• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เพื่อรับมือกับโรคหัวใจและหลอดเลือด (ตอนจบ)

เพื่อรับมือกับโรคหัวใจและหลอดเลือด (ตอนจบ)

ระบบบริการสุขภาพ
ตราบเท่าที่ยังมีคนป่วยเจ็บ ระบบบริการสุขภาพ ย่อมมีความจำเป็นและคงต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ระบบบริการสุขภาพในวันนี้เป็นมรดกของ ยุคโรคติดต่อ เป็นระบบบริการสุขภาพแบบตั้งรับเน้นการซ่อมสุขภาพ ถนัดในการใช้เทคโนโลยี ถนัด ในการตัดสินใจแทนคนไข้ และถนัดในการดูแลปัญหา เฉียบพลันมากกว่าปัญหาเรื้อรัง ครึ่งหนึ่งของคนไทย ที่เป็นความดันเลือดสูงยังไม่รู้ตัว เพียง ๑ ใน ๓ ที่ ได้รับการรักษา และน้อยกว่า ๑ ใน ๕ ที่สามารถควบคุมความดันเลือดได้ หรือเพียงครึ่งหนึ่งของคนไข้ที่ได้รับการรักษาที่ควบคุมความดันเลือดได้ 
ระบบบริการสุขภาพจะตอบสนองต่อปัญหาของผู้ป่วยเรื้อรังได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ต้องเปลี่ยน
๑. แนวคิดการจัดบริการ จากการมองคนไข้เป็นเพียงผู้รับบริการ มาเป็นคนไข้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดบริการ แพทย์พึงยอมรับว่าคนไข้เป็นคู่คิดในการตัดสินใจว่าจะให้ บริการอะไร  และอย่างไร คนไข้ต้องมีความเชื่อมั่นในตนเอง มากขึ้นเรื่อยๆ ในการมีบทบาทต่อการดูแลรักษาสุขภาพของตน
๒. ช่องทางการจัดบริการ ที่ยึดเพียงโรงพยาบาลหรือคลินิกเป็นที่ตั้งของบริการ ไปสู่ช่องทางที่ สะดวกต่อการเข้าถึงและเป็นที่ยอมรับของคนไข้ อย่างเช่น โทรศัพท์ได้กลายเป็นช่องทางหนึ่งที่ได้รับการพิสูจน์ว่าได้ผลดีในการจัดบริการ
๓. การจัดทีมสุขภาพ จากที่เน้นแพทย์เป็นศูนย์ กลางไปสู่ทีมแบบสหวิทยาการ เภสัชกรและพยาบาลควรมีบทบาทในส่วนที่แพทย์ไม่มีเวลาจะให้หรือขาดทักษะ เช่น การนัดหมาย และติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด การวางแผนจัดบริการให้ครอบคลุมประชากรเป้าหมาย  การสนับสนุนการดูแลตนเอง

๔. จากการให้ความสำคัญ กับบริการผู้ป่วยในเป็นหลัก มาเป็นการให้บริการแบบผู้ป่วยนอกที่มี ประสิทธิภาพและครอบคลุมในทางปฏิบัติยังต้องการความรู้ที่ชัดเจนว่าจะประยุกต์หลักการ ดังกล่าวให้เป็นจริงได้อย่างไร โดยคำนึงถึงขีดจำกัดของทรัพยากร จึงควรส่งเสริมการวิจัยเพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุด

นโยบายสาธารณะ
เมื่อพูดกันเรื่องสุขภาพ ความเคยชินทำให้นึก ถึงบทบาทความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข แท้ที่จริงจากการอภิปรายสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือดดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ไขสาเหตุ หากมุ่งหวังสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อพฤติกรรมสุขภาพที่จะส่งผลไปถึงปัจจัยเสี่ยงทางสรีระและการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง ภาคราชการอื่นๆ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชนไม่แสวงกำไร (NGO) และชุมชนควร มีบทบาทร่วมกันผลักดันนโยบายสาธารณะอันหมายถึงนโยบายที่จะมีผลกระทบในวงกว้าง ต่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม ระบบขนส่ง คมนาคม  โครงสร้างของเมือง ระบบการผลิต ระบบการค้าการ ตลาด ฯลฯ อันเป็นสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและทาง สังคมล้วนแล้วแต่เป็นผลของการดำเนินนโยบายสาธารณะ นโยบายขนส่งทางบกที่เน้นการขนรถมากกว่าขนคนในปัจจุบัน ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดระบาดไปตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ นำไปสู่ ปัญหาการขาดการออกกำลังกาย อันเป็นปัจจัยเสี่ยง ของโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคอื่นๆ อีกหลาย ชนิด นโยบายเปิดเสรีทางการค้าการลงทุน ทำให้ธุรกิจบุหรี่ข้ามชาติเข้ามาดำเนินการในประเทศไทย ก่อให้เกิดการแข่งขันทางการตลาด ชักนำเด็กและเยาวชนตลอดจนหญิงไทยให้หันมาสูบบุหรี่ นับเป็น อุปสรรคสำคัญยิ่งต่อการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  ธุรกิจอาหารข้ามชาตินำไปสู่การบริโภคอาหารแบบตะวันตก ที่เด่นชัดมากคือ อาหารจานด่วนที่มีปริมาณ แคลอรีสูง ในขณะที่การปรับตัวทางนโยบายที่จะลด ทอนผลกระทบทางลบด้านโภชนาการตามไม่ทัน ทำให้น่าวิตกว่าปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วนจะแพร่ระบาดมากยิ่งขึ้น
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นช่องว่างองค์ความรู้ที่ จะนำมากำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อป้องกันโรคเรื้อรัง ในต่างประเทศกำลังให้ความสนใจต่อการวิจัย ผลกระทบเชิงนโยบายต่อสุขภาพ (health impact assessment research) อันเป็นเครื่องมือใหม่สำหรับ การปรับหรือคิดค้นนโยบายสาธารณะ European Commission (EC) และคณะกรรมการภาคพื้นยุโรปขององค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับการ วิจัยประเมินผลกระทบของนโยบายต่อสุขภาพ จน ถึงขั้นกำหนดมาตรฐานดำเนินการและให้การสนับสนุนการวิจัยสาขานี้ในกลุ่มประเทศสมาชิก นอกจากนี้ การวิจัยเชิงนโยบายในแนวอื่นๆ เช่น กฎหมาย  เศรษฐศาสตร์ ล้วนเป็นทางเลือกใหม่ที่ควรได้รับความสำคัญเพื่อนำไปสู่นโยบายสาธารณะที่ทันสมัย

ภาระที่สังคมไทยต้องเผชิญกับโรคเรื้อรังนับวัน จะเพิ่มพูนมากขึ้น คนในยุคครอบครัวขยาย (baby boom) ซึ่งกำลังอยู่ในวัยแรงงานตอนปลายขณะนี้กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่วัยสูงอายุอันเป็นห้วงเวลาที่อาการของโรคเรื้อรังปรากฏให้เห็น ด้วยวิถีชีวิตและ สิ่งแวดล้อมที่เป็นมาและกำลังเป็นอยู่ คงเป็นไปได้ยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากโรคเรื้อรัง ในระยะ สั้นสังคมไทยจำเป็นต้องเตรียมรับมือในหลายด้าน โดยเฉพาะการรักษาและฟื้นฟูภาวะแทรกซ้อนและความพิการที่จะตามมา ในระยะยาวต้องหาทางชะลอ หรือหยุดยั้งแนวโน้มนี้ 

บทเรียนจากประเทศอุตสาหกรรมทำให้เชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่จะชะลอและหยุดยั้งแนวโน้มการ ขยายตัวของโรคเรื้อรัง ประเทศไทยจะเรียนรู้และปรับตัวจากบทเรียนนั้นได้สักเพียงใด ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นของทุกฝ่าย และความรู้ที่จะประยุกต์บทเรียนให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย การวิจัยเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราเห็นทางเลือกใหม่ๆ และ ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล ทั้งนี้บนหลักการที่ทุกฝ่ายพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงความเคยชิน เดิมๆ เพื่อก้าวไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า

ข้อมูลสื่อ

283-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 283
พฤศจิกายน 2545
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์