• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง(ตอนที่ ๒)

ตัวอย่างผู้ป่วย

รายที่ ๑
: ผู้ป่วยชายอายุประมาณ ๗o ปี ถูกอุ้มมาที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล และมีลูกหลานมาด้วยหลายคน

หลานผู้ป่วย :
“คุณหมอครับ ช่วยดูคุณปู่หน่อย ปู่หอบมา ๒ วันแล้วครับ ไข้ขึ้นด้วย และไอมากด้วยครับ”
หมอ : “คุณวางคุณปู่ลงบนเตียงก่อน แล้วค่อยเล่าเรื่องให้หมอฟัง”
ญาติวางผู้ป่วยลงบนเตียง ผู้ป่วยเป็นชายชราหายใจหอบ ไอเป็นพักๆ มีเสียงเสมหะในคอ แต่ไอไม่ออก รูปร่างผอมมาก (เกือบถึงขนาดที่เรียกว่า “หนังหุ้มกระดูก”) ขาทั้ง ๒ ข้างงอและหดเกร็ง (เกือบเหมือนท่านั่งคุดคู้) เหยียดออกไม่ได้ แขนข้างหนึ่งก็งอและหดเกร็ง เหยียดออกไม่ได้เช่นเดียวกัน และบริเวณหลังตรงก้นกบและปุ่มกระดูกเป็น “แผลกดทับ” (แผลที่เกิดจากการนอนกดทับไว้) อยู่หลายแผล ผู้ป่วยไม่เข้าใจคำถามและพูดไม่ได้
แพทย์และพยาบาลช่วยกันดูดเสมหะออกจากคอผู้ป่วย และให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วย
หมอ : “คุณพ่อของคุณป่วยมานานแล้วนี่ ทำไมถึงเพิ่งมาล่ะ แล้วเดิมรักษาอยู่ที่ไหน”
ลูกผู้ป่วย : “ครับ คุณพ่อเป็นอัมพาตมา ๒ ปีแล้วครับ ก็ค่อยๆทรุดลงมาเรื่อยๆ แต่ครั้งหลังนี่ที่มีอาการไข้สูง ไอและหอบ เพิ่งเป็นมา ๒ วันครับ วันนี้จะพาไปโรงพยาบาลที่เคยรักษาอยู่ แต่คุณพ่อหอบมาก และรถติดเหลือเกิน กลัวจะไปไม่ถึงครับ จึงแวะเข้ามาที่นี่ก่อนครับ”
หมอ : “ก่อนการเจ็บป่วยครั้งนี้ คุณพ่อคุณพูดคุยกับลูกหลานได้ไหม”
ลูกผู้ป่วย : “คุณพ่อพูดไม่ได้มาตั้งแต่เป็นอัมพาต แต่ช่วงแรกๆยังพอรู้เรื่อง เวลาถาม พยักหน้าหรือสั่นหัวได้ แต่หลายเดือนมานี่ ไม่ตอบคำถามแล้วครับ”
หมอ : “แล้วคุณให้อาหารคุณพ่ออย่างไร”
ลูกผู้ป่วย : “ก็ช่วยกันป้อนครับ แต่ระยะหลังนี้กินได้น้อยลง ไม่ค่อยเคี้ยว จึงให้แต่อาหารเหลว ก็เลยผอมลงมาก”
หมอ : “แล้วคุณไม่ได้บอกหมอที่รักษาคุณพ่ออยู่หรือ”
ลูกผู้ป่วย : “บอกครับ หมอบอกว่าถ้าจะให้อาหารได้ดี ก็ต้องใส่สายยางผ่านจมูกเข้าไปในกระเพาะอาหาร หรือไม่ก็ต้องผ่าท้องเพื่อใส่สายยางผ่านหน้าท้องเข้าไปในกระเพาะ แต่พวกเราเห็นว่าจะทำให้คุณพ่อต้องเจ็บปวด รำคาญ จึงตัดสินใจจะใช้วิธีป้อนเอาดีกว่าครับ”
หมอ : “ตลอดเวลา ๒ ปี ที่ได้ดูแลคุณพ่อมา คุณคิดว่าคุณพ่อดีขึ้นหรือสุขสบายขึ้นบ้างไหม”
ลูกผู้ป่วย : “คุณพ่อไม่ดีขึ้นเลยครับ ทรุดลงเรื่อยๆ อย่างที่ผมเล่าให้หมอฟังแล้ว และคุณพ่อคงไม่สุขสบายนัก เพราะบางครั้งเห็นท่านกระสับกระส่าย ดิ้นรน หน้านิ่ว คิ้วขมวด แล้วเราก็ไม่รู้ว่าคุณพ่อเป็นอะไร บางครั้งก็เป็นอยู่เดี๋ยวเดียว บางครั้งก็เป็น ๒-๓ ชั่วโมง แล้วก็หลับไป”
หมอ : “แล้วคุณคิดว่า หมอควรจะรักษาคุณพ่ออย่างไร”
ลูกผู้ป่วย : รักษาให้เต็มที่เลยครับ รักษาให้ถึงที่สุดเลยครับ”
หมอ : “หมายความว่า คุณจะให้หมอใส่สายยางเพื่อให้อาหารคุณพ่อ ใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อดูดเสมหะและช่วยหายใจ และถ้าเอาท่อช่วยหายใจออกไม่ได้ ก็ต้องเจาะคอ และถ้าคุณพ่อหายจากไข้ ไอ และหอบ ครั้งนี้อาจจะต้องกลับบ้านพร้อมสายยางให้อาหาร และท่อติดไว้ตรงคอเพื่อช่วยดูดเสมหะอย่างนั้นใช่ไหม”
ลูกผู้ป่วย : “เอ ! ถึงขนาดเจาะคอเลยหรือหมอ”
หมอ : “หมอยังบอกไม่ได้ แต่เมื่อใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อดูดเสมหะและช่วยหายใจแล้ว เอาท่อออกไม่ได้ ขั้นตอนต่อไปก็ต้องเจาะคอ เพราะเราจะคาท่อช่วยหายใจไว้ในจมูกหรือปากนานๆไม่ได้ จมูกหรือปากจะเป็นแผลเน่า คอหอยและหลอดเสียงที่ถูกท่อกดก็จะเป็นแผลเน่าเช่นเดียวกัน”
ลูกหลานผู้ป่วยที่ร่วมวงอยู่หันไปปรึกษาหารือกันอยู่พักใหญ่
ลูกผู้ป่วย : “อย่าให้ถึงเจาะคอไม่ได้หรือ ถ้าเจาะคอเราไม่เอาเพราะไม่อยากให้พ่อเจ็บ”
หมอ : “อันที่จริง คุณพ่อก็เจ็บมาตลอด คุณคิดว่าคุณพ่อไม่เจ็บหรือที่ต้องนอนอยู่บนเตียงนานๆ จนก้นเน่าเป็นแผลกดทับหลายแห่ง เวลาเจ็บก็บอกพวกคุณไม่ได้ เวลาหิวก็บอกพวกคุณไม่ได้ ได้แต่กระสับกระส่าย ดิ้นรน แล้วคุณหรือแม้แต่หมอก็ไม่รู้ว่าคุณพ่อกระสับกระส่าย ดิ้นรนเพราะอะไร ต้องปล่อยให้กระสับกระส่ายดิ้นรนจนเพลียหลับไปเอง
“พวกคุณคิดว่าคุณพ่อมีความสุขสบายกับการมีชีวิตอยู่แบบนี้หรือ ถ้าให้คุณมีชีวิตแบบคุณพ่ออย่างนี้ คุณจะเอาไหม”
หลานผู้ป่วย : “เราต้องรักษาคุณปู่ให้ถึงที่สุด เราจะให้คุณปู่ตายได้อย่างไร ตลอด ๒ ปีมานี้ เราก็ดูแลรักษาคุณปู่มาเป็นอย่างดี เราปล่อยให้คุณปู่ตายไม่ได้หรอก”
หมอ : “คนเราทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตายทุกคน ตัวหมอเองก็ต้องตาย และความตายจะเกิดขึ้นเมื่อใดเราก็ไม่รู้ เพราะมันเป็นไปตามธรรมชาติและตามกรรมของตัวเราเองและสิ่งแวดล้อมเรา”
“หมอเชื่อว่า คงไม่มีใครอยากตายลำบาก ตายอย่างทรมาน หรือตายโดยผ่านการกระทำต่างๆที่สร้างความเจ็บปวดรำคาญ ตัวหมอเองก็อยากตายอย่างสงบอย่างสบาย และให้ช่วงเวลาแห่งการตายนั้นสั้นที่สุด ถ้าหมอเลือกได้หรือช่วยตนเองได้ในระยะสุดท้ายนั้น
“หมอเชื่อว่า พวกคุณทุกคนก็ไม่มีใครอยากตายลำบาก หรือตายอย่างทรมาน แต่พวกคุณกลับพยายามจะทำให้คุณปู่หรือคุณพ่อของคุณต้องตายลำบากและตายอย่างทรมาน
“ที่คุณบอกว่า ตลอด ๒ ปีมานี้ คุณดูแลคุณปู่เป็นอย่างดี คงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะถ้าคุณดูแลคุณปู่มาเป็นอย่างดี คุณปู่คงไม่ผอมแห้งเพราะขาดอาหาร และไม่มีแผลกดทับหลายแห่งตามร่างกายแบบนี้ คุณคิดว่าคุณปู่มีความสุขที่ขาดอาหารและมีแผลเน่าอย่างนี้หรือ”
ลูกผู้ป่วย : “ผมขอโทษแทนลูกครับคุณหมอ ผมยอมรับว่าพวกเราดูแลคุณพ่อไม่ดีเท่าที่ควร เพราะผมต้องออกไปทำงานค้าขายนอกบ้าน ลูกๆก็ออกไปเรียนหนังสือบ้าง ทำงานบ้าง ไม่ค่อยได้อยู่บ้านตลอดเวลา
“เราจ้างคนมาคอยดูแลคุณพ่อก็ดูแลไม่ค่อยเป็นหรือไม่ค่อยเอาใจใส่และอยู่ไม่นานก็ออกไป ได้คนใหม่มากว่าจะรู้เรื่อง ดูแลเป็น ก็ออกไปอีก คุณพ่อถึงได้อยู่ในสภาพอย่างนี้”
"คุณหมอคิดว่า ผมควรจะทำอย่างไรดีครับ”

หมอ : “หมอพูดความจริงให้คุณฟังหมดแล้ว คุณและลูกๆจะต้องตัดสินใจว่าจะให้หมอรักษาคุณพ่ออย่างไร ถ้าคุณยังยืนยันจะให้หมอรักษาเต็มที่ รักษาจนถึงที่สุด หมอก็ต้องใส่ท่อยางให้อาหาร ใส่ท่อช่วยหายใจ เจาะเลือด ใส่ท่อสวนปัสสาวะ ให้น้ำเกลือและยารักษาไข้ และอื่นๆ คุณจะเอาอย่างนั้นใช่มั้ย”
ลูกผู้ป่วย : “หมอคิดว่าการรักษาแบบนั้นเป็นการรักษาที่ดีที่สุดใช่ไหมครับ”
หมอ : “การรักษาที่พูดถึงนั้นก็เพื่อช่วยให้คุณพ่อหายจากไข้ ไอ และหอบ แต่ไม่ช่วยให้คุณพ่อหายจากการเจ็บป่วยที่เป็นมาตลอด ๒ ปีนี้ได้ และอาจนำไปสู่การเจาะคอและการผ่าท้องเพื่อใส่ท่อให้อาหารทางหน้าท้อง ถ้าการให้อาหารทางท่อยางผ่านจมูกทำให้เกิดอาการปอดอักเสบจนเป็นไข้ ไอ และหอบบ่อยๆ
“คุณจะเรียกว่า เป็นการรักษาที่ดีที่สุดก็ได้ แต่สำหรับหมอแล้ว หมอคิดว่าเป็นการรักษาเป็นการรักษาที่จะทำให้คุณพ่อต้องเจ็บปวดมากขึ้น และต้องทรมานนานออกไปอีกหลังจากหายไข้ ไอ และหอบในครั้งนี้”
ลูกและหลานผู้ป่วยหันหน้าเข้าปรึกษาหารือกันอีกพักใหญ่
ลูกผู้ป่วย : “ตกลงเราตัดสินใจว่าจะไม่เจาะคอหรือผ่าท้อง หรือทำให้คุณพ่อต้องเจ็บปวดหรือทรมานต่อไป แล้วหมอจะช่วยคุณพ่อไม่ให้ทรมานได้ไหมครับ พวกเราทนดูคุณพ่อทรมานไม่ได้”
หมอ : “ถ้าอย่างนั้น หมอจะให้ยาแก้ปวดและยานอนหลับแก่คุณพ่อ แต่จะไม่ทำอะไรอย่างอื่นที่จะทำให้คุณพ่อต้องเจ็บปวดหรือต้องทนทุกข์ทรมานนานออกไป พวกคุณจะตกลงไหม”
ลูกและหลานผู้ป่วยปรึกษาหารือกันอีกครั้ง
ลูกผู้ป่วย : “ตกลงครับ”
หมอ : “เมื่อคุณตกลงเช่นนี้แล้ว คุณอยากจะพาคุณพ่อกลับไปรักษาที่บ้าน หรือจะให้อยู่โรงพยาบาล ถ้าจะให้อยู่โรงพยาบาล หมอก็ต้องหาเตียงให้ก่อน ถ้าไม่มีเตียง คุณพ่อก็ต้องนอนในเตียงเข็นแบบนี้ที่ห้องฉุกเฉินไปก่อนจนกว่าจะหาเตียงได้ ซึ่งจะไม่สะดวกสบายเหมือนเหมือนกับการอยู่บ้าน”
ลูกผู้ป่วย : “แล้วถ้ากลับบ้าน เราจะดูแลคุณพ่ออย่างไรครับ”
หมอ : “ลูกๆหลานๆ ควรจะเฝ้าดูแลให้ใกล้ชิดมากขึ้น เพราะเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิตคุณพ่อแล้ว ความอบอุ่นที่มีลูกหลานอยู่ใกล้ๆเอาใจใส่ดูแล และให้ความเอื้ออาทรนั้น ย่อมทำให้ผู้ป่วยมีความสุข
“แม้เราจะคิดว่าคุณพ่อไม่รู้เรื่องแล้ว แต่จิตวิญญาณของคุณพ่อย่อมรับรู้อยู่ตลอดเวลา และจิตใจของเราเองก็รับรู้อยู่ตลอดเวลาว่าเราดูแลคุณพ่อและคุณปู่ของเราดีพอหรือไม่ การได้ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดจึงเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ป่วยและต่อจิตใจของเราเอง โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยล่วงลับไปแล้ว เราจะได้ไม่เสียใจไปตลอดชีวิตว่าไม่ได้ดูแลผู้มีพระคุณของเราอย่างใกล้ชิดในวาระสุดท้ายของชีวิต
“ถ้าคุณพ่ออยู่โรงพยาบาล พวกคุณย่อมไม่มีโอกาสที่จะได้ดูแลคุณพ่ออย่างใกล้ชิดจนถึงวาระสุดท้ายได้
“แต่ก่อน ปู่ย่าตายายจึงอยากตายที่บ้าน อยากอยู่ในบ้านที่ท่านสร้างมากับมือ หรือท่านอยู่มานานจนบ้านนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของท่าน ท่านจึงอยากตายในที่นั้น
พรั่งพร้อมด้วยลูกหลานและญาติสนิทมิตรสหาย ทำให้ตายตาหลับ และตายอย่างอบอุ่น
“จนถึงกับเป็นประเพณีว่า ถ้าปู่ย่าตายายตายในบ้าน วิญญาณของท่านจะได้ช่วยคุ้มครองบ้านและคนในบ้านให้มีความสุข และปลอดภัยจากภยันตรายต่างๆ”
ลูกผู้ป่วย : “ตกลงเราจะรับคุณพ่อกลับบ้านครับ แล้วคุณพ่อจะอยู่อีกนานไหมครับ”
หมอ : “หมอก็ไม่ทราบเหมือนกัน เราปล่อยให้คุณพ่อจากไปเองตามธรรมชาติ ไม่ต้องไปเร่งรัดหรือยื้อยุดฉุดไว้ แล้วคุณพ่อจะจากไปเอง คงไม่เกิน ๔-๕ วัน หรือถ้าจะนานกว่านั้น พวกคุณก็ไม่ต้องกังวล เพราะมันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากการเร่งรัดหรือยื้อยุดฉุดไว้ของเรา แล้วเราจะได้สบายใจ”

ผู้ป่วยรายนี้ เป็นผู้ป่วยที่หมดหวังที่พบได้บ่อย ที่เกิดจากหลอดเลือดในสมองแตก ตีบตันหรืออุดตัน ทำให้สมองส่วนหนึ่งตายไปหรือเสียไป ทำให้ร่างกายซีกหนึ่งเป็นอัมพาต หรืออัมพฤกษ์ (อัมพาตอ่อนๆ) สังเกตได้ง่ายจากการเห็นใบหน้าของผู้ป่วยว่าเบี้ยวไปด้านหนึ่ง (หน้าซีกหนึ่งจะเรียบ ส่วนอีกซีกหนึ่งจะย่น ทำให้ดูเหมือนหน้าเบี้ยว) และแขนขาซีกเดียวกันจะไม่เคลื่อนไหวหรือเคลื่อนไหวได้น้อย หรืออ่อนแรงกว่าอีกซีกหนึ่ง
ถ้าอัมพาตซีกขวา อาจจะพูดไม่ได้ หรือฟังไม่รู้เรื่องด้วย

เมื่ออัมพาตอยู่นานๆ และไม่มีการเคลื่อนไหวแขนขาที่เป็นอัมพาตบ่อยๆ พวกข้อต่างๆจะติดยึด (เคลื่อนไหวไม่ได้) และกล้ามเนื้อจะดึงแขนขาเหล่านั้นให้งอเข้าหาตัว (เหมือนสภาพที่อยู่ในครรภ์มารดา) แล้วจะหดเกร็งอยู่อย่างนั้น เหยียดออกไม่ได้อีก แขนขาข้างที่ไม่เป็นอัมพาต ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวนานๆเข้าก็จะเกิดสภาพเดียวกันได้ ทำให้ดูคล้ายกับว่าเป็นทั้ง ๒ ข้าง หรือทั้ง ๒ ซีกได้

ในกรณีที่ผู้ป่วยรู้เรื่อง และลูกหลานเอาใจใส่ดูแล แม้จะต้องนอนอยู่กับเตียงเป็นปีๆ ผู้ป่วยก็มีความสุขและอยู่เป็นมิ่งขวัญของลูกหลานไปเรื่อยๆ โดยไม่มีแผลกดทับ และไม่มีโรคแทรกซ้อน

แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้เรื่อง เจ็บก็บอกไม่ได้ หิวก็บอกไม่ได้ จะอุจจาระปัสสาวะก็บอกไม่ได้ ผู้ป่วยย่อมไม่มีความสุขอย่างแน่นอน ลูกหลานอาจจะคิดไปเองว่าผู้ป่วยมีความสุข และพยายามยื้อ(ตื้อ) ให้ผู้ป่วยอยู่ต่อไปเรื่อยๆ โดยเคี่ยวเข็ญให้หมอทำโน่นทำนี่ แม้แต่ผ่าท้องใส่ท่อยางไว้ในกระเพาะเพื่อให้อาหารเจาะคอไว้เพื่อช่วยดูดเสมหะและช่วยหายใจ และอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ลูกหลานเหล่านี้พอถูกถามว่า ถ้าตนเกิดเจ็บป่วยแบบญาติผู้ใหญ่ของตนแล้ว ตนอยากให้หมอทำอย่างนี้กับตนไหม แทบทุกคนจะบอกไม่อยากให้ทำเช่นนี้กับตน แต่ก็ยังใจร้ายพอที่จะให้หมอทำเช่นนี้กับญาติผู้ใหญ่ของตน
 



 

ข้อมูลสื่อ

237-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 237
มกราคม 2542
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์