไม่เชื่อถือใน “พระผู้เป็นเจ้า” เป็นผู้ป่วย เป็นต้น

ดังนั้น แม้บุคคลใดจะเชื่อถือภูตผีปีศาจ หรือกลัวผี กลัวงู หรืออื่นๆ จะไปถือว่าบุคคลนั้นวิกลจริต หรือเเป็นโรคจิต(โรคทางจิตใจ)ไม่ได้ นอกจากว่าเขาจะมีอาการและอาการแสดงของโรคจิต เช่น เสียสติ เลอะเลือน กลัวจนเกินเหตุ เห็นภาพหลอน ได้ยินเสียงทั้งที่ไม่มีเสียงนั้น ไม่ช่วยตนเองทั้งที่น่าจะช่วยตนเองได้ เพ้อฝันจนไม่อยู่ในโลกแห่งความจริง เป็นต้น

คนโง่ หรือคนปัญญาอ่อน ไม่ถือว่าเป็นคนไข้โรคจิต นอกจากจะมีอาการและอาการแสดงที่แปลกหรือเพี้ยนไปจากภาวะปกติของเขา และเข้าได้กับอาการและอาการแสดงของโรคจิต
ส่วนโรคทางกาย ส่วนใหญ่ก็เข้าใจกันดีอยู่แล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ตับ ไต สมอง หรืออื่นๆ โรคติดเชื้อ โรคจากการเสื่อมสภาพ มะเร็ง เป็นต้น
 
๓. ไม่มีโอกาส หมายความว่า ไม่มีทางที่จะรักษาพยาบาลให้ดีขึ้นในสภาวะการณ์ของผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมในขณะนั้น เช่น
ในสนามรบ มีทหารบาดเจ็บสาหัสเป็นจำนวนมาก ขณะที่ยาและเวชภัณฑ์มีจำกัด จึงจำเป็นต้องนำยาและเวชภัณฑ์ที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นไปใช้ให้แก่ผู้ที่คิดว่าน่าจะรอดได้ก่อน ถ้ามีผู้ที่เจ็บหนักและต้องใช้ยาและเวชภัณฑ์ที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อช่วยให้รอดได้เพียงคนเดียว ขณะที่ยาและเวชภัณฑ์ที่มีอยู่เหล่านั้นอาจช่วยชีวิตคนอื่นๆได้อีกหลายๆคน ผู้ที่ทำการรักษาพยาบาลจึงต้องตัดสินใจใช้ยาและเวชภัณฑ์เหล่านั้น สำหรับคนอื่นๆที่เจ็บน้อยกว่าและ มีโอกาสที่จะรอดได้มากกว่า และจำเป็นต้องปล่อยให้ผู้ที่เจ็บหนักมากกว่าคนอื่นเป็น “ผู้ป่วยที่หมดหวัง” และจากไปตามธรรมชาติ

ในชนบทห่างไกลที่ไม่มีแพทย์ พยาบาล และสถานพยาบาลใดๆ อีกทั้งไม่มียานพาหนะที่จะพาผู้ป่วยที่เจ็บหนักไปส่งโรงพยาบาลในเมืองได้ ในสภาวะการณ์เช่นนั้น ผู้ป่วย ที่เจ็บหนักและน่าจะรอดชีวิตได้ถ้าญาตินำส่งโรงพยาบาลได้ทัน ย่อมจะตกอยู่ในสภาพ “ผู้ป่วยที่หมด หวัง” เช่นเดียวกัน เป็นต้น

คำว่า “ไม่มีโอกาส” หรือ “หมดหวัง” ในที่นี้จึงหมายความว่า ไม่มีโอกาส หรือหมดหวังที่จะได้รับการรักษาพยาบาลให้ดีขึ้น เป็นสำคัญ
ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีโอกาส หรือหมดหวังในทางจิตวิญญาณ หรือในทางนามธรรมแต่อย่างใด

นั่นคือ ผู้ป่วยที่ไม่มีโอกาสหรือหมดหวังที่จะได้รับการรักษาพยาบาลให้ดีขึ้น ย่อมมีโอกาสหรือ มีหวังที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์-ทรมานต่างๆได้ ถ้าสามารถสำรวมจิตใจและตั้งจิตมั่นถึงคุณค่าทางนามธรรมและความดีงามต่างๆ ซึ่งอาจจะต้องการพระ นักบวช หรือผู้ทรงคุณมาให้คำแนะนำและให้กำลังใจ จนจิตใจสงบ เป็นสมาธิจิต ที่จะผ่อนคลายความทุกข์ทรมานลงและทำให้อาการดีขึ้น หรือสามารถจากไปโดยสงบได้

๔. ได้รับความทุกข์ทรมาน ไม่ว่าความทุกข์ทรมานนั้นจะสืบเนื่องมาจากโรคที่เป็นอยู่ หรือจากการตรวจรักษา
ความทุกข์ทรมานที่พูดถึงนี้ไม่จำกัดอยู่แต่เรื่องความเจ็บปวด และอาการไม่สบายที่สืบเนื่องมาจากโรคที่เป็นอยู่เท่านั้น แต่รวมถึงความทุกข์ทรมานอื่นๆด้วย เช่น การช่วยตนเองไม่ได้ (เป็น อัมพาต พูดไม่ได้ เขียนไม่ได้ สื่อสารให้ คนอื่นทราบถึงความต้องการของตนไม่ได้ เป็นต้น) การถูกทอดทิ้งโดยญาติมิตร ภาระหนี้สินที่พอกพูนขึ้นจากการเจ็บป่วย และค่าตรวจรักษา ความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากการตรวจรักษาที่ไม่ได้ผล เป็นต้น
 
“ผู้ป่วยที่หมดหวัง” ที่ยังแสดงปฏิกิริยาต่างๆ รวมทั้งการออกเสียงได้ จะส่งเสียงหรือแสดงปฏิกิริยา ถึงความทุกข์ทรมานเหล่านั้น
แต่ผู้ป่วยที่แสดงปฏิกิริยาต่างๆไม่ได้เลย(หมดสติโดยสมบูรณ์) จะไม่สามารถแสดงให้เรารู้ถึงความทุกข์ทรมานต่างๆได้เลย
ความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยมักจะทำให้ญาติและผู้ที่อยู่ใกล้ และในบางครั้งสังคมของผู้ป่วยต้องได้รับความทุกข์ทรมานด้วย
 
ที่มักจะมองข้ามกันไป คือ ความทุกข์ทรมานที่ได้รับจากการทอดทิ้งของญาติมิตร ความทุกข์ทรมานจากภาระหนี้สินที่พอกพูนขึ้นจากการเจ็บป่วย และค่าตรวจรักษา ความทุกข์ทรมานที่เกิดจากความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากการตรวจรักษาที่ไม่ได้ผล และอื่นๆ

๕. ไม่สามารถใช้เวลาที่เหลือ ในชีวิตของตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้
ประโยชน์แก่ตนเอง เช่น กินได้ นอนได้ ถ่ายได้ ทำอะไรต่างๆ ได้อย่างที่อยากจะทำ มีความสุขสบายตามสมควรแก่อัตภาพ เป็นต้น
ประโยชน์แก่ผู้อื่น เช่น ไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่นและสังคม สามารถทำประโยชน์ให้แก่ครอบครัว(เช่น หารายได้ให้ครอบครัว แม้แต่เงินบำนาญก็ถือเป็นรายได้เช่นกัน อยู่เป็นมิ่งขวัญของครอบครัว แม้จะทำอะไรไม่ได้เลย เป็นต้น)

แต่ประโยชน์ที่กล่าวถึงข้างต้น ต้องไม่ใช่ประโยชน์ตนแต่ฝ่ายเดียว เช่น การเรียกร้องให้แพทย์พยาบาลหรือญาติมิตรมาเฝ้าดูแลตนเป็นพิเศษ ทั้งที่เขาเหล่านั้นไม่รู้ว่าจะทำให้ตนดีขึ้นได้อย่างไร และเขาเหล่านั้นมีภารกิจอื่นที่จะต้องกระทำด้วย การเรียกร้องจะเอาโน่นเอานี่ทั้งที่รู้ว่า ในสภาวะการณ์เช่นนั้น มันเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยาก เป็นต้น

และก็ไม่ใช่ประโยชน์แก่ผู้อื่นแต่ฝ่ายเดียว เช่น การที่ญาติต้องการให้ยืดชีวิต(ยืดการตาย)ของผู้ป่วยออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เพื่อความสบายใจของญาติ หรือประโยชน์ของผู้อื่น โดยที่ผู้ป่วยต้องแบกรับความทุกข์ทรมานต่างๆ เช่น การถูกเจาะเลือด การใส่ท่อช่วยหายใจ การเจาะคอ การใส่สายต่างๆไว้ในร่างกาย เป็นต้น

ดังนั้น ประโยชน์ที่เกิดขึ้น จะต้องเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ป่วยและต่อผู้อื่นด้วย
การใช้ข้อความว่า “เวลาที่เหลือในชีวิตของตน” แทนการใช้ข้อความว่า “ชีวิตของตน” เพราะ ผู้ป่วยในภาวะที่หมดหวังยังสามารถใช้ชีวิตของตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้ เช่น การทำบุญให้แก่ตนเองด้วยการอุทิศดวงตา ร่างกาย หรืออวัยวะต่างๆของตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นต้น

ดังนั้น “ผู้ป่วยที่หมดหวัง” จึงไม่สามารถใช้เวลาที่เหลือในชีวิตของตน ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและแก่ผู้อื่น แต่ยังสามารถใช้ชีวิตของตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและแก่ผู้อื่นได้

รุป : “ผู้ป่วยที่หมดหวัง” คือ ผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคทางกาย และ/หรือทางใจ ที่ไม่มีโอกาสจะพ้นจากความทุกข์ทรมาน และไม่สามารถใช้เวลาที่เหลือในชีวิตของตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้

ข้อมูลสื่อ

236-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 236
ธันวาคม 2541
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์