• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การช่วยตนเองและช่วยกันเองในยามเจ็บฉุกเฉิน(ต่อ)

การช่วยตนเอง และ ช่วยกันเองในยามเจ็บฉุกเฉิน(ต่อ)

"เจ็บ" ในที่นี้หมายถึง การ บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ภยันตราย แมลงสัตว์กัดต่อย และการได้รับสารพิษ รวมทั้งการแพ้ยา และการเป็นพิษจากยาด้วย
"ฉุกเฉิน" ในที่นี้หมายถึง เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน และจะต้องรีบแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย ถึงชีวิตหรือพิการ หรือต้องทุกข์ทรมานอย่างมาก
"การช่วยตนเองและช่วยกันเอง" ในที่นี้หมายถึง คนที่เกิดอาการเจ็บฉุกเฉิน รู้จักวิธีช่วย ตนเอง เพื่อกำจัดหรือบรรเทาอาการ เจ็บฉุกเฉินนั้น ถ้ายังมีสติสัมปชัญญะ และกำลังวังชาพอที่จะช่วยตนเองได้ หรือถ้าไม่สามารถช่วยตนเองได้  คนที่อยู่ใกล้ๆ หรือพบเห็นการเจ็บฉุกเฉินนั้น รู้จักช่วยผู้ที่เจ็บฉุกเฉิน ตามสมควร เพื่อช่วยชีวิตหรือลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยลงได้

๓.ปลอบขวัญ ให้กำลังใจและเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ ออกจากจุดอันตราย
ถ้าผู้บาดเจ็บติดอยู่ในซากรถ และไม่สามารถขยับเขยื้อนได้ ให้รอคนที่ชำนาญการมาช่วย ให้ไปช่วยคนที่ตนสามารถช่วยได้ก่อน
ถ้าผู้บาดเจ็บยังพอเดินได้หรือคลานได้ ช่วยแนะนำทิศทางและสถานที่ที่ปลอดภัยกว่า เพื่อให้ผู้บาดเจ็บย้ายไปรอรับการรักษาพยาบาลที่นั่น
ถ้าผู้บาดเจ็บเดินหรือคลานไม่ได้ แต่ยังสามารถเอี้ยวคอ เงยคอ และตะแคงตัวได้ ให้ผู้บาดเจ็บพลิกตัวนอนหงายบนแผ่นกระดาน หรือผ้าหนาๆ เช่น ผ้าใบหรือกระสอบ แล้วลากกระดานหรือผ้าที่มีผู้บาดเจ็บนอนอยู่ให้พ้นจากจุดอันตราย ถ้าไม่มีกระดานหรือผ้าให้คุกเข่าเหนือศีรษะผู้บาดเจ็บ แล้วใช้มือทั้ง ๒ ช้อนใต้รักแร้ทั้ง ๒ ข้างของผู้บาดเจ็บ ยกท่อนบนของ ลำตัวขึ้น แล้วลากผู้บาดเจ็บออกไปจากจุดอันตราย

ถ้าผู้บาดเจ็บไม่สามารถเอี้ยวคอ เงยคอ หรือตะแคงตัวเอง หรือ มีอาการเจ็บมากที่จุดใดจุดหนึ่งตาม แนวสันหลัง ตั้งแต่ท้ายทอยลงไป จนถึงเอว อย่าพยายามเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ ให้รอผู้ที่ชำนาญการมาเคลื่อนย้าย เพราะผู้บาดเจ็บอาจจะมีการหักของกระดูกสันหลังที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง การเคลื่อนย้ายโดยไม่ถูกวิธี จะทำให้ผู้บาดเจ็บเป็นอัมพาต และหยุดหายใจได้

ถ้าผู้บาดเจ็บหมดสติ แต่ยังหายใจอยู่ และไม่มีทางรู้ว่ามีการหักของกระดูกสันหลังส่วนใดหรือไม่ ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ป่วยให้ช่วยทำให้ผู้บาดเจ็บหายใจได้สะดวกขึ้น เช่น ปลดกระดุมเสื้อ คลายเข็มขัด เช็ดเหงื่อหรือเลือดที่เปื้อน ตามใบหน้า จมูก และปาก โบกลมไปที่หน้าของผู้ป่วย เป็นต้น

ถ้าผู้บาดเจ็บหมดสติ ไม่หายใจ และไม่กระดุกกระดิกเลย ให้ถือว่า"หัวใจหยุด" (cardiac arrest) ถ้ากู้ชีพ (ฟื้นชีวิต) เป็น และสามารถทำได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้บาดเจ็บหรือตนเอง ให้รีบกู้ชีพทันที (ดูวิธีกู้ชีพใน"มาเป็นหมอกันเถิด" ในหมอชาวบ้าน ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๕) แต่ถ้าทำไม่เป็นหรือทำไม่ได้ เช่น ผู้บาดเจ็บติดอยู่ในซากรถก็ควรปล่อยไปให้ไปช่วยคนที่ตนสามารถช่วยได้ จะเกิดผลมากกว่า

คนที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ เช่น ศีรษะโหม่งพื้น ของหนักตกใส่ศีรษะ ถูกตีศีรษะ หรือได้รับบาดเจ็บโดยตกจากที่สูง หรือได้รับบาดเจ็บตามแนวกระดูกสันหลัง ให้สงสัยเสมอว่า กระดูกสันหลังอาจหัก ดังนั้น ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยการอุ้ม การแบกพาดบ่า หรือวิธีการอื่นใด ที่ทำให้กระดูกสันหลังไม่เป็นแท่งตรงตั้งแต่ศีรษะลงไปจนถึงเอว

ถ้าจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บที่กระดูกสันหลังอาจหัก โดยไม่มีเครื่องมือใดๆ และผู้บาดเจ็บอยู่ในท่านอนหงายอยู่แล้ว (ถ้าผู้ป่วยอยู่ในท่าอื่น และไม่สามารถเอี้ยวคอ เงยคอ หรือตะแคงตัวได้เลย อย่าพยายามเคลื่อนย้ายดีกว่า) ให้นั่งลงเหนือศีรษะผู้บาดเจ็บ ใช้มือ ทั้ง ๒ ช้อนบริเวณคอส่วนที่ติดกับท้ายทอย และใช้นิ้วหัวแม่มือทั้ง ๒ ข้างจับขากรรไกรของผู้บาดเจ็บไว้ แล้วดึงคอและศีรษะของผู้บาดเจ็บ เข้าหาตัวผู้ดึง (ดูรูป) หลังจากนั้นผู้ดึงก็นั่งเถิบไปข้างหลัง แล้วดึงคอ และศีรษะของผู้บาดเจ็บเข้าหาตนอีก ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากจุดอันตราย

๔. สังเกตลักษณะการบาดเจ็บของผู้บาดเจ็บแต่ละคน และจำแนกระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บได้เช่นเดียวกับการเจ็บป่วยฉุกเฉิน อื่นๆ คือ
ระดับที่ ๑ (วิกฤติ หรือฉุกเฉินมาก) คือผู้บาดเจ็บที่มักจะเสียชีวิตหรือพิการถาวรหากไม่ได้รับการรักษาทันทีหรือทันท่วงที เช่น
(๑) คนที่หมดสติทันที ไม่หายใจ และไม่กระดุกกระดิกเลย
(๒) คนที่หายใจไม่ออกทันที หยุด หรือกำลังจะหยุดหายใจ
(๓) คนที่ชักตลอดเวลา หรือชักจนเขียว
(๔) คนที่เลือดออกรุนแรง ตลอดเวลา (เลือดไหลไม่หยุด)
ระดับที่ ๒ (กึ่งวิกฤติ หรือฉุกเฉิน) คือ ผู้บาดเจ็บที่มักจะกลาย เป็นระดับที่ ๑ ถ้าได้รับการรักษา ช้าเกินไป เช่น
(๑) คนที่หมดสติ (ไม่รู้สึกตัว) ซึมมาก (ไม่ค่อยรู้สึกตัว) สับสน เลอะเทอะ คลุ้มคลั่ง ประสาทหลอน ชัก หรืออัมพาตเฉียบพลัน
(๒) คนที่หอบเหนื่อยมาก (หายใจมากกว่า ๓๐ ครั้งต่อนาที) หรือมีเสมหะเป็นฟองปนเลือด
(๓) คนที่หายใจน้อยกว่า ๑๐ครั้งต่อนาทีหรือหน้าตาและมือเท้า"เขียว"
(เป็นสีม่วงน้ำเงิน) ฉับพลันหรือมากขึ้นๆ
(๔) คนที่เสียเลือด หรือซีดมากทันที และมือเท้าเย็น ซีด และชื้นด้วยเหงื่อ ร่วมกับชีพจรที่เบามากจนคลำเกือบไม่ได้
(๕) คนที่ชีพจรเร็วมาก (มากกว่า ๑๕๐ ครั้งต่อนาที) หรือ ช้ามาก (ช้ากว่า ๔๐ ครั้งต่อนาที)
(๖) คนที่ตัวร้อนจัด (ไข้สูงกว่า ๔๐ องศาเซลเซียส) หรือ ตัวเย็นจัด และไม่รู้สึกตัว
(๗) คนที่กระสับกระส่ายทุรนทุราย เจ็บปวดมาก หรือคลอดฉุกเฉิน
(๘) คนที่ได้รับอุบัติเหตุภยันตราย หรือสารพิษ แพ้ยาหรือ บาดเจ็บรุนแรงจากสาเหตุอื่นๆ
คนที่ได้รับอุบัติเหตุหรือภยันตราย ที่ควรถือว่าน่าจะมีการบาดเจ็บรุนแรง เช่น

*  ศีรษะได้รับการกระทบ กระแทก จนเป็นแผลหรือฟกช้ำ (หัวโน) หรือความรู้สึกตัวเปลี่ยนไป

*  เจ็บปวดบริเวณคอ อก และ/หรือท้อง โดยเฉพาะถ้าขยับเขยื้อนส่วนที่เจ็บไม่ได้ หรือใช้มือกดเบาๆ แล้วเจ็บมาก

*  อุบัติเหตุรถยนต์ที่ห้องผู้โดยสารยุบเข้าไปข้างใน หรือมีผู้โดยสารเสียชีวิต

*  ตกจากที่สูงเกิน ๓ เมตร

*  ถูกกระสุนปืน หรือถูกแทง (แผลทะลุ) เข้าที่ศีรษะ คอ อก ท้อง ท้องน้อย หรือสันหลัง

*  ถูกไฟลวกเป็นบริเวณกว้าง หรือสำลักควันจนหายใจลำบาก
*  จมน้ำ
*  ไฟฟ้าช็อต เป็นต้น

ระดับที่ ๓ (เฉียบพลัน) คือ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ ช่วย ตนเองได้ และไม่มีลักษณะของการ บาดเจ็บที่รุนแรง หรืออาการที่รุนแรง ดังที่กล่าวไว้ในระดับที่ ๑ และ ๒

                                                                                                                              (ยังมีต่อ)

 

ข้อมูลสื่อ

282-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 282
ตุลาคม 2545
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์